เลือกตั้ง 2560 ปมร้อน ‘การเมือง’ ‘รัฐประหาร’

หากมีการเสนอคำถามขึ้นว่า มีความแตกต่างระหว่าง “ประชามติ” กับ“การเลือกตั้ง” หรือไม่ คำตอบจะแจ่มชัดอย่างมาก

แจ่มชัดว่า “แตกต่าง”

แม้ว่าโดยกระบวนการ “ประชามติ” แม้ว่าโดยกระบวนการ “การเลือกตั้ง” จะอิงอยู่กับเสียงและการตัดสินใจของประชาชนเหมือนกัน

เหมือนกันตรง “รูปแบบ” แต่แตกต่างกันที่ “เนื้อหา”

Advertisement

เพราะว่าเนื้อหาหรือเป้าหมายของ “ประชามติ” ขึ้นอยู่กับประเด็นหรือหัวข้ออย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่ทำกันเมื่อปี 2550 และอย่างที่ทำกันเมื่อเดือนสิงหาคม 2559

แต่ว่าเนื้อหาหรือเป้าหมายของ “การเลือกตั้ง” อยู่ที่ “ตัวบุคคล” หรือ “พรรคการเมือง”

ในความรับรู้ของประชาชนที่ผ่านประสบการณ์ของ “การเลือกตั้ง” และผ่านประสบการณ์ของ “ประชามติ” มาแล้วมีความแจ่มชัด

ไม่สับสน

อย่างน้อยประชามติ “ร่างรัฐธรรมนูญ” เมื่อเดือนสิงหาคม กับการเลือกตั้ง “ส.ส.” เมื่อเดือนธันวาคม 2550 ก็แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมถึงความรับรู้ ความเข้าใจของประชาชน

ประเด็นอยู่ที่ว่า “คสช.” จะ “เข้าใจ” หรือไม่

ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ไม่ว่าประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ดำเนินไปภายใต้สภาพเดียวกัน

ทั้งทาง “การเมือง” ทั้งทาง “การทหาร”

นั่นก็คือ อำนาจอยู่ในกำมือของทหาร เมื่อปี 2550 เรียกว่า “คมช.” โดยเมื่อปี 2559 เรียกว่า “คสช.” กระบวนการประชามติจึงอยู่ในการกำกับของทหาร

ผ่าน “กฎอัยการศึก” ผ่าน “กกล.รส.”

ไม่เพียงแต่เท่านั้น หากกล่าวในยุคของ “คสช.” รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ยังให้อำนาจกับหัวหน้า คสช.สามารถใช้มาตรา 44 อีกด้วย

อำนาจของ “คสช.” จึง “เบ็ดเสร็จ”

เป็นสภาวะเบ็ดเสร็จอันสามารถประกันชัยชนะ ประกันความสำเร็จให้กับประชามติไม่ว่าเมื่อปี 2550 ไม่ว่าเมื่อปี 2559 ได้

เรียบโร้ย “คมช.” เรียบโร้ย “คสช.”

กระนั้น เมื่อเข้าสู่ “โหมด” แห่งกระบวนการของ “การเลือกตั้ง” สภาพอันเคยมีในเดือนสิงหาคมกลับแปรเปลี่ยน

เพราะว่าเป็นการเลือกตั้งตาม “รัฐธรรมนูญ”

เพียงแต่ในยุคของ “คมช.” คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพียงแต่ในยุคของ “คสช.” คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557

ตรงนี้แหละ “สำคัญ”

คล้ายกับว่า การเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 จะเป็นการสัประยุทธ์ชิงชัยระหว่างพรรคพลังประชาชนกับพรรคประชาธิปัตย์

เป็นเช่นนั้น แต่ก็ “มาก” กว่านั้น

เพราะเป้าหมาย 1 ที่พรรคพลังประชาชนจำเป็นต้องหยิบยกและอธิบายให้กับประชาชนก็คือประเด็นว่าด้วยรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

นั่นอยู่ในความรับผิดชอบของ “คมช.” โดยตรง

ขณะเดียวกัน หากเป็นการเลือกตั้งประมาณปลายปี 2560 ก็ยังเป็นการสัประยุทธ์ชิงชัยระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์

แต่คิดหรือว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะ “ลอยตัว”

มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่พรรคเพื่อไทยจะต้องอ้างอิงและนำเอารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาอธิบายและทำความเข้าใจกับประชาชน

ตรงนี้แหละที่จะเป็น “หินลองทอง” อัน “คมแหลม”

ถามว่า บรรดา “คสช.” ทั้งหลายจะรับได้หรือไม่ ถามว่าบรรดา “กรรมการ” ทั้งหลายจะมีความอดทน อดกลั้นเพียงใด

กระบวนการของ “การเลือกตั้ง” จึงเป็นอีกกระบวนการหนึ่งซึ่งแตกต่างไปจากกระบวนการ “ประชามติ”

การเลือกตั้งจะทำให้รัฐประหารไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ตกเป็นเป้าหมาย ตกเป็นจำเลยในทางการเมือง

แล้วผลจะ “ตรงกันข้าม” กับที่เห็นใน “ประชามติ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image