มองการปรับทัพของ USDP และอนาคตกองทัพกับการเมืองพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

พรรค USDP (Union Solidarity and Development Party) หรือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะพรรคนอมินีของกองทัพพม่า และลงสมัครเลือกตั้งในฐานะคู่แข่งสายตรงของพรรค NLD ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2010 เพื่อชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จัดขึ้นในปีเดียวกันนั้น ผู้นำคนแรกของ USDP คือนายพล เตง เส่ง ที่ต่อมาจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกในยุคที่พม่าเริ่มเข้าสู่ยุคการปฏิรูปสู่ระบอบประชาธิปไตย

จุดเด่นของพรรค USDP คือการเป็น “พรรคทหาร” หมายความว่าผู้บริหารและสมาชิกพรรคเกือบทั้งหมดเคยเป็นอดีตนายทหาร (ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งต้องลาออกจากตำแหน่งมาเป็นพลเรือนก่อน) การตั้งพรรคขึ้นมาต่อสู้กับพรรคพลเรือนที่ได้รับความนิยมอย่างสูงอย่างพรรค NLD นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยก็ชี้ให้เห็นว่ากองทัพพม่าและ SPDC ของพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ก็พยายามปรับตัวและลงสู่สนามเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย เมื่อลองวิเคราะห์ดูแล้วก็จะพบว่าในยุคหลังสงครามเย็น หรือตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา กองทัพพม่า ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นภาพแทนของ “รัฐ” จำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับกระแสประชาธิปไตยที่โหมกระหน่ำไปทั่วโลกในยุคหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย อย่างน้อยที่สุด กองทัพพม่าก็ลองแล้ว จึงได้รู้ซึ้งและเข้าใจว่าจะวันนี้หรือวันไหนกองทัพและพรรค USDP ก็ไม่สามารถสู้ความนิยมของพรรค NLD และพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ได้เด็ดขาด

พรรค USDP เกิดขึ้นในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ หลังเกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2008 เป็นยุคนักการเมืองและแอ๊กทิวิสต์ยังถูกควบคุมตัว พรรคจึงใช้กลไกทั้งหมดที่รัฐธรรมนูญเอื้อให้เพื่อเข้ามาเป็นแกนนำในรัฐบาลกึ่งประชาธิปไตยพรรคแรกในรอบหลายสิบปี เมื่อไม่มี NLD อะไรๆ ก็ดูง่ายไปหมดสำหรับ USDP ซึ่งกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไป 259 ที่นั่ง จาก 330 ที่นั่งในสภา ในขณะที่พรรค SNDP (Shan Nationalities Democratic Party) ของชาวฉานได้ไปเพียง 18 ที่นั่ง แน่นอนว่าเกิดปรากฏการณ์ USDP “แลนด์สไลด์” ได้เพราะพรรค NLD ประกาศบอยคอต
การเลือกตั้งในครั้งนั้น

เมื่อรัฐบาลเตง เส่งจัดการเลือกตั้งซ่อมในปี 2012 พรรค NLD เข้าร่วมชิงชัยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990 ที่พวกเขาได้รับชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ แต่ SLORC กลับประกาศให้ผลการเลือกตั้งเป็นหมัน และทยอยจับกุมแกนนำ NLD เข้าคุกยาว มาจนถึงยุคเตง เส่งที่นักโทษการเมืองเหล่านี้ถูกปล่อยตัว และกลายเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลหลัง NLD ชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดในการเลือกตั้งปี 2015 ผู้เขียนมองว่าท่าทีของผู้นำกองทัพพม่าที่มีต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่ามีความเปลี่ยนแปลงได้ พม่ามีรัฐบาลพลเรือนปกครองได้ แต่ต้องอยู่ในสายตาและกองทัพต้องควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างได้แบบเบ็ดเสร็จ

Advertisement

ในอันที่จริง รัฐธรรมนูญปี 2008 เขียนมาเพื่อให้อำนาจกองทัพอย่างเต็มขั้นอยู่แล้ว เพราะที่นั่งในสภาก็มีคนในกองทัพแต่งชุดทหารเข้าไปนั่งแบบอัตโนมัติแล้ว 25 เปอร์เซ็นต์ หนำซ้ำยังมีมาตราที่กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญว่าต้องได้รับความเห็นชอบจาก 2 ใน 3 จากสมาชิกในสภาทั้งหมด ถ้าไม่เกิดกบฏในกองทัพ โอกาสที่นายทหารในสภาจะโหวตสวนมติของกองทัพแทบเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น กองทัพจะอยู่ร่วมกับรัฐบาล NLD ไปแบบ “ชิลๆ” ก็คงไม่มีใครว่าเพราะยังไงเสียกองทัพก็ได้เปรียบ เพราะมีรัฐธรรมนูญอยู่ในมือ และยังมีมาตราที่เขียนขึ้นดักทางไว้ก่อนด้วยว่าหากเกิดสถานการณ์ที่ล่อแหลม หรือสหภาพพม่าอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงจะแตกสลาย กองทัพก็สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ทันที หรือเรียกว่าใบอนุญาตรัฐประหารก็คงไม่ผิดนัก

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าผู้นำกองทัพไม่ชอบขี้หน้าด่อ ออง ซาน ซูจีเอาซะเลย ไม่ใช่แค่ว่าเธอเป็นผู้นำรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นเพราะเธอเป็นคนระดับเซเลบที่โด่งดังไปทั่วโลก บดบังบารมีของผู้นำกองทัพพม่าเต็มๆ เรียกเป็นภาษาบ้านๆ คือกองทัพก็เกิดอาการหมั่นไส้ด่อ ออง ซาน ซูจีนั่นแหล่ะ ในเมื่อปล่อยให้รัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศแล้ว แต่กองทัพก็ยังมีเส้นที่แบ่งไว้อยู่ หากรัฐบาลพลเรือนล้ำเส้น กองทัพก็มีสิทธิยึดอำนาจกลับคืนมาได้ทุกเมื่อ แต่ก่อนหน้านี้มันไม่มีจุดที่ NLD ล้ำเส้นกองทัพขนาดที่ทำให้คนในกองทัพโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ จุดเปลี่ยนน่าจะมาจากผลการเลือกตั้งในปี 2020 ที่ NLD กวาดเสียงเพิ่มขึ้นแบบถล่มทลาย ปล่อยให้ USDP ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงเพียง 30 ที่นั่งจาก 315 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร แม้ในเขตเลือกตั้งในเนปยีดอ ซึ่งเป็นเขตของกองทัพโดยตรง ผู้ลงสมัครของ USDP ยังพ่ายแพ้ให้ตัวแทนจากพรรค NLD แบบราบคาบ

ดังนั้น หากจะกล่าวว่า รัฐประหารที่เกิดขึ้นมาจากคะแนนนิยมพรรค USDP ที่ตกต่ำลง ความนิยม NLD ที่เพิ่มขึ้น และความหวาดกลัวของกองทัพว่าจะไม่สามารถควบคุมรัฐบาลได้เบ็ดเสร็จอีกต่อไปก็คงไม่ผิดนัก จริงๆ แล้วผู้นำ USDP ก็รู้ชะตากรรมของตนเอง และพยายามปรับกระบวนทัพมาตลอด แต่ต้องยอมรับว่ากระแสการเมืองในพม่าไม่เอื้อให้พรรคนอมินีของกองทัพเติบโตขึ้นมาเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยอีกแล้ว ยกเว้นจะเกิดการโกงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ หรือตัด NLD ออกจากสมการการเมืองทั้งหมด และเสกผลการเลือกตั้งขึ้นมาเอง

Advertisement

ในการประชุมประจำปีของพรรค USDP ที่เพิ่งจะผ่านมา ถั่น เท (Than Htay) หัวหน้าพรรคที่เข้ามาตั้งแต่ปี 2016 ตัดสินใจลาออก และส่งไม้ต่อให้ขิ่น ยี (Khin Yi) รองหัวหน้าพรรค และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมือง เข้ารับตำแหน่งแทน ในสุนทรพจน์อำลาตำแหน่ง ถั่น เทยังคงกล่าวถึงความล้มเหลวของพรรคที่ทำผลงานได้ต่ำกว่าเป้ามากในการเลือกตั้งปี 2020 และยังกล่าวว่าเขาไม่สามารถปกป้องสมาชิกพรรค USDP มากกว่า 2,000 คนที่ถูกสังหารโดยกองกำลังหลายฝ่ายหลังเกิดรัฐประหาร

สุนทรพจน์ของขิ่น ยีมีความน่าสนใจมาก เพราะเขาเรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือกับคณะรัฐประหารในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า (2023) นอกจาก USDP จะได้ผู้นำคนใหม่ ยังได้มยัต เฮง (Myat Hein) อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ กับหละ ทุน (Hla Tun) อดีตนายทหารและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นนายทหารสายฮาร์ดคอร์ เข้ามานั่งในตำแหน่งผู้บริหารพรรคด้วย นอกจากนี้ ยังมีนายทหารที่เกษียณอายุจากกองทัพในปีนี้อีกกว่า 300 คน ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค USDP เร่งเครื่องเต็มสูบเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง

แผนระยะสั้นของคณะรัฐประหารคงไม่พ้นการจัดให้มีการเลือกตั้ง และนำ USDP เข้าไปจัดตั้งรัฐบาล เหมือนกับในยุครัฐบาลเตง เส่ง และเมื่อแกนนำของ USDP เต็มไปด้วยนายพลสายเชิดชูความเกรียงไกรของกองทัพ เราจะได้เห็นการต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างรัฐบาล USDP ในอนาคต กองทัพพม่า กับกองกำลังฝ่ายประชาชนอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image