คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : สุราก้าวหน้า ก้าวคนละก้าว ชนคนละแก้ว

ผู้ใหญ่ที่นับถือท่านหนึ่งเคยสอนไว้สมัยที่ผมเข้าสู่โลกการทำงานใหม่ๆ ว่าเหล้ามันเป็นของไม่ดี ดังนั้นเราต้องดื่มเหล้าดีๆ 

ซึ่งการดื่มเหล้าดีๆของท่าน หมายถึงดื่มเหล้า (รวมถึงสุราและเมรัยทั้งหลาย) ที่มีคุณภาพและรสชาติดี ดื่มอย่างถูกวิธีในปริมาณที่เหมาะสมที่จะยังจดจำกำซาบรสชาติอันเป็นทิพย์ของเครื่องดื่มชนิดนี้ได้ ดังนั้นการดื่มจนเมาคลานสิ้นสติ หรือถึงแก่คายของเก่า จึงไม่อยู่ในความหมายของการดื่มเหล้าดีๆของท่าน

เรื่องที่ต้องยอมรับปรับทรรศนะให้ตรงกันก่อนในชั้นแรกนี้ คือสุราเมรัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลาย นั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมของมนุษย์ในแทบทุกอารยธรรม ผลดีผลร้ายของมันนั้นก็ปรากฏชัดแล้วตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ไม่ว่าจะในระยะสั้นคือการลดทอนสติสัมปชัญญะซึ่งนำไปสู่ปัญหามากมายตั้งแต่สารภาพรักผิดคน ผิดที่ ผิดเวลา ไปจนถึงการพลั้งสติฆ่าใครสักคนโดยไม่สมควรไป และผลร้ายระยะยาวของมันที่กระทำต่อสุขภาพของผู้ดื่มเสพ

ถ้าไม่นับประเทศที่ใช้กฎคำสอนทางศาสนาเป็นกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ในโลกปัจจุบันรัฐประเทศต่างๆ ก็วางมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมเครื่องดื่มชนิดนี้หนักเบาต่างกันออกไป ตามประวัติศาสตร์ ระบบกฎหมาย เศรษฐกิจและสังคม โดยมีสาระสำคัญคือให้ผู้คนสามารถหาความสุขสันทนาการตามสมควรได้จากสุราเมรัยทั้งหลายนี้ ภายในขอบเขตที่จะไม่เป็นการรบกวน หรือก่อเหตุร้ายแรงต่อผู้อื่นและสังคม

Advertisement

เมื่อพูดถึงต้นแบบเรื่องวัฒนธรรม และความหลากหลายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ เรามักจะนึกถึงประเทศญี่ปุ่น ที่นอกจากจะมีสุราและเมรัยพื้นถิ่นของตัวเองแล้ว ยังสามารถผลิตสุราเมรัยแบบตะวันตกทั้งวิสกี้และเบียร์ได้ระดับยอดเยี่ยม ชนิดที่ว่าคว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลกมาหลายครั้ง 

แม้ว่าเราจะได้เห็นด้านมืดของการดื่มกินเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของชาวญี่ปุ่นอยู่บ้าง เช่น วัฒนธรรมการสังสรรค์หลังเลิกงาน* เมาหลับกันคาสถานีรถไฟแล้วตื่นไปทำงานใหม่ในตอนเช้า แต่กระนั้นถ้าใครเคยอ่านนวนิยาย ดูการ์ตูนมังงะหรือแอนิเมะ ของประเทศนี้ คงจะได้รู้ว่าพวกเขาเคร่งครัดในการรักษาระเบียบทางสังคมที่ห้ามคนอายุไม่ถึง 20 ปี ดื่มสุราเมรัยอันมีแอลกอฮอล์เป็นอันขาด ระดับที่ว่าใครเห็นใครที่ดูอายุไม่ถึงหรือก้ำกึ่งทำท่าจะกระดกขวดยกแก้ว ต่อให้ไม่รู้จักกันก็ต้องเข้าไปห้ามปรามถามอายุกันได้ทีเดียว

หรือประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตเมรัยและสุราชั้นเลิศจนต้องจดแจ้งผลิตภัณฑ์ด้วยชื่อทางภูมิศาสตร์อย่างฝรั่งเศส หรือประเทศที่เราเรียกกันว่าเมืองเบียร์เยอรมนี หากใครเคยไปใช้ชีวิตหรือทำงานก็คงจะได้เห็นความเข้มงวดในเรื่องการดื่มแล้วขับของพวกเขากันบ้างแล้ว

Advertisement

ในสัปดาห์ที่แล้ว ข่าวการเมืองหนึ่งที่ผู้คนสนใจที่สุด คงได้แก่การลงมติของสภาผู้แทนในวาระที่สาม ต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.. … หรือร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าที่พรรคก้าวไกลตัวตั้งตัวตีในการเสนอและผลักดัน

แม้ในที่สุดกฎหมายนี้จะไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งก็เป็นเรื่องคาดหมายได้ เพราะการที่กฎหมายที่เสนอจากฝ่ายค้านนี้ผ่านการพิจารณามาได้ไกลถึงชั้นนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากอุบัติเหตุทางการเมืองและการชิงจังหวะเกทับบลั๊ฟกันของพรรคร่วมรัฐบาลในสมัยนั้น แต่ถึงอย่างนั้น มันก็แสดงให้เห็นสัญญาณและความรู้สึกร่วมกันของสังคม ซึ่งสะท้อนผ่านฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องได้พอสมควร ว่าสังคมไทยนั้นอึดอัดกับประเด็นนี้มากกว่าที่จะเป็นปัญหาทางการเมืองเชิงนโยบาย หรือการชิงพื้นที่ทางการเมืองกันของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล สัญญาณนี้เด่นชัดจนถึงขนาดรัฐบาลต้องออกกฎกระทรวงมาผ่อนปรนตัดหน้า

ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า และกระแสเรื่องเหล้าเบียร์เสรีที่เกิดขึ้นโดยพรรคก้าวไกลนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ในความพยายามทบทวนและแก้ปัญหาเกี่ยวกับเครื่องดื่มประเภทนี้ของประเทศไทยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมาย

กฎหมายเกี่ยวกับสุราเมรัย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยที่สำคัญมี 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติสุรา พ..2493 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการจำหน่าย ขาย ขนส่ง นำเข้า สุราและสุราแช่หรือเมรัย ซึ่งจะต้องพิจารณาประกอบกับพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ..2560 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตให้ผลิตจำหน่ายและจ่ายภาษีสรรพสามิต เพื่อให้สุรานั้นถือเป็นสุราที่ถูกต้องตามกฎหมายที่จะดื่มกินหรือจำหน่ายจ่ายแจกได้ตาม พ...สุราข้างต้น 

ส่วนเรื่องกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการให้และการห้ามดื่มสุราเมรัย กำหนดหลักเกณฑ์ห้ามการขาย โฆษณา หรือทำตลาดเครื่องประเภทดื่มนี้ ก็ต้องเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ..2551 กำหนดไว้

นอกจากนี้ เรายังอาจจะรวมเอากฎหมายที่ป้องกันการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วก่ออันตรายบนท้องถนนไปด้วย ก็จะมี พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ..2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานดื่มแล้วขับรถ

กฎหมายสรรพสามิตเดิมและกฎหมายลำดับรองนั้นเหมือนกับว่ามีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพอันเนื่องจากมาตรฐานการผลิตสุราทั้งกลั่นทั้งแช่ อนุมานได้ว่าการจะผลิตเหล้าเบียร์ขายต้องมีโรงงานขนาดใหญ่ให้ได้มาตรฐาน ดังนั้นจึงกำหนดให้เฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีศักยภาพสูงเท่านั้นที่จะได้รับอนุญาตให้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกมาจำหน่ายได้ แต่ปริมาณการผลิตที่กำหนดไว้โดยกฎกระทรวงที่มากจนไม่ได้สัดส่วนและไม่สมเหตุสมผลในโลกยุคปัจจุบันก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีเพียงสองสามรายในประเทศนี้ไม่มีคู่แข่งทั้งในปัจจุบันหรืออนาคตหรือไม่

สำหรับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเอาอำนาจในการพิจารณาเรื่องการกำหนดกติกาการดื่มกิน ขาย โฆษณา และทำตลาดไว้ให้แก่คณะกรรมการที่แม้จะประกอบด้วยหลายฝ่ายที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง แต่การที่กฎหมายกำหนดไว้ในตัวบทเลยว่าให้กรมควบคุมโรคเป็นเจ้าภาพในการใช้และบริหารกฎหมายนี้ ก็ช่วยไม่ได้ที่ผู้มีอำนาจรัฐที่รับผิดชอบจะมองเรื่องการดื่มเหล้าดื่มเบียร์เป็นโรคภัยอย่างหนึ่งที่ต้องควบคุมและกำจัดให้สิ้น จนทำให้การใช้และตีความกฎหมายเป็นไปในทางนั้นหมด เสียจนกลายเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเช่นกรณีของปัจเจกชนจะถ่ายรูปเบียร์เพื่อรีวิวกันในหมู่มิตรสหาย ก็ถูกตีความว่าเป็นการโฆษณาอันต้องห้ามตามกฎหมายและขู่ (รวมถึงที่ทำจริง) ว่าจะดำเนินคดี สั่งปรับหรือลงโทษร้ายแรงกว่านั้น 

แม้จะพอฟังได้อยู่ว่าการรีวิวอาจจะเป็นการโฆษณาแอบแฝง แต่ความเคร่งครัดขนาดนี้ก็ทำให้รายใหญ่ต้องงดโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์หรือก็ไม่ หากนั่นกลับทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายที่มีกำลังทุนเพียงพอ สามารถเลี่ยงกฎหมายด้วยการจดเครื่องหมายการค้าร่วมให้กับสินค้าเครื่องดื่มประเภทอื่นของตัวเองแล้วโฆษณารวมไปในฐานะของผลิตภัณฑ์ตรานั้นๆ 

เราคงเคยเห็นโซดายี่ห้อหนึ่งที่ดื่มแล้วสดชื่น ดีดสุดๆ เพียงเพราะมีแม่เหล็กตราเดียวกับเบียร์และโซดายี่ห้อนั้นติดตู้เย็นไว้ รวมถึงกรณีที่ไม่ได้ใช้เล่ห์เหลี่ยมเลี่ยงหลีกใดๆ ทั้งสิ้น ว่ากันซื่อๆ อยากเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ขายในร้านสะดวกซื้อ ก็จ้างหรือสร้างเพจขึ้นมาโฆษณากันดื้อๆ เลยว่า เบียร์ XOOOX … มีขายที่ N XXXX แล้วจ้า จากนั้นผู้รับผิดชอบก็ยอมถูกดำเนินคดี สารภาพเสียค่าปรับกันไป แต่ก็ได้ปล่อยโฆษณาประชาสัมพันธ์ทำตลาดไปแล้ว

ดังนั้น หากไม่มีการปลดล็อกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้ได้ ต่อให้ประชาชนผู้คนทั่วไปหรือผู้ผลิตรายย่อยจะสามารถผลิตเหล้าเบียร์ หรือสุราพื้นบ้านได้ แต่ก็จะติดเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการขาย โฆษณา หรือทำตลาดอยู่ดี 

ซึ่งกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้ไม่ใช่ก่อปัญหาแต่กับรายย่อยเท่านั้น แม้แต่รายใหญ่เองก็ขยับตัวลำบาก อยากจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือนำเข้าเหล้าเบียร์จากต่างประเทศที่คุณภาพดีหรือเป็นทางเลือกจะให้เป็นที่รู้จักในตลาดก็ทำได้ยาก เช่นครั้งหนึ่งเมื่อเครือผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่เจ้าหนึ่งพยายามจะสร้างแบรนด์ที่มีคุณภาพและรสชาติดีขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตแบบเบียร์เยอรมัน แต่ก็ดันเกิดมาในช่วงที่มีกฎหมายนี้พอดี ทำให้ไม่สามารถทำตลาดได้เต็มที่ 

ปัญหาที่กล่าวไปข้างต้นนี้อาจจะมาจากวิธีคิดของกฎหมายสุราและเมรัยที่ว่านั้นเป็นแนวคิดของกฎหมายยุคที่ผู้ร่างและบังคับใช้กฎหมายมีโลกทัศน์ว่า กิจการและกิจกรรมใดๆ ทั้งหลายของประชาชนนั้นจะทำไม่ได้ เว้นแต่รัฐจะอนุญาตเสียก่อน และการอนุญาตนั้นก็มีข้อจำกัดมากมายเรียกว่าอย่าทำเลยจะง่ายกว่า ในขณะที่แนวคิดใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 (ที่หลายฝ่ายภูมิใจหนักหนา) นั้นวางหลักไว้ในมาตรา 25 ว่า สำหรับประชาชนพลเมืองแล้วการใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้…” ยืนยันซ้ำด้วยมาตรา 77 วรรคสามว่ารัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น…” ดังนั้นกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหล้าเบียร์ สมควรถูกนำมาทบทวนใหม่ทั้งระบบว่าสอดคล้องกับแนวคิดใหม่นี้หรือไม่

การยกเอาเรื่องสุราก้าวหน้าเข้ามาอยู่บนผิวน้ำของพรรคก้าวไกลและผู้คนที่เกี่ยวข้องเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่เราจะก้าวกันคนละก้าว” (หรือชนกันคนละแก้ว) และจะดีกว่านี้ถ้าจะขยายออกไปเป็นวาระการพิจารณากฎหมาย กติกา และกฎเกณฑ์ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์นี้ทั้งระบบ โดยอาจจะเริ่มจากการรวมกฎหมายเกี่ยวกับสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กระจัดกระจายกันในกฎหมายสามสี่ฉบับนี้ ให้อยู่เป็นกฎหมายฉบับเดียวกันก่อนก็ได้

เพราะเราอยากอยู่ในสังคมประเทศที่มีเหล้าเบียร์ขายเป็นร้อยๆ ตราให้เลือกจากหลากภูมิภาค หลายระดับราคาตามแต่ที่คุณพร้อมจ่าย จะเอาแบบเน้นกินแล้วเมาหรือดื่มด่ำสุนทรีย์ในวันพิเศษกับคนพิเศษก็ได้ วันไหนๆ เวลาใดก็หาซื้อได้ไม่จำกัด ในร้านอาหารมีการจับคู่เบียร์หรือไวน์กับอาหารเพื่อเสริมรสกัน

แต่ในสังคมเช่นนั้น เป็นสังคมที่ทุกคนพร้อมจะเข้าไปห้ามเด็กวัยรุ่นที่ทำท่าจะกระดกยกดื่ม สังคมที่คนไม่กล้าดื่มถ้ารู้ว่าต้องขับรถกลับบ้าน หรือในวงสังสรรค์ จะต้องมีสักคนที่ไม่แตะต้องแอลกอฮอล์เพื่อจะลากพาเพื่อนๆ กลับบ้านกันอย่างปลอดภัย 

หรือยังคงพอใจจะอยู่ในสังคมประเทศที่เต็มไปด้วยกฎหมายห้ามเคร่งครัด ห้ามถ่ายรูปเบียร์ไวน์แบบเห็นฉลากโพสต์ลงโซเชียล แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะคนก็เดาได้ว่าถ้าไม่ใช่เบียร์ของเจ้าใหญ่ A ก็เจ้าใหญ่ B รสชาติก็ว่ากันไปเหมือนเดิม อยากซื้อเหล้าเบียร์ก็จำกัดเวลากันวุ่นวาย วันโน้นวันนี้ห้ามขายห้ามซื้อ

แต่ประเทศเช่นนั้นเองที่มีข่าวคนเมาแล้วขับก่ออุบัติเหตุน่าสลดบนท้องถนนแทบไม่เว้นสักเดือน

สังคมแบบไหนที่ท่านจะเลือก และให้ลูกหลานของท่านเติบโตกันต่อไปอย่างผู้มีวัฒนธรรมและสุนทรียะ

*ปัจจุบันนี้วัฒนธรรมการสังสรรค์หลังเลิกงานและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับที่ว่านั้น ถูกตั้งคำถามและปฏิเสธจากคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่มากขึ้น

 

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image