คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เข้าใจดราม่าสุขภาพ ด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา

ท่ามกลางกระแสโต้ตอบกันไปมาของผู้คนสองฝั่งฝ่ายหลังจากกิจกรรมลอยตัวข้ามแม่น้ำโขงชวนคนมาบริจาคเพื่อโรงพยาบาลของอดีตนักร้องท่านหนึ่ง ฝ่ายที่ออกจะน่าเห็นใจที่สุด คือ ความเห็นของ หมอริท นพ.เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช ที่โพสต์ผ่าน Twitter ว่า ต่อให้โตโน่ว่าย (หรือลอย) น้ำข้ามโขงอีกสักกี่รอบ ได้เงินบริจาคอีกเป็นพันล้าน หมอ พยาบาล ก็ยังเหนื่อยเท่าเดิม เพราะยังต้องทำงานหนักเกินเวลาตามระเบียบกำหนด

แต่คุณหมอริทก็ตั้งสมมุติฐานว่า เหตุที่แพทย์และพยาบาลต้องรับงานหนักนั้น เป็นเพราะระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยที่คนไทยทุกคนมีโอกาสได้เข้าถึงการรักษาพยาบาล หากผลข้างเคียงก็ทำให้คนไทยไม่ใส่ใจรักษาสุขภาพ ติดเหล้า ติดบุหรี่ ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันโดยไม่จำเป็น และทำให้คุณหมอและบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนัก

คุณหมอเลยต้องรับ คณะทัวร์ จากเหล่าผู้สนับสนุนรัฐบาลเพราะบังอาจไปตำหนิ นักบุญองค์ใหม่ ทั้งต้องรับการเยี่ยมเยือนทัวร์คณะ ฝ่ายประชาธิปไตย ด้วยเหมือนคุณหมอไปกล่าวหาว่านโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคเป็นต้นเหตุของปัญหาภาระงานล้นเกินของคุณหมอและพยาบาลทั้งหลาย เรื่องนี้ก็น่าเห็นใจเพราะเท่าที่ทราบ คุณหมอริทเองก็ไม่ได้เป็น สลิ่ม อะไรขนาดนั้น และเอาเข้าจริงโพสต์โดยรวมนั้น ก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ และเรียกร้องให้แก้ปัญหาที่โครงสร้างด้วยนั่นแหละ 

มายาคติที่ว่าโครงการสามสิบบาทนี้ทำให้คนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น จนเกิดผลข้างเคียงเป็นภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ให้คนไทยไม่รักษาสุขภาพนี้ก็มีงานวิจัยออกมาแล้วไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่า ถ้าใครได้เคยพูดคุย หรือเข้าไปอ่านความเห็นของคุณหมอและคุณพยาบาลผู้มีประสบการณ์ตรงที่หน้างาน ก็จะได้ทราบว่าพวกเขาได้รับความลำบากเดือดร้อนมากเพียงใดจากความเสี่ยงภัยในการทำงานกับคนเมาที่เจ็บป่วยเพราะพิษภัยของแอลกอฮอล์ เป็นภาระเพิ่มขึ้นที่ทำให้ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยที่เร่งด่วน จำเป็น หรือพูดตรงๆ ว่า น่าเห็นใจกว่า ได้ทั่วถึง

Advertisement

รวมถึงการรับมือรักษาคนไข้กลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น โรคเบาหวาน ไขมัน โรคหัวใจ หรือโรคไต ที่มาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ดี หรือขาดการออกกำลังกายที่เหมือนคนไข้ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างยั่งยืนด้วยการปรับวิถีชีวิตการกินและออกกำลังกายกันบ้างเลย รับแต่ยาแล้วแต่ก็ไปใช้ชีวิตแบบทำลายสุขภาพเหมือนเดิม จนคุณหมอบางท่านเรียกโรคกลุ่มนี้ว่า โรคทำตัวเอง

ในฐานะผู้ป่วยและผู้อาจป่วยได้ ถ้าลองเอาใจเขามาใส่ใจเราก็อาจจะเข้าใจได้ว่าทำไมคุณหมอและพยาบาลถึงมีความรู้สึกเช่นนั้น

ในทางจิตวิทยาเชิงพฤติกรรมค้นพบว่า สภาพการทำงานที่เลวร้ายที่สุดคือการทำงานที่ไร้ความหมาย การทำงานที่ไม่มีวันจบสิ้น หรือผู้ที่ได้รับผลงานนั้นไปไม่เห็นคุณค่า เคยมีการทดลองทางจิตวิทยาโดยแบ่งอาสาสมัครเป็นสามกลุ่มให้ทำงานง่ายๆ เหมือนกัน คือการคัดลอกข้อความใส่ซองส่งให้ฝ่ายผู้ตรวจ เมื่อผู้ตรวจยอมรับไว้ก็จะได้รับค่าตอบแทนจำนวนหนึ่ง โดยผู้ตรวจกลุ่มแรกจะเปิดซองตรวจสอบก่อนแล้วถึงจะถือว่ายอมรับงาน กลุ่มที่สองจะรับซองไปแต่ไม่อ่าน ส่วนกลุ่มที่สามจะรับซองไปแล้วฉีกทิ้งกันต่อหน้าต่อตาผู้ร่วมทำการทดลองนั้นเลย

Advertisement

การทดลองนี้พบว่าในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะได้ค่าตอบแทนเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย กลับไม่มีใครยอมรับทำงานในกลุ่มที่สามแล้ว ทั้งที่เอาเข้าจริงเป็นงานที่น่าจะได้ผลตอบแทนโดยเหนื่อยยากน้อยสุด เพราะต่อให้ไม่คัดลอกข้อความก็ได้ ยังไงผู้ตรวจก็รับไปแล้วฉีกทิ้ง

แต่เพราะมนุษย์ทั่วไปยอมรับไม่ได้ที่จะทำงานที่ไม่มีใครเห็นคุณค่า ลองคิดดูว่าหากตัวคุณเองให้คำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาแก่ใครที่มาขอความช่วยเหลือไปแล้ว แทนที่ผู้นั้นจะรับคำปรึกษาไปเป็นหนทางแก้ปัญหา แต่กลายเป็นว่านอกจากจะไม่ปฏิบัติตามแล้ว ยังกลับทำอะไรที่ส่งผลให้สถานการณ์หรือปัญหานั้นแย่ลงไปอีกด้วย และก็เป็นคุณนั่นแหละที่ต้องตามแก้ปัญหาที่แย่ลงหรือซับซ้อนขึ้นให้อีกไม่จบไม่สิ้น

ความรู้สึกนั้นคงไม่ต่างจากความรู้สึกของคุณหมอที่ได้เห็นคนไข้ไม่รักษาสุขภาพของตัวเอง ดื่มสุรา สูบบุหรี่ กินหวาน มัน เค็ม จนล้มป่วย แนะนำให้ปรับปรุงพฤติกรรมก็เหมือนไม่พยายามร่วมมือช่วยกันเลย มีข้ออ้างนี่นั่นโน่นตลอด ทั้งๆ ที่การใช้ชีวิตอย่างรักษาสุขภาพก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรในสายตาคุณหมอ 

สำหรับเรื่องนี้ก็อาจจะต้องขอให้คุณหมอหรือผู้รักษาสุขภาพทั้งหลายลองเอาใจเขามาใส่ใจเราโดยถึงเหตุผลข้อจำกัดของฝ่ายคนไข้บ้าง

นอกจากข้อจำกัดเรื่องฐานะ สิ่งแวดล้อม หรือการใช้ชีวิต เช่น คนที่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อนหรือดูแลตัวเอง คนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์หรือการออกกำลังกายได้แล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่โดยปัจจัยต่างๆ แล้วก็น่าจะสามารถทำตามคำแนะนำของคุณหมอที่จะลดหรือเลิกกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรืองดเหล้าเลิกบุหรี่ได้ แต่พวกเขาก็เหมือนจงใจ เลือกจะไม่ทำ ตามคำแนะนำที่ถูกต้องนั้น อย่างไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย

ต้นตอของปัญหานี้อาจมาจาก ทักษะการยับยั้งชั่งใจ หรือ ทักษะการควบคุมตัวเอง ที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน หลายท่านอาจเคยผ่านตาหรือรู้จัก การทดลองมาร์ชเมลโลว์ ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford marshmallow experiment) กันมาบ้าง 

การทดลองนี้จะให้เด็กวัยอนุบาลมารวมตัวกันในห้อง แจกขนมมาร์ชแมลโลว์คนละชิ้น พร้อมให้สัญญาว่า ถ้าน้องหนูคนไหนยังไม่รีบกินมาร์ชแมลโลว์ชิ้นนี้ ในอีกห้า หรือสิบนาทีต่อมา เด็กผู้อดทนรอได้นั้นก็จะได้รับมาร์ชแมลโลว์เพิ่มอีกหนึ่งเป็นสองชิ้น

ผลการศึกษาพบว่ามีเด็กบางส่วนเท่านั้นที่อดใจไม่กินมาร์ชเมลโลว์และได้รับมาร์ชเมลโลว์อีกชิ้นตามสัญญา ซึ่งการ อดใจรอได้ ของเด็กนี้ นำไปสู่การค้นพบทักษะความอดทนต่อการตอบสนองความพึงพอใจ (Delayed gratification) โดยไม่ยอมรับความพึงพอใจชั่วแล่น (Instant gratification) เพื่อรับผลประโยชน์ที่ดีกว่าในระยะยาว การติดตามผลการทดลองในอีกหลายปีต่อมา พบว่าเด็กที่อดทนเพื่อรอรับมาร์ชเมลโลว์ชิ้นที่สองได้ จะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า รวมถึงมีแนวโน้มที่จะไปทำเรื่องผิดกฎหมายเมื่อโตไปแล้วด้วย

อาจเป็นเพราะผู้ที่ร่ำเรียนจนได้เป็นแพทย์ หรือพยาบาล รวมถึงผู้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพของตนเองในแต่ละสาขา นอกจากจะเป็นผู้มีสติปัญญาดีแล้ว ก็น่าจะเป็นผู้ที่มีทักษะในการหักห้ามใจ หรืออาจจะเรียกสั้นๆ ว่า วินัย ในระดับสูงประกอบด้วย ก็เพราะจะต้องใช้ความพยายามและอดทนในการเรียนและทบทวน ตลอดจนฝึกปฏิบัติอย่างอดทนมาเป็นเวลานานหลายปี

แต่เพราะความสามารถในการหักห้ามใจ หรือควบคุมตัวเองนี้เป็น ทักษะ ซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากัน บางคนอาจจะหักห้ามใจเก่งหรือมีวินัยมาตั้งแต่เกิด หรือมาฝึกฝนในภายหลัง สำหรับความสามารถทางกีฬาหรือคณิตศาสตร์เรารู้กันอยู่แล้วว่ามันเป็น ทักษะ ดังนั้นเราจะไม่ค่อยตั้งคำถามว่าทำไมบางคนถึงคิดเลขได้เร็ว หรือวิ่งได้ทน โดยที่คนอื่น ทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่เหมือนกัน ด้วยเรายอมรับได้ว่าทักษะในแต่ละด้านของคนเรามีไม่เท่ากัน

คนที่ไม่สามารถหักห้ามใจไม่กินของอ้วนหวานมันเค็ม ไม่สามารถหยุดดื่มสุราได้แม้ว่าจะสุขภาพกำลังแย่ หรือยังแอบไปสูบบุหรี่ทั้งๆ ที่ปอดแทบไม่เหลือ อาจจะเกิดจากการที่พวกเขา (หรือแม้แต่เราท่าน) มีทักษะในการควบคุมตัวเองต่ำ แต่ก็ไม่ได้เป็นเพราะไม่ได้แกล้งต่อต้าน หรือทำเป็นเมินคำแนะนำของคุณหมอ

เรายอมรับได้ว่าคนเราแต่ละคนวิ่งเร็ว หรือคิดเลขได้ไม่เท่ากัน แต่เหมือนเราจะยอมรับได้ยากกว่าว่าคนเราแต่ละคนก็มีความอดกลั้นข่มใจได้ไม่เท่ากัน และก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดจากความตั้งใจหรือจงใจที่จะปล่อยตัวเองไปตามกิเลสเสียทีเดียวด้วย แต่เป็นเพราะเขาขาดทักษะในเรื่องนี้เท่านั้น ซึ่งคนที่มีทักษะนี้สูงจะไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่า ทำไมคนอื่นๆ ถึงไม่สามารถอดกลั้นต่อการทำตามใจตัวเองได้ เพราะความที่เขารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เขาทำได้คนอื่นก็น่าจะทำได้ ทำไมแค่การไม่ไปซื้อเหล้ามากรอกเข้าปากหรือจุดบุหรี่สูบ หรือไม่ไปกินชานมหวานเจี๊ยบ หรือเนื้อย่างมันเยิ้ม มันจะยากอะไรหนักหนา อยู่กับบ้านกินไข่ต้มผักนึ่งง่ายกว่าไหม

นอกจากนี้ ทักษะและความสามารถในการหักห้ามใจหรือควบคุมตัวเองให้อยู่ในวินัยนี้ยังเพิ่มลดขึ้นตามระดับพลังใจด้วย โดยการใช้กำลังสมองในการคิดแก้ปัญหาหรือการตั้งสมาธิให้จดจ่อกับสิ่งต่างๆ นั้นล้วนเป็นกิจกรรมที่ดูดกินพลังใจทั้งสิ้น เรื่องนี้เคยมีงานวิจัยเช่นกันว่า ให้กลุ่มทดลองกลุ่มหนึ่งแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ต่อเนื่องกับกลุ่มที่ไม่ได้ต้องทำอะไรใช้สมองหรือสมาธิ แล้วให้ทั้งสองกลุ่มเลือกว่าจะกินอะไรเป็นอาหารว่าง ก็ปรากฏว่าคนกลุ่มที่ต้องแก้โจทย์ยากหรือต้องใช้สมาธิ มีแนวโน้มที่จะเลือกกินของว่างเป็นเค้กช็อกโกแลตมากกว่าเบบี้แครอตซึ่งเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ 

คงเป็นประสบการณ์ร่วมกันของเราหลายคนที่เคยมีวัน ศีลแตก จากที่เคยอดกินขนม กินแต่อาหารเพื่อสุขภาพ หรือไปออกกำลังกายต่อเนื่องได้ตั้งหลายวัน พอเจอประชุมทั้งวัน เข้าสอบสำคัญ หรือต้องคิดหรือตัดสินใจเรื่องยากๆ วันนั้นก็เป็นอันว่าอยากหาโรตีใส่ไข่ราดนมข้นเยิ้มๆ หรือเข้าร้านปิ้งย่างกินแล้วกลับบ้านไถมือถือหรือนอนดูซีรีส์ ช่างมันทั้งการออกกำลังกายหรือกินอาหารเพื่อสุขภาพ

ถ้าคุณหมอลองปรับใจ เข้าใจได้ว่าที่คนไข้ไม่สามารถรักษาสัญญาที่จะรักษาสุขภาพ ยังกลับไปสูบบุหรี่ดื่มเหล้านั้น มาจากปัจจัยต่างๆ ที่ควบคุมได้ยากแล้ว ก็ยังอาจมาจากทักษะความสามารถในการควบคุมตัวเองที่ต่ำและลดลงด้วยความหนักหน่วงของชีวิตในด้านต่างๆ อย่างน้อยอาจจะรู้สึกเหนื่อยใจบ้าง แต่ก็คงจะไม่รู้สึกแย่หรือมองว่าคนไข้ปล่อยตัวให้เป็นโรคเพราะคิดว่ามีหลักประกันสุขภาพรักษาฟรี

เช่นเดียวกับถ้าเราพยายามเข้าใจว่าทำไมคุณหมอถึงเสียใจ หรือหมดกำลังใจจนกล่าวโทษที่เราไม่สามารถใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดีตามคำแนะนำได้ว่าเราป่วยด้วยโรคทำตัวเองนั้น ก็เพราะพวกท่านรู้สึกเหมือนจะต้องทำงานที่เปล่าประโยชน์บั่นทอนกำลังใจอยู่

หรือถ้าเราอยากจะแสดงความพยายามช่วยคุณหมอที่กำลังช่วยเรา ก็อาจจะลองฝึกฝนทักษะการควบคุมหรือหักห้ามใจตัวเองขึ้นมาบ้าง เพื่อสักวันหนึ่งเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้นจนหายป่วย ให้คุณหมอรู้สึกว่างานการของท่านไม่เสียเปล่า

มีหนังสือที่พูดถึงการเพิ่มพูนทักษะในการรักษาวินัยและหักห้ามใจมีอยู่มากมาย แต่ท่านอาจจะลองวิธีง่ายๆ ด้วยก่อนที่จะทำตามใจตัวเอง เช่น เมื่อคิดจะควักบุหรี่ขึ้นมาสูบ เปิดเบียร์กินสักกระป๋อง หรือเดินเข้าร้านบุฟเฟต์ปิ้งย่าง ลองตั้งสติในห้วงเวลานั้น แล้วผลัดไปว่า อีกห้านาทีค่อยทำ ค่อยสูบบุหรี่ ค่อยเปิดเบียร์ ค่อยเดินเข้าร้านปิ้งย่าง จากนั้นท่านจะยังทำสิ่งนั้นหรือไม่ไม่ใช่ประเด็น แต่ขอให้ลอง หน่วงเวลา ก่อนที่จะทำสิ่งที่ต้องการนั้นในทันที

ลองทำให้ได้สักวันละครั้งสองครั้ง และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แล้วคุณจะพบและเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นทักษะที่เพิ่มพูนกันได้ผ่านการฝึกฝนจริงๆ

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image