การเมืองเรื่องขั้ว…นโยบายก็แค่ฝัน

การเมืองของอาการใกล้หมดอายุ ภายหลังคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. … ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ วันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คาดล่วงหน้าว่าผลคงไม่แตกต่างไปจากร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ผลการตัดสินดังกล่าวจะเป็นตัวเร่งให้เสียงเรียกร้องกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รีบตัดสินใจยุบสภาดังถี่กระชั้นมากขึ้นอีก

ประเมินสถานการณ์ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ แม้เก็บคะแนนนิยมได้จากผลสำเร็จจัดประชุมเอเปคปิดลงได้อย่างงดงาม แต่ก็คงพยายามยื้อต่อไปไม่ตอบรับข้อเสนอยุบสภาเร็วๆ นี้แน่

จนกว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ จะจัดการภายใน วางตำแหน่งแห่งหนให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เหมาะสม และระดม ส.ส. อดีต ส.ส. ว่าที่ ส.ส. ที่ยกโขยงออกมาจากพรรคต่างๆ ได้ลงตัว โดยเฉพาะพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์

Advertisement

ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์และแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติที่ปรากฏหลังประชุมเอเปค เป็นสิ่งยืนยันชัดเจนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจไปต่ออย่างแน่นอน เพียงแต่รอจังหวะประกาศอย่างเป็นทางการแค่นั้น

ฉะนั้น เป็นอันว่าผู้เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกและหยุดบทบาททางการเมืองเพียงแค่นี้ เลิกคิด เลิกร้องขอไปได้เลย และจับตาดูกันต่อไปว่า พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศยุบสภาในห้วงเวลาไหน ปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 ก่อนรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ 4 ปี วันที่ 23 มีนาคม 2566

แต่กว่าจะถึงเวลานั้น ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจประกาศตัวทางการเมืองและยุบสภา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ต้องเผชิญก่อนสิ้นปีนี้ก็คือ ญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 152

Advertisement

พรรคร่วมฝ่ายค้านวางกำหนดการไว้ว่าจะยื่นญัตติผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรกลางเดือนธันวาคมนี้

แน่นอนว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านคงใช้โอกาสนี้ เป็นห้วงเวลาสุดท้ายเรียกเก็บคะแนน ด้วยการรุมถล่ม พล.อ.ประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างรอยแผลและตัดคะแนนในเวทีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

ในทางกลับกันหาก พล.อ.ประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมรับมือญัตติดังกล่าว คงใช้โอกาสเดียวกันนี้ตีโต้กลับ ตัดคะแนน บั่นทอนเครดิตพรรคฝ่ายค้านได้เช่นกัน

ผลจะออกมาเป็นประการใดก็ตาม ญัตติอภิปรายทั่วไปยิ่งรุมเร้าให้กระแสเรียกร้องให้ยุบสภา จัดการเลือกตั้งให้เร็วขึ้นดังต่อไปอีก

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยื้อต่อไปเพื่อสร้างประวัติศาสตร์การเมืองและบันทึกเกียรติประวัติส่วนตัวว่าเป็นรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่อยู่ครบวาระ 4 ปี รวมทั้งสภาผู้แทนราษฎรอยู่ครบวาระเป็นครั้งแรกก็ตาม

โดยวาระการประชุมของสมัยประชุมรัฐสภา ปี 2565 จะปิดฉากลงวันสุดท้าย 28 กุมภาพันธ์ 2566 หลังจากนั้นจะไม่มีการประชุมอีกเพราะถือว่าครบวาระแล้ว

เมื่อปฏิทินทางการเมืองเป็นไปตามกำหนดเวลานี้ ยิ่งทำให้เสียงเรียกร้อง กดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งให้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องคอยให้ครบ 4 ปีเต็ม ดังยิ่งขึ้นอีก

แนวโน้มสถานการณ์จะเป็นไปอย่างไร เงื่อนไขสำคัญและเป็นปัจจัยต่อการยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งก็คือ การเมืองก่อนการเลือกตั้งซึ่งเป็นมาตลอด

การเมืองเชิงคณิตศาสตร์ การเมื่องเรื่องตัวเลข การคิดคำนวณจำนวน ส.ส.ที่คาดว่าจะได้รับเลือกตั้งของแต่ละพรรค และการจับมือกันก่อนวันเลือกตั้งนั่นเอง

ปากก็จะพากันบอกว่าต้องรอดูผลการเลือกตั้ง การตัดสินใจของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อน แต่ความเป็นจริง การจับมือ แบ่งขั้วอย่างหลวมๆ ระหว่างพรรค ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเกิดขึ้นก่อนเสมอ

แต่ที่แน่นอนปัจจัยหนึ่งซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านเสียเปรียบพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้เปรียบแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ต่อไปยังไม่สิ้นสุด ก็คือเงื่อนไขจากบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 272

ฐานวุฒิสมาชิก 250 เสียง ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ทิ้งทวนครั้งสุดท้ายก่อนวุฒิสภาครบวาระ 5 ปี พฤษภาคม พ.ศ.2567

ด้วยปัจจัยทางการเมืองเดิมๆ นี้ ถึงพรรคฝ่ายค้านประกาศว่าจะได้ชัยชนะท่วมท้น แลนด์สไลด์แค่ไหน ถ้ารวมจำนวนมือกันแล้ว ได้ไม่มากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังคงสูงกว่า
เว้นเสียแต่ว่าพรรคภูมิใจไทยได้รับเลือกตั้งมากมาเป็นอันดับหนึ่งในปีกของพรรคร่วมรัฐบาลเดิม การสลับปรับเปลี่ยนขั้ว ต่อรองแลกเปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรี ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านจะเข้มข้นขึ้น

แม้แต่พรรคพลังประชารัฐที่เคยชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมาแล้ว เลือกตั้งครั้งใหม่นี้น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง หากเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรณ หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทำให้เสียงวุฒิสมาชิกแตกเป็นสองฝักสามฝ่ายได้

ปิดท้ายวันนี้ ประเทศไทยยุค 5จี ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การเมืองเรื่องคน (เก่า) เรื่องมือ ยังคงสำคัญกว่าและมาก่อนการเมืองเรื่องนโยบาย เหมือนเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image