การแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ด้วยมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง : โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฉลอง เกิดพิทักษ์

ตามที่หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2559 หน้า 6 ได้ลงพิมพ์ใจความว่า “ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 มีมติเห็นชอบคลอดแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี หรือระหว่างปี พ.ศ.2558-2569” เมื่ออ่านแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจบ ทำให้ทราบได้ทันทีว่า ถ้าอย่างน้อย 2 โครงการในแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ (โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุกและโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา) และเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ.2536 ขึ้นอีกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ จะขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เพราะแผนงานโครงการดังกล่าวไม่ได้มีการศึกษาวางแผนเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำที่ถูกต้อง แต่เป็นการวางแผนงานก่อสร้างเป็นโครงการๆ ไป จึงทำให้โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นการย้ายการใช้น้ำโดยเฉพาะเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้งในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาไปยังโครงการทั้งสอง ซึ่งต้องเสียค่าก่อสร้างเพิ่ม

นอกจากนี้ยังจะทำให้เกิดการแย่งชิงน้ำในลุ่มน้ำรุนแรงมากยิ่งขึ้น และยังอาจมีโครงการลักษณะเดียวกันที่ไม่ทราบอีกหลายโครงการก็เป็นได้

แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำดังกล่าวเป็นแต่แผนงานก่อสร้างแต่ไม่มีแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำด้วยมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างทั้งในกรณีที่เกิดน้ำท่วม กรณีปกติและกรณีที่เกิดภัยแล้ง ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วยมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างในทุกระดับมีคุณภาพค่อนข้างต่ำ (จากบทความที่ลงพิมพ์ในวิศวกรรมสาร วสท.)

Advertisement

อนึ่ง ในปัจจุบันมีผู้ที่เข้าใจเรื่องนี้ดีเพิ่มมากขึ้นๆ จึงเป็นไปได้สูงมากที่อาจมีผู้นำเรื่องดังกล่าวแล้วขึ้นมาพิจารณาในศาลยุติธรรม เพราะเหตุผลสนับสนุนในเชิงวิชาการเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก และยังมีผลการศึกษาของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาจากต่างประเทศ (ที่มีผลงานอยู่ทั่วโลก) ได้เคยศึกษาไว้แล้วอีกด้วย

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนจึงเสนอแนะให้นำแบบจำลองที่เคยใช้ในการจัดสรรน้ำในช่วงปี พ.ศ.2521-2525 มาปรับปรุงให้ทันสมัยและนำมาประยุกต์ใช้ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง โดยจัดตั้งองค์กรขนาดเล็กขึ้นมารับผิดชอบ และว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาเดิมที่เคยปฏิบัติงานในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-แม่กลองมาจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำทั้งสองเป็นเวลา 3 ปี (2 ฤดูฝนและ 2 ฤดูแล้ง)

ถ้าองค์กรขนาดเล็กที่ตั้งขึ้นมารับผิดชอบ สามารถนำแบบจำลองที่บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาจากต่างประเทศได้พัฒนาไว้มาดำเนินการต่อได้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล เพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทุกลุ่มน้ำได้ทั้งในกรณีที่เกิดน้ำท่วม กรณีปกติ และกรณีที่เกิดภัยแล้ง เพราะขณะที่ใช้แบบจำลองจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในปี พ.ศ.2523 เกิดอุทกภัยใหญ่ขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 3,800 ลบ.ม.ต่อวินาที ก็สามารถบริหารจัดการอุทกภัยได้ดี (ปี พ.ศ.2559 ปริมาณน้ำสูงสุดไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 2,300 ลบ.ม.ต่อวินาที)

อนึ่ง องค์กรขนาดเล็กที่ตั้งขึ้นมารับผิดชอบการจัดการน้ำด้วยแบบจำลองจะต้องเป็นองค์กรที่ปฏิบัติงานเฉพาะทาง และจะต้องดำเนินการปฏิบัติรูปหน่วยงานที่รับผิดชอบของทางราชการให้เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเฉพาะทาง เช่นเดียวกับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาขนาดใหญ่ (ซึ่งมีผลงานอยู่ทั่วโลก) ได้ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 50 ปี (อนึ่ง ช่วงเวลาที่ผู้เขียนเคยไปปฏิบัติงานกับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาดังกล่าวในปี พ.ศ.2517-2518 บริษัทได้ปฏิบัติงานเฉพาะทางแล้ว)

สําหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เสนอแนะให้หยุดการพัฒนาโครงการทั้งสอง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วและโครงการที่มีลักษณะคล้ายกันในทุกลุ่มน้ำ โครงการแรกที่จะต้องเร่งรีบดำเนินการคือ โครงการผันน้ำจากลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวินที่อยู่ในประเทศไทยมาลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล (ซึ่งในปัจจุบันมีปริมาตรอ่างว่างอยู่โดยเกณฑ์เฉลี่ยปีละเกือบ 4,000 ล้าน ลบ.ม.)

ช่วงบ่ายถึงค่ำวันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม 2559 ทีวีหลายช่องได้เสนอข่าวพอสรุปได้คือ “มีฝนตกหนักบนพื้นที่ลุ่มน้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำมากจนเกือบเต็มอ่าง และได้ระบายน้ำออกจากอ่างลงด้านท้ายน้ำมากกว่า 700 ลบ.ม.ต่อวินาที”

จากข้อมูลดังกล่าว จึงเสนอแนะให้ศึกษาเพื่อปรับระดับควบคุมน้ำอุทกภัยในอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ใหม่

ตัวอย่าง เกณฑ์การควบคุมน้ำอุทกภัยของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งก่อสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำพองที่จังหวัดขอนแก่น ก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2506 มีความจุที่ระดับเก็บกัก 2,263 ล้าน ลบ.ม. ศึกษาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2544 ในช่วงฤดูฝนที่อาจเกิดฝนตกหนักและทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ด้านท้ายน้ำได้ ให้เก็บกักน้ำในอ่างอยู่ที่ระดับ 180.50 ม.รทก. และหลังวันที่ 10 ตุลาคม ให้ยกระดับน้ำในอ่างขึ้นสู่ระดับเก็บกัก 182.00 ม.รทก.

จากเกณฑ์โดยย่อดังกล่าว เมื่อเกิดอุทกภัยรอบ 100 ปี (100 ปี มีโอกาสเกิด 1 ครั้ง) ปริมาณน้ำที่ระบายลงท้ายน้ำสูงสุดเท่ากับความจุของแม่น้ำพอง คือ 400 ลบ.ม.ต่อวินาที หน่วยงานที่รับผิดชอบ นอกจากจะเห็นด้วยกับผลการศึกษานี้แล้ว ยังได้พัฒนาแบบจำลองสำหรับทำนายปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำอีกด้วย (การใช้อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ป้องกันน้ำท่วมด้านท้ายน้ำทำได้ค่อนข้างยาก เพราะปริมาตรอุทกภัยใหญ่แต่ละครั้งมากกว่าความจุอ่างเก็บน้ำ

และในปี พ.ศ.2521 เกิดอุทกภัยใหญ่บนลุ่มน้ำพองโดยเฉพาะท้ายอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ทำให้มีประชากรอพยพเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นที่สูงประมาณ 3,000 คน และวัว-ควายประมาณ 2,000 ตัว)

จากเกณฑ์การจัดการน้ำอุทกภัยของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ถ้าจะผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จะเริ่มผันน้ำมาได้ภายหลังวันที่ 10 ตุลาคม ณ เวลาดังกล่าวปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ณ จุดผันน้ำเริ่มลดลงแล้ว จึงไม่น่าจะมีน้ำเพียงพอให้ผันมาได้

อนึ่ง ในปี พ.ศ.2558 เกิดความแห้งแล้งทำให้ต้นปี พ.ศ.2559 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เกือบไม่เพียงพอสำหรับใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค จึงเสนอแนะให้ศึกษาเพื่อปรับเกณฑ์การใช้น้ำจากอ่างเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้งใหม่ (Dry season area reduction curve)

ถ้าไม่ดำเนินการตามที่เสนอแนะผู้เขียนเชื่อเกิน 100% ว่าในอนาคตถ้าเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ.2536 ขึ้นมาอีก กรุงเทพฯจะขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาอย่างแน่นอนเพราะ

1.ผู้เขียนมีความเชื่อว่ายังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่มีลักษณะเช่นเดียวกับ 2 โครงการที่เสนอแนะให้ยกเลิก แต่ผู้เขียนอาจไม่ทราบ

2.นอกจากนี้ยังจะมีโครงการขุดลอกปากแม่น้ำ เช่น แม่น้ำท่าจีนตอนล่างเพื่อให้สามารถระบายน้ำอุทกภัย (ซึ่งหลายๆ ปีเกิด 1 ครั้ง) ได้มากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามในช่วงฤดูแล้งของทุกปี น้ำเค็มก็จะรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำท่าจีนได้มากขึ้น เป็นผลให้ต้องระบายน้ำจืดมาดันน้ำเค็มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ไปลดปริมาณน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้งของโครงการเจ้าพระยา ถึงแม้ปริมาณน้ำบางส่วนจะผันมาจากลุ่มน้ำแม่กลองก็ตาม

3.ผู้เขียนเชื่อว่ายังจะมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลักษณะอื่นๆ ที่จะเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาในเขตกรุงเทพฯ ถ้าในอนาคตเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ.2536 ขึ้นมาอีก เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถศึกษาเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำที่ถูกต้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ
ฉลอง เกิดพิทักษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image