ถ้าอเมริกาจะถอนตัว : โดยวีรพงษ์ รามางกูร

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา สร้างความตระหนกให้กับชาวโลกเป็นอันมาก เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้งโดยได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 290 ต่อ 232 ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ชนะอย่างถล่มทลายหรือแบบ landslide แต่พรรครีพับลิกันก็ชนะการเลือกตั้งทั้งในสภาสูงหรือวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรด้วย การบริหารของรัฐบาลรีพับลิกัน โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็คงจะเป็นไปด้วยความราบรื่น ปัญหากับรัฐสภาคงจะมีน้อยกว่าสมัยที่ผ่านมา ที่รัฐบาลเดโมแครตไม่สามารถครองเสียงข้างมากในรัฐสภา

ประชาชนชาวอเมริกันมักจะเปลี่ยนรัฐบาล เมื่อพรรครีพับลิกันหรือพรรคเดโมแครตเป็นรัฐบาลมา 2 สมัยคือ 8 ปี คนจะเป็นรัฐบาลสมัยที่ 3 นั้นยากมากแม้จะเคยมีก็ตาม

นอกจากนั้นประชาชนชาวอเมริกันยังไม่เคยให้โอกาสผู้หญิงได้ขึ้นมาถึงขั้นเป็นประมุขของสหรัฐเลย ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นถูกออกแบบไว้เมื่อคราวร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นเหมือน “พระจักรพรรดิ” ที่ได้รับการเลือกตั้งจากตัวแทนของมลรัฐหรือจากประเทศต่างๆ ที่เข้ามารวมตัวกันเป็น “สหรัฐ” หรือ “United States” หรือสมาพันธรัฐ ประธานาธิบดีไม่ได้มาจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างอังกฤษ

ประธานาธิบดีสหรัฐจึงมีอำนาจมาก รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ จึงมีฐานะเป็นเพียงเลขานุการของประธานาธิบดี ที่ประธานาธิบดีเลือกมาทำงาน ความเห็นของคณะรัฐมนตรีไม่ผูกพันประธานาธิบดี แต่ขณะเดียวกันมลรัฐต่างๆ ก็มีตัวแทนของตน มลรัฐละ 2 คนประกอบกันเข้าเป็นวุฒิสภา ประชาชนมีผู้แทนเขตละคนรวมกันเข้าเป็นสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่นิติบัญญัติ อนุมัติงบประมาณแผ่นดินและพิจารณาอนุมัติร่างพระราชบัญญัติต่างๆ ที่เสนอโดยประธานาธิบดี หรือเสนอโดยสมาชิกรัฐสภาเอง ขณะเดียวกันประธานาธิบดีก็มีอำนาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติได้ แต่ยุบสภาไม่ได้ สภาก็พิจารณาไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีไม่ได้ เป็นต้น

Advertisement

ประธานาธิบดียังเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพสหรัฐ เป็นผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียวในการส่งกองทัพให้บุกหรือให้ถอยทัพได้ แม้ว่าอำนาจการประกาศสงครามเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่ประธานาธิบดีก็ยังคงมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้บัญชาการกองทัพอยู่ แม้ว่าระยะหลังรัฐสภาจะจำกัดอำนาจประธานาธิบดีลงบ้าง แต่อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็ยังมีอยู่อย่างมหาศาล

สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงโดยชัยชนะของฝ่ายพันธมิตร ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นกำลังสำคัญ ประเทศพันธมิตรอื่นๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส รวมทั้งประเทศแพ้สงคราม เช่น เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น ต่างก็บอบช้ำในสงคราม เพราะพื้นที่ของประเทศเหล่านั้นล้วนแต่เป็นสนามรบ สหรัฐอเมริกาชนะสงครามและไม่ได้เป็นสนามรบ ไม่ต้องการการฟื้นฟู จึงสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและขยายบทบาทออกไปได้โดยไม่มีคู่แข่ง สหรัฐกลายเป็นประเทศที่ไม่มีประเทศใดแข่งขันได้ในทางเศรษฐกิจ ในไม่ช้าเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงสหรัฐอเมริกาจึงกลายเป็นมหาอำนาจชั้นหนึ่ง ทั้งในทางเศรษฐกิจ การทหาร ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

ในขณะที่สหภาพโซเวียตก็พัฒนาตัวเองเป็นผู้นำของประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และเป็นผู้ท้าทายอำนาจทางทหารของสหรัฐอเมริกา โลกจึงแบ่งออกเป็น 2 ค่าย ค่ายเสรีประชาธิปไตยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ส่วนค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ สงครามเย็นและสงครามตัวแทนในภูมิภาคต่างๆ จึงเกิดขึ้น ภาพของประธานาธิบดีสหรัฐและประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียตจึงเป็นภาพที่โดดเด่น เสมือนเป็นจักรพรรดิของดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล อุดมไปด้วยทรัพยากรและมีกองทัพอันยิ่งใหญ่และทรงพลานุภาพกันทั้ง 2 ฝ่าย เป็นที่เกรงขามไปทั่วโลก

Advertisement

ประธานาธิบดีเรแกนประกาศทำสงครามอวกาศกับสหภาพโซเวียตอย่างเอาเป็นเอาตาย ทุ่มเทเงินงบประมาณอย่างมหาศาล พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อการทำสงคราม จนเป็นผลให้ยอดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เมื่อการขาดดุลเพิ่มขึ้น ทางธนาคารกลางของสหรัฐจึงต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาและทั่วโลกประสบกับปัญหาอย่างหนัก

ในขณะเดียวกันทางสหภาพโซเวียตก็ประสบกับปัญหาการขาดดุลงบประมาณอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน ในที่สุดก็เป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต รัฐต่างๆ ที่รวมอยู่ในสหภาพเหล่านั้นเคยเป็นเมืองขึ้นของพระเจ้าซาร์มาก่อน ต่างก็แยกตนออกจากสหภาพโซเวียตกลายเป็นรัฐเอกราช หลายคนถือว่าเป็นผลงานอันสำคัญของประธานาธิบดีเรแกน อดีตดาราภาพยนตร์คาวบอยและผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

ไม่ว่าใครก็ตาม เมื่อได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้เข้ามาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็เท่ากับรับภาระของการที่จะทำให้สหรัฐอเมริกายังคงไว้ซึ่งความยิ่งใหญ่ คงความเป็นมหาอำนาจทั้งทางการเมือง การทหารและทางเศรษฐกิจของโลกตลอดไป

การที่ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าสหรัฐจะต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ก็แสดงว่าส่วนลึกในใจของคนอเมริกันนั้นคิดว่าตนได้เสียความยิ่งใหญ่ไปแล้ว และถ้าจะเสียให้ใครก็คงไม่พ้นที่จะเสียให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกที่คนอเมริกันถูกสื่อมวลชนของตนเองทำให้เกิดปมด้อย ทำให้คิดไปอย่างนั้น

การประกาศจะถอยออกจากการรักษาความมั่นคงของพันธมิตร เช่น อาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไม่น่าจะสอดคล้องกับการประกาศว่าจะนำความยิ่งใหญ่ของสหรัฐกลับคืนมา มีแต่จะสูญเสียพันธมิตรมากขึ้นตามลำดับ ประเทศก็เหมือนบุคคล การจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ มีคนเคารพยำเกรง ก็ต้องเป็นคนใจนักเลง ยอมจ่ายยอมควัก หากเป็นคนใจแคบ ละทิ้งพรรคพวก ความยิ่งใหญ่ก็จะค่อยๆ สลายไป ยิ่งถ้าคิดจะเอารัดเอาเปรียบพรรคพวก ความยิ่งใหญ่ก็ไม่อาจจะรักษาไว้ได้ นโยบายต่างประเทศและนโยบายถอนกำลังทหารออกจากประเทศพันธมิตร ทั้งๆ ที่ประเทศพันธมิตรเป็นผู้จ่ายให้กับอเมริกาอยู่แล้ว ในกรณีที่ขอให้กองกำลังของสหรัฐมาตั้งประจำการอยู่ในดินแดนของตน เป็นการลดอัตราการว่างงานในสหรัฐไปในตัว

ในเกมการเมืองระหว่างประเทศ ก็เหมือนกับประชาคมของมนุษย์ ย่อมจะมีประเทศเล็กประเทศใหญ่ ย่อมจะมีประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน ถ้าประเทศที่แข็งแรงอย่างสหรัฐอเมริกาจะถอยออกจากการเป็นสมาชิกที่สำคัญที่สุดในประชาคมโลก ช่องว่างก็จะเกิดขึ้นทันที การจัดระเบียบของประชาคมโลกจะเกิดขึ้นอีกครั้งพร้อมกันไป “ดุลแห่งความกลัว” ที่เคยดำรงอยู่ก็จะเกิดสูญเสียไป การปรับตัวเพื่อหา “ดุลแห่งความกลัว” อันใหม่ก็จะเกิดขึ้น กระบวนการดังกล่าวก็จะมีบางประเทศได้ประโยชน์ และบางประเทศเสียประโยชน์

ตั้งแต่สหรัฐอเมริกากลายเป็นมหาอำนาจของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลประโยชน์ของอเมริกาทั้งทางเศรษฐกิจ ทางทหารและทางการเมือง ย่อมมีอยู่ในทุกภูมิภาคของโลกและมีอยู่ในทุกมิติของความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จนทำให้การขยับตัวของประเทศใหญ่ๆ ในโลก การขยับตัวของประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็ย่อมจะกระทบต่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ลงทุนของสหรัฐทั้งสิ้น

การที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญๆ ที่กระทบต่อสวัสดิภาพ สวัสดิการ กระทบต่อรายได้ กระทบต่อความมั่นคงทั้งในชีวิตและทรัพย์สินของคนอเมริกันและชาวโลก ย่อมเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ง่ายๆ จะพบกับแรงต่อต้านเท่าๆ กับแรงสนับสนุน ผู้สนับสนุนก็จะออกมาเดินขบวนสนับสนุน

การที่เกิดการเดินขบวนจนมีความรุนแรงเกิดขึ้น ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยกับว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไปในตัวแล้ว แม้ประชาชนอเมริกันจะเคารพต่อรัฐธรรมนูญและยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนอเมริกันจะเห็นด้วยกับ “วาทกรรม” และการเปลี่ยนแปลงนโยบายไปทางขวาจัด จนทรัมป์ต้องประกาศว่าจะคงโครงการ “โอบามาแคร์” หรือโครงการประกันสุขภาพของโอบามาเอาไว้ ถ้าจะมีการยกเลิกโครงการสังคมอย่างอื่นก็อาจจะเห็นการประท้วงเกิดขึ้นอีก

ต่อไปนี้เราคงได้ฟังข่าวจากอเมริกาบ่อยขึ้น

 

วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image