คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ความเบาหวิวเหลือทนของ(กองเชียร์)เผด็จการ และแนะนำหนังสือน่าอ่านในงานสัปดาห์หนังสือ

นับวันกองเชียร์ที่ยังเห็นดีเห็นงามกับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกพ้อง ก็เป็นเหมือนผีไร้หนังกำพร้า ที่มีลมหนาวเพียงเบาพัดโชยมาก็โหยระงม

ความเบาหวิวเหลือทนนี้เริ่มตั้งแต่ดราม่า “ชิซูกะปะทะเผด็จการ” เมื่อสักสองสัปดาห์ก่อน ด้วยเพียงประโยคคำพูดของตัวละคร “ชิซูกะ” จากภาพยนตร์การ์ตูนโดราเอมอนภาคใหม่ ตอน “สงครามอวกาศจิ๋วของโนบิตะ 2021” ที่ว่า “ฉันเองก็กลัวเหมือนกัน แต่ว่าอยู่เฉยๆ แล้วยอมแพ้พวกเผด็จการเนี่ย มันน่าสมเพชเกินไป” ซึ่งเพจ เจปังเจแฟน
โควตมา อันเป็นบริบทในเรื่องโดยแท้ “พวกเผด็จการ” ที่ว่าก็หมายถึง “กิลมอร์” ผู้นำทหารในเรื่องที่ทำรัฐประหารมนุษย์ต่างดาวตัวจิ๋วอดีตผู้นำที่เป็นเพื่อนใหม่ของกลุ่มตัวเอก

แต่เพราะความร้อนตัวก็ทำให้คนรักลุงผสมกองกำลัง IO จัดทัวร์แห่กันไปลงเพจที่ว่ากันไป ซึ่งเรื่องนี้ราวกับว่าบรรดา “กองเชียร์” นั้นจะสับสนใจตัวเองอยู่มากพอสมควร เพราะในทางหนึ่งก็ยืนยันตลอดมาว่า การเข้าสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีเป็นที่รักของพวกเขาภายหลังการเลือกตั้งนั้น เป็นไปตามครรลองของ “ประชาธิปไตย” แบบรัฐสภาโดยถูกต้องทุกประการ (โดยแสร้งทำเป็นหลงลืมความไม่ชอบธรรมของ ส.ว. 250 เสียงไป) แต่กระนั้นพวกเขากลับแสลงใจไหวอ่อนเป็นพิเศษกับคำว่า “เผด็จการ” อย่างที่ได้ยินได้เห็นเป็นต้องแยกเขี้ยวขู่

เช่นเดียวกับดราม่าล่าสุดกับโชว์ “เดี่ยว 13” ของพี่โน้ส “อุดม แต้พานิช” ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าพี่แกล้อเลียนประเด็นการเมืองและจิกกัดรัฐบาล ในแทบทุก “เดี่ยว” อยู่แล้ว (และก่อนหน้านี้ อดีตนายกฯ ท่านอื่นก็ไปดูโชว์เดี่ยวแกเกือบทุกคนนั่นแหละ ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าไปแล้วก็จะโดนพี่แกล้อ) แม้เอาจริงก็ต้องยอมรับว่ารอบนี้นับว่าจัดหนักไปสักหน่อย คือ ใช้เวลาไปร่วม 30 นาทีแบบใส่เต็ม และหลายคนที่ได้ดูนั้นก็รู้สึกว่ารอบนี้พี่โน้สแกอินเนอร์มาเต็ม

Advertisement

กล่าวตามตรงว่า การออกมาจัดหนักจัดเต็มประยุทธ์ในโชว์ของพี่โน้สอาจจะไม่ใช่เรื่องที่นับว่ากล้าหาญชวนตื่นเต้นอะไรหนักหนา ซ้ำถ้ามองว่าเป็นการ “คอลเอาต์” ก็อาจจะถือว่า “ช้า” เกินไปและ “เบา” อยู่ด้วยซ้ำ ถ้าเทียบกับดารา ศิลปิน หรือผู้มีชื่อเสียงท่านอื่น แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่า “พี่เขาสะดวกแบบนี้”

อีกทั้ง “ความช้า” นี้ ก็บอกอะไรบางอย่างได้ เพราะถ้าเราพิจารณาจากการทำงานเบื้องหลังโชว์ของโน้ส อุดม นั้น ในทุกการแสดง ทุกมุขและทุกกิมมิกของเขานั้นผ่านการทดลอง ทดสอบ และวิเคราะห์ทางการตลาดมาแล้วอย่างละเอียด เช่น การจัดกลุ่มเป้าหมายมานั่งฟังเพื่อคัดว่ามุขไหนเล่นแล้วผ่าน อันไหนยังไม่ได้ หรือควรปรับอย่างไร

ดังนั้น การที่พี่โน้สเลือกที่จะใส่ประยุทธ์แบบจัดเต็มในเดี่ยวรอบนี้ ก็เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดว่า คนกลุ่มที่เป็น “กองเชียร์” ของประยุทธ์และเครือข่ายที่สนับสนุนนั้น ไม่ใช่ “กลุ่มเป้าหมาย” ที่จะมาดูโชว์ของพี่โน้สอีกแล้ว ซึ่ง “กลุ่มเป้าหมาย” ที่ว่านั้นก็ได้แก่คนชั้นกลางในเมืองที่มีรายได้พอสมควรที่จะซื้อบัตรในราคาหลักพัน และมีไลฟ์สไตล์ในการออกนอกบ้านไปแสวงความบันเทิง

Advertisement

ซึ่งมีข้อชี้วัดว่าเรื่องนี้เขาอ่านขาดพอสมควร ถ้าวัดจากที่ว่า “เดี่ยว 13” นี้จัดแสดงสดไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถ้ามีคนชื่นชอบประยุทธ์ที่มีจำนวนมากพอเป็นนัยสำคัญไปชมเดี่ยว 13 แบบสดๆ ตั้งแต่ครั้งแรกแสดงแล้ว ก็คงจะมีกระแสแห่กันออกมาแบน หรือเอาแผ่นมาเหยียบกันตั้งแต่ตอนนั้นไปแล้ว แต่ที่เพิ่งมาเป็นกระแสฮือฮา เพราะแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง

Netflix เพิ่งนำบันทึกการแสดงดังกล่าวมาลงนี่เอง ดังนั้นก็น่าสังเกตว่าที่ผ่านมา “กองเชียร์” ไม่ได้รู้ตัวเลย หรือว่าลุงที่รักของพวกเขาถูกพี่โน้สแกจัดหนัก

ก็ไม่แปลกใจ ถ้าเราวัดจากเสียงเฮฮาชอบใจกับมุช “ไล่ลุง” ของผู้ชมเต็มความจุฮอลล์ที่จัดแสดง แต่เรื่องนี้กลับเคยถูกกล่าวถึงมาก่อนอย่างเบาบางในทวิตเตอร์ซึ่งเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ กับที่พบในคอลัมน์รีวิวจากสื่อออนไลน์ The Matter ซึ่งถูกมองว่าเป็นสื่อฝั่งที่อยู่คนละข้างกับรัฐบาลเช่นกัน

ปรากฏการณ์ดิ้นเพราะเดี่ยว 13 นี้ จึงเป็นอีกหนึ่งในตัวชี้วัดจำนวนที่แท้จริงของผู้ที่ยังเห็นดีเห็นงามกับการปกครองของประยุทธ์ จันทร์โอชาและพวกพ้อง หรือที่เรียกอย่างลำลองว่า “สลิ่ม”

ถ้าเราตัดพวกที่แกล้งโง่ หรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เพราะได้รับผลประโยชน์จากระบอบที่ไม่ชอบธรรม
พวกขาใหญ่ที่ความมั่นใจเกินสติปัญญาและความตระหนักรู้ กับผู้ที่อยู่ในกลุ่มสังคมปิดออกไปแล้ว
“ชาวสลิ่ม” แท้แบบออร์แกนิคนั้นบัดนี้กลายเป็นคนส่วนน้อยยิ่งกว่าน้อย ได้แก่ คนกลุ่มน้อยที่ยังคงต้องอยู่ร่วมสังคมกับผู้คนทั่วไป คนที่มีลูกหลานเคยออกไปร่วมชุมนุมชูสามนิ้ว มีเพื่อนร่วมงานหัวร่อต่อมุขสะใจ
กับเดี่ยว 13 ผู้คนที่ต้องยอมรับว่าต่อให้น้ำท่วมไม่มีใครด่าผู้ว่าฯ กทม. อะไรขนาดนั้นอีกแล้ว

พวกเขาชาวสลิ่มต้องเสียความมั่นใจในตัวเองลงไปเรื่อยๆ ว่าสิ่งที่เขาเคยเชื่อว่าถูกต้องดีงาม สิ่งที่เขาเคยคิดว่าความรู้ความเชื่อเช่นนั้นทำให้เขาดีกว่าเหนือกว่าคนส่วนหนึ่งในประเทศนั้น มันถูกต้องแน่นอนจริงหรือความรู้สึกว่าเป็นคนส่วนน้อยและบรรดาผู้คนที่ลึกๆ แล้วเขาเคยชื่นชอบ เคารพนับถือ ยอมรับหรือจำยอมว่าเก่งกว่าเหนือกว่านั้นก็ไม่ได้เป็นสลิ่มเหมือนเขา (หรืออย่างน้อยก็เลิกเป็นไปแล้ว) และมันช่างกัดกร่อนความเชื่อถือในตัวเองของเขาลงไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีเรื่องใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ใครๆ ก็เห็นว่า “ลุง” ของเขานั้นเป็นตัวตลกตกยุคหรือไม่สมควรอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกแล้ว

หากเพราะความที่ต้องยอมรับว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมและไม่ได้รับการยอมรับหรือต้องกลายเป็นตัวตลกนี่แหละ ทำให้พวกเขาต้องมีท่าทีที่ออกไปในทางก้าวร้าวที่จะปกป้องสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เช่นเดียวกับสิ่งที่พวกเขาเชื่อนั้นก็เบาหวิวเหลือเชื่อมากขึ้นไปทุกที จนไปทะเลาะกับตัวการ์ตูน ร้านบะหมี่ หรือทอล์คโชว์เดี่ยวไมโครโฟน

เพราะพวกเผด็จการนั้นรู้อยู่แก่ใจว่าตัวเองนั้นได้อำนาจมาโดยไม่มีความชอบธรรม ไม่มีมูลอันจะอ้าง ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีความสง่างามอะไร พวกเขาจึงต้องสร้างความน่าเกรงขามขึ้นมาเองจากอำนาจและความหวาดกลัว ซึ่งรวมถึงการห้ามวิพากษ์วิจารณ์ หรือกล่าวถึงด้านที่ไม่ดีไม่งามของตัวด้วย

ดังนั้นสิ่งที่พวกเผด็จการและกองเชียร์ทนไม่ได้โดยเด็ดขาด คือการที่ตัวเอง หรือพวกเขาต้องกลายเป็นตัวตลกที่ถูกล้อเลียนเสียดสี นั่นไม่ต่างจากการย้ำเตือนความจริงว่าที่แท้แล้วพวกเขาคือคนเขลาเง่าโง่ที่เพียงแต่ใช้กำลังบังคับ หรือผลประโยชน์ล่อให้คนอำนวยอวยให้ว่าตัวเองเก่งฉลาดเสียเต็มประดา

นอกจากนี้ ในระยะยาว พวกเผด็จการที่มองการไกลยังได้สร้างหรือคัดเลือกองค์ความรู้เฉพาะที่สนับสนุนให้คนเห็นว่าสิ่งที่ตนเอง และพรรคพวกได้คิด และทำนั้นดีแล้วชอบแล้ว หรือประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันคัดเลือกมาแล้วเรื่องใดที่เป็นประโยชน์กับพวกตนเท่านั้นที่เหมาะสมต่อชาติบ้านเมือง ให้สิ่งเหล่านั้นเป็นข้อมูล หรือองค์ความรู้ฝ่ายเดียว หรือถ้าจะยอมให้มีองค์ความรู้ที่เห็นแย้งแตกต่างได้บ้าง ก็ต้องเป็นข้อมูล หรือความรู้ที่อ่อนยวบที่สามารถใช้ชุดความรู้ที่สร้างขึ้น หรือคัดเลือกแล้วนั้นโต้กลับได้ง่ายดาย หมดจด และสวยงาม ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการโฆษณาชวนเชื่ออีกว่า ชุดความรู้ หรือเหตุผลที่อำนวยอวยประโยชน์ให้แก่อำนาจเผด็จการนั้น คือ สัจจะความจริงอันสมบูรณ์ไร้ข้อบกพร่องแล้ว

เช่นนี้พวกเผด็จการจึงต้องระวังอย่างยิ่งมิให้มีใครนำเสนอข้อมูล องค์ความรู้ หรือความคิดความเห็นที่หลุดพ้นไปจากข้อจำกัดและการคัดเลือกโดยกลไก หรือระบบอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อมของฝ่ายเผด็จการได้ เป็นที่มาของการกำหนดหนังสือต้องห้าม หรือองค์ความรู้ที่ห้ามสอน หรืออภิปรายกันในชั้นเรียนทุกระดับ

จึงเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจเกิดขึ้นในวงการหนังสือ นับแต่การตื่นรู้และลุกขึ้นต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา คือการเติบโตและได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดของหนังสือกลุ่มวิชาการความรู้ทางสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สถาบันทางการเมือง ปรัชญากฎหมาย รวมไปถึงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ที่มีนัยเกี่ยวข้องทางการเมืองที่ย้อนกลับไปหารากเหง้าของ “ประชาธิปไตย” และการอภิวัฒน์ 2475 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือกลุ่มที่เคยเป็น

“หนังสือต้องห้าม” กลับเป็นหนังสือขายดีและได้รับความสนใจ

เช่นที่ บูธของสำนักพิมพ์ “ฟ้าเดียวกัน” และ “อ่าน” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่เคยเป็นบูธขนาดเล็กหนึ่งล็อก คอยต้อนรับมิตรสหายนักอ่านคอเดียวกันที่แวะมาเยือนนานๆ ครั้งละคนสองคน กับตำรวจนอกเครื่องแบบจากสันติบาล ในตอนนี้เข้าใจว่าก็ยังคงมีสันติบาลมาเยี่ยมเยือน แต่พื้นที่ขยายใหญ่โตไปหลายล็อก เพื่อต้อนรับนักอ่านคนทุกเพศวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวที่แวะเวียนไปซื้อหาหนังสือที่แต่ก่อนเคยเป็นหัวข้อประเด็นแหลมคม

ในวาระที่งานสัปดาห์หนังสือได้ “กลับบ้าน” มาจัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากหายไปหลายปีทั้งจากการปิดปรับปรุงของสถานที่จัดนี้เมื่อปี 2562 ซ้ำด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ก็มีหนังสือแนะนำให้ลองไปหามาอ่านเพื่อให้เห็น “อีกด้านของเผด็จการ” กันสักสองเล่ม

เล่มแรก คือ “เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียน” โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ หนังสือที่มุ่งทำความเข้าใจอำนาจการควบคุมนักเรียนผ่านเรือนร่างและพื้นที่ของนักเรียนภายในโรงเรียน ชวนตั้งคำถามกับความไม่สมเหตุสมผลของระเบียบวินัยในโรงเรียน และการลงโทษที่ล่วงละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียน และเกือบทั้งหมดเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายอันเป็นผลจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่แฝงในระบบการศึกษาไทยมาเป็นเวลานาน การอ่านหนังสือเล่มนี้จะทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่เด็กๆ คนรุ่นใหม่เขาได้รับมาตลอดคืออะไร และส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาลุกขึ้นต่อสู้นั้นคืออะไร

เล่มต่อมา คือ “รัฐสยดสยอง” โดย ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์ เล่มนี้ที่น่าสนใจคือ เมื่อไปถามใครว่า ถ้าเลือกได้อยากไปใช้ชีวิตในประเทศไทยยุคสมัยใด ผู้คนที่ชอบอ่านหนังสือนิยาย หรือดูละครย้อนยุค จะใฝ่ฝันถึงชีวิตยุครัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ด้วยเชื่อว่าเป็นชีวิตที่แม้เป็นบ่าวไพร่ก็ยังเรียบง่ายดีงาม อันเป็นอิทธิพลมาจากนิยายอมตะหลายเรื่อง แต่ “รัฐสยดสยอง” ได้บอกเล่าภาพไม่น่าดูที่ละครนิยายพวกนั้นไม่ได้กล่าวถึงไว้โดยชัดเจนว่าในช่วงเวลานั้น สยามประเทศยังลงโทษด้วยการตัดมือตัดเท้า เอาหอกหลาวเสียบทวารประจานศพไว้ การประหารชีวิตเป็นมหกรรมที่เปิดให้ลูกเด็กเล็กแดงมาดูชม ครั้งมีโรคระบาด เมื่อมีคนตายจัดการไม่หมดก็ทิ้งศพกลางแจ้งให้แร้งกาจิกกิน รวมถึงผู้คนก็ยังขับถ่ายลงบนถนน หรือลงในน้ำ อย่างดีหน่อยถ่ายลงถัง หรือกระโถนแล้วก็เอาไปเททิ้งทีเดียวกัน “ข้อมูลทางประวัติศาสตร์” ที่ “ไม่สะดวกใจ” พวกนี้ค่อยจะไม่ปรากฏในตำราเรียน หรือนิยายแนวราชาชาตินิยมที่พวกเราคุ้นเคยกัน

หนังสือทั้งสองเล่มมีขายที่บูธของสำนักพิมพ์มติชน ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ซึ่งยังคงจัดอยู่ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จนถึงวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2565 ระหว่างเวลา 10.00-21.00 น.

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image