กระตุ้นเศรษฐกิจเอเชีย เมื่อเศรษฐกิจโลกซบเซา โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ขณะนี้ใครๆ กำลังกังวลสนใจว่าเอเชียจะเจริญเติบโตในอัตราที่น่าพอใจได้อย่างไร ให้สมกับความคาดหวังว่าศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษของเอเชีย เพราะว่าตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลก 2008 ทุกประเทศในเอเชียโตช้าลงกว่าในช่วงก่อนหน้ามาก

ประเด็น คือ จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเอเชียโตเร็วกว่านี้ได้อีกอย่างไร? แนวทางหนึ่งคือใช้ยุทธศาสตร์เก่าที่พึ่งการส่งออกเป็นหลัก (export-led growth) แต่แนวทางนี้ถึงทางตันในภาวะการค้าโลกหดตัว และผู้คนก็ไม่พอใจ เพราะผลได้จากยุทธศาสตร์ดังกล่าวกระจายไปแบบลักลั่นมาก ดังเห็นได้จากผลการสำรวจของเอเชี่ยนบาโรมีเตอร์ (Asian Barometer Survey)

เป็นการสำรวจทัศนคติของชาวเอเชียตะวันออก 14 ประเทศด้วยกัน รวมทั้งอาเซียน จัดทำโดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน สอบถามทั้งค่านิยมความคิดเห็นเรื่องการกระจายรายได้ ประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล ใช้วิธีสำรวจที่ยอมรับกันในระดับสากล ทำมาสี่ครั้งตั้งแต่ปี 2001 ใช้คำถามชุดเดียวกันจึงเปรียบเทียบกันได้

ผลของการสำรวจทัศนคตินี้ในปีล่าสุดคือ 2014 ต่อประเด็นการกระจายรายได้ พบว่าชาวเอเชียตะวันออกไม่พอใจกับสภาพการกระจายรายได้ในประเทศของตน โดยเฉพาะเยาวชนมองว่าโอกาสในชีวิตของเขาแย่กว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่

Advertisement

นักวิชาการจึงกลัวว่าเอเชียอาจหันไปต่อต้านการค้าเสรี นักวิชาการเหล่านี้เห็นว่าเอเชียจะเติบโตได้ก็ด้วยการส่งออกเป็นหลักเหมือนในอดีต โดยไม่ต้องปรับนโยบายด้านการ
กระจายรายได้แต่อย่างใด

จะว่าแนวความคิดดังกล่าวผิดก็ไม่ใช่ แต่ไม่เหมาะกับกาลเทศะ

เพราะปัญหาคือ ตลาดโลกได้อยู่ในภาวะหดตัวมาตั้งแต่หลังปี 2008 และไม่มีทีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้นมากในเร็วๆ นี้ เศรษฐกิจจีนที่เคยเป็นหัวจักรสำคัญก็ชะลอตัว และญี่ปุ่นก็จะยังไม่ฟื้นตัวอีกนาน ยังมีข้อเสนอให้เพิ่มผลิตภาพ ใช่ ถูกต้องทางทฤษฎีแต่ก็ยากและหลายประเทศได้พยายาม และแม้จะทำได้บ้างก็อาจจะไปได้ไม่ไกลเพราะการแข่งขันสูงขณะที่ก้อนเค้กลดลง

Advertisement

นอกจากนั้น แนวคิดนี้อาจจะให้ความสำคัญกับการส่งออกสู่ตลาดโลกที่ยุโรปและสหรัฐเป็นหัวจักรเศรษฐกิจมากเกินไปในขณะนี้ และอาจจะมองในแง่ตัวใครตัวมันมากเกินไปด้วย

ทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าโดยไม่ทิ้งของเดิมทั้งหมด คือ นโยบายปรับสมดุลใหม่ (rebalancing) ที่ประกอบด้วยนโยบายเสริม เป็นการเพิ่มนโยบายที่ทำให้การกระจายรายได้ดีขึ้น หรือลดความเหลื่อมล้ำลงตลอดทั้งเอเชีย ซึ่งจะมีผลเพิ่มดีมานด์ทั้งภูมิภาค เท่ากับลดการต้องไปพึ่งยุโรปและสหรัฐเป็นหลักดังในอดีต โดยในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละทิ้งการสร้างเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคและการค้า

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเคยเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องดีเพราะจูงใจให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจ และเพราะคนรวยออมมากกว่าจึงเป็นแหล่งเงินสำหรับลงทุน แต่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ นักเศรษฐศาสตร์ได้ข้อมูลจากการวิจัยเชิงประจักษ์ในหลายประเทศทั่วโลก นำไปสู่ข้อเสนอใหม่ว่าความเหลื่อมล้ำสูงทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง หรือชะงักงันไปเลย

เหตุผลคือเมื่อคนจำนวนมากมีรายได้น้อย ก็ใช้จ่ายน้อย ดีมานด์ต่อสินค้าจึงไม่เพียงพอที่จะจูงใจให้นักธุรกิจลงทุน นอกจากนั้นสังคมเหลื่อมล้ำสูงยังมีปัญหามากในเรื่องอาชญากรรม ความวิตกกังวลการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ ปัญหาสุขภาพจิตและร่างกาย เรียนไม่ดี ความรุนแรง การเลื่อนชั้นทางสังคมต่ำ และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

งานวิจัยขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ชี้ว่า ในประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางน้อยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 40-60 ของประชากรทั้งหมด จึงใช้เงินเพื่อการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อสร้างสมทักษะฝีมือน้อยกว่าครัวเรือนชนชั้นกลางและคนรวยเป็นอย่างมาก สภาวะเช่นนั้นขาดประสิทธิภาพ เพราะว่าเสียโอกาสที่จะมีคนงานทักษะสูงมาช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโต นักวิจัยพบว่าเศรษฐกิจเม็กซิโก นิวซีแลนด์ อิตาลี อังกฤษ สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสหรัฐ อาจจะโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ถ้าความเหลื่อมล้ำไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงอย่างที่เป็น

เมื่อเร็วๆ นี้ พอล ครุกแมน ก็ได้เขียนบทความสารภาพว่า งานวิจัยเชิงประจักษ์ของไอเอมเอฟว่าด้วยเรื่องความเหลื่อมล้ำกับความเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เขาเปลี่ยนใจจากที่เคยเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำทำให้เศรษฐกิจโตเร็ว หันไปส่งเสริมนโยบายลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต

อีกเรื่องคือ นักวิชาการพบว่าชาวเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนงานโรงงานอุตสาหกรรมมีแรงต่อรองน้อย ค่าแรงจึงถูกกดเอาไว้ ไม่สามารถเรียกร้องค่าแรงเพิ่มเป็นรายปี ตามอัตราการเพิ่มของประสิทธิภาพในการทำงาน (ผลิตภาพแรงงาน) หรือเมื่อค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้น ทำให้ประชากรกลุ่มใหญ่นี้ต้องออมในอัตราที่สูงมาก เพื่อเตรียมไว้ใช้ในวัยเกษียณและรักษาสุขภาพ เพราะแทบทุกประเทศไม่มีระบบบำนาญและการประกันสังคม ส่งผลให้ดีมานด์รวมต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมากขึ้นไปอีก กลายเป็นปัญหาความไม่สมดุลของโลก การสร้างสมดุลใหม่จึงจำเป็น

นโยบายสร้างสมดุลใหม่ที่เสนอโดยศาสตราจารย์ที่เกาหลีใต้ ที่สหรัฐ ที่จีน และในเมืองไทยด้วย คือ การเสริมนโยบายหลักด้านการค้าระหว่างประเทศ นวัตกรรม และเสถียรภาพ ด้วย 4 นโยบายสำคัญ คือ (1) ปฏิรูประบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่คนชรา (2) กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรมและมีการปรับรายปีตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนีค่าครองชีพและผลิตภาพแรงงาน (3) ดำเนินการปฏิรูประบบภาษีที่จะมีผลทำให้การกระจายรายได้ดีขึ้นหรืออย่างน้อยไม่เลวลง และเพิ่มรายได้รัฐเพื่อนำมาใช้จ่ายด้านการประกันสังคมและสาธารณูปโภคที่จำเป็น และ (4) ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศภายในเอเชียโดยปรับปรุงโลจิสติกส์เช่นการขนส่ง และทำลายมาตรการกีดกันการค้าต่างๆ

แนวนโยบายที่ว่ามานี้ จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเพิ่มความยุติธรรมทำให้รัฐบาลน่าเชื่อถือ ส่งเสริมความเชื่อมแน่นทางสังคม (social cohesion) ทำให้ผู้คนมั่นใจที่จะบริโภค และลดอุปสรรคการค้าภายในเอเชียเอง ผลคือเพิ่มดีมานด์รวมในแต่ละประเทศ ซึ่งเมื่อประสานกันทุกแห่งก็คือดีมานด์ของทั้งภูมิภาคเพิ่มขึ้น การค้าภูมิภาคเอเชียขยาย เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

ผลได้ที่สำคัญอีกประการคือเพิ่มเสถียรภาพทางสังคมให้แก่เอเชียตะวันออก การลดความเหลื่อมล้ำในแต่ละประเทศจะเป็นผลดีกับพัฒนาการทางการเมืองและป้องกันปรากฏการณ์การเมืองประชานิยมที่ไร้หลักเกณฑ์ด้วย

ผาสุก พงษ์ไพจิตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image