มองวิวาทะลิขสิทธิ์และความชอบธรรม ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ แบบคนตกสี

ก่อนจะเข้าสู่คอลัมน์คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของสัปดาห์นี้ ผู้เขียนต้องขออภัยเกี่ยวกับความคลาดเคลื่อนในข้อมูลในคอลัมน์สัปดาห์ที่แล้วในส่วนที่เกี่ยวกับการเริ่มต้นใช้กฎ Must Have และ Must Carry ของ กสทช. ที่ได้เขียนไว้ว่ากฎทั้งสอง Must ดังกล่าวได้เริ่มใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2018 ที่ประเทศรัสเซียนั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะเรื่องที่มีเอกชนติดต่อซื้อลิขสิทธิ์มาเพื่อโปรโมตช่องทีวีดิจิทัลและระบบเคเบิลทีวีของเขาอันเป็นที่มาของการออกกฎ Must Have และ Must Carry นั้นเกิดขึ้นในสมัยฟุตบอลโลกปี 2014 ที่ประเทศบราซิล ซึ่งผู้เขียนกราบขออภัยในความคลาดเคลื่อนของข้อมูลมา ณ ที่นี้ 

มิตรสหายบรรณาธิการใหญ่ท่านหนึ่งสนใจอยากให้เจาะลึกเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายลิขสิทธิ์กันอีกชัดๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะได้แตะไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กับอีกส่วนใหญ่กว่า คือดราม่าในแวดวงวรรณกรรมแปลของไทย อันเนื่องมาจากวิวาทะที่เกิดจากคดีความของหนังสือนวนิยายเรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว 

ที่ดันมาเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งๆ ที่น่าจะจบลงไปอย่างเงียบๆ แล้ว แต่ก็ดันมีผู้หวังดีอุตส่าห์จะมาเล่านิทานเรื่องนากแย่งปลาขึ้นมาให้เป็นวิวาทะทัวร์ลงกันในวงการเสียอย่างนั้น แต่ก็เป็นประโยชน์ให้ข้อเท็จจริงของคดีความและผลบางส่วนของคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ได้รับการเปิดเผยออกมาให้เป็นที่วิเคราะห์วิพากษ์กัน

ขออนุญาตสรุปเรื่องราวโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากบทความเรื่องทำความเข้าใจกฎหมายลิขสิทธิ์วรรณกรรมผ่านคดีหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Way Magazine ซึ่งน่าจะเป็นต้นทางที่เชื่อถือได้ ดังนี้

Advertisement

นวนิยายต้นฉบับเรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” (Cien anos de soledad) ประพันธ์โดย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel Garcia Marquez) ชาวโคลอมเบีย เขียนและตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาสเปนเมื่อปี 1967 (..2510) ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 1970 (..2513) โดย เกรกกอรี ราบาสซา (Gregory Rabassa) พิมพ์และเผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์ แอนด์ โรว์ (Harper & Row) สำหรับฉบับภาษาไทยนิยายเรื่องนี้ได้รับการแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษดังกล่าวโดย ปณิธาน.จันเสน พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์วลีในปี พ..2529 ซึ่งต่อมาสำนักพิมพ์สามัญชนได้รับอนุญาต ให้เป็นผู้พิมพ์เผยแพร่นิยายเรื่องนี้ฉบับภาษาไทยตั้งแต่ในการพิมพ์ครั้งที่ 3 ปี พ..2547 เป็นต้นมา จนถึงการพิมพ์ครั้งที่ 5 ในปี พ..2557 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เสียชีวิตลงด้วย

กระทั่งในปี พ..2559 สำนักพิมพ์บทจร ซื้อลิขสิทธิ์นวนิยายนี้จากทายาทผู้ประพันธ์ และดำเนินการแปลจากต้นฉบับภาษาสเปน โดย ชนฤดี ปลื้มปวารณ์ แล้วเสร็จในปี พ..2564 จึงดำเนินการขอให้สำนักพิมพ์สามัญชนระงับการขายนวนิยายฉบับแปลสำนวนเดิม แต่การเจรจาไม่บรรลุผล นำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง โดยมีทายาทของผู้เขียนชาวโคลอมเบียเป็นโจทก์ด้วย

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯพิพากษายกฟ้องในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา สรุปได้ว่า ศาลพิจารณาโดยยึดตามอนุสัญญากรุงเบิร์นที่ว่าหากผู้สร้างสรรค์ไม่ได้แปลผลงานตนเองเป็นภาษาที่ต้องการให้ได้รับความคุ้มครองในประเทศภาคีใดภายในระยะเวลา 10 ปีนับแต่การเผยแพร่งานเดิมเป็นครั้งแรก สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะแปลงานของตนเป็นภาษาดังกล่าวย่อมหมดสิ้นไป ดังนั้น เมื่อผู้ประพันธ์ (มาร์เกซ) มิได้อนุญาตให้ผู้ใดแปลวรรณกรรมดังกล่าวเป็นภาษาไทยภายในระยะเวลาดังกล่าว การแปลฉบับภาษาไทยสำนวน ปณิธาน.จันเสน จากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ได้รับอนุญาตจากผู้ประพันธ์อีกทอดหนึ่งซึ่งเป็นการแปลและเผยแพร่ภายหลังจากสิทธิในการแปลและตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาไทยแต่เพียงผู้เดียวของผู้ประพันธ์เจ้าของลิขสิทธิ์ระงับไปแล้ว การแปลวรรณกรรมนี้เป็นภาษาไทย ย่อมทำได้โดยไม่เป็นการละเมิดสิทธิแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อสำนักพิมพ์จำเลยมิได้ทำซ้ำและเผยแพร่วรรณกรรมแปลอันมีลิขสิทธิ์ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 เช่นกัน นอกจากนี้ศาลยังวินิจฉัยว่า ผู้แปล (ปณิธาน.จันเสน) ยังถือเป็นผู้สร้างสรรค์และได้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมที่แปลเป็นภาษาไทยเรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว โดยได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกฎหมายอีกด้วย 

คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ข้างต้นนั้น เป็นการเดินตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 3797/2548 ที่เคยตัดสินไว้ในคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในหนังสือนิยายสืบสวนของอกาธา คริสตี้ ที่มีลักษณะข้อเท็จจริงใกล้เคียงกันนี้ สำหรับคดีนี้หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวนี้ได้จะรับการวางบรรทัดฐานว่าจะยืนยกกลับแก้โดยศาลฎีกาหรือไม่ ก็ต้องขึ้นกับว่าฝ่ายโจทก์จะอุทธรณ์คำพิพากษานี้ต่อไปหรือเปล่า

ข้อยุติว่าสำนักพิมพ์สามัญชนที่เป็นผู้พิมพ์และจำหน่ายหนังสือหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวมาแต่เดิมนั้นไม่ได้เป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในกรณีนี้เป็นการชี้ข้อกฎหมายจากการวางแนวทางของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ที่จะส่งผลผูกพันเฉพาะต่อคู่ความในคดีนี้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ก็ไม่สามารถกำหนดหรือชี้ ข้อเท็จจริงได้ว่าที่แท้แล้วสำนักพิมพ์ผู้มาก่อนนั้นได้กระทำการละเมิดต่อสิทธิของสำนักพิมพ์บทจรผู้ติดต่อจายค่าตอบแทนให้ทายาทผู้เขียนและแปลงานมาโดยถูกต้อง 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็ไม่ได้เท่ากับว่า สิทธิของผู้ประพันธ์นวนิยายและทายาทผู้ไม่เคยได้รับผลตอบแทนจากการที่นวนิยายของเขาได้ถูกพิมพ์ถูกขายสองครั้งสามครั้งในประเทศไทยเท่ากับจะไม่ถูกละเมิดเลยแต่ประการใดหรือไม่

ก็คงจะเช่นเดียวกับที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีเกินกว่าแปดปีตามรัฐธรรมนูญนี้ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงว่าเขาเป็นนายกรัฐมนตรีตามความเป็นจริงในความรับรู้ของประชาชนชาวไทยมาแล้วกี่ปี ซึ่งเอาจริงในทางกฎหมายก็ใกล้เคียงกันอีก เพราะทั้งสองกรณีเป็นเรื่องที่ทั้งสำนักพิมพ์สามัญชนและประยุทธ์ได้รับประโยชน์จากช่วงรอยต่อของการบังคับใช้กฎหมาย (หรือรัฐธรรมนูญ) ต่างฉบับกันทั้งสิ้น

ข้อเท็จจริงในเชิงความรู้สึกของสังคมนี้พอวัดได้ความคิดเห็นของประชาคมนักอ่านที่รวมตัวกันไปทัวร์ลงแสดงความผิดหวังทั้งในเพจของสำนักพิมพ์ที่เผยแพร่บทความเรื่องนากแย่งปลาที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นดราม่าขึ้นมาอีกครั้ง หรือแม้แต่ในโพสต์ของเพจของ Way Magazine ที่ลงบทความที่อ้างถึงข้อเท็จจริงนี้มา

เพราะดังที่ได้กล่าวไว้ในคอลัมน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การยอมรับในความชอบธรรมของหลักกฎหมายลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งนั้นเป็นกติกาหรือ Norm ที่สังคมเห็นร่วมกันไปแล้วว่าเป็นความชอบธรรมของสังคมสมัยใหม่ไปแล้ว โดยการยอมรับนี้ครอบคลุมไปถึงผู้ที่จ่ายค่าตอบแทนอย่างถูกต้องให้ผู้สร้างสรรค์ นำมาแปลและเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้เข้าถึงได้ด้วย ซึ่งการยอมรับนี้ไปไกลเกินกว่าระดับกฎหมาย เข้าไปในระดับของศีลธรรมหรือจริยธรรมอย่างหนึ่ง 

คือถ้ากล่าวด้วยทฤษฎีทางกฎหมาย การละเมิดลิขสิทธิ์ในสังคมสมัยใหม่อาจนับเป็น Mala in Se ความผิดในตัวเอง มิใช่ Mala Prohibita หรือความผิดเพราะกฎหมายห้าม ไปแล้วก็ได้

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อถกเถียงที่น่าสนใจอันพอที่จะสนับสนุนความชอบธรรมสำหรับผู้ที่พิมพ์มาก่อน หรือผลงานแปลของผู้ที่แปลมาก่อนอยู่บ้าง คือ ถ้าในกรณีที่ผลงานฉบับที่แปลมาก่อนนั้น เป็นผลงานที่มีคุณค่าทางวรรณกรรมที่ดีกว่าหรือแตกต่างจากผลงานที่แปลในภายหลังหรือแปลโดยถูกต้องแล้ว จะเป็นอย่างไร

เพราะเรื่องนี้ก็มีผู้ยกมาว่า ฉบับแปลภาษาอังกฤษของนวนิยายเรื่องนี้ในสำนวนของ เกรกกอรี ราบาสซานั้นมีสำนวนภาษาที่ดีงามได้รสทางวรรณกรรมยิ่ง ทั้งยังได้รับการแปลเป็นภาษาไทยอีกต่อที่ประณีตสละสลวยขึ้นอีกชั้นโดย ปณิธาน.จันเสน เรียกว่าเป็นงานวรรณกรรมแปลที่ทรงคุณค่าและสมควรอ่านอย่างที่ไม่ควรจะให้หายไปจากบรรณพิภพ

งานซึ่งแปลจากฉบับที่แปลมาจากภาษาอื่นอีกต่อหนึ่งนั้นจะดีกว่างานแปลจากภาษาต้นฉบับได้จริงหรือ ส่วนตัวในฐานะนักอ่านนั้นตอบว่า ที่ว่าแปลดีกว่าหรือไม่นั้นเป็นเรื่องอัตวิสัย แต่มันเป็นไปได้ที่จะมีรสทางวรรณกรรมแตกต่างกันได้ และก็เป็นไปได้ด้วยที่บางคนก็อาจจะชอบในสำนวนการแปลรูปแบบนั้นมากกว่า เช่นโดยส่วนตัวแล้วผมก็ยังชื่นชอบความลื่นไหลในงานของ ฮารูกิ มูราคามิ ที่คุณ นพดล เวชสวัสดิ์ แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ เจย์ รูบิน มากกว่างานแปลในยุคหลังๆ ที่แปลโดยตรงจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นของมูราคามิโดยตรง แม้จะยอมรับว่าแปลได้ดีตรงต้นฉบับสำนวนผู้เขียนที่ถามมาจากคนรู้ภาษาญี่ปุ่น แต่ก็ไม่อร่อยเด็ดเท่าภาษาแบบคุณนพดล

ระบบลิขสิทธิ์ที่จำกัดให้ต้องมีผู้ถือสิทธิจำหน่ายฉบับแปลภาษาไทยได้เพียงรายเดียวหรือการแปลสำนวนเดียวนั้นอาจจะเท่ากับเป็นการผูกขาดการแปลในส่วนนี้หรือไม่ ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นแล้วบ้างกับวงการการ์ตูนญี่ปุ่น (มังงะหรืออนิเมะ) ที่ฉบับแปลแบบถูกลิขสิทธิ์ แต่ดันแปลได้แย่กว่าฉบับแปลเถื่อนที่ออกมาก่อนก็มีเช่นกัน

นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นที่ว่า การที่มีผู้มาก่อนนั้นพิมพ์งานออกมาก่อนโดยพลการแบบละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ก็ทำให้สังคมการอ่านงานวรรณกรรมของไทยที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไร และยิ่งถ้าจะจำเพาะจำกัดลงไปถึงวรรณกรรมลาตินอเมริกาด้วยแล้วยิ่งแคบเล็กลงไปอีกนั้น ได้รู้จักงานของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เป็นที่แพร่หลาย จนทำให้ผู้มาทีหลังสามารถซื้อลิขสิทธิ์ถูกต้องเข้ามาทำตลาดได้ และมีผู้คนที่เป็นแฟนหนังสือของมาเกซอยู่แล้วพร้อมที่จะอุดหนุนซื้ออ่านได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงเพาะสร้างนักอ่านกลุ่มนี้ขึ้นมาเองเลย ดังนั้น ผู้มาทีหลังแม้จะกระทำการถูกต้องตามกฎหมายและวิถีทางธุรกิจสมัยใหม่ ก็ควรที่จะต้องเคารพผู้บุกเบิกมาก่อนในแง่นี้ด้วย

หากนั่นก็เป็นอย่างที่เขียนไว้ในคอลัมน์เมื่อตอนที่แล้วเช่นกัน ว่ามันมีจรรยาบรรณที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของบรรดาผู้ที่อยู่ในแวดวงการแปลการ์ตูนอนิเมะ ไลต์โนเวล นิยายวาย ซีรีส์ หรือสื่อบันเทิงต่างประเทศอื่นๆ ที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์ว่า เมื่อใดก็ตามที่มีผู้ประกาศลิขสิทธิ์ถูกต้องในประเทศไทยแล้ว ผู้แปลเถื่อนทั้งหลายจะต้องหยุดเผยแพร่งานละเมิดลิขสิทธิ์ทันทีโดยไม่ต้องรอการดำเนินการโดยกฎหมาย ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะมารยาทว่ามีผู้เข้ามาแปลงานทำตลาดโดยถูกต้องแล้ว ซ้ำยังประกาศให้ผู้ที่ติดตามงานอันเคยละเมิดลิขสิทธิ์นั้นอยู่ไปติดตามงานนั้นต่อจากผู้ที่นำเข้าโดยถูกต้องต่อไปเพื่อเป็นการสนับสนุนทั้งผู้สร้างสรรค์ และผู้ที่ดำเนินการนำเข้ามาอีกด้วย

อาจจะเป็นเพราะว่า ถ้าที่ผ่านมาเคยได้รับผลประโยชน์ใด จนถึงตอนนี้ก็น่าจะได้รับประโยชน์จากการใช้ผลงานอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาโดยไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนอย่างถูกต้องมาเพียงพอแล้วก็ได้ แต่ก็เชื่อหรือไม่ว่าหลายกรณีผู้แปลเถื่อนก็ไม่เคยได้ผลประโยชน์ใดเป็นตัวเงินเลยด้วยซ้ำ แต่ทำเพราะใจรัก เพื่ออยากให้คนไทยได้มีโอกาสได้เข้าถึงการ์ตูน นิยาย หรือซีรีส์บางเรื่องที่ไม่มีการแปลเป็นภาษาไทยหรือยังไม่มีผู้นำเข้าโดยถูกต้องเท่านั้นเอง มีกระทั่งว่าแปลเพื่อเชิญให้มีผู้สนใจมาซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาให้ถูกต้องในประเทศไทยก็มี

สำนักพิมพ์ผู้มาก่อนจึงเลือกได้ว่าจะยอมรับปรับใช้จรรยาบรรณแบบชาวการ์ตูนมังงะอนิเมะ ผู้ไม่เคยอ้างหลักการคุณค่าวรรณกรรมอันสูงส่งอะไรนอกเหนือจากความบันเทิง หรือจะยืนยันความถูกต้องตามคำพิพากษาต่อไป ไม่อย่างนั้นจะอ้างเรื่องทุนนิยม การผูกขาดสมัยใหม่ภายใต้หลักการเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศอะไรให้มันดูใหญ่โตมีหลักการต่อไปก็ได้

แต่ก็อาจจะต้องชั่งตรองอย่างเป็นธรรมว่า นอกจากสำนักพิมพ์ในแวดวงคนคุ้นเคยกัน เพื่อนพ้องน้องนุ่งคนที่เกรงใจกันจนไม่กล้าเอ่ยปาก กับบรรดานักวิชาการกลุ่มที่ต่อต้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (ที่ใจถึงพอที่จะแจกผลงานตัวเองแบบให้เปล่าเป็นไฟล์ PDF ซึ่งสำนักพิมพ์คุ้นเคยที่ว่าก็ไม่กล้าทำถึงขนาดนั้น) แล้วสังคมการอ่านทั่วไป วัดจากบรรดาแฟนประจำของสำนักพิมพ์ท่านๆ ก็ได้ เขามองเรื่องนี้อย่างไร

กับคำถามชวนคิดว่า ท่านเคยว่า ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นนายกฯเถื่อนหรือไม่ หลังจากที่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว และหลังจากนี้ ท่านจะยังว่าเขาเช่นนี้อยู่อีกหรือไม่ ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image