ภาพเก่าเล่าตำนาน : เสน่ห์ มนต์ขลัง และต้นมะขาม ณ สนามหลวง : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เหตุการณ์สำคัญยิ่งยวดในสยามประเทศตั้งแต่สมัยในหลวง ร.1 ตั้งกรุงเทพฯเป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ. 2325 จะต้องมีสนามหลวงเป็นพื้นที่ประกอบเหตุการณ์ตั้งแต่โบราณกาลมาจวบจนปัจจุบัน

เมื่อครั้งพระพุทธยอดฟ้าฯตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ทรงสร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ และสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลให้เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ใกล้ๆ กันนั้นมี วัดสลัก เป็นวัดที่อยู่กึ่งกลางระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล มีทุ่งนาขนาดมหึมาอยู่ทางทิศตะวันออก

ในหลวง ร.1 โปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสลักเมื่อ พ.ศ.2326 เนื่องจากในอดีตพระองค์ฯเคยทรงล่องเรือมาหลบทหารพม่าในวัดแห่งนี้ พร้อมกับการก่อสร้างพระราชวัง จากนั้นทรงเปลี่ยนชื่อวัดจากวัดสลัก เป็น วัดนิพพานาราม

ต่อมาในหลวง ร.1 โปรดเกล้าฯให้ใช้วัดนิพพานารามเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกใน พ.ศ.2331 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ” และใน พ.ศ.2346 พระราชทานนามใหม่อีกครั้งว่า “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร” ตามชื่อวัดในกรุงศรีอยุธยาที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช

Advertisement

มีที่ดินขนาดมหึมา รกร้างว่างเปล่าอยู่บริเวณหน้าวัด ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “ทุ่งพระเมรุ” เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยในหลวง ร.1 ที่ดินกว้างใหญ่แปลงนี้เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

ในรัชสมัยในหลวง ร.3 โปรดเกล้าฯให้ชาวนามาทำนาที่ทุ่งพระเมรุ เพื่อต้องการให้ประจักษ์แก่นานาประเทศว่า เมืองไทยบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร พืชพันธ์ุธัญญาหาร ในน้ำมีปลา นามีข้าว ชาวสยามพร้อมทำศึกสงคราม เอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นกำลังของบ้านเมือง

ผ่านมาในรัชสมัยในหลวง ร.4 โปรดเกล้าฯให้ใช้ ทุ่งพระเมรุประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์สร้างกำแพงล้อมรอบบริเวณทุ่งพระเมรุ ข้างในกำแพงสร้างหอพระพุทธรูปสำหรับการพิธีหลวง สร้างพลับพลาที่ทำการพระราชพิธี มีโรงละครสำหรับเล่นบวงสรวง ด้านเหนือมีพลับพลาน้อยสร้างบนกำแพงแก้วสำหรับประทับทอดพระเนตรการทำนาในท้องทุ่ง นอกกำแพงแก้วยังมีฉางสำหรับใส่ข้าวที่ได้จากการปลูกข้าว

Advertisement

ทุ่งพระเมรุ มีขนาดกว้างยาวเท่าใดไม่ปรากฏ มีสภาพเหมือนท้องทุ่งทั่วไปในกรุงเทพฯที่ผู้คนทำไร่ทำนา ต่อมาในหลวง ร.4 มีพระราชดำริว่า พื้นที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุฯ มาเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ” นั้นหาชอบไม่ เป็นอวมงคล ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดนั้น ให้เรียกว่า “ท้องสนามหลวง”

สนามหลวง

สมัยในหลวง ร.5 โปรดเกล้า ให้ขยายสนามหลวงจากเดิม และรื้อพลับพลาต่างๆ ที่สร้างไว้ทั้งหมด เพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องทำนา และให้ใช้สนามหลวง เป็นที่ประกอบพิธีต่างๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี งานฉลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปใน พ.ศ.2440 เริ่มมีการปลูกต้นมะขามโดยรอบ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้สนามหลวงจัดการแสดง-พิธีในระดับชาติตามแบบมหานครในยุโรป และเริ่มการก่อสร้างถนนราชดำเนิน

สนามหลวง ได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีรูปทรงเป็นวงรี มีต้นมะขามเป็นแนวรั้ว ครั้นในรัชสมัยในหลวง ร.6 ทรงใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ใช้พื้นที่สนามหลวงเสด็จออกมหาสมาคมให้พสกนิกรชมพระบารมี

ตลอด 200 ปีเศษที่ผ่านมา สนามหลวง เป็นพื้นที่ที่มีชีวิต มีพลวัต มีพัฒนาการ มีความหลากหลาย รับใช้ในทุกภารกิจและความต้องการ

สนามหลวงในอดีตเคยมีฝูงนกพิราบขนาดมหึมา เคยเป็นตลาดนัด มีนักมายากล มีงูเห่ากัดกับพังพอน ขายพระเครื่องทุกรุ่น ขายยาสารพัดโรค มีของเก๊ ของจริง มีหาบเร่แผงลอย มีคนนอนค้างคืน มีขอทาน แถมบริเวณชายคลองมีร้านขายหนังสือเก่า ยาแผนโบราณ สมุนไพร แขกอินเดียเป่าปี่เรียกงูเห่าออกมาจากหม้อดิน

สนามหลวงมีและเป็นทุกอย่างที่ใจปรารถนา

ณ บริเวณใกล้ๆ สนามหลวงตรงบริเวณเชิงสะพานผ่านพิภพลีลามีสิ่งก่อสร้างสวยงาม มีน้ำไหล ที่ผู้เขียนขอแถมประวัติที่มาที่ไปให้ทราบ ดังนี้ครับ

แต่เดิมเรียกศาลตรงนี้ว่า “อุทกทา” แต่ชื่อนี้เรียกยาก คนทั่วไปไม่คุ้น เลยเรียกกันว่า “แม่พระธรณีบีบมวยผม” ซึ่งเป็นรูปแม่พระธรณีบีบมวยผมอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ประดับลวดลายปูนปั้นสวยงาม สร้างเมื่อ พ.ศ.2460 จากพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนีพระพันปีหลวงในสมัยในหลวง ร.5 สร้างขึ้นเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ประชาชน มีพระราชประสงค์จะแจกจ่ายน้ำสะอาดให้แก่ประชาชนที่ยังไม่มีระบบประปาในกรุงเทพฯ

ในหลวง ร.6 ได้พระราชทานคำแนะนำว่าควรทำเป็นรูปพระแม่ธรณีบีบน้ำออกจากมวยผม และให้สร้างที่บริเวณเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงออกแบบเป็นรูปหล่อโลหะอยู่ในซุ้มเรือนแก้วฐานสูง โดยฐานล่างเป็นทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ประดับลวดลายปูนปั้นรูปกลีบบัว และให้น้ำไหลออกจากมวยผม ขนาดกะทัดรัดสวยงาม มีประชาชนมารับน้ำที่ไหลออกมาจากมวยผมเพื่อไปบริโภค บ้างก็มาขอพร

สมัยในหลวง ร.7 สนามหลวงเป็นสถานที่จัดงานฉลองใหญ่กรุงเทพฯครบ 150 ปี และใช้เป็นสถานที่พระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่หน่วยทหาร

ในหลวง ร.8 เสด็จฯตรวจพลสวนสนามของทหารสหประชาชาติที่สนามหลวงโดยมี ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเตอร์น (Lord Louis Mountbatten) ของอังกฤษร่วมพิธีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง

“เราจะไม่พรากจากกันคือ ความรัก ระหว่างต้นมะขามและสนามหลวง”

ขอย้อนไป พ.ศ.2444 เมื่อคราวในหลวง ร.5 เสด็จประพาสเกาะชวา (อินโดนีเซีย) เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งในช่วงเวลานั้น ฮอลันดาปกครองชวาเป็นอาณานิคมยาวนาน ชวาเป็นประเทศในภูมิภาคนี้ที่เจริญก้าวหน้าเหมือนเมืองใหญ่ในยุโรปโดยเฉพาะเรื่องผังเมือง บริเวณหน้าพระราชวังสุลต่านเจ้าผู้ครองเมือง มีสนามหญ้าเป็นลานขนาดใหญ่คล้าย สนามหลวง ในหลวง ร.5 โปรดบรรยากาศสนามหญ้าที่มีต้นไม้รายรอบ ดูสวยงามเรียบร้อย เลยนำแบบอย่างมาปรับปรุงสนามหลวง พระองค์ฯ ขอให้ชาวชวาที่ชำนาญการตกแต่งและปลูกต้นไม้จากชวาเดินทางมาจัดและตกแต่งต้นไม้ในพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ เมื่อเสด็จกลับมาถึงโปรดฯ ให้ปลูกต้นมะขามรอบสนามหลวง เนื่องจากเป็นไม้ใหญ่ คงทนถาวรและมีชื่อ มะขาม เพราะเป็นชื่อที่เป็นสิริมงคล

ในสมัยในหลวง ร.5 ทรงให้ปลูกไว้รอบสนามหลวงจำนวน 365 ต้น และต่อมาปลูกเพิ่มเติมอีกในหลายโอกาสเป็น 708 ต้น

ท้องสนามหลวงเคยใช้เป็นสถานที่สำหรับการปราศรัยใหญ่ในการหาเสียงเลือกตั้งตลอดมา เป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองทุกยุคทุกสมัย ใน พ.ศ.2491 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก สนามหลวงจึงแปรสภาพเป็นตลาดนัดที่ผูกพันกับคนไทยยาวนาน 33 ปีจนได้ชื่อว่า ตลาดนัดท้องสนามหลวง และย้ายออกไปยังสวนจตุจักร ในปี พ.ศ.2524

สนามหลวงเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเป็นศูนย์รวมจิตใจเป็นจุดกำเนิดความคิด ศิลปวิทยาการ มีมนต์ขลัง และเสน่ห์ตลอดกาล กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2520 มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา

เอไอเอส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image