สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระเจ้าเหา หมายถึงเทพบิดร ตึกพระเจ้าเหา คือ หอพระเทพบิดร ?

ตึกพระเจ้าเหา อยู่ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ. ลพบุรี กรมศิลปากรว่าอาจเป็นหอพระประจำพระราชวัง (ภาพจากกรมศิลปากร)

พระเจ้าเหา กำเนิดคำนี้ไม่ได้เจตนาให้เป็นชื่อพระเจ้าแผ่นดินว่าชื่อ เหา

แต่ต้องการใช้เป็นคำเปรียบเทียบหรือคำพังเพย หมายถึงอะไรที่หาที่มาที่ไปไม่ได้แล้วเพราะนานมาก เช่น บรรพชน, สิ่งที่มีอายุเก่าแก่โบร่ำโบราณ, ปรัมปรา, บรมสมกัปป์, ยุคดึกดำบรรพ์ ฯลฯ

คำว่า เหา (ในพระเจ้าเหา) น่าจะกลายมาจากคำจีนว่า เฮ่า หมายถึง ชื่อจัดตั้งเป็นพิเศษต่างหากจากชื่อตัวและชื่อรองในวัฒนธรรมจีนโบราณ มีร่องรอยอยู่ที่คำว่า เมี่ยวเฮ่า แปลว่า ชื่อของผีบรรพชน

คำอธิบายนี้ผมเคยเขียนไปก่อนแล้ว ลงคอลัมน์สยามประเทศไทย ในมติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 24 สิงหาคม 2559 โดยบอกชัดเจนว่าได้ความคิดจากที่อ่านหนังสือ “ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่” ของ ถาวร สิกขโกศล (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2559 หน้า 153-203)

Advertisement

ขอย้ำว่า อ. ถาวร ไม่ได้บอกว่า (พระเจ้า) เหา มาจาก เฮ่า แต่ผมอ่านข้อเขียนของ อ. ถาวร แล้วยกมาขยายความเองว่า เหา น่าจะมาจากคำจีนว่า เฮ่า

เฮ่า ในวัฒนธรรมจีน

เรื่องจีนๆ เจ๊กๆ ผมไม่มั่นใจตัวเองว่าอ่านหนังสือชื่อ แซ่ฯ แล้วจะเข้าใจถูกต้องโดยไม่วิปลาสคลาดเคลื่อน จึงจะคัดอย่างสรุปสั้นๆ ที่ อ. ถาวร เขียนไว้มาแบ่งปันเบื้องต้น ดังนี้

คำ เฮ่า ในความหมายว่านามที่ใช้เรียกขานน่าจะมีมาตั้งแต่ราชวงศ์โจวเป็นอย่างช้า

Advertisement

เฮ่าหรือนามในยุคโบราณเป็นคำเรียกยกย่องแทนชื่อที่ถือว่าสุภาพยิ่งกว่าจื้อ (ชื่อรอง) “เฮ่า” ยุคโบราณเป็นอย่างไรไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่เป็นคำเรียกขานประเภทหนึ่งต่างหากไปจากหมิง (ชื่อตัว) และจื้อ (ชื่อรอง)

ต่อมา เฮ่า มีพัฒนาการแยกย่อยเป็นหลายชนิด ที่นิยมใช้เมื่อยังมีชีวิตอยู่มี 2 ชนิดคือ เปี๋ยเฮ่า และไว่เฮ่า เฮ่ายกย่องเจ้านายเรียกว่า จุนเฮ่า เฮ่าที่ตั้งให้คนตายเรียกว่า สื้อเฮ่า ทั้งเจ้าและสามัญชน เฮ่าที่นิยมใช้เรียกกษัตริย์ยังมีอีก 2 ชนิดคือ เมี่ยวเฮ่า และเหนียนเฮ่า

เฮ่าเหล่านี้ปกติจะเรียกเต็มเพื่อระบุประเภทให้ชัด ถ้าเรียกสั้นๆ ว่า “เฮ่า” คำเดียวมักหมายถึง “เปี๋ยเฮ่า” ซึ่งนิยมใช้ร่วมกับหมิง (ชื่อตัว) และจื้อ (ชื่อรอง)

เฮ่าเหล่านี้ถ้าจะหาคำแปลรวมก็คงต้องใช้คำว่า “นาม” แต่ต้องมีคำบอกประเภทย่อยให้เฉพาะเจาะจงลงไป ดังต่อไปนี้

เปี๋ยเฮ่า ควรแปลว่า สมญานาม สมญา

ไว่เฮ่า หมายถึง ฉายานาม ฉายา

จุนเฮ่า น่าจะแปลว่า นามอภิไธย พระอภิไธย

สื้อเฮ่า ควรแปลว่า สมัญญานาม สมัญญา พระสมัญญา

เมี่ยวเฮ่า ขอแปลว่า เทพบิดรนาม

เหนียนเฮ่า คือ รัชศกนาม เรียกย่อว่า รัชศก

[ผู้ที่ต้องการอักษรจีนกำกับ และรายละเอียดมากกว่านี้ ขอให้ซื้อหนังสือไปเปิดดูได้ เพราะมีทุกอย่างที่ต้องการ]

 

พระเจ้าเหา คือ เทพบิดร

กรมศิลปากร อธิบายไว้ในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดลพบุรี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542) ดังนี้

“ตึกพระเจ้าเหา ตึกหลังนี้แสดงให้เห็นลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ชัดเจนมาก ประตูหน้าต่างทำเป็นซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ผนังด้านสกัดสูงยันอกไก่ ตรงจั่วเจาะเป็นช่องโค้งแหลมมีกำแพงแก้วเจาะเป็นช่องสำหรับวางตะเกียงล้อมรอบตึก ด้วยเหตุว่าภายในตึกมีฐานชุกชีปรากฏให้เห็นอยู่ และบันทึกชาวฝรั่งเศส ระบุว่าเป็นวัด เพราะฉะนั้นตึกหลังนี้อาจจะเป็นหอพระประจำพระราชวังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปว่า พระเจ้าเหา หรือพระเจ้าหาว (หาว เป็นภาษาไทยโบราณ แปลว่า ท้องฟ้า”) (หน้า 99)

ผมไม่คิดว่าพระเจ้าเหามาจากพระเจ้าหาว ตามคำอธิบายของกรมศิลปากรที่ยกมานี้ แต่มีหลักฐานน่าเชื่อว่ามาจากพระเจ้าเฮ่า หมายถึง เทพบิดร (คือ ผีบรรพชน) ตามคำอธิบายเรื่องเมียวเฮ่าของ อ. ถาวร

อาคารหลังนี้ที่เรียกภายหลังว่าตึกพระเจ้าเหา คือ หอพระเทพบิดร สอดคล้องกับหลักฐานโบราณคดี ตามคำอธิบายของกรมศิลปากร ว่าอาจเป็นหอพระประจำพระราชวัง เพราะคำว่าหอพระ กร่อนคำจากหอพระเทพบิดร (และอาจเป็นหอพระมณเฑียรธรรมก็ได้)

 

ไม่เคยเอาใจใส่

ผมได้ยินชื่อ พระเจ้าเหา จากตึกพระเจ้าเหาที่ จ. ลพบุรี ตั้งแต่เป็นนักเรียนโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

แต่ไม่เคยเอาใจใส่หาคำแปลและความหมายของพระเจ้าเหา จึงไม่เคยรู้ว่ามีผู้รู้และนักปราชญ์เขียนอธิบายไว้อย่างไร? ที่ไหน?

เพราะไม่คิดเป็นเรื่องจริงจัง เข้าใจเองว่าเป็นประเภทคำพังเพย ปรัมปรา ทำนองนั้น

กระทั่งเมื่อสิงหาคม ได้อ่านหนังสือของ อ. ถาวร สิกขโกศล แล้วสะดุดใจที่อธิบายเรื่อง เฮ่า เลยเขียนออกไปให้ผู้อ่านช่วยกันพิจารณาว่า พระเจ้าเหาน่าจะมีที่มาจากคำจีนว่า เฮ่า

จึงเป็นแค่ความคิดของคนอ่านหนังสือน้อยและไม่รู้ภาษาจีนคนหนึ่งเท่านั้น ถ้าไม่เห็นด้วยก็ทิ้งไป ไม่มีปัญหา อย่าเก็บเป็นขยะในสมอง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image