ผู้เขียน | ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ |
---|
สะพานแห่งกาลเวลา : โอมิครอน ยังไม่หมดฤทธิ์
ในเมืองไทยเราเวลานี้ ปรากฏการณ์ที่ยังหลงเหลืออยู่เกี่ยวกับ โควิด-19 เห็นจะเป็นหน้ากากที่หยิบติดไม้ติดมือไว้ “ใส่พอเป็นพิธี” อีตอนออกไปไหนมาไหนกันเท่านั้น
ส่วนเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับโควิด-19 ค่อยๆ เลือนหายไปจากความรู้สึก ความทรงจำมากขึ้นตามลำดับ เพราะเราสามารถเดินทางได้ ไปเที่ยว หรือไปไหนมาไหนก็ได้ มหรสพ บันเทิงสถานต่างๆ เปิดกิจการกันครบถ้วน ไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป
แต่พอถึงหน้าหนาวปลายปี ในต่างประเทศหลายๆ ประเทศ เริ่มเกิดความกังวลกันขึ้นมาถึง “ระลอกต่อไป” ของโควิด-19 กันขึ้นมาอีกครั้ง
เหตุเพราะอิทธิฤทธิ์ของ “โอมิครอน” ยังไม่สิ้นสุดยุติลงจริงๆ
ตั้งแต่ปรากฏขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ตอนปลายปี 2021 เจ้า ซาร์ส-โควี-2 สายพันธุ์โอมิครอน แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก เข้าแทนที่สายพันธุ์เดลต้า แล้วยังผุดสายพันธุ์ย่อยออกมาอีกสารพัดให้ต้องติดตามตรวจสอบกันอยู่ตลอดเวลา
จนถึงขณะนี้ “โอมิครอน” ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเชื้อโรคที่ระบาดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่มนุษยชาติเคยพานพบมา
เร็วกว่าโควิดทุกๆ สายพันธุ์ ถึงขนาดที่ว่า นักวิทยาศาสตร์บางคนขนานนามมันว่า “เชื้อโควิดติดเทอร์โบ” กันเลยทีเดียว
สายพันธุ์ดั้งเดิมของโอมิครอน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ใช้สัญลักษณ์ B.1.1.529 กำกับ ยังมีความพิเศษพิสดารที่ไม่เหมือนเชื้อโควิดตัวอื่นๆ ที่ผ่านมาอีกด้วย นั่นคือ
มันวิวัฒนาการไม่หยุดหย่อน
ชั่วระยะเวลาเพียง 1 ปี โอมิครอนแตกออกเป็นสายพันธุ์ย่อยหลากหลายมากมายไม่ยอมเลิกรา
ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ B.1.1.529 นั้นมีการกลายพันธุ์ของ “ยีน” หรือตัวกำหนดพันธุกรรมของไวรัสโควิดอยู่มากถึง 50 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นการกลายพันธุ์ในยีนที่กำหนดรูปร่างลักษณะของสไปค์โปรตีน หรือโปรตีนหนาม อยู่มากถึง 30 ตำแหน่ง ซึ่งทำให้โปรตีนหนามของโอมิครอนไม่เหมือนของเชื้อสายพันธุ์ใดๆ ก่อนหน้า
นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมโอมิครอนจึงสามารถแพร่ระบาดในร่างกายของผู้ที่มีภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะจากการฉีดวัคซีนหรือจากการที่เคยติดเชื้อมาก่อนได้ เพราะโปรตีนหนามที่เปลี่ยนไปทำให้มันสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจจับของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเราได้
โอมิครอนยังพัฒนาไปให้สามารถเข้าไปจับเกาะกับเซลล์ของมนุษย์ในบริเวณระบบทางเดินหายใจตอนบนได้ซึ่งส่งผลให้มันสามารถแพร่ระบาดได้ดีกว่าและเร็วกว่า เชื้อที่ผ่านๆ มาทั้งหมด
วิวัฒนาการที่ไม่ยุติ ทำให้โอมิครอนแตกหน่อเป็นสายพันธ์ย่อยๆ อีกมากมาย ในจำนวนสายพันธุ์ย่อยที่เกิดใหม่เหล่านี้ สายพันธุ์ BQ.1.1, BQ.1, BQ.1.3, BA.2.3.20 และ XBB คือสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่แพร่ได้เร็วที่สุด
หน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ยอมรับว่า ในบรรดาสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่เกิดใหม่นั้น ที่น่ากังวลที่สุด นอกจากสายพันธุ์ย่อยที่ขึ้นต้นด้วย BQ ทั้งหมดแล้ว ยังมีเพิ่มเติมอีก 2 ตัว คือ BA.2.75.2 กับ BF.7 อีกด้วย
BF.7 นอกจากจะก่อให้เกิดอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกครั้งในยูเคแล้ว ยังพบว่าเป็นตัวการในการแพร่ระบาดใหม่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ข้อมูลของสำนักงานเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1-8 ตุลาคม พบผู้ติดเชื้อโควิด BF.7 เพิ่มขึ้นเป็น 4.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงและเร็วมาก เมื่อคำนึงถึงว่าก่อนหน้านั้น 1 สัปดาห์ พบผู้ติดเชื้อโควิด BF.7 เพียง 3.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ซีดีซียังเปิดเผยอีกว่า อีก 13.6 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด เป็นการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA4.6 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านั้นซึ่งอยู่ที่ 12.7 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเร็วจนน่าวิตกกังวล
ในประเทศอย่างบังกลาเทศ และประเทศอย่างสิงคโปร์ ตัวการสำคัญที่ทำให้ยอดการระบาดกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกคร้้งหนึ่ง คือสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน ที่เรียกว่า “XBB”
สายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ มีคุณสมบัติพิเศษจากการกลายพันธุ์ทำให้มันสามารถหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ทำให้วัคซีนที่เคยใช้กันมาด้อยประสิทธิภาพลง
องค์การอนามัยโลกยังออกมาเตือนด้วยว่า วัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ อย่างโมเดอร์นา และไฟเซอร์ ช่วยกระตุ้นภูมิให้เพิ่มมากขึ้นก็จริง แต่ก็จะหายไปเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง คือ 6 เดือนเศษ โดยยังจำเป็นต้องศึกษาวิจัยต่อไปว่าทำอย่างไรถึงจะให้ภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนอยู่ได้นานกว่านั้น
ข่าวดีก็คือ สัดส่วนของการป่วยหนักจนถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ยังไม่สูงเท่ากับปริมาณของการติดเชื้อ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อ หรือได้รับวัคซีนมาก่อนหน้านี้ ยังสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการป่วยหนักได้
แต่ที่น่ากลัว และทำให้ต้องออกมาเตือนกันอีกครั้งก็คือ ในระยะสั้นอาจไม่ป่วยหนัก แต่ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนหรือการติดเชื้อมาก่อนหน้า
ยังไม่สามารถป้องกัน “ลองโควิด” หรือผลกระทบระยะยาวจากโควิดได้นั่นเอง
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์