ในอุ้งมือ คสช. โดย นฤตย์ เสกธีระ

มีชัย ฤชุพันธุ์ (แฟ้มภาพ)

มีความพะวงกันเรื่อง “เซตซีโร่”

เดี๋ยวก็แว่วข่าวว่า เซตซีโร่พรรคการเมืองตามด้วยเสียงปฏิเสธ

สักพักโมเดล “เซตซีโร่พรรคการเมือง” เปลี่ยนไปเป็น “เซตซีโร่สมาชิกพรรคใหม่”

จากพรรคการเมือง ขณะนี้ถึงคิวองค์กรอิสระ

Advertisement

กระแสเริ่มจากเสียงแผ่วๆ ว่าจะเซตซีโร่องค์กรอิสระทั้งหมด

แล้วก็มีการออกมาปฏิเสธข่าวเป็นระยะๆ

กระทั่งเมื่อ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ออกมาซัด กรธ.

พาดพิงไปถึง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ด้วยข้อกล่าวหาต่างๆ นานา

สะท้อนให้เห็นอาการสั่นไหวอันเกิดจากการร่างกฎหมายลูก

กฎหมายลูกที่ต้องร่ายตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แสดงเจตนาให้เซตซีโร่องค์กรอิสระอย่างชัดแจ้ง

มาตรา 216 วงเล็บ 3 กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของคณะกรรมการองค์กรอิสระว่าให้เป็นไปตามมาตรา 202

มาตรา 202 วงเล็บ 1 สรุปว่า บุคคลต้องห้ามคือ บุคคลที่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

ย้ำอีกครั้งว่า “เป็น” หรือ “เคยเป็น”

เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

แล้วนี่ถ้ารัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ และกฎหมายลูกคลอดออกมา

ไม่เท่ากับว่า ต้องสรรหาคณะกรรมการองค์กรอิสระทั้งหลายกันใหม่ทั้งหมดหรือ?

เพราะทุกองค์กรอิสระล้วนมี ผู้ที่ “เป็น” ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอยู่

คนที่ “เป็น” อยู่ตอนที่กฎหมายประกาศใช้ จะอยู่เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติต้องห้ามหรือเปล่า

ถ้าว่าไปตามรัฐธรรมนูญก็ต้องสรรหากันใหม่ เหมือนกับที่มีคนตั้งข้อสังเกต

แต่ถ้ามองแบบอาจารย์ สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ก็ต้องให้กรรมการทุกคนในองค์กรอิสระอยู่ต่อ

เพราะถือว่าแต่ละคนผ่านการสรรหามาถูกต้อง จึงมีสิทธิที่จะอยู่จนครบวาระ

ข้อบัญญัติใหม่ที่เป็นโทษ จะมาทำให้แต่ละคนในองค์กรอิสระสิ้นสภาพไม่ได้…มันไม่แฟร์

และถ้าใช้หลักเกณฑ์ตามที่อาจารย์สมลักษณ์แสดงความคิดเห็น

คุณสมบัติต่างๆ ที่กำหนดใหม่ก็ไม่น่าระคายผิวกรรมการในองค์กรอิสระ

เรื่องที่นายสมชัยฝันก็อาจไม่เป็นจริง

ดังนั้น ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อาจารย์สมลักษณ์บอกไว้ กรธ.ก็น่าจะบอกไปเลยว่า องค์กรอิสระปลอดภัย

แต่คำชี้แจงของ กรธ.ที่บอกว่า ไม่มีเซตซีโร่ แต่ต้องดูคุณสมบัติว่าขัดหรือไม่นั้น แสดงว่า ยังไม่ปลอดภัย

ทำให้สงสัยว่า คุณสมบัติที่ว่านั้นรวมถึง “คุณสมบัติต้องห้าม” หรือเปล่า

ถ้าหมายถึงคุณสมบัติต้องห้ามที่มีมาตรา 202 วงเล็บ 1

งานนี้ก็เซตซีโร่แหงๆ

ถ้า คสช. หรือ กรธ. หรือใครจะอ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ท่านๆ ทั้งหลายในองค์กรอิสระก็คงต้องซึม

เพราะคนเขียนกฎหมายลูกคือคนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ดังนั้น เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว กรธ.รู้ดีที่สุด

แถมยังเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ได้รับการรับรองจากเสียงประชามติอย่างท่วมท้น

การลงประชามติก็เป็นไปตามที่ กกต.เป็นผู้ดำเนินการ

วันนี้องค์กรอิสระจะโดนเซตซีโร่หรือไม่ พรรคการเมืองจะรีเซตหรือเปล่า

ขึ้นอยู่กับกฎหมายลูกที่ กรธ.เป็นผู้ร่าง

แต่ผู้พิจารณา คือ สนช. … สนช.ที่ คสช.เป็นผู้คัดเลือก

อ้าวอำนาจวกกลับไปที่ คสช.อีกแล้ว…

ทุกประการยังอยู่ในอุ้งมือ คสช.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image