ทำไมสหรัฐอเมริกาจึงเลือกใช้ระบบคณะผู้เลือกตั้ง(Electoral College)เลือกตั้งประธานาธิบดี : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

คณะผู้เลือกตั้งอเมริกันลงคะแนนเสียง
คณะผู้เลือกตั้งสันตะปาปา (College of Cardinal)
คณะผู้เลือกตั้งสันตะปาปา (College of Cardinal)
เจ้าชายทั้ง 7 ผู้เลือกตั้งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิ
เจ้าชายทั้ง 7 ผู้เลือกตั้งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิ

 

เมื่อพูดถึงระบบคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) แล้วก็ต้องเริ่มที่คณะผู้เลือกตั้งองค์พระสันตะปาปาผู้เป็นมุขนายกแห่งคริสตจักรกรุงโรม (Bishop of the Church of Rome) และผู้นำคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลก ซึ่งคณะผู้เลือกตั้ง (College of Cardinals) ผู้เป็นพระสงฆ์ระดับราชาคณะขั้นสูงสุดของคริสตจักรโรมันคาทอลิกเทียบเท่ากับระดับเจ้าชาย (Prince) ได้เริ่มมีการสถาปนาเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.1388 แต่เริ่มมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งพระสันตะปาปาจริงๆ โดย The College of Cardinals ก็ลุเข้าปี พ.ศ.1602 จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

ส่วนทางด้านการปกครองฝ่ายฆราวาสนั้นก็มีจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Roman Empire) ซึ่งเป็นจักรวรรดิของบรรดารัฐเยอรมนีที่มีประมาณ 300 รัฐ ในยุคกลางก็มีคณะผู้เลือกตั้ง (The Great Electors) ที่แต่งตั้งมาจากเจ้าผู้นครรัฐใหญ่ๆ 7 คน เริ่มมีการเลือกตั้งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ พ.ศ.1899 เป็นต้นมา ต่อมาก็ได้เพิ่มจำนวนคณะผู้เลือกตั้งอีก 2 คน เป็น 9 คน จนกระทั่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ถูกยุบไปโดยนโปเลียนใน พ.ศ.2349 โดยระบบการเลือกตั้งจักรพรรดิโดยคณะผู้เลือกตั้งก็ยืนยงอยู่ร่วม 4 ศตวรรษเลยทีเดียว

ครับ ! คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา (Electoral College) ไม่ได้เกิดมาจากสุญญากาศหากมีตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ดังที่ได้แสดงไว้ข้างต้น ในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2330 และใช้บังคับใน พ.ศ.2332 นั้นจัดเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาฉบับนี้มีอายุการใช้งานมากว่า 200 ปีแล้วและร่างเมื่อครั้งยังมีการค้าทาส และยังไม่มีรถไฟ รถยนต์ หรือเครื่องบินเลย จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมถึง 27 ครั้งแล้วเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยแต่อุดมการณ์ดั้งเดิมที่ยึดหลักประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาคกันภายใต้กฎหมายและรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐแบบรัฐรวมก็ยังคงมั่นคงอยู่ดังเดิม

Advertisement

สำหรับเรื่องการใช้ Electoral college ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกานั้นได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในหมวด 2 ประธานาธิบดีและฝ่ายบริหารมาตรา 1 วรรค 2 เขียนไว้ว่า “แต่ละมลรัฐโดยฝ่ายนิติบัญญัติจะแต่งตั้งคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีตามจำนวนวุฒิสมาชิกบวกกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละมลรัฐนั้นมีอยู่ โดยบรรดาผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีเหล่านั้นจะต้องไม่เป็นวุฒิสมาชิกหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือเป็นข้ารัฐการของสหรัฐ”

แต่เอาเข้าจริงๆ เหตุผลในการมีอยู่ของระบบ Electoral College ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันแต่เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากก็คือ เรื่องของ “การมีทาสของมลรัฐภาคใต้กับการไม่มีทาสของมลรัฐภาคเหนือนั่นเอง” เพราะว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้วมีการใช้แรงงานทาสผิวดำที่จับมาจากทวีปแอฟริกาเป็นจำนวนนับล้านคน ซึ่งทาสแทบทั้งหมดจะอยู่ในมลรัฐภาคใต้ เพราะมลรัฐภาคใต้มีภูมิอากาศและพื้นที่เหมาะกับการทำการเกษตรขนาดใหญ่เพื่อปลูกใบยาสูบและฝ้ายที่มีราคาดี ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานทาสเป็นจำนวนมาก ส่วนบรรดามลรัฐภาคเหนือนั้นมีอากาศหนาวเย็นและพื้นที่ไม่ค่อยอำนวยในการทำการเกษตรขนาดใหญ่ ประชาชนจึงประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรรายย่อยและหัตถกรรมเป็นส่วนใหญ่ และจำนวนประชากรของมลรัฐทางภาคเหนือมีมากกว่ามลรัฐทางภาคใต้มาก ดังนั้น การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยตรงจะทำให้มลรัฐทางภาคเหนือซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่ามากได้เปรียบมลรัฐทางภาคใต้อยู่ตลอด การใช้ระบบ Electoral College จึงเป็นทางออกโดยมีการคำนวณจำนวนทาสของมลรัฐในภาคใต้เข้าไปกับจำนวนประชากรผิวขาวด้วย การประนีประนอมนี้ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหมวด 1 ฝ่ายนิติบัญญัติ มาตรา 2 วรรค 3 ว่า “สัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการเก็บภาษีจักต้องกำหนดจากมลรัฐที่อยู่ในสหภาพดังนี้คือ จากประชากรที่เป็นเสรีชนทั้งหมดบวกกับอัตราส่วนสามในห้าของบุคคลที่ถูกผูกพันที่จะต้องใช้แรงงานชดใช้ตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ ต้องไม่นับรวมพวกอินเดียแดง…”

ครับ ! “บุคคลที่ถูกผูกพันที่จะต้องใช้แรงงานชดใช้ตามกำหนดเวลา” คือทาสผิวดำนั่นเอง เพราะทาสไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียง แต่มลรัฐภาคใต้ขอเอาจำนวนทาส 5 คน นับเป็นเสรีชน 3 คน เพื่อที่มลรัฐทางภาคใต้จะได้มีสัดส่วนของผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นโดยทาสไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งดังเดิม ส่งผลให้ประธานาธิบดี 5 คนแรกของสหรัฐอเมริกานั้นได้มาจากมลรัฐภาคใต้ดั้งเดิมถึง 4 คน

นั่นคือเรื่องของทาส

นอกจากนี้ บรรดาผู้เข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 200 กว่ามาแล้วนั้นต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า “พรรคการเมืองคือการเล่นพวกอย่างถูกต้องตามกฎหมายซึ่งไม่เป็นที่พึงปรารถนา” โปรดสังเกตว่าไม่มีการบัญญัติถึงพรรคการเมืองเลยในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา และการให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยวิธีใช้คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) เป็นการให้ประชาชนเลือกตั้งผู้ที่จะทำการเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้นก็จะหลีกเลี่ยงการซื้อขายเสียงจากพรรคการเมืองได้ เพราะคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดจะต้องไม่มีตำแหน่งทางการเมืองและจะทำการหย่อนบัตรเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียงครั้งเดียวก็หมดหน้าที่จึงไม่น่าที่จะสามารถใช้อิทธิพลทางการเมืองได้มากนัก

ดังนั้น วิธีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยผ่านทางคณะผู้เลือกตั้งนั้นจึงยืนยงมาอยู่ได้ถึงแม้ในช่วง 100 ปีแรกนั้นจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ประชาชนทั่วประเทศเลือกผู้แพ้ด้วยคะแนนเสียงมากกว่าผู้ชนะถึง 3 ครั้ง แต่แพ้ด้วยระบบคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) แต่ในช่วง 100 ปีที่สองกลับไม่มีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเลย จนกระทั่งเข้าศตวรรษที่ 3 ของการใช้ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบคณะผู้เลือกตั้ง กลับมีเหตุการณ์ที่ประชาชนทั่วประเทศเลือกผู้แพ้ด้วยคะแนนเสียงมากกว่าผู้ชนะถึง 2 ครั้ง แต่แพ้ด้วยระบบคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) จึงเริ่มมีความเคลื่อนไหวของชาวอเมริกันและนักการเมืองที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกการเลือกตั้งแบบระบบคณะผู้เลือกตั้งที่ล้าสมัยแบบนี้ใน 4 ปีข้างหน้า แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้นก็ยังต้องคอยดูกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image