แพทย์ออนไลน์ : โดย นพ.อนุสสรณ์ สิทธิราษฎร์

จุดประสงค์ของบทความนี้ คืออยากให้ท่านทราบว่า เมื่อได้ข้อมูลทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของท่าน ที่มาในสื่อโซเชียลมีเดียแล้ว ท่านจะทำอย่างไร

ควรเชื่อมากน้อยแค่ไหน ควรนำมาใช้เป็นประโยชน์อย่างไร และควรบอกต่อไหม เหล่านี้เป็นต้น

ผมเชื่อว่าขณะนี้คนไทยส่วนมากจะมีและคุ้นกับการใช้โทรศัพท์มือถือกันเป็นส่วนมาก และการติดต่อเชื่อมกันโดยทั่วไปก็มักจะเป็นทางไลน์ เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ แล้วแหล่งข้อมูลต่างๆ ก็มีมากมาย เว็บไซต์ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ จึงทำให้การเข้าถึงข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น อยากรู้อะไรก็เปิดหาดูได้ มีทั้งข้อความ และรูปภาพ

การเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมีทั้งประโยชน์และโทษ ขึ้นอยู่กับผู้ทำให้ดูและผู้ดู

Advertisement

แล้วถ้าดูในโทรศัพท์มือถือมากๆ โรคกระดูกกล้ามเนื้อคอเคล็ดที่เรียกว่า Text Neck Syndrome ก็จะถามหา มีอาการตาพร่า มองไม่ชัด เจ็บกล้ามเนื้อที่คอ บ่า ลงไปถึงไหล่ ปวดมึนท้ายทอย หรือบางทีถ้าถือโทรศัพท์นานเกินไป ก็มีอาการปวดข้อมือ ปวดโคนนิ้ว หนักๆ เข้า มีอาการนิ้วล็อก งอแล้วยืดไม่ได้

ในจอโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และจอคอมพิวเตอร์จะมีแสงชนิดหนึ่งเรียกว่าแสงสีฟ้า (Blue Light) แสงนี้ปกติจะมีทั่วไปอ่อนๆ ในแสงแดด หรือหลอดไฟนีออน แต่ที่เข้มข้นและพบมากที่สุดอยู่ใกล้ตาที่สุดก็คือจากเครื่องมือไอทีอย่างที่บอก แสงนี้จะมีพลังงานมาก โดนมากๆ จะทำให้เซลล์ในลูกตาเสื่อม สังเกตได้จากผู้ที่ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา หรือเวลาที่ปิดไฟแล้วเล่นโน้ตบุ๊ก แท็บเล็ตนานๆ จะมีอาการแสบตาและตาพร่า การติดฟิล์กรองแสงและหยุดพักสายตาสักสามสิบ สี่สิบนาที พอจะช่วยได้

ยังมีภาวะผิดปกติที่เกิดจากการติดจอ ที่เรียกว่าโรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก ซึ่งมักจะเกิดกับพวกที่หายใจเป็นไลน์หรือเฟซบุ๊กตลอดเวลา ว่างเป็นกด พอเล่นไปนานๆ เกิดการปฏิเสธข้อความที่ตนเองส่งไปในหมู่เครือข่าย ก็จะเกิดอาการเศร้าซึม น้อยใจ ไม่อยากทำอะไร แล้วระบายความรู้สึกลงในสื่อเหล่านั้น พวกวัยรุ่นเป็นเยอะ เรียกว่าโรค Facebook Depression Syndrome

Advertisement

ภาวะผิดปกติอีกอย่างคือ ละเมอแชต (Sleep Texting) พวกนี้จะติดโทรศัพท์มาก เปิดอยู่ทุกเวลา แท่นชาร์จ พาวเวอร์แบงก์เพียบ เปิดเครื่องอยู่แม้ในเวลาหลับเผื่อใครโทรหรือส่งข้อความมาเสียงสั่นหรือติ๊งต่องของมือถือดังทั้งคืน พอเสียงส่งข้อความมาปุ๊บ ก็ตื่นปั๊บ กดตอบทันที บางทีไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครส่งมา และเรื่องอะไร ขอส่งสติ๊กเกอร์ตอบไปก่อน เป็นมากๆ เข้า การกังวล ความเครียดก็ตามมา ทำให้สับสนการงานเสียหมด

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือ และสื่อไอทีทั้งหลาย ต่อไปนี้คือเรื่องที่เกี่ยวกับหัวข้อแพทย์ออนไลน์

ขณะนี้มีข้อความที่ส่งโต้ตอบ หรือเสนอเป็นข้อความให้อ่านเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอนามัยของคนทั่วไปในเว็บไซต์ต่างๆ มากมาย จริงบ้างเท็จบ้าง จนผู้อ่านผู้รับเกิดอาการมึนงง ไม่รู้ที่จะเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน

มีทั้งประเภทคำแนะนำหวังดี การขายของ หรือการโฆษณาวิธีกรรมต่างๆ ที่ทำให้หายจากโรค

ท่านคงจำได้เมื่อไม่นานมานี้มีการเสนอเรื่องกินใบทุเรียนเทศเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ปรากฏว่าใบทุเรียนเทศขายดิบขายดี ตระเวนหากันจนปลูกโตแทบไม่ทัน แล้ววันดีคืนดีหมอจากคณะแพทย์จุฬาฯก็ออกมาชี้แจงว่า มันยังไม่ได้รับการยืนยันว่ารักษาได้จริง และที่สำคัญคือพวกที่กินใบทุเรียนเทศนั้นมีอาการตับวาย ไตวายกันมากมาย เป็นปัญหาซับซ้อนอีก

บางครั้งก็มีการบอกว่าให้ใช้สิ่งนั้นสิ่งนี้ มาใช้รักษาโรคนั้นโรคนี้ แล้วจะหายหรือมีวิธีการแปลกๆ แนะนำ แล้วบางรายก็ตบท้ายด้วยการขายยาหรือเลี่ยงเป็นอาหารเสริมเพื่อรักษาโรคต่างๆ

และที่ดูเหมือนจะมีคนเชื่อมากก็คือเรื่องผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงามต่างๆ ตั้งแต่บนหัวย้อมผมผ่านอก ผ่านเอว ลงไปจนถึงส้นเท้า เสนอมาเฉยๆ บอกอะไรก็ไม่บอก ต้องให้โทรไปหาเบอร์นั้นๆ อีกทีถึงจะบอก แล้วก็มีคนอยากลองของโทรไปจริงๆ เสียเงินเสียทอง ถูกหลอกกันไประนาว

ไม่ใช่มีเฉพาะเมืองไทย ต่างประเทศก็มีเยอะแยะครับ

คนอ่าน คนดูบางคนก็เชื่อมากๆ ดิ้นรนซื้อ ดิ้นรนไปหา หมดเงินหมดทองไปมากมาย

แต่ที่เป็นข้อมูลจริงๆ หรือความจริงที่ถูกต้องใช้ได้ มีการรับรองโดยวงการแพทย์ก็มี

สรุปแล้ว ข้อมูลออนไลน์ทางด้านการแพทย์และสุขภาพนี้ มีทั้งเชื่อได้และเชื่อไม่ได้

แล้วก็มาฟังประเด็นว่า จะเชื่อหรือไม่เชื่อได้อย่างไร

ลักษณะข้อมูลแพทย์ออนไลน์มักจะเป็นอย่างนี้

1.บอกวิธีการหรือข้อมูลต่างกัน ทำให้ผู้อ่านงง ไม่รู้จะเอาอันไหนดี
2.อ้างผลการวิจัย สมาคม โรงพยาบาลต่างๆ มารับรองสิ่งที่นำเสนอ
3.อ้างชื่อแพทย์ มีทั้งชื่อเต็ม ชื่อปลอม ชื่อจริง จากสถาบันต่างๆ
4.อ้างของสูง เช่น แพทย์ประจำพระองค์ ซึ่งไม่รู้ว่าพระองค์ไหน
5.อ้างเป็นการรักษาแนวใหม่ เช่น หายเร็ว ปลอดภัย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
6.กล่าวร้ายการรักษาและบิดเบือนข้อมูลเดิม
7.ข้อมูลหลอก ตามที่ใจนึก และความเชื่อของคนที่ส่งมา
8.มีอีกเยอะครับ เขียนไม่หมด!

เมื่อท่านรับข้อมูลแล้ว ควรทำอย่างไร

1.อย่าเพิ่งเชื่อ อันนี้สำคัญที่สุด
2.อย่าเพิ่งส่งต่อ ถ้าคิดว่าเป็นการหวังดี แต่ถ้าส่งต่อเพื่อสอบถามก็ไม่ว่ากัน
3.ค้นคว้าต่อ อันนี้แหละครับที่พูดง่ายแต่ทำยาก ขี้เกียจและไม่รู้จะไปค้นที่ไหนเดี๋ยวบอกให้ครับ

ที่สำคัญ ท่านต้องมีความรอบคอบ หารายละเอียดให้มากที่สุด แล้วจึงค่อยสรุป!

ต่อไปนี้ คือ เว็บไซต์ทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ ให้เข้าไปในหัวข้อนี้ก่อน แล้วจะมีรายละเอียดให้ท่านติดตามค้นคว้าต่อ

1.เว็บไซต์ทางการแพทย์ของไทย เช่น Thaiclinic.com, Bangkokhealth.com
2.สมาคมแพทย์ของไทย ชมรมแพทย์ไทย หรือสำนักการแพทย์ทางเลือก
3.เว็บไซต์ต่างประเทศ เช่น Medlineplus.gov หรือ Mayoclinic.com

อีกประเด็นที่สำคัญ คือถ้ามีการอ้างชื่อแพทย์ ท่านสามารถตรวจสอบได้ว่า เขาคนนั้นเป็นแพทย์จริงหรือเปล่า หรือเป็นแพทย์ปลอม

เพราะแพทย์ทุกคนในประเทศไทย ต้องขึ้นกับแพทยสภา มีใบประกอบวิชาชีพจากแพทยสภาเท่านั้น จึงจะสามารถประกอบวิชาชีพเป็นหมอจริงๆ ได้

การตรวจสอบให้เข้าไปที่ www.tmc.or.th แล้วพิมพ์ชื่อ นามสกุลให้ถูกต้องลงไป ข้อมูลก็จะออกมา แต่…มีแต่นิดหนึ่ง ถ้าหากไม่ปรากฏข้อมูลออกมาว่าเป็นแพทย์จริงก็อย่าเพิ่งไปเหมาเอาว่าเขาไม่ใช่หมอจริง ให้โทรไปที่ฝ่ายทะเบียนของแพทยสภา เบอร์ 0-2590-1887 เพื่อตรวจสอบให้แน่นอนอีกครั้ง แล้วจึงค่อยสรุป

ก็เป็นอันว่า พอจะบอกกันคร่าวๆ ว่าข้อมูลทางการแพทย์ที่อยู่บนสื่อไอทีต่างๆ ท่านจะเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ตรวจสอบได้ทำอย่างไร และจะสรุปได้มากน้อยแค่ไหน

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นยา หรือเครื่องมือที่ใช้ในการตัดสินได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ มันคือ

สติ…การมีสติครับ!

โดย นพ.อนุสสรณ์ สิทธิราษฎร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image