เสียงข้างมากมาจากไหน : โดย กล้า สมุทวณิช

ผลการเลือกตั้งสหรัฐซึ่งปรากฏว่าได้ “ลุง” ขวาจัด อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นว่าที่ประธานาธิบดี ก็ทำให้เกิดการประท้วงหนักบ้างเบาบ้างไปในหลายรัฐหลายเมือง

ผลการเลือกตั้งและการประท้วงผลการเลือกตั้งนี้เองก็ทำให้เกิดเสียงเย้ยหยันของฝ่ายที่ไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งว่านี่คือความล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้ฝ่ายขวาสุดโต่ง ทั้งเหยียดชาติ เหยียดเพศ เหยียดศาสนา ขึ้นครองอำนาจบ้าง หรือถากถางว่าเป็นอย่างไรล่ะ ประชาธิปไตยจากประเทศต้นแบบ แต่ดันไม่เคารพเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง

ข้อถกเถียงเรื่อง “ผลการเลือกตั้ง” ในสหรัฐนี้ก็ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาของการ “รับรู้เสียงข้างมาก” ผ่านระบบการเลือกตั้ง

แม้มักจะมีผู้กล่าวว่า “การเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย” แต่ประโยคที่จะต้องกล่าวต่อไปเสมอคือ “หากไม่มีการเลือกตั้ง (ที่เสรี) แล้วก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นประชาธิปไตย” เพราะการเลือกตั้ง (และรวมถึงการทำประชามติด้วย) นั้นเป็นวิธีการที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดในการจะหยั่งทราบว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนั้นต้องการ “ใคร” หรือต้องการ “อะไร”

Advertisement

กระนั้น เมื่อได้ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งออกมาเป็น “คะแนนเสียง” แล้ว เรื่องสำคัญจากนั้นก็คือการ “รับรู้” เสียงข้างมาก และสะท้อนเสียงนั้นออกมาเป็น “ผลการเลือกตั้ง” ว่าระบบหรือกติกาการเลือกตั้งที่จะ “นับ” หรือ “รับรู้” เสียงข้างมากมาเป็น “คำตอบ” ของการเลือกตั้งนั้นอย่างไร

คงทราบกันแล้วว่าระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้น เป็นการเลือกตั้งแบบ “ทางอ้อม” ที่โดยข้อเท็จจริงแล้วประชาชนชาวสหรัฐไม่ได้ไปกากบาทเลือกนายทรัมป์ หรือนางคลินตัน แต่เป็นการเลือก “บุคคลที่สัญญาว่าจะไปออกเสียงเลือกนายทรัมป์ หรือนางคลินตัน เป็นประธานาธิบดี” ที่เรียกว่า “คณะผู้เลือกตั้ง”

และเมื่อการเลือกตั้งทางอ้อมนี้ใช้ระบบ “ผู้ชนะกวาดหมด” (Winner take all) ดังนั้น จึงเท่ากับว่า หากในรัฐใดมีคณะผู้เลือกตั้งได้ 20 คน หากผู้ใดชนะได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งในรัฐนี้ ก็เท่ากับว่าผู้ที่จะมีสิทธิออกเสียงทั้ง 20 คน จะไปออกเสียงเลือกผู้นั้น และหากในที่สุดใครได้คะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้งที่ว่ามากกว่า 270 เสียง ก็จะถือว่าชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี

Advertisement

เมื่อ “เสียง” ของคนทั้งรัฐ ถูกควบรวมลงเหลือเพียง “เสียง” ของผู้ชนะทั้งหมดจึงเท่ากับว่า “เสียง” ของผู้ที่เลือกคนที่ได้คะแนนรองลงมานั้นไม่ได้รับการได้ยินแม้แต่เสียงเดียวในการเลือกตั้งระบบนี้

ถ้า “เสียง” ของคนทั้งประเทศที่ควบรวมกันเหลือเพียง 538 เสียงของคณะผู้เลือกตั้งตรงกับ “เสียงทั้งหมด” ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งร้อยกว่าล้านเสียงก็แล้วไป แต่ถ้าเกิดกรณีที่เสียงทั้งหมดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่รวมตัวกันแล้วกลับมากกว่าเสียงของผู้ชนะในระบบผู้เลือกตั้ง อย่างที่ปรากฏในปีนี้ ที่กลับกลายเป็นว่าเสียง “ส่วนใหญ่” หากคิดรายบุคคลผู้มาเลือกตั้งนั้นประสงค์จะเลือกคลินตัน ซึ่งชนะ Popular vote ไป แต่เป็นเสียงของบรรดาคณะผู้เลือกตั้งที่จะเลือกทรัมป์นั้นจะเป็นฝ่าย “ข้างน้อย” เมื่อพิจารณากันในภาพรวมของทั้งประเทศจะเป็นผู้เลือกประธานาธิบดี ก็อาจเกิดข้อโต้เถียงกันได้อยู่ว่าตกลงแล้วกรณีไหนกันแน่ที่ “สะท้อน” เสียงข้างมากของคนทั้งประเทศที่แท้จริง

การหาวิธีการสะท้อนเสียงของผู้ลงคะแนนเพื่อรับฟังเสียงข้างมากผ่านการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ ข้อโต้แย้งเรื่องวิธีรับรู้เสียงข้างมากกรณีของสหรัฐที่ยกไปนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม แต่สำหรับระบบการเลือกตั้งทางตรงก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหานี้

สมมุติการเลือกตั้งครั้งหนึ่ง มีผู้สมัครสามราย ผลการเลือกตั้งได้คะแนนออกมาว่านาย A ได้ 30 เสียง นาย B ได้ 25 เสียง และนาย C ได้ 15 เสียง เช่นนี้ถ้ากติกาการเลือกตั้งทั่วไปถือว่านาย A ชนะการเลือกตั้ง ก็จะมีข้อโต้แย้งได้อยู่ว่า นาย A ยังไม่ใช่ตัวแทนของ “เสียงข้างมาก” ในการเลือกตั้งครั้งนั้น เพราะคนอีก 40 คน (25+15) ไม่ได้เลือกนาย A

บางประเทศนั้นต้องการได้ยิน “เสียงข้างมาก” ชัดๆ เช่นฝรั่งเศส ก็จะมีระบบการเลือกตั้งสองรอบ ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดชนะด้วยเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ไปออกเสียง ก็จะจับเอาคนที่ได้ที่หนึ่งและที่สองไป “ประกวดกันอีกรอบ” ถามประชาชนว่าจะเลือกใครหากเหลือเพียงสองคนนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ชนะจะต้องมาด้วยเสียงข้างมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งแน่ๆ ดังนั้น ถ้าเอาเรื่องการเลือกตั้งเมื่อย่อหน้าที่แล้วมาปรับใช้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ต้องลงคะแนนกันใหม่ว่าจะเลือกนาย A หรือนาย B เป็นตัวแทนของท่าน

หรือมาย้อนดูระบบการเลือกตั้งแบบไทยๆ เรา ที่หลายคนมักจะเทียบเอาเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. และให้ ส.ส. ไปเลือกนายกรัฐมนตรี ว่าออกจะคล้ายๆ ระบบการเลือกตั้งทางอ้อมของสหรัฐนี้อยู่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีความพยายามที่จะให้ “เสียงของผู้ไปเลือกตั้ง” ได้รับการรับฟังให้ชัดเจนขึ้น ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่จะต้องมีการนำคะแนนรวมทั้งประเทศมาคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเพื่อชดเชยจำนวน ส.ส. ให้สะท้อนผลการออกเสียงเลือกตั้งโดยรวมที่แท้จริงของประเทศ

อาจจะถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่ค่อนข้าง “ก้าวหน้า” ของรัฐธรรมนูญที่หลายคนมองว่าภาพรวมมีแนวทางที่เหมือนจะเดินถอยหลัง

สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐตอนนี้นั้นคงเป็นบทเรียนและกรณีศึกษาของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในเรื่องการรับรู้เสียงข้างมากจากระบบเลือกตั้ง หรือแม้แต่การประท้วงผลการเลือกตั้งที่เชื่อว่าไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของคนทั้งประเทศก็เป็นภาพของการใช้คุณประโยชน์ของ “ประชาธิปไตย” เพื่อ “ส่งเสียง” โดยตรงผ่านการใช้เสรีภาพในการชุมนุมประท้วง ส่วนจะรุนแรงวุ่นวายยืดเยื้ออย่างไรก็ว่ากันไปตามธรรมชาติที่จะรักษาเยียวยาตัวเองของระบอบประชาธิปไตยเถิด

เมื่อย้อนกลับมามองประเทศที่อยู่ในสถานะที่จะเลือกตั้งเมื่อไรก็ยังไม่ชัด เลือกแล้วอาจจะได้ “ตาลุง” ที่ไหนก็ไม่รู้เพราะอาจจะมาจากใครก็ได้ที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แถมเสียงของตัวแทนประชาชนจากการเลือกตั้งโดยตรงก็อาจจะไม่สามารถเลือกตัวนายกรัฐมนตรีได้อีก ด้วยมี “คณะผู้ลากตั้ง” ที่ “เลือกมากับมือ” รออยู่ค่อนสภา

การไปเยาะเย้ยถากถางคนที่เขาเพิ่งได้เลือกตั้งกันไป แม้จะยังถกเถียงวุ่นวายกันบ้างแต่ทุกฝ่ายก็ยังอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน มีเสรีภาพในการแสดงออกว่าเอาหรือไม่เอาใครได้เต็มที่ ก็อาจจะเหมือนคนอุจจาระราดหัวเราะเยาะคนผายลมเสียงดัง

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image