ยุคความจริงอัสดง เราจึงสร้างทรงจำของทรงจำ โดย กล้า สมุทวณิช

เมื่อพจนานุกรม Oxford เลือกให้คำว่า “Post-Truth” เป็นคำแห่งปี 2016 ก็พาให้ระลึกถึง นวนิยายเล่มใหม่ของ คุณวีรพร นิติประภา

นวนิยายเล่มที่มีชื่อยาวและชวนพิศวงว่า “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ”

นวนิยายที่จะพาเราล่องไล่ไปในทรงจำของทรงจำของครอบครัวชาวจีนอพยพที่มาอยู่ในประเทศไทยช่วงก่อนสงครามโลก สร้างประวัติศาสตร์ของวงศ์ตระกูลที่ถูกสาปล้อขนานไปกับชะตากรรมของแผ่นดินไร้ทรงจำ ผ่านการเล่าวุ่นวิ่นสับสนกระโจนข้ามกันกลับไปกลับมาให้ผู้อ่านปะติดปะต่อประวัติศาสตร์และเรื่องราวเหล่านั้นเอาเองผ่านปากคำยายศรี หนูดาว และแมวกุหลาบดำ

ผู้อ่านจะไหลผ่านความทรงจำหนึ่ง ประกอบกับความทรงจำอื่นเป็นเรื่องราว ที่เราก็ไม่รู้ว่าจริงเท็จอย่างไร เพราะความทรงจำนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลโดยแท้ ว่าเราจะเลือกจำอะไร และจำมันอย่างไร ผสมความจำนั้นเข้ากับความจริงความเชื่อใด และเราจะเล่ามันออกมาอย่างไร

Advertisement

เช่นในยุค Post-truth หรือยุคอันพ้นจากความจริง ซึ่งจากการสังเกตของ Oxford เขาพบว่าคำนี้ได้มีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 2,000% จากปรากฏการณ์อันน่าตื่นเต้นของการ “ออกเสียง” ของประชาชนในสองประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก การออกเสียง Brexit ในอังกฤษ และปรากฏการณ์โดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐอเมริกา

คำอธิบายของ Post-truth นี้ได้แก่ “สิ่งอันแสดงถึงสภาวการณ์ที่ข้อเท็จจริงไม่อาจโน้มน้าวความคิดความเชื่อของผู้คนในสังคมได้เท่าอารมณ์รับรู้และความเชื่อส่วนบุคคล”

ชัยชนะของฝ่าย Brexit ก็ดี ชัยชนะของทรัมป์ก็ตาม เชื่อว่ามาจากปรากฏการณ์พ้นความจริงนี้ เนื่องด้วยผู้คนไม่สนใจข้อเท็จจริงเท่ากับความรู้สึกที่ส่งต่อกันผ่านเครือข่ายสังคม จนเป็นเหตุโน้มนำให้ผลการ “เลือก” ของคนส่วนใหญ่ออกมาดังที่เห็นนั้น

Advertisement

หรือหากจะเอาปรากฏการณ์นี้มาจับเข้ากับบริบทไทยๆ เราบ้าง ก็พบว่ามีภาพที่แสดงชัดอยู่ภาพหนึ่ง คือ การออกเสียงประชามติ “ไทยรับ” ที่ประชาชนเสียงข้างมากของประเทศไทยลงมติ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรของไทยนี้

ผลการสำรวจที่ออกมาปรากฏว่า คนส่วนใหญ่นั้น “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่เคยอ่านเลยสักมาตรา นั่นคือตัวอย่างที่ดีที่จะอธิบายเรื่องยุคสมัยแห่งการพ้นความจริงได้ดีที่สุด และเผลอๆ อาจจะชัดเจนกว่าปรากฏการณ์ที่อังกฤษหรืออเมริกาเสียอีก

นั่นเพราะการลงประชามตินั้น คำถามตรงๆ คือ ท่านเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่ผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญได้นำเสนอมาหรือไม่ เพื่อจะตอบคำถามนี้ได้ “ข้อเท็จจริง” แรกที่เป็นวัตถุอันปรากฏจับต้องได้ คือ “ตัวบท” ของรัฐธรรมนูญที่เป็นคำถามนั้น

หากการตอบคำถามนั้นมาจากข้อเท็จจริง ก็จำเป็นยิ่งที่จะต้อง “อ่าน” เนื้อหาตัวบทแห่งรัฐธรรมนูญนั้น แต่กระนั้นเมื่อเราพิจารณารัฐธรรมนูญอย่างพ้นความจริงไปแล้ว การออกเสียงนั้นก็ไม่ต้องขึ้นกับเนื้อหาตัวบทก็ได้แม้แต่ตัวอักษรเดียว เช่นนี้เหตุผลของคนส่วนใหญ่ที่ออกไปการับร่างจึงมีได้แตกต่างหลากหลายออกไป ตั้งแต่รู้สึกเบื่อหน่ายกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ไปจนถึงการแสดงออกว่า “ชอบ” ในสิ่งที่ผู้มีอำนาจในขณะนี้จัดหามาให้

และก็ไม่ต้องสงสัยว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่ถ้าจะมีเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ในปีสองปีจากนี้ การ “ออกเสียง” ของผู้คนจะออกเสียงกันด้วยข้อเท็จจริงหรือความรู้สึก

ก็ในเมื่อข้อเท็จจริงไม่สำคัญเท่าเราจะรู้สึกกับเรื่องนั้นและจะเชื่อมันอย่างไรแล้ว มันก็จะรวมตัวกันสั่งสมเป็นความทรงจำ และเป็นทรงจำของความรู้สึกที่อาจจะเจือจางความจริงอยู่บ้างเพื่อความสมจริง ก่อนจะแปรรูปไปกลายเป็นเรื่องเล่าขานกล่าวกันต่อไปหลายทอดต่อหลายทอด วนซ้ำกลับมาจนไม่มีใครจำได้แล้วว่า “ความจริง” นั้นคืออะไร

เช่นความเลื่อนไหลเลื่อนเปื้อนของความทรงจำที่ไหลปนกันกลายเป็นเหตุการณ์ “16 ตุลา” ที่ใครหลายคนอธิบายได้เป็นคุ้งเป็นแคว หรือเอาเรื่องที่ใกล้เข้ามาหน่อยก็ได้ กับเหตุการณ์เดียวกันในช่วงเวลาเดียวกันต่างกัน ก็เหตุการณ์ที่ฝ่ายหนึ่งมีความทรงจำว่าเป็น “การสังหารหมู่กลางเมือง” ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งจดจำว่าเป็น “การเผาบ้านเผาเมือง” นั่นอย่างไร

แม้กระทั่งว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลออกมายืนยันความบริสุทธิ์ของฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเผาบ้านเผาเมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครแล้วหลายเรื่อง แต่ความทรงจำอันเป็นความเชื่อนั้นก็หาไปเปลี่ยนได้จากข้อเท็จจริงนั้นไม่ (และในอีกทางหนึ่ง หลายสำนวนที่ปรากฏจากการไต่สวนว่ามี “ชายชุดดำ” ไม่ทราบฝ่ายเข้ามาร่วมก่อการจริง ข้อเท็จจริงนี้ก็ไม่ได้รับการจดจำจากอีกฝ่ายดุจกัน)

หรือเรื่องเบาๆ ของความทรงจำอันเลื่อนเปื้อน คือตลกเสียดสีอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงผู้เปิ่นเซอะ อ่านอักษรคำ “คอนกรีต” เป็น “คอ-นก-รีต” ซึ่งหลายคนเชื่อไปแล้วจริง เชื่อว่าจริงแม้จะไม่มีใครสักคนที่เคยเห็นหรือได้ยินกับหู แต่คนที่เชื่อนั้นใช้ความรู้สึกชิงชังมาห่อหุ้มเรื่องอันพ้นความจริงนั้น ในทรงจำของทรงจำของเขา มีคลิปที่อดีตนายกฯคนนั้นอ่านถ้อยคำขบขันนั้นเล่นซ้ำอยู่ เป็นข้อเท็จจริงส่วนบุคคลที่หลายคนมีร่วมกัน

เราจึงยังมีคนที่ยังซาบซึ้งขึ้งโกรธไปกับข้อความที่หาที่มาไม่ได้ที่ส่งต่อๆ กันมา โดยไม่นำพาว่าจะมีคนทักท้วงว่าข้อความนั้นพิสูจน์จากหน่วยงานทางการแล้วว่าเป็นความเท็จ แต่จะทำไมกันเล่า ในเมื่อความเท็จนั้นก็ทำให้เรารู้สึกเต็มตื้นดีอยู่

และเรายังมีผู้ถ่ายทอดความทรงจำอันเลื่อนไหลพ้นความจริง ประเภทว่า อับราฮัม ลินคอล์น เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา กบฏบวรเดชคือการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันของคณะราษฎร ท่านจอมพลพิบูลสงครามออกแบบธงไตรรงค์สามสี คนแบบนี้ก็กลายเป็นคนดังหรือศาสดาของคนบางกลุ่มไปได้ ข้อเท็จจริงอันพ้นความจริงของเขาถูกถ่ายทอดต่อไปและต่อไป เป็นประวัติศาสตร์สร้างเองในยุคพ้นความจริง ที่จะกลายเป็นความทรงจำที่จะวนเวียนอยู่ในมโนทัศน์ของคนเหล่านั้นชั่วกาลนานสืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน

ในยุคที่ความจริงอัสดงเหลือแต่ความรู้สึกเป็นสรณะ ผู้คนสร้างความทรงจำส่วนบุคคลเพื่อจดจำและถ่ายทอด เช่นนี้เราจึงไม่อาจออกจากป่ากระถินณรงค์นี้ไปไหนได้เลย

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image