ที่เห็นและเป็นไป : เดินสู่หนใด ‘การเมือง’

ที่เห็นและเป็นไป : เดินสู่หนใด ‘การเมือง’

 

 

เดินสู่หนใด ‘การเมือง’

Advertisement

 

การเมืองจะเป็นอย่างไร?

เป็นอีกคำถามที่ได้ยินบ่อยในวงสนทนา หลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กลับมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตามคำตัดสินของ “ศาลรัฐธรรมนูญ”

Advertisement

คำถามมักขยายออกไป 3 เรื่อง

หนึ่ง จะปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่ และหากปรับจะปรับอย่างไร

สอง จะยุบสภาหรือไม่ จะเลือกตั้งเมื่อไร

สาม หลังเลือกตั้งใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคไหนจะเป็นรัฐบาล

ที่ได้ฟังมา สำหรับคำถามใหญ่คือ “การเมืองจะเป็นอย่างไร” คำตอบคือ จะไม่ทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงอะไรนัก เหตุผลก็คือ “รัฐธรรมนูญ 60” กำหนดโครงสร้างอำนาจให้เดินตามอย่างเข้มงวด ไม่ว่าเป็นการควบคุมโดยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ความผิดรุนแรงผู้บริหารประเทศที่ไม่ทำตาม บทบัญญัติที่ควบคุมพฤติกรรมนักการเมืองเข้มใช้ โดยองค์กรผู้ใช้อำนาจพร้อมที่จะจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนถูกด้อยค่า โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จนไม่สามารถขับอะไรได้ไม่มาก เพราะเสี่ยงจะเป็นการกระทำที่ขัดกฎหมายทั้งหมด

สรุปคือ การเมืองจะยังถูลู่ถูกังไปแบบนี้ ต้องฟัง “ผู้คุมกลไกอำนาจที่แท้จริง” เป็นหลัก

ในโครงสร้างแบบนี้ “นักการเมือง” ก็แค่เข้ามาเพื่อมีส่วนแบ่งในอำนาจ เพื่อโอกาสในการแสวงหาประโยชน์ ส่วน “นักการเมือง” ที่ต้องการเข้ามาทำงานผิดแผกไปจากที่ผู้มีอำนาจขีดเส้น วางแผนไว้ หากพยายามดันทุรัง โอกาสที่จะถูกขจัดมีสูงเหมือนเดิม

ตราบจนกว่าจะสามารถแก้รัฐธรรมนูญ ให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีอิสระที่จะจัดการประเทศ ตามหลักการ “อำนาจเป็นของประชาชน” ซึ่งเอาเข้าจริงยังไม่มีใครมองเห็นทางที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

มาในคำถามย่อย “จะปรับ ครม.หรือไม่” คำตอบที่ได้ยินคือ “ประชาธิปัตย์” เรียกร้องให้ปรับอยู่พรรคเดียว สำหรับพรรคอื่นแม้ว่าจะเสียรัฐมนตรีในโควต้าไป แต่ผู้นำพรรคเห็นว่าเวลาที่เหลืออยู่ไม่กี่เดือน ไม่ปรับดีกว่า เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรค เนื่องจากแต่ละกลุ่มช่วงชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกัน

ปรับหรือไม่ปรับ จึงขึ้นอยู่กับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้ความเกรงอกเกรงใจ เห็นความจำเป็นของ “ประชาธิปัตย์” แค่ไหน

หรือคิดว่า “การไม่ให้กระบองกับประชาธิปัตย์” จะเป็นประโยชน์กับพรรคตัวเองในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงมากกว่า

สรุปคำตอบจึง “ไม่น่าจะมีปรับ”

มาถึง “จะยุบสภาหรือไม่” เสียงจากคนวงใน ตรงกันคือ น่าจะยุบในเดือน “มกราคม” โดยการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือน “มีนาคม” ด้วยเหตุผลคือหมดภาระเรื่อง “เอเปค” เทงบประมาณแจกจ่ายให้ประชาชนได้อีกรอบในเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน และไม่ปล่อยเวลาให้เกิดการชุมนุมต่อต้านที่จะทำให้รัฐบาลบอบช้ำไปมากกว่านี้

แต่นั่นเป็นการประเมินโดยคนวงในสายนักการเมืองจากการเลือกตั้งประชาชน ส่วน “ผู้กุมกลไกเครือข่ายสืบทอดอำนาจ” คำตอบยังเป็นไปในยุทธศาสตร์ “ลับ ลวง พราง” เหมือนเดิม เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้

มาถึง “หลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร”

เท่าที่ฟังมา ด้วย “โครงสร้างที่ออกแบบไว้ด้วยการกระชับอำนาจเข้มข้น” จะทำให้เป็นไปได้ยากที่ “นายกรัฐมนตรี” จะเป็นผู้ที่มาจาก “อำนาจประชาชน” โดยไม่ถูกกรองด้วย “ขบวนการสืบทอดอำนาจ”

แต่การประนีประนอมระหว่าง “พรรคที่อาศัยอำนาจประชาชน” กับ “ขบวนการสืบทอดอำนาจ” จะมีมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะ “พรรคมุ่งมีอำนาจรัฐโดยไม่เลือกวิธีการ” เท่านั้น เหมือนที่ผ่านมา

หมายถึง “พรรคร่วมรัฐบาล” จากจะเปลี่ยน ผสมขั้วกันมากขึ้น แต่โครงสร้างอำนาจจะยังไม่เปลี่ยน

ทิศทางการจัดการผลประโยชน์ของชาติ จะยังหนีไม่พ้นต่อการเอื้อทุนผูกขาด

นโยบายที่ประกาศทำเพื่อประชาชนจะเป็นแค่ “คำหวานเพื่อการหาเสียง” เหมือนดิม เพราะที่สุดแล้ว “คำว่ามีข้อจำกัดด้วยกฎหมาย” จะเป็นข้ออ้าง เพื่อบังคับให้ประชาชนต้องยอมรับฟัง

ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ต้องยืนยันอีกครั้งว่าเป็นข้อมูลที่ได้รับฟังมา

การเมืองไทยจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก

แม้กระทั่งเรื่อง “บิ๊กตู่” เหลือแค่ 2 ปีที่เชื่อว่าจะเป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนตัวผู้นำ ในบางเสียงยืนยันว่า ใน “ขบวนการสืบทอดอำนาจ” ไม่มีตัวเลือกที่ใช้การได้ผลมากกว่านี้

2 ปีที่บอกว่าน่าจะ “หมดเวลา” อาจจะเป็น “2 ปี” ที่สามารถหาทาง “อยู่ต่อ” ได้สำเร็จ ก็เป็นได้

“หรือใครคิดว่ารัฐธรรมนูญที่ห้ามอยู่เกิน 8 ปี แก้ไข หรือโละบทบัญญัตินี้ทิ้งไม่ได้” ดูเป็นคำถามที่ท้าทาย

แต่ก็เป็นมุมมองที่ได้ฟังมาเช่นกัน

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image