คุณภาพคือความอยู่รอด : คนขี้สงสัย : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ผมเป็นคนขี้สงสัย และผมสงสัยตลอดมาว่าระหว่าง “ฝ่ายตลาด” และ “ฝ่ายผลิต” ฝ่ายไหนสำคัญมากกว่ากัน

แต่เดิมผมเชื่อว่า ฝ่ายผลิตสำคัญมากกว่าเพราะเป็น “ผู้สร้าง” แต่ทุกวันนี้ เริ่มยอมรับว่า “ฝ่ายตลาด” มีความสำคัญ (มากกว่า) เพราะว่าถ้าผลิตสินค้า (ดีแค่ไหนก็ตาม) แล้วขายไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ องค์กรก็ไปไม่รอดอยู่ดี

ว่าไปแล้ว เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ประเทศเราเริ่มอุตสาหกรรมด้วยการเป็น “ผู้รับจ้างผลิต” (OEM : Original Equipment Manufacturer) เป็นหลัก คือ รับจ้างทำของตามที่มีคนจ้างให้ทำ โดยเฉพาะสินค้าที่มียี่ห้อของยุโรป หรืออเมริกาที่มาจ้างเราผลิต คือ ให้เรารับค่าแรงอย่างเดียว โดยวัตถุดิบผู้จ้างจะจัดหาให้เสร็จ

ต่อมาค่าแรงค่อยๆ สูงขึ้น แต่เราไม่สามารถเพิ่มค่ารับจ้างจากค่าแรงที่สูงขึ้นได้ เพราะมีหลายประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่าเราเป็นคู่แข่งที่แย่งงานเราได้ตลอด ดังนั้น เมื่อต้นทุนสูงขึ้น แต่เรายังได้ค่าจ้างเท่าเดิม เราก็อยู่ต่อไปไม่ได้

Advertisement

เราจึงต้องสร้าง “ความแตกต่าง” ให้กับสินค้าหรือบริการของเราให้ต่างจากคู่แข่ง เพื่อจะสามารถตั้งราคาให้สูงขึ้นได้ วิธีการสร้างความแตกต่างจึงต้องใช้เรื่องของ “การออกแบบ” เป็นเครื่องมือเพื่อการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า หรือบริการของเรา ภาคอุตสาหกรรมของเราจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการออกแบบ และนวัตกรรม เมื่อ 10 กว่าปีมานี้เอง จึงเข้าสู่ยุคของ “ODM” (Original Design Manufacturer) ซึ่งให้ความสำคัญกับ “การตลาด” มากขึ้น

แต่ถึงวันนี้ เราต้องพูดถึงเรื่องของ “ตรายี่ห้อ” หรือ “แบรนด์” (Brand) ของสินค้า เพราะเป็นจุดหมายปลายทางของผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่ควรจะต้องมีตรายี่ห้อของตัวเอง เพื่อให้ลูกค้าจำได้ และจะได้เจาะจงซื้อได้ถูกต้อง ธุรกิจในวันนี้จึงเป็นยุคของ “OBM” (Original Brand Manufacturer) ซึ่งยึดโยงกับ “การตลาด” อย่างเหนียวแน่นมากขึ้น

ทุกวันนี้แบรนด์จึงมีบทบาทในธุรกิจอุตสาหกรรมและการทำการตลาดอย่างมาก เพื่อทำให้ลูกค้าหรือผู้คนได้รู้จักและรับรู้ภาพลักษณ์ของสินค้า หรือบริการของเราอย่างชัดเจน (ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่ง)

Advertisement

ขณะเดียวกันไม่เฉพาะแต่ตัวสินค้าหรือบริการเท่านั้นที่ใช้แบรนด์เป็นกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญ องค์กรต่างๆ ตลอดจน “ตัวบุคคล” และ “กลุ่มบุคคล” (นักการเมือง นักร้อง นักแสดง นักกีฬา) ก็นำกลยุทธ์เรื่องแบรนด์มาประยุกต์ใช้เพื่อทำให้ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้ภาพลักษณ์เป็นการเฉพาะ จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ดัง ก็คือ “คุณภาพ” (Quality) ที่ทำให้สินค้า องค์กร หรือตัวบุคคลมีภาพลักษณ์ดี และเป็นที่รู้จัก

เมื่อ “คุณภาพ” เกิดจาก “การสร้างขึ้นอย่างตั้งใจ” ที่มักจะมาจาก “ฝ่ายผลิต”

ผมก็อดสงสัยไม่ได้อีกแล้ว ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image