คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ผู้อ่านอยู่ตรงนั้น หนังสือ (และวรรณกรรม) อยู่ตรงไหน

มีผู้กล่าวในเชิงตั้งคำถามหรือเสียดสีก็มิทราบได้ว่าอันดับขายดีของร้านหนังสือของประเทศใด สะท้อนคุณภาพการอ่านของประเทศนั้น

กระนั้นก็มีคำกล่าวอีกประโยค เผลอๆ จากคนเดียวกันนั่นแหละด้วยว่าหนังสือนั้นไม่ได้เรียกร้องสิ่งใดจากผู้อ่าน แต่ผู้อ่านต่างหากที่เรียกร้องบางสิ่งบางอย่างจากหนังสือ 

คำกล่าวประโยคหลังนี้จึงอาจจะเป็นคำตอบให้ประโยคแรกที่ได้ว่า อันดับขายดีของร้านหนังสือในประเทศหรือสังคมใดนั้น คงไม่ได้สะท้อนอะไรไปมากกว่าการเป็นตัวชี้วัดอันตรงไปตรงมาว่า ผู้อ่านหนังสือในสังคมหรือประเทศนั้นต้องการอะไรจากการซื้อหนังสือมาอ่าน

โดยเฉพาะในสังคมประเทศที่เศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และรายได้ของผู้คนที่เล่มหนึ่งราคาเฉลี่ยราวสองร้อยกว่าบาท เท่ากับค่าอาหารรวมเครื่องดื่มสำหรับคนทำงานสำนักงานทั่วไปราวสองถึงสามมื้อ การตัดสินใจซื้อหนังสือสักเล่มหนึ่ง จึงน่าจะต้องตอบสนองความต้องการที่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปนั้น

Advertisement

หากลองพิจารณาอันดับหนังสือขายดีของร้านหนังสือเครือ SE-ED สัปดาห์ที่เขียนคอลัมน์ (21-27 ..65) จะพบว่า อันดับหนึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการบริหารเวลาเรื่องชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์โดย โอลิเวอร์ เบิร์กแมน อันดับสองและสามเป็นหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาการเงิน “Money Mindset” ของ คุณหนุ่ม มันนี่โค้ช จักรพงษ์ เมษพันธุ์ และ “The Psychology of Money : จิตวิทยาว่าด้วยเงินเขียนโดย มอร์แกน ฮัสเซล อันดับสี่ เป็นนิยายแนวสยองขวัญแปลจากภาษาญี่ปุ่นบ้านวิกลคนประหลาดโดย อุเก็ตสึ และอันดับห้าเป็นหนังสือแนวจิตวิทยาพฤติกรรมชื่อดังที่ติดอันดับขายดีค้างปี “Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็นของ เจมส์ เคลียร์ 

สำหรับอันดับหนังสือขายดีของร้านนายอินทร์ก็ปรากฏว่าคล้ายกัน มีแตกต่างกันเฉพาะหนังสือขายดีอันดับหนึ่งและสอง เป็นนิยายจีนเรื่องสวรรค์ประทานพรของ โม่เซียงถงซีว เล่ม 5 และ 6 ส่วนอันดับที่เหลือก็เป็นบ้านวิกลคนประหลาด” “จิตวิทยาว่าด้วยเงินและ “Atomic Habits” สลับลำดับกันมา

อันดับหนังสือขายดีของร้านหนังสือเครือใหญ่สองร้านนี้อาจจะบอกกับเราได้ว่า ความต้องการของผู้คนที่ยังอ่านหนังสืออยู่นั้น นอกเหนือจากความบันเทิงตรงไปตรงมาจากการอ่านนวนิยายแล้ว สิ่งที่นักอ่านเรียกร้องต้องการ คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเงิน และการพัฒนาตัวเอง

Advertisement

หนังสือแนวจิตวิทยาพัฒนาตัวเองและการเงินมักจะถูกมองบนจากนักเขียนนักอ่านแนววรรณกรรมเข้มข้นจริงจัง โดยเรียกเหมาเอาว่าเป็นหนังสือแนวสอนรวยแถมยังดันขายดีจนมีการแปล เขียน พิมพ์ หนังสือแนวนี้ออกมากันมากมายหลายปก เบียดพื้นที่หนังสือแนววรรณกรรมตกหายไปจากชั้นวางในร้านหนังสือกระแสหลัก

แต่ถ้าพยายามทำความเข้าใจว่าหนังสือประเภทนี้หลายเล่มช่วยให้คนอ่านค้นพบวิธีดึงเอาความสามารถหรือศักยภาพสูงสุดของตัวเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ หนังสือบางเล่มทำให้เข้าใจจิตวิทยาในการทำงานหรือติดต่อสื่อสารกับมนุษย์มากขึ้น หนังสือแนวปลอบจิตประโลมใจหรือที่เรียกว่าแนว Feel good ก็ทำหน้าที่ส่งต่อความรู้สึกดี และวิธีการพลิกมุมคิดเพื่อให้มองเห็นว่าปัญหาหรือความหนักใจทั้งหลายนั้นพอจะบรรเทาเบาบางลงได้บ้างอย่างไรให้สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากของชีวิตไปได้ คนที่ซื้อที่อ่านหนังสือแนวพัฒนาตัวเองหรือแม้แต่แนวปลอบจิตประโลมใจนั้น ก็เพื่อต้องการพลังในการไปสู่จุดที่ตัวเองอยากจะเป็น มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินซึ่งนำไปสู่อิสระได้ทำในสิ่งอย่างที่ตัวเองอยากจะทำโดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องดังกล่าว รวมถึงมีความรู้สึกดีมีภูมิคุ้มกันทางใจที่แข็งแกร่งเพื่อต่อสู้กับความโหดร้ายในสังคมที่ปัจจุบันก็อยู่ยากพอแรงแล้ว

เช่นนี้ถ้าใครจะค่อนขอดเสียดสีหนังสือประเภทนี้ราวกับเป็นศัตรูของวงการ มองบนคนที่อ่านหนังสือพวกนั้นก็แค่พวกอยากรวยฉาบฉวย หนีความจริงไปกับคำคมเกร่อๆ หรือซื้อหนังสือแค่เอาไว้มาถ่ายรูป ก็สมควรตั้งคำถามต่อตัวเองว่า แล้วท่านที่ชื่นชมบูชางานวรรณกรรมอันสูงส่งยกระดับความเป็นมนุษย์นั้นมองไม่เห็นความเป็นเพื่อนมนุษย์ของผู้อ่านหนังสือเพื่อหวังจะมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือเพื่อปลอบประโลมจิตใจบ้างเลยหรือ

นอกจากนี้หนังสือพัฒนาตัวเองบางเล่มที่เป็นแนวจิตวิทยาพฤติกรรมนั้นก็ยังคาบเกี่ยวว่าเป็นหนังสือแนวสาระวิชาการด้วยเช่นกัน หนังสือเล่มดังอย่าง Thinking, Fast and Slow (คิด, เร็วและช้า) ของ ศาสตราจารย์ แดเนียล คาห์นเนอมัน ที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ We Learn นี้ก็ชี้ชัดได้ยากว่าจะนับเป็นหนังสือแนววิชาการ หรือหนังสือแนวพัฒนาตัวเอง

ซึ่งหนังสือแนวสาระวิชาการทั้งที่แปลมาจากภาษาอังกฤษหรือเขียนใหม่เป็นภาษาไทยนี้เองก็เริ่มปรากฏว่าได้รับความสนใจจากสังคมการอ่านมากขึ้นในช่วงหลังๆ โดยมีทั้งที่เป็นการนำความรู้ทางวิชาการมาเรียบเรียงนำเสนอให้เข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป รวมถึงหนังสือแนววิชาการแบบตรงไปตรงมาซึ่งแทบไม่ปรุงเพิ่มอะไร นอกจากนำเอางานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์มาปรับเรียงใหม่ให้มีรูปแบบของหนังสือ

ถ้าเราลองย้อนไปดูอันดับหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์มติชนจากงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ที่จัดกันเมื่อต้นเดือนที่แล้ว จะพบว่าอันดับแรกๆ นั้นเป็นหนังสือแนวสาระวิชาการหรือกึ่งวิชาการที่กล่าวไปนี้ทั้งสิ้น และน่าสนใจว่าสองเล่มแรกเป็นหนังสือแนวประวัติศาสตร์ที่เปิดเผยและบอกเล่าเรื่องราวในมุมมองใหม่ที่แตกต่างออกไปด้วย หนังสือขายดีอันดับหนึ่งรสไทย(ไม่)แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรมของ อาสา คำภา และขายดีอันดับสองรัฐสยดสยองของ ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์

ถ้า “Sapiens เซเปียนส์ : ประวัติย่อมนุษยชาติและหนังสือเล่มอื่นๆ ของ ยูวัล โนอาห์ แฮร์รารี ได้รับความนิยมไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เพราะตอบสนองความอยากรู้ว่า มนุษย์เผ่าพันธุ์เรานั้นมีที่มาอย่างไรและจะไปทางไหนกันต่อ ความขัดแย้งทางการเมืองและการแตกแยกทางความคิดที่คุกรุ่นมากว่าสิบปีและเหมือนจะมาถึงจุดแตกหักเข้มข้นเมื่อราวสองสามปีนี้ ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานสาระวิชาการ โดยเฉพาะที่พาสำรวจประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อของยุครัตนโกสินทร์ถึงช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็จะช่วยตอบสนองความอยากรู้ว่าความเป็นไทยและความเชื่อในความเป็นชาติของเรานั้นมีที่มาอย่างไร เช่นเดียวกับหนังสือกลุ่มปรัชญาการเมืองก็บอกให้เรารู้ว่าอำนาจนั้นมีที่มาอย่างไร ในประวัติศาสตร์โลกนั้นเคยมีการถกเถียงและมีบทเรียนกันมาอย่างไรบ้าง

สำหรับหนังสือนวนิยายที่เป็นหนังสือขายดีก็ทำหน้าที่ของมันในการสร้างความบันเทิงให้ผู้อ่านได้อย่างเต็มที่ตรงตามรสนิยม เช่น นิยายจีน ไม่ว่าจะมาจากนักเขียนจีนแท้ๆ หรือนักเขียนไทยที่เขียนเรื่องแนวจีน นิยายแนวเจ้าชายทะเลทราย นิยายบอยเลิฟที่เล่าเรื่องความรักระหว่างเด็กหนุ่ม หรือระหว่างเด็กสาวต่อเด็กสาวที่เรียกว่าแนวยูริ นิยายอ่านง่ายเดินเรื่องสไตล์การ์ตูนหรือไลต์โนเวล หนังสือในกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี โดยนิยายที่ถือว่าขายดีส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้นมักจะเป็นนิยายแปลจากจีนหรือญี่ปุ่น และเริ่มมีนิยายเกาหลีใต้แทรกสอดเข้ามาบ้าง ส่วนนิยายไทยโดยนักเขียนไทยนั้นแม้จะตามมาห่างๆ ในทุกประเภท แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่มีคนอ่านและแฟนประจำติดตามอย่างน่าพอใจ

แล้ววรรณกรรมโดยเฉพาะวรรณกรรมไทยหายไปไหน ถ้ากล่าวอย่างยอมรับความจริงคืออย่าว่าแต่ขึ้นทำเนียบหนังสือขายดีเลย แม้แต่ต่อให้หนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ที่ปกติสมัยก่อนยังไงก็ขายได้เพราะจะชั่วจะดีใครๆ ก็ต้องอ่านหรือลองซื้อมาเก็บไว้ แต่ปัจจุบันนี้หนังสือที่ได้รับรางวัลนี้ในปีหลังๆ ก็ยังหายไปจากความรับรู้และสนใจของนักอ่าน จนไม่มีใครจำได้กระทั่งว่าปีที่แล้วหนังสือที่ได้รับรางวัลนี้เป็นหนังสือประเภทใด

อาจเพราะในยุคก่อน หมายถึงยี่สิบถึงสี่สิบปีก่อนหน้านี้ วรรณกรรมไทยได้ทำหน้าที่เป็นเสียงสะท้อนแทนผู้คนกลุ่มด้อยโอกาส ผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือคนชายขอบที่ไม่มีโอกาส ไม่มีปากมีเสียง งานวรรณกรรมที่ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวปัญหาหรือชีวิตของผู้คนเหล่านั้นต่อสังคมอย่างมีรสสัมผัสอารมณ์หรือให้ความบันเทิงจึงมีที่ทางในสังคมนักอ่าน รวมถึงในยุคสมัยเดียวกันที่การเข้าถึงพื้นที่ทางวิชาการและองค์ความรู้นั้นยังเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และห่างไกลของผู้คนทั่วไป การที่วรรณกรรมนั้นนำเอาเรื่องราวหลักคิดเหล่านั้นมาเล่าให้เห็นภาพจึงเป็นการทำงานต่อสู้เชิงความคิดที่บ่มเพาะสร้างความตระหนักรู้ให้สังคม

หากในปัจจุบันที่ผู้คนมีปากมีเสียงและสื่อสารเรื่องราวของตัวเองได้ง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยี การเข้าถึงพื้นที่ทางวิชาการ ทั้งเนื้อหาและตัวบุคคลนักวิชาการสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก และหนังสือแนวบันเทิงที่หลากหลายตามรสนิยม หนังสือแนววรรณกรรมยุคใหม่ที่นับวันจะเล่นท่ายากจนห่างไกลจากความบันเทิงไปทุกทีๆ ทั้งจะว่าให้ความรู้หรือแรงบันดาลใจหรือก็ไม่เชิง โดยเฉพาะงานเขียนแนวที่จ่อมจมกับความทุกข์ยากหรือความลำบากอันมาจากความหมกมุ่นส่วนตัวหรือเรื่องราวที่ใครๆ ก็รู้กันว่ามันมีอยู่และเป็นเช่นนั้น ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนปรารถนาที่จะอ่านอีกต่อไป

วรรณกรรมไทยที่อาจจะยังพอมีที่มีทางในความสนใจของสังคมนักอ่านก็ยังพอมีอยู่ อย่างวรรณกรรมจากนักเขียนและคนทำหนังสือที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจความสัมพันธ์ในรูปแบบที่อธิบายยาก บาดแผล ปัญหา และเรื่องราวความเจ็บปวดร่วมกันที่ผู้คนในสังคมปัจจุบันต้องเผชิญ มีรูปแบบการเล่าเรื่องที่ทันสมัย อ่านแล้วได้รสสัมผัสใจและความรู้สึกร่วมที่ผู้อ่านรู้สึกว่าเรื่องราวของพวกเขาหรือชีวิตของพวกเขานั้นได้ถูกมองเห็นและเล่าออกมาได้อย่างมีชั้นเชิง วรรณกรรมรุ่นใหม่แนวนี้ก็ยังคงมีแฟนประจำอยู่ในระดับที่ไม่เงียบเหงานัก

แต่ถึงอย่างนั้น วรรณกรรมสะท้อนสังคมเองก็ยังมีพื้นที่ให้เล่าเรื่องที่ยังไม่มีใครเล่า เช่นสังคมชนบทในยุคสมัยของคนหนุ่มสาวที่สมาร์ทโฟนเข้ามาแทนที่วิทยุทรานซิสเตอร์จนเกิดมีดาวติ๊กต็อกระดับนาโนอินฟลูเอนเซอร์พื้นบ้านนั้นเป็นอย่างไร วิถีของคนหนุ่มกลุ่มวัยรุ่นสร้างตัวและผู้สาวทรงซ้อที่ถูกคนในสังคมเมืองมองอย่างล้อเลียนนั้น ที่แท้แล้วเขามีมุมมองและความหมายอย่างไรในชีวิตกันแน่ เช่นเดียวกับการต่อสู้ของเด็กและเยาวรุ่นชั้นมัธยมที่เกิดขึ้นในสองสามปีที่ผ่านมา ก็ยังคงเป็นเรื่องราว เป็นพื้นที่ซึ่งรอนักเขียนผู้ฝีมือถึงเข้าไปล้วงลึกเพื่อนำมาถ่ายทอดออกมาเป็นวรรณกรรม

แม้ว่าสถานการณ์วงการนักเขียนนักอ่านในภาพรวมอาจจะยังดูไม่แย่เกินไปก็ตาม อาจจะเห็นว่ายังมีผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ทีหลังและเติบโตได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าหนังสือและการอ่านหนังสือ ก็ถูกช่วงชิงเวลาและความสนใจไปโดยสื่อประเภทอื่นที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า เวลาในการอ่านหนังสือของผู้คนเฉลี่ยลดลง เช่นนี้ การที่มีคนอ่านหนังสืออยู่ ไม่ว่าจะหนังสืออะไรก็ตาม อย่างไรเสียก็เป็นเรื่องที่ยังดีแล้วทั้งสิ้น จนอย่ามาเกี่ยงงอนกันเลยว่าใครจะอ่านหนังสืออะไร

สำหรับใครที่สนใจจะหาหนังสือไปอ่านเล่นหรืออ่านจริงจังท้ายปี หรือจะซื้อหนังสือไปเป็นของขวัญปีใหม่ ช่วงนี้ สำนักพิมพ์มติชนกำลังจัดงานหนังสือขนาดน่ารักแบบมิตรสหายนักอ่าน งานสมานมิตรฯ Return” #เปิดโกดังหนังสือดี อยู่ที่มติชนอคาเดมี ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันอาทิตย์ที่ 4 ..65 ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 . ร่วมกับสำนักพิมพ์ broccoli book ในเครือ และสำนักพิมพ์มิตรสหายอีก 8 สำนัก ได้แก่ สำนักพิมพ์ยิปซี แสงดาว สารคดี มูลนิธิโครงการตำราฯ ประพันธ์สาส์น นานมีบุ๊คส์ Salmon และสำนักพิมพ์ต้นฉบับ พร้อมกิจกรรมเสวนาและเวิร์กช็อปจากนักเขียน นักวิชาการ รวมถึงนิทรรศการศิลปะ สถาปัตยกรรม สิ่งพิมพ์ กับคณะราษฎร

มาตามเก็บกันได้ ทั้งหนังสือเก่า หนังสือใหม่ หนังสือหายาก ในราคาสบายกระเป๋า และบรรยากาศฉันมิตรตามประสานักอ่าน นักเขียน และคนทำหนังสือกันได้ครับ

กล้า สมุทวณิช

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image