สะพานแห่งกาลเวลา : โควิด-19 ยังไม่จบ! โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Pixabay)

ในเมืองไทยเรา ดูเหมือนคำว่า โควิด-19 เชื้อไวรัสที่ก่อโรคระบาดร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก กำลังเลือนหายไปจากชีวิตประจำวันมากขึ้นตามลำดับ

กระทรวงสาธารณสุขของเราประกาศให้โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว ก็เลยไม่แน่ใจนักว่า ทีมเฝ้าระวังและติดตามโรคยังคงทำหน้าที่อยู่ครบถ้วนหรือไม่

ผลการตรวจสอบ เฝ้าระวังล่าสุดเป็นอย่างไร? สาธารณชนไม่ค่อยได้รู้ได้เห็นกัน

แต่ในบางประเทศ อย่าง บังกลาเทศ หรือแม้แต่ใกล้บ้านเราอย่าง สิงคโปร์ เพิ่งเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่อีกระลอก เพิ่งสร่างซาลงเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี่เอง

Advertisement

ที่สหรัฐอเมริกาก็เช่นเดียวกัน นายแพทย์แอนโทนี ฟาวซี หัวหน้าคณะแพทย์ประจำทำเนียบขาว เพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เตือนให้ระวังการ
กลับมาของโควิด-19 อีกครั้งหนึ่ง จากอิทธิฤทธิ์ของสายพันธุ์ย่อยทั้งหลายของ โอมิครอน

ดร.ฟาวซี ถึงกับระบุว่า สหรัฐอเมริกาทั้งประเทศกำลังตกอยู่ในระหว่าง “ทางแยก” เพราะหน้าหนาวกำลังจะมาถึง ในขณะที่การติดเชื้อโควิด-19 จากสายพันธุ์กลายพันธุ์ก็เริ่มขยับสูงขึ้นให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ดร.ฟาวซี ออกมาเตือนทำนองนี้ แต่เป็นการเตือนซ้ำๆ ต่อเนื่องกันมานานหลายเดือนแล้วว่า เชื้อกลายพันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ ซึ่งมีขีดความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันในร่างกายเรา กำลังโผล่ออกมาอาละวาดในสหรัฐอเมริกาในหน้าหนาวนี้

Advertisement

ก่อนหน้านี้ ฟาวซี เตือนถึงภัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากเชื้อกลายพันธุ์ บีคิว.1 และบีคิว.1.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มาจาก โอมิครอน แต่ตอนนี้เพิ่มไปอีกหนึ่งตัว นั่นคือเจ้า เอ็กซ์บีบี

เหตุผลก็เพราะสายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มาจากโอมิครอนเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วและ “ดูเหมือนว่า” จะสามารถเลี่ยงภูมิคุ้มกันในตัวเราได้

แม้ ดร.ฟาวซี จะยังคงรับประกันให้มั่นใจได้ว่า คนที่ผ่านการฉีดวัคซีนมาครบถ้วนแล้ว รวมทั้งที่ฉีดเข็มกระตุ้น และคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์ก่อนหน้านี้อย่าง บีเอ.5 ก็จะยังมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ ได้มากเพียงพอ

แต่บรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐอเมริกากำลังกังวลว่า บรรดาคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือภูมิคุ้มกันอ่อนแอมาก หรือจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ในเวลานี้ อาจตกเป็นเหยื่อ

นอกจากนั้น การรักษา หรือป้องกันผู้คนที่มีความผิดปกติทางภูมิคุ้มกันเหล่านี้ ซึ่งใช้วิธีให้แอนติบอดีสำเร็จรูป อย่างที่มีการผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ชื่อ “อีวูเชลด์” (Evusheld) นั้นอาจตกเป็นเหยื่อของการแพร่ระบาดครั้งใหม่นี้ เพราะแอนติบอดีสำเร็จรูปเช่นนี้อาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว

สิ่งที่ ดร.ฟาวซี แถลงซึ่งฟังแล้วน่าตกใจมากก็คือ เขาย้ำว่า โควิด-19 ในสหรัฐอเมริกายังไม่จบ ด้วยการหยิบยกสถิติการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยต่อ 1 สัปดาห์ในสหรัฐอเมริกาว่า ล่าสุดอยู่ที่ 2,600 คนต่อสัปดาห์ หรือตกราว 372 คนต่อวัน

ซึ่ง ดร.ฟาวซีย้ำว่า เป็นอัตราการเสียชีวิตที่ยัง “รับไม่ได้” และเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นว่า โควิดยังระบาดหนักอยู่ที่นั่น ไม่ได้จบสิ้นไปแล้วแต่อย่างใด

ทอม พีค็อก นักไวรัสวิทยา จากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน อธิบายว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หน้าหนาวมักทำให้การแพร่ระบาดเกิดสูงขึ้นแล้วกลายเป็นการแพร่ระบาดระลอกใหม่ต่อเนื่องออกไป โดยมีเชื้อสายพันธุ์หลักที่ครอบงำการระบาดแต่ละระลอก อย่างเช่น อัลฟา เดลต้า หรือโอมิครอน

แต่ปีนี้ แตกต่างออกไป ไวรัสโควิดที่กำลังคุกคามเราอยู่ เป็นสายพันธุ์ย่อยกลุ่มหนึ่งวนเวียนกันแพร่ระบาดอยู่ทั่วไป โดยไม่มีสายพันธุ์ย่อยตัวไหนระบาดมากจนครอบงำตัวอื่นๆ

แต่มี 2 สายพันธุ์ย่อยที่ ไม่ว่าจะเป็น ดร.ฟาวซี หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการแพร่ระบาดอื่นๆ ทั่วโลกกำลังจับตาดูอยู่ นั่นคือ บีคิว.1 กับ เอ็กซ์บีบี

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งเชื่อว่า อีกไม่ช้าไม่นาน สองสายพันธุ์ย่อยนี้ หรืออาจเป็นตัวหนึ่งตัวใด คงขึ้นมาครอบงำในบางพื้นที่ บางส่วนของโลก

บีคิว.1 นั้นเป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์มาจาก สายพันธุ์ย่อย บีเอ.5 ของโอมิครอน ส่วน เอ็กซ์บีบี นั้นเป็นผลงานสุดพิสดารของไวรัสชนิดนี้ เพราะมันเกิดจากสายพันธุ์ย่อย 2 ตัวที่กลายพันธุ์มาจาก บีเอ.2 ที่กลายพันธุ์มาจากโอมิครอนอีกที เจ้า 2 ตัวที่ว่านี้กลับมารวมตัวเข้าด้วยกันใหม่ (ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่าการ รีคอมบิแนนท์) กลายเป็น เอ็กซ์บีบี ขึ้นมา

เอ็กซ์บีบี อาละวาดในประเทศอย่าง บังกลาเทศ และสิงคโปร์ ตลอดเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จนทำให้ผู้เชี่ยวชาญโรคระบาดในเอเชียจับตามองเขม็ง

ในสหรัฐอเมริกา สายพันธุ์ที่ระบาดเป็นหลักยังคงเป็น บีเอ.5 แต่ บีคิว.1 และบีคิว.1.1 ก็เริ่มสูงขึ้นตามลำดับ ในช่วงระหว่าง 23-29 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อ บีเอ.5 คิดเป็น 49.6 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ในขณะที่มีผู้ติดเชื้อ บีคิว.1 กับ บีคิว.1.1 คิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ของยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด ทั้งๆ ที่เมื่อ 1 เดือนก่อนหน้านั้นจำนวนผู้ติดเชื้อ บีคิว.1 กับ บีคิว.1.1 รวมกันมีแค่ 1.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

นั่นคือความเร็วในการแพร่ระบาดของ บีคิว.1 กับ บีคิว.1.1

หน้าหนาวนี้ในเมืองไทยกำลังจะมาถึง พร้อมกับการเปิดประเทศ การใช้ชีวิตกลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว ยังไงๆ ก็ยกการ์ดส่วนตัวเอาไว้ก่อนก็น่าจะดีครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image