ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|
คนไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีบรรพชนสายหนึ่งโยกย้ายจากลุ่มน้ำโขง และมีส่วนเชื่อมโยงไปถึงผู้ไท เมืองแถน
เชื้อสายแถนในไทย นิทานกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุงกับเรื่องขุนบรม เล่าว่าขุนบรมเป็นเชื้อสายแถน มีหลักแหล่งอยู่เมืองแถน แล้วขยายไปไทย
ขุนบรมให้ลูกชาย 7 คน แยกครัวไปสร้างบ้านแปลงเมืองตามที่ต่างๆ บริเวณลุ่มน้ำโขงไปถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาในเขตไทยทุกวันนี้ มี 2 คน คือ ไสผงกับงัวอิน
ไสผง สร้างเมืองโยนก ในล้านนา (ไส แปลว่า ลูกชายคนที่สี่)
งัวอิน สร้างเมืองอโยธยา ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (งัว, งั่ว แปลว่า ลูกชายคนที่ห้า)
ต่อมาผู้คนจากดินแดนโยนก เคลื่อนย้ายลงทางทิศใต้ ผ่านเมืองพะเยา เมืองแพร่ ลงทางแม่น้ำน่าน (มีในตำนานสิงหนวัติกุมาร)
เมื่อลงถึงเมืองอุตรดิตถ์ แล้วสร้างบ้านแปลงเมืองบริเวณลุ่มน้ำโพ (ไหลลงแม่น้ำน่าน) ทาง ต. ทุ่งยั้ง มีพัฒนาการต่อไปเป็นประชากรรัฐสุโขทัยและรัฐอยุธยา
แถน คือขุนแผน บริเวณภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรียกแถนด้วยสำเนียงไทย ลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่าขุนแผน (หมายถึงพระพรหม มีในโองการแช่งน้ำ) เพราะยังไม่คุ้นชื่อเทวดาที่เรียกด้วยภาษาสันสกฤต จึงเอาคำลาวดั้งเดิมที่คุ้นเคยมาใช้เรียกแทน
แถน หมายถึง อำนาจเหนือธรรมชาติ (คือผี) ซึ่งถือเป็นบรรพชนของผู้ไทย (ลาวเก่า) และคนในตระกูลลาวทั้งหลาย บางทีเรียกผีฟ้า, เจ้าฟ้า เพราะเชื่อว่าสิงอยู่บนฟ้า เป็นเจ้าใหญ่ของท้องฟ้า
แล้วเชื่ออีกว่าเป็นผู้ควบคุมน้ำที่มีบนฟ้า ซึ่งปล่อยให้ตกลงมาเป็นฝน จึงมีนิทานจุดบั้งไฟขอฝนบนฟ้าจากแถน
ร่องรอยเก่าๆ เหล่านี้ เป็นพยานแวดล้อมแน่นหนาว่าบรรพชนคนไทยสายหนึ่งเกี่ยวดองกับผู้ไท และเผ่าพันธุ์ต่างๆ ทางลุ่มน้ำโขงโยง โยงถึงลุ่มน้ำแดง-ดำ ในเวียดนาม
ภาพประกอบ
กำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง อยู่ในห้องจัดแสดงนิทรรศการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ (วาดโดย สุรเดช แก้วท่าไม้)