FUTURE PERFECT : ซ่อนความจริงไว้ในป่า อินเตอร์เน็ตทำให้ความจริง‘หายไป’ได้อย่างไร : โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีนักวิชาการด้านอินเตอร์เน็ตคนหนึ่งทวีตขึ้นมาว่า น่าแปลกที่ก่อนเลือกตั้ง ในทวิตเตอร์และในเฟซบุ๊ก เขาก็ไม่เห็นว่าจะมีเพื่อนคนไหนเชียร์ทรัมป์ และกระทั่งหลังเลือกตั้ง เขาก็ไม่เห็นว่าในวงโซเชียลเน็ตเวิร์กมีใครไม่เสียใจที่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี ทั้งๆ ที่เขาก็กดฟอลโล่คนไว้หลากหลายพันคน และมีเพื่อนจนเกือบเต็มเฟซบุ๊ก แล้วจะไม่มีใคร “สักคน” ที่เชียร์ทรัมป์ได้อย่างไร (ทั้งๆ จริงแล้วก็มีคนเชียร์ทรัมป์มากมายประมาณครึ่งหนึ่งของคนอเมริกันทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้เขาได้เป็นประธานาธิบดี)

(1) สาเหตุหนึ่งของปัญหานี้ เป็นไปได้ว่าอยู่ที่ตัวผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กคนนั้นเองที่เลือกเสพสื่อไม่มากพอ ทำให้ไม่เห็นความจริงอื่น สาเหตุข้อนี้เป็นสาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มีหลายคนวิพากษ์ว่านักวิชาการและสื่อทั้งหลายต่างอาศัยอยู่ใน “ฟองสบู่” ของตัวเอง ไม่ชะเง้อแง้มาดูความเป็นจริงข้างนอกเสียบ้าง นี่เป็นสาเหตุที่ควรค่าแก่การรับฟังอันหนึ่ง

แต่สาเหตุอื่นๆ ที่เป็นไปได้ก็มีอีกมากนะครับ ที่ประกอบเป็นปัจจัยที่ทำให้เรามองไม่เห็นความจริงที่ว่า จริงๆ แล้ว บนโลกนี้มีคนคิดต่างจากเราอีกเป็นล้านคน

(2) อย่างที่คุณรู้เฟซบุ๊กนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็น“อุโมงค์เสียงก้อง” (Echo Chamber) นั่นคือ เฟซบุ๊กจะพยายามทำทุกวิถีทางให้คุณอยู่บนแพลตฟอร์มของเขานานที่สุด (เพื่อประโยชน์ทางด้านเงินโฆษณา) ยิ่งคุณกดไลค์อะไรมากเท่าไหร่ เฟซบุ๊กก็จะตีความว่านั่นคือสิ่งที่คุณชอบ และจะทำให้คุณอยู่ที่นั่นนานขึ้น จึงเป็นไปได้ว่ามันจะนำเสนอความคิดเห็นในด้านที่ตรงกันกับคุณมากขึ้น เพื่อให้คุณมีความสุขและอยู่กับเขาไปนานๆ

Advertisement

(3) นอกจากนั้นยังมีผลการศึกษาที่พบว่าคนบนอินเตอร์เน็ตมักจะมี “ความเห็นด้วย” กับตัวหัวเรื่องด้วย นั่นคือส่วนมากก็จะไม่ออกมาเถียงเจ้าของกระทู้ (หรือเจ้าของสเตตัส) หากไม่ได้คิดต่างออกไปมากจริงๆ

(4) อินเตอร์เน็ตยังทำให้คุณไม่เห็นความเป็นจริงได้ด้วยธรรมชาติของมันเองด้วย หากดูแผนที่ Size of Lead (หรือ “คะแนนที่นำ”) ที่ผู้สมัครแต่ละคน “นำ” อีกคนในแต่ละ county ก็จะเห็นว่าฮิลลารีนั้นชนะทรัมป์ในรัฐที่เป็นเมืองใหญ่ๆ (และเมืองหลวง เมืองหลักของแต่ละรัฐ) และเมื่อชนะทรัมป์ทีหนึ่ง ก็ชนะเป็นหลักล้านคน แต่ทรัมป์ชนะฮิลลารีในเมืองเล็กๆ ตรงกลางประเทศแทบทั้งหมด ซึ่งชนะในหลักหมื่นบ้าง แสนบ้าง

แน่นอนว่าคนในเมืองเล็กๆ ตรงกลางประเทศก็สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้เช่นเดียวกับคนเมืองใหญ่ แต่พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของพวกเขาก็อาจต่างออกไปจากคนเมืองใหญ่ตรงที่พวกเขามีแนวโน้มที่จะไม่ “ออกเสียง” ออกมาบนอินเตอร์เน็ตนัก (อาจมีบ้างแต่ไม่มาก) นั่นอาจทำให้คนเมืองใหญ่ไม่เคยเห็นความเห็นของคนพวกนี้เลย

Advertisement

(5) ปรากฏการณ์ Shy Trump Supporter เนื่องจากที่ผ่านมา สื่ออเมริกันและสื่อทั่วโลกพยายามสร้างภาพให้เห็นว่าคนที่สนับสนุนทรัมป์นั้นเป็นคนโง่ เป็นคนเหยียดผิว เหยียดเพศ ไม่น่าคบ ทำให้คนเหล่านี้ไม่กล้าที่จะออกตัวแรงว่าสนับสนุนทรัมป์ พวกเขาจะไม่พูดเรื่องนี้ในสาธารณชน ยิ่งบนอินเตอร์เน็ตยิ่งไม่กล้าพูดเข้าไปใหญ่ ความรู้สึกถูกกดทับเหล่านี้จึงแสดงออกมาได้ในคูหาเท่านั้น และหลังจากที่ทรัมป์ได้รับเลือก ก็ระเบิดออกเป็นปรากฏการณ์เหยียดผิวเหยียดเพศครั้งใหญ่ในอเมริกาอย่างที่เราอาจได้ยินข่าว

(6) อินเตอร์เน็ตเปลี่ยนธรรมชาติของการทำงานข่าว งานข่าวในปัจจุบันนั้นแม้สื่อแบบสถาบันและสื่อใหม่บางส่วนยังคงใช้ความจริงเป็นหลักยึดในการทำงานอยู่ แต่ก็ต้องเป็นความจริงที่มีความสามารถในการ “ถูกแชร์” ด้วย นั่นคืออย่างน้อยต้องไปสะดุดใจ ไปสะท้อนอารมณ์ใครสักคนบนอินเตอร์เน็ตเพื่อให้ข่าวมัน “ไปต่อ” ได้ นี่ทำให้เราเห็นว่าสื่อหลักๆ บางเจ้านั้นรายงานข่าวอย่างเลือกข้างชัดเจน (ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดในตัวมันเอง) และส่วนใหญ่ก็จะเลือกข้างไปทางเดโมแครต ความเลือกข้างที่ไม่สมดุลนี้ ทำให้เราคิดไปเองว่าทรัมป์ไม่มีทางชนะ และทำให้คนส่วนใหญ่ “ชะล่าใจ”

(7) ในการต่อสู้ทางการเมืองเมื่อก่อน จะเป็นการสาดโคลนระหว่างสองข้างเท่านั้น คือเดโมแครตก็อาจจะเล่นข่าวเต้าข่าวลวงเพื่อทำลายผู้สมัครจากรีพับลิกัน และในทางกลับกันรีพับลิกันก็จะโหมข่าวร้ายๆ เกี่ยวกับผู้สมัครจากเดโมแครต แต่ในสมรภูมิการข่าวในปัจจุบัน มีผู้เล่นจากฝั่งอื่นเพิ่มขึ้นมาด้วย

ผู้เล่น “จากฝั่งอื่น” นี้ ไม่ได้หมายถึงผู้สมัครพรรคที่สาม สี่ อย่างเช่นพรรคกรีน หรือหมายถึงผู้มีอิทธิพลจากชาติอื่น อย่างเช่นรัสเซียนะครับ แต่หมายถึงคนอื่นที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้เลยที่พยายามขายข่าวให้ได้มากๆ เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุด

มีรายงานออกมาว่าในช่วงหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของอเมริกา มาเซโดเนียกลายเป็นแหล่ง “ข่าวทรัมป์” แหล่งใหญ่ที่สุด เพียงเพราะว่าหนุ่มๆ ชาวมาเซโดเนียพบว่าพวกเขาสามารถหาค่าโฆษณาได้เป็นหลักหลายหมื่นเหรียญ ผ่านทางการทำเว็บไซต์เพื่อ “เชียร์” ทรัมป์เท่านั้น เมื่อถูกสัมภาษณ์พวกเขาก็ยอมรับว่าเขาคิดว่าทรัมป์น่าจะเป็นตัวเลือกที่แย่ แต่ทรัมป์ก็ไม่มีผลอะไรกับพวกเขานอกไปเสียจากเป็น “หัวข้อข่าว” ที่ทำเงินให้ได้มากๆ เท่านั้น

นี่เป็นปัจจัยใหม่ที่ทำให้การรับสื่อในโลกปัจจุบันมีความซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะการรับสื่อในเรื่องที่มีการประชันขันแข่งความจริงกันมากๆ อย่างเช่นเรื่องการเลือกตั้ง หรือการเลือกข้าง ทั้งสองฝ่ายต่างปล่อยข่าวจริง ข่าวลวง และฝ่ายที่สามก็ทำเช่นเดียวกันอย่างไม่ลดละ

ครั้งหนึ่ง อินเตอร์เน็ตเคยถูกคาดหวังว่ามันจะเป็นพื้นที่ที่ความจริงจะได้ปรากฏ

ทุกวันนี้ความคาดหวังนั้นก็ยังคงอยู่

แต่คำถามก็คือ เราจะค้นหาความจริงได้อย่างไร เมื่อมันถูกฝังท่ามกลางความลวงไม่รู้กี่ชั้น

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image