‘พอเพียง’เพื่อความ‘พอดี’ของชีวิต

“คน” ทุกคนย่อมมีความทะเยอทะยานเหมือนกัน หากต่างกันก็คงเพียงแค่ใครจะมากจะน้อยกว่ากันเท่านั้น ความทะเยอทะยานที่ว่าน่าจะหมายถึง “ความคิด” ที่อยากจะนำพาชีวิตไปสู่จุด “สูงที่สุด ดีที่สุด” ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ บางครั้งความทะเยอทะยานที่ว่าก็กลายเป็น “กิเลส” ที่ทำให้คนเรา อยากได้ อยากมี อยากเป็น เมื่อได้แล้วมีแล้ว ก็อยากได้อยากมีอีก บางคนได้เป็นนายร้อย ก็อยากได้นายพัน ก็อยากได้นายพลตรี พลโท พลเอก อยากเป็นให้สุดสุด ไม่มีความพอดีในชีวิต หากความเป็นจริงของชีวิตคนปุถุชนอย่างเราๆ คงพูดได้ว่า ไม่มีคำว่าดีที่สุด อะไรๆ ก็ไม่สมบูรณ์แบบสำหรับชีวิตเสียทีแทนที่ความทะเยอทะยานจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนให้ชีวิตเดินทางไปถึงเป้าหมายเป็นยานพาหนะที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จของชีวิต กลับกลายเป็นหอกที่คอยทิ่มแทงชีวิตให้ทุกข์ทรมานให้เจ็บปวด ให้ชีวิตต้องดิ้นรนเหมือนหนูติดจั่นอยู่ตลอดเวลา ติดบ่วงกรรมติดกับดักชีวิตที่ดิ้นไม่หลุดเพราะ “ความอยาก” ที่คอยจะทะยานอย่างไม่มีที่หยุด
ไม่ว่าคนใหญ่ คนโต คนสูงศักดิ์ หมอ นายอำเภอผู้ว่าฯ หรือคุณหญิง รัฐมนตรี ฯลฯ ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีหมื่นล้าน แม้ขอทาน ยาจกวณิพก จับกัง หากลองมองย้อนกลับไปมอง “ต้นทุน” ของชีวิตคนเราแท้จริงแล้ว เราหรือเขาก็มาด้วยตัวเปล่าเล่าเปลือยมาตั้งแต่เกิดไม่มีอะไรติดตัวมาเลย หลังจากเป็นผู้เป็นคนเติบใหญ่โตขึ้นมา มีสิ่งที่ติดตัวเพิ่มเติมก็เป็นเพียง “วัตถุนอกกาย” ประดับประดาเป็นอาภรณ์ มีบ้านคฤหาสน์ใหญ่โตเป็นล้านๆ ที่สักวันก็ต้องสูญสลายหายไป หรือตัวเองนั้นแหละที่จะเป็นฝ่ายจากลาวัตถุเหล่านั้น โดยไม่มีวันกลับมาชื่นชมมันอีก

หากเราไม่ยึดติดอยู่กับความสะดวกสบาย และไม่ยึดติดอยู่กับจำนวนเงินตรา เพชร ทอง ที่เราต้องหามาเพิ่มมากขึ้นๆ ทุกวัน จนทำให้เราหลงคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะบันดาลให้เราเป็นพระเจ้าได้ ทำให้เราอยู่เหนือคนอื่นได้ และทำให้เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่คับฟ้า

ในความเป็นจริง เราก็แค่เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีความสุขในชีวิตได้ ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ทานอาหารแต่ละมื้อได้อย่างอิ่มหนำสำราญ มีเวลาได้ดูหนังดีๆ มีโอกาสฟังเพลงเพราะๆ มีห้วงเวลาที่ได้อยู่กับคนที่เรารัก ได้ทำอะไรดีๆ แก่เขา ได้สังสรรค์กับครอบครัว พูดคุย หัวเราะ ต่อกระซิก ปรึกษาหารือกัน ทำให้คนในครอบครัวมีความสุข และไม่ต้องใช้ชีวิตด้วยการวิ่ง วิ่งแล้วก็วิ่งเร็วขึ้นไปเรื่อยๆ

หากวันนี้เรายังวิ่งอยู่ เราต้องเหนื่อยกับการวิ่งอยู่ตลอดเวลา ลองแวะ “พักเพื่อชีวิต” พักเพื่อตนเองได้ชื่นชมสิ่งต่างๆ เสียบ้าง เราจะได้มีเวลาเป็นของตนเองมากขึ้น ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกังวลและเป็นทุกข์ เป็นร้อน ที่จะต้องรีบไปให้ถึงปลายทาง ปล่อยใจเพลิดเพลินไปกับการหาความสุขของชีวิตจะดีกว่า เมื่อเรามีความสุขแล้ว เราก็จะพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ เมื่อเราพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ เราก็จะเห็นตัวตนของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น มีความสนุกกับการใช้ชีวิตมากขึ้น เมื่อนั้นเราก็จะได้ไม่ต้องวิ่ง วิ่ง วิ่งให้เหนื่อยแรง และทุกข์อกทุกข์ใจเหมือนที่เคยเป็นมา…
“ความรัก” จะสมบูรณ์แบบได้ ก็ขึ้นอยู่กับคนสองคนเท่านั้น ชีวิตจะสมบูรณ์แบบได้ ก็ต้องอยู่ที่ความพอดีของการใช้ชีวิต ว่ากันว่า บางทีความสมบูรณ์แบบของชีวิตก็ไม่ได้อยู่ที่ความเร็วของการเดินทาง แต่อยู่ที่เราสนุกกับการเก็บเกี่ยวความสุขระหว่างการเดินทางต่างหาก

Advertisement

“คนที่มีความสุข” คือคนที่มีความสมหวัง เป็นคนที่สามารถประกอบกิจการงานประสบความสำเร็จ ตามความปรารถนา มีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัว หรือวิตกกังวล มีอารมณ์มั่นคง มีความอดทน และมีความสามารถต่อสู้อุปสรรคต่างๆ ได้ เป็นคนที่ยอมรับความจริงในชีวิต ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ดังนี้ความสุขจึงเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัน ไม่ว่าผู้ดี มั่งมี หรือยากจน

แนวคิดทางด้านจิตวิทยา เกี่ยวกับการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขพอประมาณได้ 16 ประการ คือ

1.พยายามรักษาสุขภาพทางกายให้แข็งแรง
อย่างเสมอ : สุขภาพทางกายและสุขภาพจิต
มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด คนที่
ร่างกายแข็งแรงสุขภาพดี ย่อมมีจิตใจร่าเริง
สนุกสนาน ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่แข็งแรงย่อมเจ็บป่วยเสมอ ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิด รำคาญใจ ดังนั้นเราจึงควรรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วย “3 อ.” ออกกำลังกายเสมอๆ อาหารให้ดีมีครบ 5 หมู่ อารมณ์ดีพักผ่อนพอเพียง รักษาความสะอาดของร่างกายและเครื่องใช้

Advertisement

2.รู้จักตนเองอย่างแท้จริง : การสำรวจตนเองว่าเป็นคนอย่างไร มีความสามารถทางใด แค่ไหน มีความสนใจและต้องการสิ่งใด ตัวเองมีจุดแข็งจุดอ่อนอะไร มีอะไรเป็นข้อดี ข้อเสีย พยายามหาทางแก้ไขข้อบกพร่อง และส่งเสริมส่วนที่ดี จะทำให้เราตั้งเป้าหมายของชีวิตได้เหมาะสมกับความเป็นจริง ตลอดจนมีโอกาสพบความสำเร็จและความสมหวังได้มาก 3.จงเป็นผู้มีความหวัง : เราควรตั้งความหวังไว้เสมอ แม้เวลาที่ตกต่ำก็อย่าทอดอาลัย จงคิดหวังเสมอว่า เราจะไม่อยู่ในสภาพเช่นนี้ตลอดไป สักวันหนึ่งจะต้องดีขึ้น ให้ความมั่นใจในชีวิต 4.ต้องกล้าเผชิญกับความกลัวและความกังวลใจต่างๆ : ในชีวิตของเรานี้มีสิ่งต่างๆ มากมาย ที่ทำให้กลัววิตกกังวล เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น ทำงาน ถึงผู้สูงอายุ ดังนั้น เมื่อเกิดสภาวะดังกล่าว ต้องค้นหาความจริงว่า สิ่งนั้นคืออะไร… อย่าปล่อยให้จิตใจหวาดกลัวโดยไม่มีเหตุมีผล

5.ไม่ควรเก็บอารมณ์ที่ตึงเครียด : ควรหาทางระบายอารมณ์ที่ขุ่นมัว โดยหาทางออกในสิ่งที่สังคมยอมรับ และเป็นไปในทางที่พึงปรารถนา 6.จงเป็นผู้มีอารมณ์ขัน : การมีอารมณ์ขันช่วยให้มีอารมณ์ผ่อนคลาย ไม่ควรมองไกลในแง่เอาเป็นเอาตายมากเกินไป 7.การยอมรับข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของตนเอง : การรู้จักตนเอง และเข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริง จะช่วยให้เรายอมรับข้อบกพร่อง หรือความผิดพลาดของตนเอง และให้อภัยความผิดพลาดของผู้อื่นได้ 8.ต้องรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนทำอยู่ : จะทำให้บุคคลนั้น เกิดอารมณ์สนุก ไม่รู้จักเบื่อหน่าย ทำให้ชีวิตน่าสนใจ มีความกระตือรือร้นในการทำงาน มีกำลังใจเข้มแข็งต่อสู้อุปสรรคได้ดี สุข สดชื่นเสมอ 9.มีความต้องการพอเหมาะพอควร และมีความยืดหยุ่น ต้องมีเหตุผล รู้จักพอดีเกี่ยวกับความต้องการ 10.อย่าพะวงเกี่ยวกับตนเองมากเกินไป หรืออย่าคิดถึงแต่ตนเองตลอดเวลา เช่น คิดว่าตัวเองต้องเด่นดัง ต้องดี สำคัญกว่าคนอื่น จะไม่มีความสุขเลย เพราะไม่ว่าเราจะคิดอะไร ทำอะไรหรือไปที่ไหน ต้องตกอยู่ในภาวะแข่งขันตลอดเวลา

11.ยอมรับสภาพของตนเองโดยไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะการเปรียบเทียบจะทำให้เราเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าทำไมราจึงไม่มีโชคดีอย่างคนอื่น แต่หารู้ได้ว่าเขาก็มีทุกข์ 12.การยึดคติว่า… เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ.. การทำสิ่งโดยหวังสิ่งตอบแทน ย่อมจะทำให้ผิดหวังได้มาก 13.การหาเพื่อนสนิทรักคนหนึ่ง หรือใครก็ได้ที่สามารถระบายความทุกข์และปรึกษาหารือได้ เพราะจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวในโลก 14.จงปล่อยให้เหตุการณ์บางอย่างผ่านไปตามแนวทางของมัน ใช้เวลา ซื้อเวลา อย่าไปฝืนหรือเอาจริงเอาจังเกินไป เมื่อทำอะไรไม่เสร็จ ก็เกิดอารมณ์เครียดตึง จงหยุดพักเสียระยะหนึ่ง แล้วกลับมาทำใหม่จะสำเร็จได้ 15.จงตระหนักว่า “เวลา” เป็นยารักษาความเจ็บปวด เมื่อหมดหวังหรือผิดหวัง ให้อดทนและมีความหวังต่อไป เมื่อยังทำไม่เสร็จ ไม่ควรใช้วิธีหนีถอยหลัง หลีกเลี่ยงปัญหา 16.อย่าปล่อยให้เวลาว่าง ผ่านไปวันๆ โดยไม่ทำอะไร : จะทำให้จิตฟุ้งซ่าน ต้องพยายามหางานอดิเรกที่ตนสนใจทำ เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นกีฬา อ่านหนังสือ ฯลฯ จะช่วยบำรุงจิตใจให้มีความสุข สดชื่นและมีความสงบ

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนหากได้รับรู้เกี่ยวกับพระราชดำรัสของ “ในหลวงของเรา” ที่กล่าวโอวาทกับคนไทยทั้งชาติเสมอๆ ตลอดเวลาเรื่อง “ความพอเพียง” ซึ่งพระองค์ท่านก็เป็น “บุคคลต้นแบบ” มีให้เราเห็น ฉะนั้นเราเองในฐานะลูกหลานของท่าน ได้หมั่นฝึกฝนจดจ่อและตระหนัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ตัวตนเองของเราให้เจริญรอยตามพระองค์ท่านด้วยความ “พอเพียง”

“ความพอเพียง” หมายถึงได้เท่าที่กำหนดไว้ ไม่ขาดไม่เกิน การที่จะมีความพอเพียงต้องมีคุณธรรม 4 ประการ คือ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้จักประมาณ มีความสันโดษ และที่สำคัญคือ “พอใจสิ่งที่มี พอใจในสิ่งที่ได้” ดังนี้…

1.รู้เหตุรู้ผล หมายถึงว่า สาเหตุใดส่งผลให้เกิดสุข สาเหตุใดส่งผลให้เกิดทุกข์ สุข เกิดจากการให้ทานด้วยทรัพย์สินเงินทองกับผู้ที่ควรให้ตามกำลังทรัพย์ โดยไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน เมื่อให้แล้วเกิดความสุข นี่คือพอเพียง ของการให้ที่เป็นเหตุและผลทำให้เกิดสุข เหตุแห่งทุกข์ เช่น การทุจริต โกง ปล้น จี้ ลักขโมย ฉกวิ่งราว เอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน สร้าง “ความทุกข์” เดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น นี่คือความไม่พอเพียงในทรัพย์ เป็นเหตุและผลให้เกิดทุกข์ 2.รู้ตน หมายความว่า รู้ว่าตนเป็นใคร อยู่ในตระกูลใด มียศถาบรรดาศักดิ์ สูงต่ำเพียงใด มีฐานะ มีบริวาร มีความรู้และคุณธรรมระดับใด ควรต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับฐานะตนที่เป็นอยู่ ประพฤติตนอยู่ในครรลอง วัฒนธรรมและจารีต ประเพณีของตน 3.รู้จักประมาณ หมายความว่า รู้ปัจจัย 4 อย่างมีขอบเขตไม่เกินตัว เช่น รู้จักประมาณการในการกินอาหาร รู้จักประมาณการในการใช้เงิน การแต่งกาย ที่อยู่อาศัย รู้จักประมาณการ การทำมาหากิน ด้วยกำลัง สติ ปัญญา กำลังทรัพย์ กำลังกาย ไม่ทำกิจการใดๆ ที่เกินตัว นี้คือ… “การรู้จักประมาณ” 4.มีความสันโดษ : หมายความว่า มีความมักน้อย พอใจในสิ่งที่ตนมี ที่ได้ ที่เป็น

พอใจในสิ่งที่มี : มีบ้านหลังเดียวพออยู่อาศัยมีที่ดินพอทำกิน มีรถพอที่จะอำนวยความสะดวก ยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือธุระบางประการ มีคู่ครองเพียงคนเดียวก็พอ ไม่ทะเยอทะยานอยากได้อยากมีมากกว่านี้เพราะกลัวจะเดือดร้อน เป็นทุกข์ตามนี้คือ “ความพอเพียงในสิ่งที่มี”

พอใจในสิ่งที่ได้ : หมายถึง การทำมาหากินมีรายได้ประจำวัน ประจำเดือน ประจำปี จะได้มากหรือน้อย เราควรพอใจในสิ่งที่ได้ รู้จักประหยัด อดออมใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ไม่ฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิม ทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง ใช้จ่ายเกินตัวเกินรายได้ รสนิยมสูงรายได้ต่ำ มีรายได้น้อยก็ใช้จ่ายน้อย แต่ควรจะเหลือเก็บไว้บ้าง เพื่อวันข้างหน้าจะได้มีใช้จ่ายในยามเจ็บป่วยหรือหากมีมากก็ใช้จ่ายพอควร ต้องมีส่วนเหลือเก็บไว้บ้าง ต้องรู้จักประมาณในการบริโภคทรัพย์ เมื่อทุกคนพอใจในสิ่งที่ได้แล้ว ความโลภก็จะลดน้อยลงการเบียดเบียน ปล้น จี้ ทุจริตโกง ก็จะไม่เกิดขึ้นถ้าทุกคนพอใจในสิ่งที่ได้ ก็จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข บ้านเมืองก็จะไม่เดือดร้อน วุ่นวาย อย่างที่เห็นๆ อยู่

ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนเอง เชื่อว่าคนไทย 77 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็น ชาวไร่ ชาวนา พ่อค้า แม่ค้า ข้าราชการ นักการเมือง มียศระดับใดก็ตาม หากมีความ “พอใจในตำแหน่ง”… หากตั้งใจทำไร่ทำนามากน้อยเพียงใด ก็พอใจหรือค้าขาย รับมาด้วยความซื่อสัตย์ต่ออาชีพการงานของตน รวมทั้งคนที่ทำงานราชการ และนักการเมืองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ขยันหมั่นเพียร ไม่ทุจริต คดโกง ไม่เบียดเบียน ประกอบแต่กรรมดี “เพื่อประชาชน” ทั้งสามกลุ่มสามอาชีพหลักๆ พึงดำรงชีพหรือใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ให้ชีวิตอย่างมีความสุข ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ…

ด้วยพื้นฐานแห่งจิตใจที่เราเป็นคนไทยทั้งประเทศ เดินตามรอย “พ่อหลวง” ของเรา ด้วยคุณธรรม 4 ประการ : “รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้จักประมาณ และมีความสันโดษ” ก็เชื่อว่าทุกคนทุกท่านเข้าถึงปรัชญาแห่งความ “พอเพียง” เพื่อ“ความพอดีของชีวิต อยู่อย่างมีความสุข” ในที่สุดนะครับ

ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image