วิกฤตด้านพลังงานในพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

พม่าเป็นประเทศขนาดกลางที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์เป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะทรัพยากรด้านพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ที่กลายเป็นสินค้าซึ่งสร้างรายได้มหาศาลให้พม่าตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและจีนยังต้องพึ่งพาแหล่งก๊าซธรรมชาติในพม่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคเผด็จการทหาร ต่อมาจนถึงยุคหัวเลี้ยวหัวต่อภายใต้รัฐบาลพลเรือน NLD และยุคเผด็จการทหารอีกครั้งในปัจจุบัน พม่ากลับมีปัญหาด้านการจัดสรรพลังงานเข้าขั้นวิกฤต

ในกรณีของไทย ราวสิบกว่าปีก่อน ไฟดับในเขตเมืองใหญ่ๆ อาจเป็นเรื่องปกติ แต่ในปัจจุบัน การบริหารจัดการด้านพลังงานดีขึ้นเรื่อยๆ และเราแทบไม่เคยเห็นไฟดับในกรุงเทพฯมากนัก (อย่างน้อยก็ในพื้นที่ที่ผู้เขียนอาศัย) แต่สำหรับหัวเมืองใหญ่ๆ ในพม่า การจัดสรรไฟฟ้าและน้ำประปาให้ทุกเครือเรือนยังเป็นปัญหาใหญ่ ที่ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาล รัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือน ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ยิ่งในยุคหลังรัฐประหารปี 2020 สถานการณ์ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ถ้าจะเรียกว่าสิ้นหวังคงไม่ผิดนัก

ปัญหาด้านพลังงานในพม่าเกิดจากการที่กองทัพและรัฐบาลทหารผูกขาดภาคพลังงานมายาวนาน โดยปล่อยให้บริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนในแหล่งพลังงานทั้งหมดที่มี รายได้จากสัมปทานพลังงานที่พม่าได้มาถูกแจกจ่ายไปให้นักธุรกิจและคนเพียงหยิบมือในกองทัพ ในขณะที่พม่ามีโครงสร้างพื้นฐานจำกัด ทุกวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่เมืองใหญ่และศูนย์กลางเศรษฐกิจอย่างย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ยังประสบปัญหาน้ำไม่ไหลไฟไม่มาอยู่บ่อยครั้ง แน่นอนว่าที่ผ่านมาความไร้ประสิทธิภาพและข้อจำกัดนี้กระทบต่อความน่าเชื่อถือของนักลงทุนในภาคอื่นๆ ไม่น้อย และยังทำให้ไม่เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่องในทุกภาคส่วน กลายเป็นว่าประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์แทบทุกอย่าง กลับไม่มีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ

เมื่อมีการค้นพบบ่อก๊าซยาดะนา (Yadana) ในกลางทศวรรษ 1980 นอกชายฝั่งทะเลอันดามัน ใกล้กับเขตอิรวดี ในเวลานั้นมีเพียง 1 ใน 10 ครอบครัวที่มีไฟฟ้าใช้ ในช่วงเวลาเดียวกัน มีการค้นพบแหล่งพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในไทย มาเลเซีย และเวียดนาม แต่สามประเทศหลังได้ใช้รายได้ในส่วนนี้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

Advertisement

ในกรณีของพม่า ซึ่งเป็นยุคคาบเกี่ยวระหว่างยุคเผด็จการของนายพล เน วิน กับเผด็จการทหารภายใต้ SLORC พม่าสามารถนำก๊าซธรรมชาติไปผลิตพลังงานหล่อเลี้ยงประชาชนในประเทศได้ แต่ในเวลานั้นรัฐบาลทหารขายก๊าซธรรมชาติมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ให้ไทย ทำให้พลังงานที่มีเหลือในประเทศมีน้อยมาก เมืองเดียวที่มีไฟฟ้าใช้อย่างเต็มที่คือย่างกุ้ง ซึ่งเป็นทั้งเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ส่วนกำไรที่ได้เกือบทั้งหมดก็ถูกส่งเข้าบัญชีส่วนตัวของนักธุรกิจและคนในกองทัพ ซึ่งล้วนเป็นบัญชีในต่างประเทศ เมื่อมีการค้นพบบ่อก๊าซฉ่วย (Shwe) อีกราว 20 ปีต่อมา ปริมาณก๊าซเกือบทั้งหมดก็ถูกส่งออกไปจีน จนทำให้ทุกวันนี้หากพูดในแง่กำลังการผลิตไฟฟ้า พม่าห่างจากไทย 30 ปี

คำถามที่เกิดขึ้นคือหากวันหนึ่งไทยกับจีนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซจากพม่าในปริมาณมากแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับบ่อก๊าซหลายแห่งซึ่งเป็นรายได้หลักของกองทัพและโครนี่ที่สนับสนุนกองทัพ คำตอบที่ง่ายที่สุดกองทัพพม่าก็จะขาดรายได้มหาศาล ในปัจจุบัน ทั้งไทยและจีนพยายามลดปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติจากพม่าคิดเป็นเพียง 1.2 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณนำเข้าทั้งหมดในจีน และ 13 เปอร์เซ็นต์สำหรับไทย จีนพยายามหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหญ่ๆ ในเอเชียกลางและรัสเซีย และไทยอาจหันไปใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากขึ้น และอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจำนวนมากจากพม่าอีกต่อไป

ก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2011 นายพลในกองทัพพม่าเป็นผู้ถือครองสัญญาสัมปทานการส่งออกก๊าซธรรมชาติมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด ดังนั้น แม้เศรษฐกิจพม่าในยุค “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” จะเติบโตเพียงใด แต่ในท้ายที่สุดแล้วพม่าก็ยังประสบปัญหามีพลังงานไม่เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทีมเศรษฐกิจของพรรค NLD จำเป็นต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ตนมีแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่หลายแหล่ง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านี้ทำให้รัฐสูญเสียเงินมหาศาล ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถจัดการกับนายพลในกองทัพที่เป็นเหมือนปลิงคอยสูบเลือดเนื้อประชาชนทีละเล็กละน้อย

Advertisement

นอกจากแหล่งก๊าซที่กล่าวไปแล้ว แหล่งพลังงานในรูปแบบอื่นก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน คือพลังงานเกือบทั้งหมดที่พม่าผลิตได้ถูกส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ในปลายทศวรรษ 2000 รัฐบาล SPDC เจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่งในรัฐกะฉิ่น เพื่อส่งกระแสไฟฟ้าป้อนจีน ในสัญญา บริษัทร่วมทุนของรัฐบาลจีนจะรับผิดชอบด้านการสร้างเขื่อนทั้งหมด และพม่าจะสามารถใช้ไฟฟ้าราว 8-20 เปอร์เซ็นต์ ที่เขื่อนผลิตได้ ต่อมามีการเจรจาสร้างเขื่อนเพิ่มเติบอีกหลายโครงการ ที่รู้จักกันดีที่สุดคือเขื่อนมยิตโซน (Myitsone) ซึ่งเป็นเขื่อนที่จีนลงทุนสร้างให้เช่นกัน และในสัญญากล่าวว่าพม่าต้องส่งออกพลังงาน 85 เปอร์เซ็นต์ ที่ผลิตได้จากเขื่อนมยิตโซนให้จีนและไทย

แต่ก็อย่างที่รู้กันดีว่ารัฐบาลเต็ง เส่ง ประกาศแขวนสัญญาการสร้างเขื่อนมยิตโซน โดยไม่ได้ให้เหตุผลที่แน่ชัด แต่หลายฝ่ายก็คาดการณ์ว่าอาจมาจากความไม่พอใจสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบพม่ามากจนเกินไป และมาจากความพยายามสกัดกั้นอิทธิพลของจีนในพม่า ในยุคเต็ง เส่ง รัฐบาลมีโครงการเพิ่มจำนวนเสาไฟฟ้า ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร และพยายามทำให้ทุกครอบครัวมีไฟฟ้าใช้

เมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาล NLD ก็มีความพยายามแก้ไขปัญหาด้านพลังงานและแก้ไขสัญญาสัมปทานที่รัฐบาลทหารเคยเซ็นไว้กับจีนและไทย ยกตัวอย่างเช่นกรณีบ่อก๊าซแหล่งใหม่ที่เรียกว่า A6 แต่เดิมสัมปทานที่มี MOGE (บริษัทน้ำมันและก๊าซของกองทัพพม่า) MPRL E&P ของ อู โม มยิ้น (U Moe Myint) นักธุรกิจด้านพลังงานคนสำคัญ และบริษัทต่างชาติอีก 2 แห่ง ได้แก่ Total จากฝรั่งเศส และ Woodside จากออสเตรเลีย ไม่ได้ให้ส่วนแบ่งก๊าซกับพม่าเลย แต่รัฐบาล NLD ก็สามารถเจรจาจนได้ส่วนแบ่งก๊าซมาราว 25-35 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังกลับไปพิจารณาสัญญาสัมปทานอื่นๆ ที่ไม่เป็นธรรมและทำให้พม่าเสียค่าโง่มหาศาลกับบริษัทเอกชนด้วย

มีความเป็นไปได้สูงว่าการกลับไปพิจารณาสัญญาสัมปทานพลังงานหลายฉบับสร้างความไม่พอใจให้ผู้นำในกองทัพ และอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล NLD ขึ้น แม้ NLD จะล้มเหลวในหลายๆ ด้าน แต่ในด้านพลังงาน รัฐบาลพลเรือนยังมีความพยายามขับเคลื่อนพม่าให้มีความมั่นคงด้านพลังงาน หรืออย่างน้อยให้ประชาชนในประเทศมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ไม่ใช่ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีทรัพยากรมากมายมหาศาล แต่ถูกดูดไปหมดทุกทาง และกำไรทั้งหมดถูกนำไปปรนเปรอชนชั้นนำและเครือข่ายธุรกิจของตนเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image