มองเลือกตั้งอเมริกา อย่างเป็นองค์รวม (1) : โดย ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์

ผู้เขียนคงเป็นหนึ่งในคนจำนวนมากที่ไม่ถึงกับช็อก แต่ก็แปลกใจที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ผู้เขียนไม่ได้ตามแบบใจจดใจจ่อผลของการเลือกตั้ง มารู้ผลการเลือกตั้งก็เป็นวันถัดมาบ่ายสายๆ จากโทรศัพท์มือถือ ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนคิดว่า ฮิลลารี คลินตัน คงชนะและน่าจะชนะมาก แม้ว่าใกล้วันเลือกตั้งไม่กี่วัน โพลส่วนใหญ่ออกมาบอกค่อนข้างสูสี แต่ผู้เขียนอาจจะคิดเข้าข้างตัวเอง คือไม่เชื่อโพล โดยเฉพาะเมื่อเอฟบีไอมาบอกว่าล่าสุดไม่พบข้อหาความผิดทางอาญาเรื่องอีเมล์ส่วนตัว บวกลบคูณหารก็ยังคิดว่าฮิลลารีก็น่าจะมา ในใจผู้เขียนอยากให้เธอชนะ เพราะกลัวว่าถ้าทรัมป์มา ระเบียบและดุลอำนาจโลกอาจจะเปลี่ยน โลกจะมีความเสี่ยงความไม่แน่นอน อาจอันตรายในระยะยาว

คนที่คิดว่าฮิลลารีคงชนะ น่าจะมีเหตุผลเหมือนที่ผู้เขียนคิดไว้ จริงอยู่การที่พรรคเดโมแครตจะชนะเป็นสมัยที่สาม เราไม่พบบ่อยนักหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แต่ก็คิดว่าคราวนี้อาจจะเป็นไปได้ เพราะดูเหมือนโอบามาก็มีผลงาน แล้วก็กระแสก็ไม่ถึงกับมีภาพและผลงานที่เป็นประธานาธิบดีที่อ่อนแอ เหมือนที่เราพบในประวัติศาสตร์ เช่นช่วงหนึ่ง คือ ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ หรือย้อนไปไกลกว่านั้น เช่น ประธานาธิบดีเฮอเบิร์ด ฮูเวอร์ ที่ไม่ยอมใช้รัฐแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ แนวเคนส์เซียน มีอีกหลายเหตุผล หลายปัจจัยที่ฮิลลารีน่าจะชนะ แม้เรารู้ว่าเธอมีปัญหาเรื่องอีเมล์ส่วนตัว ปัญหาเรื่องการตั้งมูลนิธิที่ดูเหมือนจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ก็ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาใหญ่

นอกจากนี้ ทรัมป์เองก็ดูมีปัญหาบุคลิกภาพ คนจำนวนมากมองว่าเป็นตัวตลก ที่สำคัญประวัติก็มีด้านลบมากเขาถูกฟ้องขึ้นโรงขึ้นศาลมาเยอะตั้งแต่ถูกอัยการฟ้องเรื่องเลือกปฏิบัติไม่รับคนผิวสี (แฟ้มรับสมัครคนงานที่พนักงานถือไว้มีแสตมป์คำว่า “C” ซึ่งก็คือว่า Colored ซึ่งหมายถึงคนนิโกรและคนผิวสีเชื้อชาติอื่น)

เขาถูกฟ้องเรื่องเอาเปรียบและทำผิดกฎหมายในการจ้างคนอพยพชาวโปแลนด์สร้าง Trump Tower เขาตั้ง Trump university ก็ถูกนักศึกษาฟ้องเรื่องคดโกง ที่ฮือฮากันก็คือ โดยเทคนิคทางบัญชีเขาเอาการขาดทุนเกือบหนึ่งพันล้านดอลาร์จากการทำธุรกิจ มาใช้ในการทำให้ไม่ต้องเสียภาษีในปัจจุบันและอนาคต เขาโชคดีที่พ่อเขาเก่งเป็นเศรษฐีของนิวยอร์กจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

Advertisement

ทรัมป์อาจเก่งในการหาอะไรใหม่ๆ ทำได้เสมอเมื่อเขาล้มจากกิจการหนึ่ง เหมือนที่เขาได้รับชัยชนะทางการเมืองครั้งนี้ แต่ประวัติทางธุรกิจเมื่อเขา diversify มักจะล้มเหลวถึงขั้นล้มละลายก็เยอะนี่เป็นเพียงบางตัวอย่าง ในความรู้สึกของผู้เขียน “ประเทศไม่ใช่บริษัท” ผู้เขียนไม่ได้ทึ่งเขาเหมือนคนที่เลือกเขา ที่สำคัญสำหรับคนอเมริกันคือ เขาสามารถจะ trust หรือไว้ใจทรัมป์ได้แค่ไหน ความน่าเชื่อถือ ในทุกเรื่องที่เขาพูดเขาสัญญา

ประสบการณ์ทางการเมืองของเขาไม่มีเลย ซ้ำร้ายกว่านั้น ผู้นำและหัวกะทิของพรรครีพับลิกันก็ยังไม่เอาเขา ถึงกับบอกว่าจะไปโหวตให้ฮิลลารี เพราะรับเขาไม่ได้ทั้งความคิดและบุคลิก ซึ่งมักจะมีออกมาเรื่อยๆ เช่นเรื่องการเหยียดผิว การเหยียดหยามไม่ให้เกียรติสตรี เต็มไปด้วยโมหาคติ

เขาหาคะแนนกับคนผิวขาวด้วยการเหวี่ยงแหคนเข้าเมืองเม็กซิกันที่เขาคิดว่าผิดกฎหมายว่าเป็น Rapist หรือนักกระทำชำเรา

Advertisement

ในอดีตที่ผ่านมามีไม่มากที่คนที่ขาดประสบการณ์อย่างเขา จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้ จริงอยู่อดีตประธานาธิบดีเรแกน ก็เหมือนเป็นคนนอก มีภาพพจน์ของคาวบอย แม้จะได้เป็นผู้ว่ามาก่อน ประวัติการเป็น ส.ส. ส.ว.ไม่มี ซึ่งมักเป็นเส้นทางการขึ้นสู่การเป็นประธานาธิบดีของอเมริกา

แต่ที่สำคัญกว่านั้นผู้เขียนคิดว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่คงใช้เหตุใช้ผล เหมือนที่ผู้เขียนคิด คือเปรียบเทียบวิสัยทัศน์และนโยบาย เริ่มที่โวหารของทรัมป์ เช่น America First หรือ Make America Great Again ผู้เขียนรู้สึกเฉยๆ และก็คิดว่าคนอเมริกัน ก็คงเคยชินกับคำขวัญเหล่านี้ ซึ่งในอดีตเราก็พบมาเยอะ ไม่ใช่ครั้งแรก สำคัญกว่าคือทรัมป์มักจะไม่มีรายละเอียด ข้อเสนอหรือนโยบายหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะทำได้ในทางปฏิบัติ หรือทำได้แต่ก็ฝืนกระแสแนวโน้มใหญ่ของโลก คือถ้าเป็นสินค้าก็ไม่น่าจะเป็นสินค้าที่ถูกใจตลาดหรือผู้ซื้อ เช่นการจะสร้างกำแพงกั้นพรมแดน Mexico การจะไม่ให้มุสลิมเข้าประเทศ บางเรื่องพอรับได้เพราะเป็นเรื่องของเจรจาต่อรอง ซึ่งทรัมป์เก่งในฐานะ Deal Maker เช่น การจะลดบทบาทของอเมริกาใน NATO แต่เลยเถิดและมากเกินไปเมื่อบอกว่าจะเลิกสัญญาทางทหารกับเกาหลี หรือกับญี่ปุ่น ถ้าไม่แบกรับค่าใช้จ่ายเอง หรือส่งเสริมให้สองประเทศนี้มีอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อลดภาระของอเมริกา หรือขู่จะตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูงๆ ถ้าบริษัทอเมริกันไปตั้งโรงงานในต่างประเทศ เช่น ในจีน หรือเม็กซิโก ไม่ว่าจะเป็น Apple หรือบริษัทรถยนต์ เมื่อไปหาเสียงกับคนงานในเขตหรือเมืองอุตสาหกรรม เช่น ในรัฐ Michigan Pennsylvania การโจมตีคนเข้าเมืองหรือผู้อพยพที่เข้ามาอยู่อเมริกา แบบเหวี่ยงแห ผู้เขียนคิดว่า ไม่น่าจะเป็นจุดขายสำหรับทรัมป์ได้ เพราะผู้อพยพของอเมริกา ถึงจะมีจำนวนมาก แต่ไม่ได้มากและสร้างปัญหาในภาพรวม เหมือนที่พบหลายประเทศในยุโรป จริงๆ แล้วมีการวิจัยที่พบว่าผู้อพยพ จำนวนมากโดยเฉพาะ ชาวเม็กซิกัน มีผลการเรียนและจำนวนปีที่อยู่ในโรงเรียนดีกว่าคนในอเมริกันด้วยซ้ำ และโดยรวมผู้อพยพเข้าอเมริกาทำประโยชน์ให้กับสหรัฐมากในทางเศรษฐกิจ

ผู้เขียนจึงคิดว่าเรื่องผู้อพยพนี้ไม่น่าจะทำให้ทรัมป์ได้เปรียบฮิลลารีอย่างมีนัยสำคัญ

เรื่องต่างประเทศ ผู้เขียนคิดว่าคนอเมริกันไม่น่าจะชอบนโยบายเพี้ยนๆ ของทรัมป์ เพราะมันจะยิ่งทำให้อเมริกาซึ่งอยู่ในช่วงขาลงในฐานะผู้นำโลกยิ่งจะถดถอยเร็วขึ้น ขณะที่จีนและรัสเซียกำลังเถลิงอำนาจและถ้าดูจากอดีต คนอเมริกาก็ยังภูมิใจในความยิ่งใหญ่ในอุดมการณ์และหลักการของคนอเมริกา โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเสรี เสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ซึ่งสิ่งที่ทรัมป์พยายามจะขายความคิดหรือนโยบายของเขา มันช่างตรงข้ามกับจุดยืนที่คนอเมริกันและผู้นำของเขายึดมาตลอดกว่าร้อยปีที่ผ่านมา ที่แน่ๆ ถ้าทรัมป์อยู่ยาว อเมริกาจะไม่ใช่ผู้นำโลกในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอีกต่อไป

เรื่องเศรษฐกิจและสังคม ผู้เขียนตระหนักดีว่าอเมริกามีด้านมืดอยู่มาก ความไม่เสมอภาคทางรายได้ และทรัพย์สินที่กระจุกอยู่ที่คน 1% สูงถึงร้อยละ 35-50 ค่าจ้างที่แท้จริงแทบไม่เพิ่มขึ้นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาแต่บริษัทและสถาบันการเงินที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กลับมีกำไรสูง ผู้บริหารได้ค่าตอบแทนซึ่งกำหนดกันเองสูงอย่างน่าใจหาย อเมริกามีคนที่อยู่ในคุกในอัตราต่อประชากรมากที่สุดในโลก คุณภาพของระบบประกันสุขภาพถูกจัดให้โดย WHO อยู่ในลำดับที่ 37 ก่อนการเกิด Obamacare ระบบประกันสุขภาพของไทยน่าจะดีกว่าของอเมริกา

อเมริกาพึ่งระบบประกันของบริษัทเอกชนผ่านการมีงานทำ ถ้าตกงานการประกันสุขภาพก็จะหายไป พรรครีพับลิกันที่ทรัมป์ชนะ ไม่เคยเชื่อ (และต่อต้าน) ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เอาระบบภาษีมาประกันสุขภาพร่วมกัน อเมริกาใช้จ่ายเกินตัว บริโภคมาก ออมไม่ได้ ได้อภิสิทธิ์พิเศษ เพราะดอลลาร์ใช้กันทั่วโลก จึงขาดดุลทั้งการค้าและการคลังมีหนี้มหาศาล แถมยังใช้จ่ายทางการทหารสูง (แม้จะลดลงหลังสงครามเย็น)

รีพับลิกันเก่งแต่การลดภาษีให้คนรวยทำให้ความไม่เท่าเทียมกันสูงขึ้น ทำให้ระบบสวัสดิการโดยรัฐไม่ดีเหมือนในยุโรป การใช้จ่ายการลงทุนเพื่อสาธารณูปโภคใหม่ๆ น้อยไป มุ่งแต่พัฒนาภาคการเงิน ซึ่งจำนวนมากไม่เกิดประโยชน์ ท่ามกลางปัญหาทั้งหลาย ผู้เขียนก็ยังคิดว่าสมัยบิล คลินตัน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีอยู่สองสมัย ในช่วงทศวรรษ 1990 และตามมาด้วยโอบามาแปดปีที่ผ่านมา โดยรวมในภาพรวมเศรษฐกิจยังมีความอ่อนแอ ฟื้นตัวอย่างไม่สมบูรณ์ แต่ดีกว่าที่เราพบในยุโรป อัตราการว่างงานก็ต่ำกว่า แต่ว่าชีวิตชนชั้นกลางไม่ดีเหมือนในอดีต ระบบประกันสุขภาพกึ่งๆ ถ้วนหน้า (Obamacare) น่าจะเป็นผลงานดีเด่น ที่เป็นมรดกตกทอดสร้างคะแนนให้กับฮิลลารี

โดยรวมๆ ผู้เขียนจึงคิดว่าผลงานของโอบามา และนโยบายของฮิลลารีน่าจะไปในทิศทางที่คนส่วนใหญ่ของอเมริกันรับได้ คนระดับล่างก็ได้ประโยชน์ มีความชัดเจน ดีกว่าของทรัมป์ซึ่งก็มีจุดยืนเหมือนรีพับลิกันพันธุ์แท้ คือไม่เอา Obamacare แต่ทรัมป์ดูจะทำตัวนอกคอกคือ พร้อมจะชนกับโลกที่เขาคิดว่าเอาเปรียบอเมริกามาตลอด

ทำไมผลที่ออกมาจึงกลับตาลปัตร คนจำนวนมากถึงช็อก หรือไม่เป็นไปตามเหตุผลที่ผู้เขียนได้กล่าวมาข้างต้น

เมื่อเหตุการณ์มันเกิดขึ้นแล้ว การหาคำตอบก็คงไม่ยาก เราได้ยิน ได้พบคำอธิบายมากมาย ถ้าเราลองเอาภาพใหญ่กับภาพเล็กมาพิจารณาร่วมกัน คนจำนวนมากช็อก ก็เพราะส่วนใหญ่คิดว่าฮิลลารีจะมา แต่ก็คงมีคนอย่าง ไมเคิล มัวร์ อดีต ผอ.องค์การการค้าโลก หรือ WTO คิดว่าทรัมป์น่าจะชนะ

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของทรัมป์นี่ไม่ใช่ชัยชนะกันแบบถล่มทลาย โดยเฉพาะถ้าดูจากคะแนนรวมของประชาชนทั้งประเทศ (Popular Vote) ซึ่งฮิลลารีชนะประมาณครึ่งล้าน ส่วนคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Votes หรือ EV) ทรัมป์ได้ 306 เสียง (56%) ฮิลลารีได้ 232 (44%) หลายมลรัฐคะแนนชนะกันไม่มาก

ทั้งสองพรรคต่างมีฐานที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ เดโมแครตมีฐานที่แน่นหนาในรัฐใหญ่คือ แคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์กที่เหลือจุดเด่นคือเมืองทางชายฝั่งตะวันออก

ส่วนรีพับลิกันฐานเสียงกระจุกอยู่บริเวณตอนกลางไปทางตะวันตก หรือ Mid-west และทางใต้ค่อนข้างมาก ฮิลลารีเสีย EV ซึ่งเคยเป็นฐานสำคัญในอดีตคือเพนซิลเวเนีย มิชิแกน และวิสคอนซิน และแพ้ใน Swing State ที่มีคะแนน EV สูง เช่น ฟลอริดา นอร์ท แคโรไลนา และแอริโซนา

ทรัมป์ใช้เงินน้อยกว่าฮิลลารี่ ระบบการหาเสียงก็ไม่เป็นระบบ ฮิลลารีดูเหมือนจะมั่นใจว่าตัวเองชนะ จึงมักไม่ใส่ใจย้ำเรื่องใหญ่ๆ ที่จะทำ แต่ไปเน้นเรื่องความไม่เอาไหน ความไม่เหมาะสมที่จะเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ เสียงส่วนใหญ่ที่เลือกทรัมป์นี้ ตัดทิ้ง หรือไม่ใส่ใจปัญหาเรื่องบุคลิกภาพ การเหยียดผิว เหยียดเพศแต่อย่างใด แต่ผู้เลือกทรัมป์ต้องสนใจเรื่องใหญ่ๆ ที่คิดว่าทรัมป์จะมีอะไรมาใหม่ที่ไม่เหมือนอดีต หรือไม่ก็เป็นเพราะว่าไม่ได้คาดหวังอะไรจากทรัมป์มากมาย แต่ต้องการเลือกทรัมป์เพื่อความสะใจ บอกถึงความเบื่อหน่ายของระบบการเมือง (อย่าลืมว่าทรัมป์มีบุคลิก ที่เป็นจุดขายของเขาคือ เขาเป็นคนนอกระบบการเมือง นอกระบบ establishment) ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาให้เขาได้ ดูเหมือนเขาเลือกทรัมป์ด้วยความโกรธมากกว่ากลัว

พวกเขาไม่กลัวนโยบายของทรัมป์ เลือกเพื่อประชดเป็นอะไรทำนองนี้ได้ทั้งนั้น แต่ก็คงมีจำนวนหนึ่ง ที่มีเหตุผลและเชื่อว่านโยบายสุดขั้วสุดโต่งของทรัมป์เหมือนจะแก้ปัญหาให้เขาได้ เพราะเขาเชื่อว่าปัญหาของเขาที่ผ่านมา ไม่ว่าเป็นรัฐบาลไหน เกิดจากการเปิดหรือปล่อยเสรี ไม่ว่าจะเป็น การนำเข้าสินค้า บริษัทอเมริกันก็ย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ การลงทุน การให้คนอพยพเข้าประเทศจำนวนมากๆ ทำให้อุตสาหกรรมหลักๆ ล้มหายตายจาก เมืองอุตสาหกรรมเสื่อมโทรม ค่าจ้างรายได้ตกต่ำ ทั้งหมดนี้เพราะอเมริกาต้องการเป็นผู้นำโลก เอาใจโลก แต่ทรัมป์กำลังจะมาปกป้องคนอเมริกันจากต่างชาติ

แต่ละประเทศมักจะมีวัฒนธรรมทางการเมือง การเลือกตั้ง ในกรณีของอเมริกา ก็คงอาจจะเหมือนกับหลายๆ ประเทศ เวลาที่การเลือกตั้งมีลักษณะที่ค่อนข้างจะสูสีกันมากเหมือนอย่างครั้งนี้ (ในอดีต อัล กอร์ เคยแพ้บุชที่ฟลอริดาไม่กี่คะแนน ทั้งที่เขาชนะ popular vote ทำให้บุชได้เป็นประธานาธิบดี) จำนวนคนที่จะออกจากบ้านมาเลือกผู้สมัคร ย่อมมีความสำคัญ ไมเคิล มัวร์ ให้ข้อสังเกตว่า เด็กๆ และผู้หญิงๆ อายุไม่มากไม่ชอบหรือรับฮิลลารีไม่ได้ มีจำนวนมาก หรือถ้าจะเลือกก็ก้ำๆ กึ่งๆ ไม่ค่อยกระตือรือร้น อาจจะไปหรือไม่ไปใช้สิทธิ ในอเมริกาคนขาวกับคนผิวสีสัดส่วนการมีสิทธิออกเสียงจะอยู่ที่ ประมาณร้อยละ 70:30 คนจนโดยเฉลี่ย ด้วยหลายสาเหตุจะออกมาใช้สิทธิน้อยกว่า แล้วการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คงอยู่ประมาณร้อยละ 50 ซึ่งต่ำกว่าในยุโรป

การที่ฮิลลารีมีฐานของคนผิวสี คนอพยพ จะเสียเปรียบทรัมป์โดยธรรมชาติ เพราะคนพวกนี้จำนวนมากจะเป็นคนที่ไม่มีสิทธิออกเสียงเสียก็มาก ประเด็น หรือวาระ การหาเสียง การดีเบต ในอเมริกา เวลาเลือกประธานาธิบดี ส.ส. หรือ ส.ว. มีเรื่องใหญ่ๆ ที่มักจะสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจ บ่อยครั้งเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ ซึ่งทั้งเรแกน และบุช ทั้งพ่อและลูก ได้อานิสงส์เรื่องคะแนนนิยม เช่น เมื่ออเมริกาบุกคูเวตไล่ซัดดัม หรือหลัง 9/11 หรือช่วงแรกๆ ที่บุช (ลูก) ตัดสินใจบุกอิรัก เป็นต้น

ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image