คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เราใช้มืออสูรเพื่อต่อยหน้าปีศาจได้หรือไม่?

“ท่านเป็นเทวดาสินะคะนายท่าน งั้นบอกข้าทีสิ ทำไมพวกข้าต้องเป็นฝ่ายทนอยู่ฝ่ายเดียวล่ะ ทำไมถึงเป็นฝ่ายถูกกระทำ ทำไมถึงแก้แค้นไม่ได้ ทำไมต้องยกโทษ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย มีแต่เจ้าพวกนี้ทั้งนั้นที่ทำ แต่ทำไมเราถึงเป็นฝ่ายที่ต้องยกโทษให้ล่ะคะ ทั้งๆ ที่ตอนที่พวกมันชี้อาวุธใส่เรา เราไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะร้องขอความกรุณา แต่ทำไมเราถึงทำร้ายพวกมันคืนไม่ได้ล่ะคะ…”

คำถามจาก “คีย์” อดีตเจ้าหญิงของเผ่าหูแมว ผู้เคยเป็นเจ้าของแผ่นดินที่พวกเผ่าหูหมารุกรานเข้ามา ทรมานและฆ่าครอบครัวของเธออย่างทารุณเพื่อยึดครองดินแดน ถามต่อ “นาวิน” อดีตเลขาฯนักการเมืองจากกรุงเทพฯ ประเทศไทย ผู้ถูกฆ่าปิดปากเพื่อให้รับผิดแทนนาย มาเกิดใหม่ในร่างของเด็กชายร่างสาวในต่างโลก จาก ไลต์โนเวล เรื่อง “เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ” โดย Starless Night หฤษฎ์ มหาทน

เป็นคำถามอมตะที่สรุปได้สั้นๆ ว่า “ทำไมเราไม่ควรใช้ความรุนแรงโต้ตอบผู้ใช้ความรุนแรง” ซึ่งแน่นอนล่ะว่ามีผู้พยายามให้คำถามมากมาย แต่มันจะยากทีเดียวถ้าจะต้องให้คำตอบนี้โดยตรงต่อหน้าผู้ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ

และเป็นคำถามหลักสำหรับวิวาทะที่เกิดขึ้น หลังจากที่ “วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล” บุกเข้าชกหน้าตามด้วยเตะชายโครง “ศรีสุวรรณ จรรยา” ยอดนักร้องเรียนแห่งยุค

Advertisement

การกระทำของวีรวิชญ์ หรือ “ลุงศักดิ์” นั้นเป็นความรุนแรงทางกายภาพแน่นอน หากในอีกทางหนึ่ง ก็มีผู้คนจำนวนมากที่เคยได้รับผลกระทบจากการร้องเรียนแบบเลือกข้าง (และการรับลูกดำเนินการของภาครัฐ) ของศรีสุวรรณ ที่ออกมาบอกเล่าว่าการร้องเรียนของศรีสุวรรณนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างไรบ้าง ทั้งจากอำนาจรัฐและอำนาจสังคมฝ่ายที่ยอมจำนนจากอำนาจรัฐ หลายคนเกือบไม่ได้เรียนหนังสือต่อ บางคนเสียงานเสียรายได้ ครอบครัวใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวง บางคนถูกดำเนินคดีอาญาทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่ถูกกล่าวหา

เรียกได้ว่าการกระทำของ “ศรีสุวรรณ” นั้นคือความรุนแรงในอีกรูปแบบหนึ่ง คือความรุนแรงที่อาศัยแอบอิงไปกับช่องทางของ “อำนาจรัฐ” ที่เชื่อว่าอยู่ข้างตัว

แต่กระนั้น สำหรับสายตาของสังคมอารยะ “ความรุนแรงทางกายภาพ” มักจะถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่ไม่สมควรและเป็นเรื่องป่าเถื่อนไม่ควรยอมรับ และฝ่ายที่พยายามออกมา “ปราม” ไม่ให้ผู้คนยินดีหรือพอใจต่อการกระทำของ “ลุงศักดิ์” หรือการใช้กำลังทางกายภาพต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ก็เป็นกลุ่มคนฝ่ายที่เรียกว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่ล้วนแต่เป็นคู่ขัดแย้งกับ “ศรีสุวรรณ” ทั้งสิ้น

Advertisement

จุดแข็งของฝ่ายประชาธิปไตย คือการต่อสู้ตามหลักการ ด้วยวิถีทางของกฎเกณฑ์และกฎหมาย และจุดอ่อนของอีกฝ่ายหนึ่งคือการที่เป็นฝ่าย “ละเมิดกฎเกณฑ์กติกา” และใช้ความรุนแรงซึ่งได้แก่การนำกองกำลังติดอาวุธล้มล้างกติกาและผู้มีอำนาจทางการเมืองโดยชอบธรรมลง แล้วใช้อำนาจอันมาจากความรุนแรงเพราะกำลังอาวุธนั้นเข้ายึดอำนาจการปกครอง โดยอ้างเหตุผลและความจำเป็นต่างๆ นานา ซึ่งเรื่องนี้แม้แต่ผู้ที่สนับสนุนฝ่ายนั้นก็ยังไม่กล้าเถียงเรื่องความไม่ชอบธรรมนี้ หากไปในแนวทางที่พยายามอธิบายว่า “ความไม่ชอบธรรม” นั้นเป็นความจำเป็นเพื่อรักษาคุณค่าที่สูงส่งกว่าไว้ และไม่มีหนทางอื่นแล้วจริงๆ

เพราะจุดแข็งของฝ่ายประชาธิปไตยเช่นนี้ การจะให้ยอมรับว่าการใช้ “ความรุนแรง” ทางกายภาพกระทำต่ออีกฝ่ายหนึ่งโดยมีเหตุผลว่านี่เป็นเรื่องที่ถูกที่ควรและไม่มีหนทางอื่นแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่จะยอมรับได้ง่ายๆ สักเท่าใดนัก โดยเฉพาะเมื่อนำไปเทียบกับกรณีที่นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตย อย่าง ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็เคยถูกทำร้ายในลักษณะนี้ หรือที่หนักข้อถึงกับเป็นอันตรายสาหัสที่จับตัวผู้กระทำไม่ได้ทั้งๆ ที่พอเดาได้ว่าฝ่ายไหน คือกรณีของ “นิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่ถูกทำร้ายจนหัวแตกและได้รับความกระทบกระเทือนที่ดวงตา

ข้อโต้แย้งที่ว่า “ศรีสุวรรณ” เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงก่อนแต่เป็นความรุนแรงในรูปแบบอื่นนั้นอันที่จริงก็เป็นเรื่องที่โต้เถียงได้ยากและเป็นอัตวิสัยยิ่ง การเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจรัฐในลักษณะดังกล่าว แตกต่างจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการร้องทุกข์กล่าวโทษอันเป็นสิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร

คำถามที่ตอบยากนี้ ทำให้ฝ่ายที่สมาทานว่าเป็นฝ่าย “ประชาธิปไตย” นั้น แม้แต่เพียงปล่อยผ่านไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เงียบไว้พอใจเบาๆ แต่อย่าไปสนับสนุน เพียงเท่านั้นก็ยังรู้สึกติดค้าง และรู้สึกผิดในใจต่อหลักการของตน

ความรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะถูกต้องหรืออาจจะนำไปสู่กรณีที่อิหลักอิเหลื่อยิ่งกว่านี้ คือการที่ “ยอดเงินบริจาค” ของผู้คนที่ระดมโอนไปให้ “ลุงศักดิ์” ภายในวันเดียวเป็นเงินกว่าหนึ่งล้าน ซึ่งแม้ผู้บริจาคส่วนใหญ่จะอ้างว่าเป็นไปเพื่อช่วยเหลือในการต่อสู้คดีและจ่ายค่าปรับหรือค่าเสียหายใดที่อาจจะมีสำหรับการกระทำนี้ แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่ามันไม่ต่างจากการ “ให้รางวัล” ที่มีใครสักคนไปใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ชอบหน้า

การที่ใครคนหนึ่งลุแก่เหตุผลอะไรสักอย่าง แล้วตัดสินใจใช้ความรุนแรงทางกายภาพกับอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อตอบโต้การกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง ในโลกสมัยใหม่ที่ปกครองกันโดยระบบรัฐและกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่ผิดต่อหลักการและยอมรับได้ยาก

กระนั้นหากพูดถึงความรู้สึกแท้จริงจากใจ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นเรื่องที่ชี้ไปทางไหนก็ยากนัก

ก่อนอื่น อาจจะต้องยอมรับว่า สิ่งที่นายศรีสุวรรณเคยกระทำนั้น มันเกินกว่าระดับการแห่งการแสดงความคิดเห็น หรือการใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการร้องเรียนโดยชอบตามระบอบประชาธิปไตยไปมาก จนล่วงล้ำไปถึงการใช้กระบวนการทางกฎหมายและอำนาจรัฐเพื่อกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นเพื่อตอบสนองความพอใจทางอารมณ์ของตนเองแล้ว

หากใครมีความจำยาวพอไปถึงช่วงกลางปี ในวันที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับการเลือกตั้งด้วยเสียงของประชาชนกว่า 1 ล้าน 3 แสนเสียง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ยังไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งหลังวันที่ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้ เนื่องจากจะต้องตรวจสอบข้อร้องเรียนจากนายศรีสุวรรณก่อน

นายศรีสุวรรณได้โพสต์ในเฟซบุ๊กของเขาว่า “บ่ายวันนี้ ได้ข่าวจะมีคน กทม. 1.38 ล้านคน ดิ้นชักดิ้นงอเป็นไส้เดือนกิ้งกือบนกองขี้เถ้าไฟ ไม่รู้ว่าจะเฮ หรือโฮ”

ถ้ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา วิญญูชนได้อ่านข้อความดังกล่าวก็คงจะพิจารณาได้ไม่ยากนักว่า นี่เกินกว่าขอบเขตแห่งการ “ใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการร้องเรียน” อันชอบแล้ว หากเรามองว่า การเล่นงานพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามและประชาชนทั่วไปที่คิดต่างเห็นต่างจากรัฐบาล ด้วยกระบวนการยุติธรรม
ศาลและตุลาการนั้น คือการใช้กระบวนการ “นิติสงคราม” สิ่งที่ “ศรีสุวรรณ” ทำเราอาจจะเรียกว่าเป็นการกระทำ “นิติอันธพาล” ก็พอได้

ซึ่งพฤติกรรมอันเกินขอบเขตแบบนิติอันธพาลเช่นนี้เอง ที่ทำให้แม้ว่าจะมี “นักร้อง” ที่ไปร้องเรียนแบบเลือกข้าง บางคนก็ยอมรับตรงๆ ว่าตัวเองจะร้องเรียนเฉพาะฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น แต่ก็ไม่มีใครได้รับความเกลียดชังมากเท่านายศรีสุวรรณ

สิ่งที่แสดงถึงน้ำหนักแห่งความเกลียดชังนั้นก็อาจจะบ่งชี้ได้จากยอดเงินบริจาคที่ล้นหลาม และปฏิกิริยาอัตโนมัติแบบลืมตัวของ “นางฟ้าประชาธิปไตย” อดีตนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยผู้ผันตัวไปเป็นขวัญใจของคนอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว นางผู้รักษาภาพลักษณ์ของความเป็น “ผู้มีหลักการ” โดยเคร่งครัด ก็ยังอด
ที่จะ “กลั้นขำ” ไม่ได้ด้วยซ้ำกับเรื่องนี้

ประการต่อมา เราอาจจะต้องยอมรับว่าเรื่องนี้แม้เราจะต่อสู้ภายใต้หลักการ แต่ก็เป็นหลักการที่อยู่ในเงื้อมมือของระบบระบอบที่ไม่เป็นนิติรัฐ ที่น้ำหนักของ “อำนาจรัฐ” ที่ลงต่อทั้งสองฝ่ายนั้นไม่เท่ากันโดยชัดเจน

กรณีของ “ลุงศักดิ์” มือต่อยที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ารวบตัวด้วยหมายจับค้างปี แต่เพิ่งกระตือรือร้นนำมันมาใช้ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังจากที่เขาไปปฏิบัติการที่เป็นเรื่องนั้น หมายจับที่ว่านั้นอ้างว่าเป็นเรื่องคดีทำร้ายร่างกายที่เขากระทำต่ออดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ซึ่งพฤติการณ์และความร้ายแรงนั้นเมื่อดูตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผ่านๆ มา ก็น่าจะเป็นเพียงการทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ ซึ่งเป็นกรณีลหุโทษเพียงเท่านั้น

ในอีกทางหนึ่ง แม้จะเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง แต่เราก็ได้เห็นว่าในกรณีของฝ่ายที่เห็นดีเห็นงามไปกับรัฐบาลนั้นได้รับการ “อำนวยความสะดวก” จากทางภาครัฐแค่ไหนในระดับใด เช่นกรณีของอดีต
นักร้องคนหนึ่งที่ลงไปลอยคอตามกระแสน้ำเกาะทุ่นข้ามโขงเพื่อหาเงินบริจาคให้แก่โรงพยาบาลของรัฐ ก็ได้การเกื้อกูลสนับสนุนจากเครือข่ายของรัฐต่างๆ แบบแตะไปตรงไหนก็เจอแต่ความสนับสนุนที่มาจากงบประมาณและทรัพยากรของรัฐ เมื่อขึ้นจากน้ำก็ได้รับการต้อนรับจากรัฐมนตรีที่ควรจะรับผิดชอบจัดหางบประมาณและการบริหารจัดการให้โรงพยาบาลของรัฐนั่นแหละ

หรือล่าสุดที่มีผู้มีปัญหาทางจิตระดับเศรษฐีร้อยล้านเจ้าเดิมผู้เคยก่อความเดือดร้อนปั่นป่วนมาแล้วหลายที่ โดยความป่วยจิตของเขามุ่งเป้าแต่กับฝ่ายประชาธิปไตย เคยทำร้ายร่างกายนักกิจกรรม เคยก่ออันตรายรบกวนในที่สาธารณะ แต่ก็ไม่เคยมีการดำเนินการตามกฎหมายสำหรับผู้ป่วยทางจิตต่อเขาอย่างจริงจังใดๆ ปล่อยให้มาก่อเหตุรบกวนสังคมซ้ำซากอย่างที่เป็นข่าวบ้างไม่เป็นข่าวบ้าง ล่าสุดคือการก่อความวุ่นวายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติวันสุดท้ายที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ระดับขู่ว่าพกพานำระเบิดเข้ามาก่อเหตุด้วย

แตกต่างจากนักกิจกรรมอีกฝ่ายหนึ่งที่ถูกกองกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบังคับให้ไปทำการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชนานถึง 15 วัน ก่อนต้องปล่อยตัวออกมาเพราะแพทย์วินิจฉัยว่าไม่ได้มีความผิดปกติทางจิต อีกทั้งคดีความของเขาในภายหลังศาลก็ได้ยกฟ้องไป

มันจึงเป็นการต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายที่ไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่ต้น จนทำให้นึกถึงการ์ตูนเก่าเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของคุณครูที่พยายามปกป้องนักเรียนของพวกเขาจากภูติผีปีศาจ แต่เรื่องจะสู้กับปีศาจนั้น การโจมตีทางกายภาพของมนุษย์ไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ แก่พวกมันได้ จำเป็นต้องใช้พลังของ “อสูร” ที่กักเก็บไว้ในมือข้างหนึ่งของเขาออกมาต่อสู้กับปีศาจ

แต่เมื่อใดที่เขาใช้พลังดังกล่าวนานเกินไป หรือต้องสู้กับปีศาจร้ายที่ต้องปลดปล่อยพลังของอสูรออกมามากเกินที่จะควบคุมได้ เขาก็จะถูกอสูรในมือนั้นกลืนกินควบคุมร่างกาย และกลายเป็นอันตรายต่อนักเรียน ผู้คน โลก และความสงบสุขที่เขามุ่งจะปกป้องนั้นอย่างที่ยากที่จะเรียกอสูรกลับคืนได้ด้วย

นี่คือข้อยากของการใช้ “วิถีแบบอสูร” ต่อสู้กับ “ปีศาจ” แม้เราจะยอมรับว่าใช้มือเปล่าสู้กับมันไม่ได้แน่ๆ ก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image