พระมหากรุณาธิคุณต่อวงการสื่อมวลชน โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดงานรวมใจคนสื่อน้อมเกล้าฯแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2559 เวลา 16.00-20.00 น.

เวลา 17.00 น. สมาชิกสื่อมวลชนจากทุกองค์กรรวมตัวกันที่บริเวณลานพิธีหลังอาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ผู้ดำเนินรายการ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง เชิญคุณวันชัย วงศ์มีชัย กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณประการหนึ่งคือที่ดินสร้างอาคารของสมาคมแห่งนี้ซึ่งเป็นที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทั้งยังทรงพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรกเสด็จฯวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2512 ครั้งที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปิดป้ายอาคารและการจัดกิจกรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

Advertisement

จากนั้นเชิญคุณพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ประธานมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ประธานในพิธีจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย และเชิญคุณมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยกล่าวรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

เชิญคุณอัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ และนักเขียนซีไรต์ กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อวงการนักเขียน เชิญคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติและกวีซีไรต์ อ่านบทกวีสดุดี

เชิญสื่อมวลชนซึ่งชุมนุม ณ ที่นั้นร่วมจุดเทียน และยืนสงบนิ่ง 89 วินาที แสดงความอาลัย

Advertisement

สุดท้ายร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี

วารสาร “จดหมายเหตุ” ของสภาการหนังสือพิมพ์ซึ่งแจกในงาน คุณบุตรดา ศรีเลิศชัย เริ่มบทบรรณาธิการ “พระมหากรุณาธิคุณ” กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้มีอาชีพสื่อมวลชนซึ่งสำนึกในเกล้าในกระหม่อมมิมีวันเสื่อมคลาย

คือการที่ใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการยับยั้งกฎหมายมิให้ออกมาใช้บังคับเพราะเป็นการไม่เป็นธรรมแก่สื่อมวลชน

กรณีดังกล่าวคือ เมื่อ พ.ศ.2535 รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยเฉพาะมาตรา 328 ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เพิ่มโทษให้จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท มีผลบังคับใช้ถึงทุกวันนี้

หลังจากนั้น ในรัฐบาลเดียวกันเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความเสียหายเพื่อละเมิด เพิ่มค่าความเสียหายตามมาตรา 423 วรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำด้วยการโฆษณาด้วยหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอย่างอื่น ให้ศาลกำหนดให้เท่ากับจำนวน 20 เท่า ของอัตราโทษปรับขั้นสูงที่กำหนดไว้ในมาตรา 328 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (เท่ากับ 4 ล้านบาท) เว้นแต่จะมีการพิสูจน์ความเสียหายได้มากกว่านั้น

ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักกฎหมายและสื่อมวลชนว่าขัดต่อความเป็นธรรมและน่าจะขัดต่อความสงบเรียบร้อย ฯลฯ

ในที่สุด เมื่อได้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย และรัฐบาลมิได้ยืนยันตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2535 กำหนด จนสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้นหมดวาระ ทำให้ร่างกฎหมายนั้นต้องตกไป

กฎหมายดังกล่าวแทนที่จะให้โจทก์นำสืบถึงความเสียหาย และศาลเป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่าควรจะชดใช้ค่าเสียหายเท่าไรหลังจากฟังพยานทั้งสองฝ่าย กลับจะไม่เป็นเช่นนั้นเสียแล้ว

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่วงการสื่อมวลชนเป็นล้นพ้นหาที่เปรียบมิได้

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image