คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ยาเสพติดปืนและสงคราม

คอลัมน์ “คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง” ส่วนใหญ่ จะมีรูปแบบเป็นการนำข่าวหรือประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นมาถอดรื้อดูว่ามีประเด็นข้อถกเถียงทางกฎหมายใดที่น่านำมาวิพากษ์พูดคุยกันบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาก็จะมีทั้งข่าวการเมือง สังคม อาชญากรรม หรือประเด็นดรามาในสังคมสมัยใหม่

แต่สำหรับ “ข่าว” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นเรื่องที่ชวนให้เศร้าสลดที่สุดเท่าที่เคยเขียนมา เสียจนไม่อยากจะเล่าเท้าความอะไรในรายละเอียด และก็เชื่อว่าก็คงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์อันน่าสลดนี้ มีทั้งข้อเรียกร้องให้รัฐทำสงครามกับยาเสพติดอย่างจริงจังกับข้อเสนอทีเล่นทีจริงว่า หรือเราควรจะให้ประชาชนทั่วไป แม้แต่ครูในโรงเรียน หรือสถานอนุบาลสามารถมีอาวุธปืนในครอบครองได้ เพื่อใช้ป้องกันเหตุร้ายในลักษณะนี้ในอนาคต

สำหรับยาเสพติดนั้น แม้ว่าในที่สุดอาจจะไม่ใช่ผลโดยตรง หากพิจารณาจากผลชันสูตรผู้ก่อเหตุ แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องที่ชัดเจนว่าเกิดจากปัญหาที่ผู้ก่อเหตุนั้นได้เสพยาเสพติดต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทั้งๆ ที่มีตำแหน่งหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐ ผู้มีอำนาจใช้ “อาวุธปืน” ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement

ซึ่งก็จะเชื่อมโยงกับอีกปัญหาหนึ่ง ได้แก่การควบคุมเรื่องครอบครอง พกพา และใช้งานอาวุธปืนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐคือ ตำรวจและทหารผู้มีอำนาจในการมีและใช้อาวุธร้ายแรงนี้ได้โดยที่คนทั่วไปไม่มีสิทธิหรืออำนาจดังกล่าว ในที่สุดก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นเองที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์อันน่าสลดขึ้น และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกด้วย

สำหรับ “อาวุธปืน” และ “ยาเสพติด” มีจุดร่วมในทางกฎหมายตรงกัน คือทั้งสองถือเป็น “ของร้าย” ในแบบ Mala Prohibita ได้แก่ ความผิดที่ไม่ใช่สิ่งที่ผิดในตัวเสียทีเดียว แต่เป็นสิ่งที่ผิดเพราะ “รัฐห้าม” โดยเราพอจะสังเกตง่ายๆ ว่าสิ่งที่เป็นความผิดแบบ Mala Prohibita นี้ จะไม่ได้ผิดกฎหมายตรงกันหรือเหมือนกันในทุกประเทศ แต่จะผิดถูกลดหลั่นกันไปตามแต่นโยบายของแต่ละรัฐประเทศนั้น

กรณีของยาหรือสารเสพติดที่จะมีกลไกการทำงานต่อจิตประสาทด้วยกลไกทางชีวเคมีของมัน ผลของยาเสพติดนั้นในแง่หนึ่งอาจพูดง่ายๆ ว่า ช่วยบรรเทาความทุกข์ทางจิตใจหรือร่างกาย หรือทำให้เกิดความเพลิดเพลินเพื่อให้หลงหรือลืมความทุกข์เศร้านั้นได้เป็นการชั่วคราว ยาหรือสารเสพติดจึงอาจถูกใช้ได้ทั้งในการบำบัดรักษาหรือการสันทนาการ

Advertisement

แต่เพราะความที่มันทำงานโดยตรงกับระบบการควบคุมร่างกายและการตัดสินใจ มันจึงมีอันตรายอยู่ด้วย หรือบางกรณีพิษภัยของมันก็มีผลร้ายต่อคนรอบข้าง เช่น กรณีของบุหรี่ ในแต่ละรัฐประเทศจึงจะกำหนดหลักการไว้ผ่านกลไกทางกฎหมายว่า ยาหรือสารเสพติดใดที่ห้ามเด็ดขาดมิให้ประชาชนนำมาใช้ หรือยินยอมให้ใช้สารชนิดใดได้ภายใต้เงื่อนไขของการบำบัดรักษาหรือสันทนาการในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดบ้าง เท่าที่นโยบายของรัฐประเทศนั้นเห็นว่าประโยชน์นั้นพอจะมีมากกว่าการรบกวนสังคมหรือผู้อื่นอันเป็นโทษต่อส่วนรวม

สำหรับประเทศไทยมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติในการกำหนด เงื่อนไขการห้ามและอนุญาตให้ใช้ยาหรือสารเสพติดแต่ละประเภทได้แค่ไหนเพียงไรได้แก่ประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยแบ่งยาเสพติดให้โทษออกเป็นห้าประเภท ตั้งแต่ยาเสพติดให้โทษที่ต้องห้าม คือยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง (ประเภทที่ 1) ยาเสพติดให้โทษทั่วไป (ประเภทที่ 2) ไล่ลงไปเรื่อยๆ แต่ข้อที่ว่าสิ่งใดจะเป็นยาหรือสารเสพติดประเภทใดในห้าประเภทนั้น เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ที่จะตัดสินใจว่าจะให้ “ยาเสพติด” หรือสารประเภทใดที่ผิดกฎหมายร้ายแรงต้องห้ามใช้ทุกกรณี หรือประเภทใดที่ใช้ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยกฎหมายให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ประกาศกำหนด ซึ่งประกาศดังกล่าวเป็นรูปแบบการใช้อำนาจทางปกครองประเภทการออกกฎ ที่เรามักเรียกว่า “กฎหมายลูก”

เช่นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนคือเรื่องพืชกัญชา ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นยาเสพติดที่ผิดกฎหมายโดยแทบไม่มีข้อยกเว้น แต่ปัจจุบันมันมีสถานะเป็นพืชสมุนไพรด้วยผลของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2565 (ยกเว้นสารสกัดที่มีปริมาณสาร THC เกิน 0.2%) โดยแทบไม่มีข้อห้ามทางกฎหมายชัดเจน ทำให้ในปัจจุบันนี้ การนำกัญชามาสูบที่เคยเป็นเรื่องต้องห้ามหลบซ่อน บัดนี้ก็ทำได้โดยเปิดเผย หากไม่ไปทำผิดกฎหมายอื่นๆ

ก็อาจเป็นเรื่องที่เราควรมาพิจารณาทบทวนร่วมกันดีหรือไม่ ว่าการกำหนดว่าให้อะไรเป็น “ยาเสพติด” และเงื่อนไขว่าให้ใช้ได้เพียงไร ควรเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจเป็นฝ่ายรัฐบาลอยู่ ณ เวลานั้น ได้แก่คณะกรรมการและตัวรัฐมนตรีอยู่เช่นนี้ หรือควรจะเป็นเรื่องที่รัฐสภาในฐานะผู้แทนของประชาชนจะได้พิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบและรอบด้าน

สำหรับ “อาวุธปืน” ก็เช่นกัน ในฐานะที่ตัวมันเองคืออาวุธร้ายแรงที่เพิ่มเขี้ยวเล็บ เป็นศักยภาพให้ผู้ที่ครอบครองและใช้งานมันสามารถทำอันตรายระดับถึงชีวิต หรือบาดเจ็บสาหัสให้แก่ผู้อื่นได้ ด้วยวัตถุประสงค์ที่เป็นไปได้ทั้งในทางรุกรานโจมตี หรือเพื่อการป้องกันตัวจากการละเมิดรุกรานนั้น กฎหมายของแต่ละรัฐประเทศ จึงทำหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขว่าบุคคลใดที่จะสามารถถือปืนได้บ้าง ซึ่งมีทั้งกรณีที่มองว่าแทบทุกคนควรมีสิทธิที่จะครอบครอง พกพา และใช้งานอาวุธชนิดนี้ได้โดยเสรี เช่นกรณีของสหรัฐอเมริกาที่มีประวัติศาสตร์เฉพาะ หรือกรณีที่เข้มงวดระดับที่ว่านอกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว แทบไม่มีกรณีใดเลยที่ประชาชนทั่วไปจะครอบครองอาวุธปืนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เช่นในกรณีของประเทศญี่ปุ่น

โดยประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะถือหลักว่า เว้นแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่รักษากฎหมายหรือป้องกันประเทศแล้ว บุคคลพลเรือนทั่วไปที่จะได้ครอบครอง พกพา และใช้อาวุธปืนโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่กฎหมายกำหนดเงื่อนไขอนุญาตไว้ และต้องควบคุมการมีการใช้อาวุธปืนดังกล่าวอย่างเข้มงวด แต่เงื่อนไขจะหนักเบาอย่างไรนั้นก็ขึ้นกับนโยบายของแต่ละรัฐประเทศนั้น

บทเรียนโศกนาฏกรรมที่หนองบัวลำภูนี้ ก็มี “ข้อเสนอ” หรือ “สมมุติฐาน” ว่า ถ้ากฎหมายเปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถมีและใช้อาวุธปืนได้ทั่วถึงกว่านี้ เหตุการณ์น่าสลดที่ผ่านมานี้อาจจะไม่เกิดขึ้น หรือแก้ไขมันได้รวดเร็วขึ้นก่อนที่จะส่งผลร้ายแรงขนาดนี้ เพราะ “คนดี” ที่มีปืน อาจจะสามารถใช้ปืนนั้นไป “หยุด” คนร้ายที่มีปืนได้ทันท่วงทีได้หรือไม่

ความคิดเห็นหรือข้อเสนอแบบนี้จริง ๆ ก็ไม่ได้ถือว่าผิดอะไร เพราะนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำไมประเทศอย่างสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าการมีอาวุธปืนเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองด้วย

แต่พึงระวังว่า การเปิดโอกาสให้ใครก็ได้มี พกพา และใช้อาวุธปืนได้โดยกว้างขวางนั้นก็ไม่ได้รับประกันว่า “ใคร” ไม่ว่าจะ “คนดี” หรือ “คนร้าย” ที่จะมีและใช้ปืนได้บ้าง แม้เป็นไปได้ที่ “คนดี” หรือ “คนทั่วไป” จะมีปืนไว้ต่อสู้กับ “คนร้าย” แต่ในทางเดียวกัน “คนร้าย” นั้นก็จะมีโอกาสที่จะครอบครองอาวุธปืนได้โดยถูกต้องตามกฎหมายได้มากขึ้นดุจกันด้วย รวมถึง “คนดี” ที่อาจจะเผลอไผลไปเป็นคนร้ายก็ด้วยเช่นกัน ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาวุธปืนไม่ว่าจะประเทศใดนั้น ก็มุ่งหมายให้ผู้ที่สมควรจะมีอาวุธปืนที่จะมีและใช้ได้ ด้วยเงื่อนไขตามกฎหมายที่เป็นภาวะวิสัย เพราะไม่อาจเขียนในกฎหมายว่า ให้เฉพาะ “คนดี” เท่านั้นที่จะมีจะพกปืนได้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น มันเป็นไปไม่ได้เลยในทางความเป็นจริง

การอนุญาตให้ผู้คนต่างคนต่างก็มีอาวุธปืนและใช้มันได้ทั้งเพื่อการโจมตีและป้องกันนั้น ก็ต้องระวังว่าในที่สุดรัฐประเทศนั้นก็จะเป็นดินแดนที่ตัดสินกันด้วยกำลัง ว่าใครมีปืนดียิงแม่นกว่าก็จะปลอดภัยกว่าคนอื่นไป

สำหรับเรื่อง “การประกาศสงครามกับยาเสพติด” ที่หลายฝ่ายเรียกร้องกันนี้ ทำให้คนส่วนใหญ่ต่างนึกไปถึงนโยบายชื่อเดียวกันนี้ของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี 2544 เป็นต้นมา

เราควรต้องย้อมกลับไปทำความเข้าใจในบริบทสภาพสังคมไทยก่อนหน้านั้นว่า เนื่องจากต้นตอสาเหตุนั้นเกิดจากการที่รัฐบาลต่างๆ ก่อนหน้านั้น ปล่อยปละละเลยจนปัญหายาเสพติดกลายเป็นเรื่องเรื้อรังรบกวนและก่อความเดือดร้อนให้สังคมไม่แพ้ในตอนนี้

ช่วงเวลานั้นมีข่าวคนร้ายเมายาบ้าจับตัวประกันอย่างอุกอาจขนาดก่อเหตุกันที่ป้ายรถเมล์ริมถนน และสะเทือนขวัญขนาดที่ฆ่าตัวประกันตายต่อหน้าผู้คนผ่านทางสื่อแบบสดๆ หรือกรณีที่ไม่ถึงกับก่ออาชญากรรมร้ายแรง ก็ตั้งกลุ่มมั่วสุมกันจนเป็นอันธพาล ในพื้นที่พวกสวนสาธารณะ ตามใต้สะพาน ซอยเปลี่ยว ตอนกลางคืนนี่เป็นพื้นที่อันตราย เพราะถูกครอบครองโดยผู้ติดยาเสพติด และเป็นปัญหาเช่นนี้ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ

ปัญหายาเสพติดระบาดหนักที่สังคมไทยต้องได้เจอดังกล่าวนี้ ทำให้การประกาศทำสงครามกับยาเสพติดของอดีตนายกฯทักษิณนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากผู้คนทั่วไปในสังคม แม้ว่าในขณะนั้นจะมี
ผู้พยายามทัดทานคัดค้านท้วงติงเรื่องความไม่ได้สัดส่วนและก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะผลจากนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดการฆ่าตัดตอนกันเองในหมู่ผู้ค้ายาเสพติด หรือเจ้าหน้าmujรัฐนั้นเองที่ทำการวิสามัญฆาตกรรมผู้ค้ายาเสพติดโดยไม่จำเป็น

ตอนนั้นก็มีข่าวเศร้าที่เจ้าหน้าที่กราดกระสุนใส่รถยนต์ที่นำยาเสพติดมาส่งแบบไม่เลือกเป้าหมาย ทำให้เด็กเล็กๆ ที่อยู่ในรถคันนั้นถูกลูกหลงเสียชีวิตไปด้วย แต่ในขณะนั้น ก็มีผู้พยายาม “เข้าใจ” ฝ่ายเจ้าหน้าที่ และโทษว่าเป็นเพราะพ่อแม่เองที่พาเด็กมาเสี่ยงไปด้วย

กระแสสังคมเป็นเช่นนั้น เพราะปัญหายาเสพติดก่อนหน้านี้มันรุนแรงเสียจนสังคมหลับตากับความไม่ถูกต้องที่ว่า เพียงเพื่อมันแก้ปัญหายาเสพติดได้ หากในปัจจุบันนี้ สังคมได้ตระหนักแล้วว่าการทำสงครามกับยาเสพติดในครั้งนั้นแม้เหมือนจะได้ผล แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่รุนแรงเกินไปจนละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่ได้สัดส่วน จนกระทั่งฝ่ายผู้นิยมอดีตนายกฯทักษิณเอง ก็ยังไม่ค่อยกล่าวถึงนโยบายนี้กันสักเท่าไรนักในช่วงที่ผ่านมา จนกระทั่งมาเกิดเหตุการณ์ที่หนองบัวลำภูนี้

โดยส่วนตัวเชื่อว่าสิ่งที่น่าจะพอเยียวยาผู้เป็นเหยื่อในอาชญากรรม และพ่อแม่ญาติมิตรคนที่รักของพวกเขาใดๆ ก็ตามแต่ ที่ดีที่สุดคือให้การสูญเสียดังกล่าวนั้นเป็นการสูญเสียในลักษณะเดียวกันเป็นครั้งสุดท้าย โดยให้ถือเอาการสูญเสียของพวกเขาเป็นทั้งอนุสรณ์และจุดตั้งต้นแห่งการแก้ไขป้องกันปัญหานี้อย่างยั่งยืนเพื่อมิให้ต้องมีใครได้รับเคราะห์กรรมเช่นนี้อีกต่อไปในอนาคต

สุดท้ายนี้จึงได้แต่หวังว่าโศกนาฏกรรมที่อุทัยสวรรค์ หนองบัวลำภู นี้จะเป็นการดึงสติทุกคนให้กลับมาทบทวนและจัดการกับการแก้ปัญหายาเสพติดและอาวุธปืนอย่างมีสติ ที่เคารพในสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักนิติรัฐกันต่อไป

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image