คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : บอลโลกที่จะได้ดูหรือเปล่าก็ไม่รู้ กับจริยธรรมใหม่เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา

 ไม่รู้ว่าจนถึงเมื่อคอลัมน์นี้เผยแพร่ เราจะได้ข้อยุติกันหรือยังว่าตกลงแล้ว ฟุตบอลโลก กาตาร์ 2022 จะมีผู้ได้รับสิทธิในการถ่ายทอดสดสำหรับประเทศไทยหรือไม่ เพราะวันที่เขียนและส่งต้นฉบับ โอกาสนั้นไม่ถึงกับสิ้นหวัง แต่ก็เลือนรางไม่ชัดเจนพอที่จะแน่ใจว่าจะได้ดูได้ชมกันในช่องทางปกติอันถูกอันควร

คนไทยรู้จักบอลโลกอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 1986 ซึ่งอาร์เจนตินาที่นำโดยตำนานนักเตะดิเอโก มาราโดนาได้แชมป์โลก ซึ่งในตอนนั้นจะถ่ายทอดสดคู่ที่น่าสนใจบางคู่และรอบท้ายๆ เท่านั้น แต่ถ้านับว่ามีให้ชมแบบทุกนัดก็ต้องนับตั้งแต่ฟุตบอลโลกที่ประเทศอิตาลีในปี 1990 และจากปี 1994 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นต้นมา คนไทยก็ได้ชมฟุตบอลโลกแบบสดๆ ทุกนัด 

ดังนั้นถ้ารอบนี้การเจรจาขอซื้อสิทธิการถ่ายทอดสดจาก FIFA ไม่บรรลุผลจริงๆ จะเท่ากับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปี ที่ประเทศไทยไม่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างเป็นทางการ

ในสมัยแรกๆ ที่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกนั้น โทรทัศน์ช่องต่างๆ จะรวมตัวกันในนามของทีวีพูลไปเจรจาซื้อสิทธิการถ่ายทอดสดนี้มาจาก FIFA แล้วแบ่งกันไปผลัดกันถ่ายทอดตามแต่ละช่อง แล้วหารายได้จากค่าโฆษณาในระหว่างพักครึ่งหรือช่วงที่มีลูกตาย ลูกออก หรือสถานการณ์ในเกมไม่เร่งเร้ามาก 

Advertisement

กระนั้นใครเคยดูถ่ายทอดสดในสมัยนั้นคงจำได้ว่าโฆษณาคั่นนั้นอยู่ในระดับบ้าเลือดรบกวนการดูบอลที่คนด่ากันทั้งเมือง จนต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการใช้เทคนิคทำจอภาพขนาดเล็กที่มุมจอถ่ายทอดต่อในระหว่างช่วงที่มีการโฆษณา จึงเข้าสู่ยุคที่มีเจ้าภาพรายใหญ่คือธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่ร่วมกับพันธมิตร ตั้งบริษัทเฉพาะกิจซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสดแบบไม่มีโฆษณาคั่น ขอแค่สิทธิการโฆษณาทำตลาด รวมถึงให้คนพากษ์พูดขอบคุณเป็นระยะๆ ก็พอ

แต่แล้วเมื่อค่าตอบแทนสิทธิการถ่ายทอดฟุตบอลโลกนี้แพงขึ้นเรื่อยๆ ในปีหลัง ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ผู้สนับสนุนรายใหญ่หายไปเนื่องจากจะต้องจ่ายเงินค่าสิทธิถ่ายทอดสดนี้ว่ากันที่ระดับพันล้าน แต่ก็ไม่สามารถโฆษณาหรือนำไปใช้เป็นแคมเปญส่งเสริมการขายให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายระดับนั้นได้เต็มที่

จนเมื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งก่อนหน้านี้ในปี 2018 ที่ประเทศรัสเซีย ก็มีเอกชนด้านสื่อรายหนึ่งใจกล้าติดต่อซื้อลิขสิทธิ์มา หวังจะนำมาถ่ายทอดสดแบบบางนัดในระบบฟรีทีวี ส่วนใครอยากดูเต็มๆ ทุกนัด ก็ต้องซื้อกล่องสมัครสมาชิกระบบเคเบิลทีวีของเขา แต่ก็ถูกเบรกด้วยกฎ Must Have และ Must Carry ของ กสทช. “บีบให้ต้องนำมาถ่ายทอดสดในฟรีทีวีทุกนัด นัยยะว่าเพื่อคืนความสุขให้ประชาชนในปลายยุคสมัยแห่งการปกครองระบอบ คสช. ก่อนมีการเลือกตั้งในปีต่อมา

Advertisement

กฎ Must Have มีชื่อเป็นทางการว่าหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปกำหนดว่ารายการกีฬาสำคัญต่างๆ ที่รวมเอาฟุตบอลโลกเข้าไปด้วยนี้ ผู้ถือสิทธิการเผยแพร่ในประเทศไทยจะต้องนำมาถ่ายทอดในฟรีทีวีช่องหลักในระบบดิจิทัลที่เปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้ด้วยตลอดการแข่งขัน ส่วนกฎ Must Carry หรือหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปนั้นกำหนดให้รายการในโทรทัศน์ฟรีทีวีช่องดิจิทัลพื้นฐาน ที่กำหนดไว้ ต้องเผยแพร่ให้รับชมได้ในทุกรูปแบบช่องทาง เช่น หากมีการถ่ายทอดผ่านช่องทางอื่น เช่น แอพพลิเคชั่น ระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม หรือเคเบิลทีวีท้องถิ่น ช่องทางเหล่านั้นก็ต้องได้ดูได้ชมเหมือนกัน

กฎทั้งสอง Must นี้ทำให้รายการฟุตบอลโลกนั้นจะนำมาถ่ายทอดในช่องทางจำกัดเฉพาะสมาชิกระบบที่ต้องจ่ายค่าชมไม่ได้ รวมถึงต้องถ่ายทอดสดไปได้ทุกวิธีทุกช่องทางที่จะดูฟรีทีวีได้ ผลก็ประจักษ์ว่าในที่สุดฟุตบอลโลกปีนี้ก็ไม่มีเอกชนรายใดกล้าซื้อสิทธิมาถ่ายทอดเลยเพราะดูแล้วแทบไม่มีช่องให้หารายได้พอคุ้มค่าได้เลย ทั้งการคิดค่าตอบแทนสิทธินั้นก็แพงขึ้นเพราะถือว่าคนไทยทุกคนมีอุปกรณ์ไหนที่มีจอก็ต้องเปิดดูบอลโลกได้ด้วยโดยไม่จำกัดช่องทางและรูปแบบ

กฎ Must Have และ Must Carry ที่ออกมาตั้งแต่ในครั้งนั้นจึงมาหลอกหลอนให้เราอาจจะอดดูบอลโลกกันถ้วนหน้าเอาในวันนี้ ถ้าในที่สุดก่อนวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ยังไม่มีผู้ได้รับสิทธิในการถ่ายทอดฟุตบอลโลก กาตาร์ 2022 ในประเทศไทยเลย ต้องถือว่าเป็นความผิดพลาดร่วมกันซ้ำซ้อนสะสมแบบ Super Combo เพราะการปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นผู้ควบคุมกฎกติกาของ กสทช. ผสมกับกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย

ย้อนกลับไปช่วงฟุตบอลโลก 2018 ที่มีเอกชนซื้อสิทธิการถ่ายทอดมาเพื่อหวังจะขายกล่องและเคเบิลทีวีนั้น กระแสสังคมส่วนใหญ่ในเวลาดังกล่าวออกไปในทางไม่พอใจ อาจจะเพราะเคยรู้สึกว่ารายการนี้เป็นรายการที่ประชาชนทั่วไปควรเข้าถึงได้แบบบริการสาธารณะ เป็นเหตุให้ กสทช.ประกาศกฎ Must Have และ Must Carry ก็อาจจะพอเข้าใจได้ในบริบทนั้น แต่การคงกฎสอง Must ไว้จนทุกวันนี้โดยไม่ทบทวนความเป็นมาเป็นไปของสังคม ในที่สุดก็พันคอตัวเองจนกลายเป็นดีไม่ดีอย่าว่าแต่ดูฟรีเลย ยอมจ่ายเงินแล้วจะดูได้หรือเปล่าก็ไม่รู้

ถ้าลองทบทวนกันว่าในสภาพสังคมปัจจุบันนี้ เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่อาจจะยอมรับกันได้หากฟุตบอลโลกจะมีการถ่ายทอดสดเฉพาะบางนัดผ่านทางฟรีทีวี แต่ใครอยากดูเต็มรายการต้องมีค่าใช้จ่ายบ้าง ภายใต้การสมัครสมาชิกไม่ยุ่งยากจนเกินไปและมีราคาสมเหตุสมผล เพราะนี่ก็เป็นไปตามเทคโนโลยีและวิถีชีวิตแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงสี่ห้าปีนี้ 

สังเกตได้จากการเติบโตของแพลตฟอร์มซีรีส์และภาพยนตร์อย่าง Netflix หรือ Disney Plus รวมถึงกรณีของแพลตฟอร์มถ่ายทอดสดกีฬาอย่าง beIN Sport จากแอพพลิเคชั่นบนหน้าจอโทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ททีวี ที่เป็นวิถีชีวิตทั่วไปของผู้คนในปัจจุบัน ประกอบกับความพยายามจะดูเถื่อนไม่ว่าจะในช่องทางใดๆ นั้นเป็นเรื่องที่ทั้งไม่สะดวก ไม่แน่นอน และไม่มีคุณภาพ ทำให้การดูชมแบบถูกต้องโดยมีค่าใช้จ่ายพอสมควรไม่แพงเกินไปจึงเป็นความสะดวกสบายที่ผู้คนยอมจ่าย

แม้สำหรับบางกลุ่มอาจจะใช้วิธีเทาๆอยู่บ้าง เช่นการลงขันจับกลุ่มสมัครสมาชิก Netflix แบบแพคเกจครอบครัวมาแบ่งสิทธิกัน ที่หารออกมาแล้วก็จ่ายจริงกันคนละร้อยกว่าบาท ซึ่งถ้าจะว่ากันแบบเคร่งครัดก็ต้องถือว่าผิดเงื่อนไขการใช้งาน แต่การที่คนเลือกวิธีการสายเทานี้ก็แสดงให้เห็นว่าถ้ามีทางเลือกที่ยังคงดูในช่องทางที่ถูกต้องได้ โดยใช้เทคนิคนิดๆ หน่อยๆ เพื่อจ่ายได้น้อยลง ผู้คนก็ยินดีเลือกใช้วิธีนี้ก่อนที่จะไปสู่สายมืดของการละเมิดลิขสิทธิ์แบบเต็มตัว

นั่นเพราะการยอมรับในทรัพย์สินทางปัญญากลายเป็นกติกาที่สังคมเห็นร่วมกันว่าเป็นความชอบธรรมหรือ Norm แบบใหม่ของสังคมไปแล้ว ด้วยทัศนคติที่ยอมรับว่าผู้สร้างสรรค์หรือลงทุนให้เกิดผลิตผลอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีความชอบธรรมที่จะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากผลงานที่ตนเองได้สร้างขึ้นหรือเป็นธุระนำมาเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้เข้าถึงด้วย

ยกตัวอย่างเช่นจรรยาบรรณของเหล่า โอตาคุหรือติ่งซีรีส์นักแปลเถื่อน ที่บางครั้งจะนำเอาซีรีส์ การ์ตูนในรูปแบบของมังงะหรือแอนิเมชั่นที่ยังไม่มีผู้ถือลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการในประเทศไทย มาแปลหรือทำคำบรรยายไทยแบบสมัครเล่น (แต่คุณภาพระดับมืออาชีพยอมรับ) แบบแทบไม่ได้ค่าตอบแทน แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็พร้อมและยอมหลีกทาง โดยนำงานที่ตนแปลแบบละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ทันทีที่มีผู้ประกาศถือสิทธิ (License หรือ LC) การ์ตูนหรือซีรีส์เรื่องนั้นอย่างเป็นทางการในประเทศไทยแล้ว

หลักการง่ายๆ ของนักแปลสมัครเล่นเหล่านี้เคารพกัน คือก่อนหน้าที่นำผลงานอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญามาแปลและเผยแพร่แบบไม่ถูกต้องนั้น เป็นเพราะยังไม่มีผู้ถือสิทธิในประเทศไทย จึงไม่มีทางใดเลยที่ผู้ดูผู้ชมในประเทศไทยจะได้ดูได้เข้าใจในงานนั้นเป็นภาษาไทยได้อย่างถูกกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีผู้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจะเข้ามาดำเนินการนั้นให้แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่จะแปลเถื่อนต่อไปหรือคงเหลืองานเถื่อนนั้นๆ ให้ใครเข้าถึง อีกทั้งเป็นเรื่องถูกต้องที่ผู้ชื่นชอบในผลงาน ศิลปิน หรืออาจารย์ผู้วาดผู้เขียนนั้น จะไปอุดหนุนผลงานที่ได้มาโดยวิธีที่ถูกต้องนี้ต่อไป รวมถึงทำให้ผู้ที่เป็นธุระนำมาแปลและจัดจำหน่ายหรือเผยแพร่เป็นภาษาไทยนั้นมีแรงจูงใจให้นำเอาการ์ตูนหรือซีรีส์เรื่องใหม่ๆ เข้ามาอีกด้วย

แม้จะมีบางแง่มุมที่มองว่าระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งรวมถึงลิขสิทธิ์นั้นเป็นการผูกขาดของนายทุน จำกัดความคิดสร้างสรรค์ของมนุษยชาตินั้น มุมมองนี้ก็อาจจะถูกต้องในแง่หนึ่ง เพราะบางกรณีก็มีการเก็บเกี่ยวกอบโกยประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่เหมาะสมอยู่จริงทั้งในทางบันเทิงและในทางวิชาการ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญานั้นก็ไม่ใช่องค์กรธุรกิจใหญ่ยักษ์อย่าง Disney Microsoft หรือแม้แต่นักเขียนระดับมหาเศรษฐีอย่าง J.K. Rowling เท่านั้น แต่ต้องรวมถึงบุคคลธรรมดาที่เป็นนักเขียนนวนิยายในประเทศกำลังพัฒนาทางอเมริกาใต้ ที่อาจจะไม่ได้มีฐานะดีกว่าเราท่านสักเท่าไรนัก รวมถึงทายาทของพวกเขาเท่านั้นด้วย

ที่ผ่านมา สภาวะการเกี่ยวกับการแปลการขายงานอันมีลิขสิทธิ์ต่างประเทศในไทยจะมีส่วนที่ไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ในยุคสมัยที่การติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ถูกต้องมาแปลงานนั้นเป็นไปได้ยาก และหากไม่มีใครทำคนไทยก็อาจจะไม่ได้เข้าถึงวรรณกรรม งานเขียน การ์ตูน แอนิเมะดีๆ จากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษที่คนทั่วไปอ่านเข้าใจ 

เราไม่ลืมที่จะต้องขอบคุณสำนักพิมพ์และนิตยสารการ์ตูนในสมัยก่อน ที่ถ้าไม่แปลการ์ตูนมาโดยไม่สนใจเรื่องลิขสิทธิ์ คนรุ่นปลาย 30 ถึง 50 ในทุกวันนี้คงไม่ได้รู้จักการ์ตูนญี่ปุ่นระดับตำนานอย่างโดราเอมอน ดรากอนบอล หรือคำสาปฟาโรห์ ที่เป็นส่วนช่วยให้ผู้ชมผู้อ่านในวัยนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีเงินซื้อและเสพสื่อที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องได้ในวันนี้

แต่เมื่อถึงเวลาที่สังคมเปลี่ยนไป มีผู้พร้อมที่สามารถนำเอางานเหล่านั้นมีแปลและพิมพ์เผยแพร่ได้อย่างถูกต้อง ก็เป็นเรื่องที่ผู้มาก่อนก็ควรจะหลีกทางให้อย่างสง่างามเยี่ยงผู้มีน้ำใจนักกีฬา หรืออย่างน้อยก็อย่าให้ด้อยกว่าจรรยาบรรณของชาวติ่งชาวโอตาคุแปลซับเถื่อนที่ให้ความเคารพต่อสิทธิของผู้ที่นำเข้ามาเผยแพร่อย่างถูกต้องในประเทศไทย

ทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะโดยแง่มุมทางกฎหมาย หรือทางจรรยาบรรณมารยาท คือจริยธรรมใหม่สำหรับคนที่ไม่อยากตกยุค และอยากจะมีความสง่างาม ได้รับการยอมรับนับถือจากสังคมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่สมควรที่จะตระหนักไว้

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image