99 ปีแห่งสาธารณรัฐทูร์เคีย (ตุรกี) โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2565 ผู้เขียนต้องคอยเปลี่ยนขึ้นเครื่องบินอยู่ที่สนามบินอิสตันบูล ประเทศตุรกี เป็นเวลาถึง 19 ชั่วโมงเพื่อบินกลับกรุงเทพฯ ทางสายการบินจึงจัดให้มีบริการนำเที่ยวฟรีสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศ โดยผู้โดยสารจะต้องบินด้วยสายการบินตุรกีที่บินผ่านอิสตันบูลและหยุดพักเปลี่ยนเครื่องระหว่าง 6-24 ชั่วโมง ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสใช้เวลาเที่ยวกรุงอิสตันบูลฟรีถึง 7 ชั่วโมงครึ่งพร้อมคณะผู้โดยสารคอยเปลี่ยนเครื่องบิน 19 คน และไกด์ชาวตุรกีผู้สุภาพอ่อนโยนพูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่วมีอารมณ์ขันเหลือเฟือ แต่ผู้เขียนขอไม่กล่าวถึงรายการทัวร์กรุงอิสตันบูลเพราะว่าตั้งใจจะเขียนเล่าเรื่อง “99 ปีแห่งสาธารณรัฐทูร์เคีย (ตุรกี)” โดยเฉพาะ

เมื่อเริ่มประชุมคณะทัวร์กรุงอิสตันบูล 20 คน ไกด์ก็ชี้ที่ดวงตาของเขาซึ่งดูโรยๆ นิดหน่อยแล้วบอกว่าเมื่อวานนี้ (ที่ 29 ตุลาคม) เป็นวันครบรอบ 99 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกี ซึ่งทั่วประเทศทูร์เคีย (เมื่อวันพุธที่ 1 มิถุนายน พ..2565 รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีส่งจดหมายถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อขอจดทะเบียนชื่อประเทศใหม่จาก Turkey เป็น Turkiye ที่ออกเสียงว่าทูร์เคียเนื่องจากชื่อเดิมคือ Turkey ในภาษาอังกฤษหมายถึงไก่งวง) มีการเฉลิมฉลองแบบว่าดื่มกันหนักหน่อย ดังนั้นหากเขาปลีกตัวมานั่งพักคนเดียวบ้างก็โปรดอย่าถือโทษโกรธเคืองอะไร เพราะรายการทัวร์ยาวตั้ง 7 ชั่วโมงครึ่งนั่นเอง

เริ่มต้นจากเรื่องของชาวเติร์กผู้มีแหล่งกำเนิดในเอเชียกลางในรูปของชนเผ่าหลากหลายมากกลุ่มกระจัดกระจายกันไป บางกลุ่มรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มการเมืองและเข้าไปเคลื่อนไหวยิ่งใหญ่ในยุโรป ในเวลาต่อมาเมื่อมีการผสมผสานผ่านการแต่งงานกัน เติร์กที่สืบทอดเชื้อสายลูกผสมของมองโกลนับถือศาสนาอิสลามก็สร้างอำนาจขยายดินแดนในเอเชียกลาง และเข้ายึดครองอินเดียได้โดยราชวงศ์โมกุลซึ่งปกครองอินเดียเป็นเวลายาวนาน แต่ผลงานของชาวเติร์กที่โลกจดจำมากที่สุดก็คือเรื่องการยกทัพเข้าตีและครอบครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลที่ใหญ่ยิ่งได้สำเร็จในและสถาปนาจักรวรรดิออตโตมันที่ทรงอำนาจอยู่ทั้งทวีปยุโรปและเอเชีย ซึ่งยืนยงโดยมีสุลต่านสืบทอดบัลลังก์ติดต่อกัน 623 ปี แผ่อำนาจออกไปใน 3 ทวีป คือเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ต่อมาสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันก็ได้รับตำแหน่งคอลิฟะห์อันเป็นผู้นำสูงสุดในด้านศาสนากับการเมืองของรัฐอิสลาม ในฐานะผู้สืบทอดต่อจากศาสดามุฮัมมัด

เมื่อจักรวรรดิออตโตมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกแบ่งแยกจักรวรรดิจนแทบล่มสลายด้วยสนธิสัญญาแซฟส์ใน พ..2463 ลงนามระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและจักรวรรดิออตโตมัน สนธิสัญญายกดินแดนส่วนใหญ่ของออตโตมันให้กับฝรั่งเศส อังกฤษ กรีซ และอิตาลี เช่นเดียวกับการสร้างเขตยึดครองขนาดใหญ่ภายในจักรวรรดิออตโตมันทำให้

Advertisement

มุสตาฟา เคมาล ปาชา นายทหารแห่งจักรวรรดิออตโตมัน ไม่ยินยอมประกาศยกเลิกตำแหน่งสุลต่านและจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมี มุสตาฟา เคมาล ปาชา เป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยทำการรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งมีกรีซเป็นหัวเรือใหญ่จนได้ชัยชนะจนสามารถทำสนธิสัญญาโลซาน เป็นสนธิสัญญาสันติภาพซึ่งลงนามในโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ..2466 เป็นอันยุติสถานะสงครามซึ่งมีอยู่ระหว่างประเทศตุรกีและฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น กรีซ โรมาเนีย และรัฐเซิร์บโครแอตสโลวีน นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ สนธิสัญญานี้เป็นการยกเลิกสนธิสัญญาแซฟส์ สนธิสัญญาโลซานยุติความขัดแย้งและกำหนดเขตแดนของรัฐตุรกีสมัยใหม่ ยกเว้นเขตแดนกับประเทศอิรัก ในสนธิสัญญาดังกล่าว ตุรกีสละการอ้างสิทธิเหนือส่วนที่เหลือของจักรวรรดิออตโตมันและฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองอธิปไตยของตุรกีภายในเขตแดนใหม่เป็นการตอบแทนพอถึงเดือนมกราคม พ..2466 มีการประกาศชื่อประเทศเป็นตุรกี

มุสตาฟา เคมาล ปาชา สถาปนาสาธารณรัฐตุรกีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ..2466 และเป็นประธานาธิบดีคนแรก มีการประกาศยกเลิกตำแหน่งคอลิฟะห์ (ประมุขของศาสนาอิสลาม) ปิดสถาบันการศึกษาของฝ่ายศาสนา และขับราชวงศ์ของราชวงศ์ออสมัน ที่ปกครองประเทศมายาวนาน 623 ปี ออกนอกประเทศ

รัฐบาลตุรกียุบศาลตามกฎหมายศาสนา โอนหน้าที่ทางการศาลแก่ฝ่ายบ้านเมือง มีการประกาศรัฐธรรมนูญของประเทศเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ..2467 โดยยังให้อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ต่อมาในเดือนเมษายน พ..2468 ได้ยกเลิกข้อกำหนดเรื่องศาสนาประจำชาติ ทำให้ตุรกีเป็นสาธารณรัฐฆราวาส (secular republic) หมายถึงเป็นสาธารณรัฐที่แยกจากศาสนจักรโดยสมบูรณ์

Advertisement

หลังจากประเทศตุรกีเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ พ..2466 แต่ก็มีรัฐประหารเพียง 4 ครั้ง โดยทางกองทัพตุรกีเข้ามายึดอำนาจแล้ว ทหารจึงได้วางบทบาทตัวเองผ่านโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ จากนั้นผู้นำทางทหารจึงเข้าสู่การเมืองด้วยการเลือกตั้ง และทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชนในสังคมของตุรกีเสมอมา แต่ทางฝ่ายการเมืองตุรกีได้พยายามจัดการกับกองทัพพอสมควร โดยมีการนำทหารขึ้นศาล 2 รอบ คือ พ..2550 และ พ..2553 ลดบทบาทของทหารลงพอสมควร ทำให้รัฐบาลมีขีดความสามารถในการควบคุมกองทัพได้มากขึ้น

กลางดึกของวันที่ 15 กรกฎาคม พ..2559 กองทัพตุรกีนำรถถังและเครื่องบินรบออกมาประกาศรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ที่ขณะนั้นกำลังอยู่ระหว่างลาพักร้อน แต่พรรครัฐบาลและพรรคการเมืองหลักๆ ทั้งหมดได้เรียกร้องให้ประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ 

ชาวตุรกีต่างก็ถือธงชาติไปรวมตัวกันตามสถานที่ชุมนุมศูนย์กลางของเมืองสำคัญๆ บุกยึดรถถัง ส่งผลให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งการระเบิดหน้ารัฐสภาในกรุงอังการา และจัตุรัสทักซิมด้วย มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงอย่างน้อย 265 ราย ในจำนวนนี้เป็นพลเรือน 173 ราย นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าโซเชียลมีเดียในตุรกี ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ถูกบล็อกไปกว่า 1 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ทหารก็พยายามบุกยึดสื่อรัฐบาลทั้งวิทยุและโทรทัศน์ด้วย แต่พลังของผู้รักประชาธิปไตยที่ต่อต้านการรัฐประหาร ทำให้ฝ่ายทหารต้องพ่ายแพ้และรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดได้ภายในเวลาไม่ถึง 12 ชั่วโมง

สาธารณรัฐตุรกี หรือสาธารณรัฐทูร์เคีย มีอายุครบ 99 ปีแล้ว เป็นสาธารณรัฐระบบประธานาธิบดีในดินแดนยูเรเชีย ประเทศตุรกีมีพรมแดนติดต่อกับ 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศซีเรีย และประเทศอิรักทางใต้ ประเทศอิหร่าน ประเทศอาร์เมเนีย และดินแดนส่วนแยกนาคีชีวันของประเทศอาเซอร์ไบจานทางตะวันออก ประเทศกรีซทางตะวันตก ประเทศจอร์เจียทางตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศบัลแกเรียทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทะเลดำอยู่ทางเหนือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางใต้ และทะเลอีเจียนทางตะวันตก ช่องแคบบอสฟอรัส ทะเลมาร์มะรา และดาร์ดะเนลส์ (รวมกันเป็นช่องแคบตุรกี) แบ่งเขตแดนระหว่างเทรซกับอานาโตเลีย และยังแยกทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย ที่ตั้งของตุรกีตั้งอยู่ ณ ทางแพร่งของยุโรปและเอเชียทำให้ตุรกีมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างยิ่ง มีเมืองหลวงคือกรุงอังการา ในขณะที่เมืองที่ใหญ่ที่สุดและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจคือ อิสตันบูล (เคยเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิออตโตมัน) ในปัจจุบันตุรกีถือเป็นประเทศมหาอำนาจในเอเชียตะวันตก และเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่เศรษฐกิจของประเทศจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่และเป็นผู้นำการเติบโตในภูมิภาคเป็นประเทศที่ใหญ่ทางเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 21 ของโลกตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 

ตุรกีเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ และเป็นสมาชิกรุ่นแรกขององค์การนาโต, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก และเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป, องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจในทะเลดำ, องค์การความร่วมมืออิสลาม และกลุ่ม 20 และเป็นหนึ่งในสมาชิกรุ่นแรกของสภายุโรปใน พ..2493 ตุรกีเข้าร่วมสหภาพศุลกากรของสหภาพยุโรปใน พ..2538 จัดว่าเป็นประเทศแนวหน้าประเทศหนึ่งของโลก

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image