การเมืองไทยหลังกติกาเลือกตั้งลงตัว โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

การเมืองไทยหลังกติกาเลือกตั้งลงตัว หลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในรอบนี้

หลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในรอบนี้ น่าจะอธิบายได้สั้นๆ ว่า การเลือกตั้งในครั้งต่อไปที่จะมาถึงในปีหน้า ซึ่งโดยหลักการแล้ว ไม่ควรจะเกินเดือนพฤษภาคม ถ้านับจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในเดือนมีนาคม 2562 จะมีกฎกติกาที่คล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่มีจุดต่างที่สำคัญคือ จะไม่มีจำนวนคะแนนเสียงขั้นต่ำที่นำมาคิดคำนวณคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์

อธิบายง่ายๆ ก็คือ จะมีบัตรเลือกตั้งสองใบ ใบแรกเลือกเขตตัวเอง โดยทั้งประเทศมีสี่ร้อยเขต

ใบที่สองเป็นปาร์ตี้ลิสต์ (บัญชีรายชื่อ) ทั้งประเทศรวมเป็นหนึ่งเขต แต่ไม่มีการระบุคะแนนเสียงขั้นต่ำว่าต้องเกินร้อยละห้าเหมือนครั้งที่แล้ว

เรื่องที่น่าวิเคราะห์มีหลายประเด็น

Advertisement

หนึ่ง แน่นอนว่าจะต้องมีคำถามว่าจะมีการเลือกตั้งไหมในปีหน้า ผมก็คิดว่ามี เพราะทั้งระบอบการเมืองและชนชั้นนำทางการเมืองในปัจจุบันเรียนรู้แล้วว่า กฎกติกา และสถาบันประชาธิปไตยบางอย่าง โดยเฉพาะการเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาอำนาจของพวกตนเอาไว้ได้

การเลือกตั้งจึงไม่ใช่ตัวบ่งชี้ถึงความเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ถูกพลิกผันให้กลายเป็นการละเล่นที่ทำให้ตนครองอำนาจต่อไปได้ เพราะการสร้างพันธมิตรกับนักการเมืองจำนวนมากนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การไม่มีเลือกตั้ง

Advertisement

แต่เป็นเรื่องที่ว่าจะกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อไหร่ จะบริหารการเลือกตั้งอย่างไร เพื่อให้ฝ่ายของตัวเองได้เปรียบที่สุดเสียมากกว่า

สอง การเลือกตั้งในรอบนี้จะมีผลต่อการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองต่างๆ อย่างไร เพราะในช่วงที่ผ่านมามีพรรคการเมืองที่เกิดใหม่จากคนหน้าเดิมมากมาย

ในทางหนึ่งผมคิดว่าการเติบโตของพรรคการเมืองหน้าใหม่นั้นมีเยอะมาก แต่นักการเมืองหน้าใหม่ยังไม่ค่อยเห็น

หากพยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ผ่านมา อาจจะมองได้ว่าก่อนที่ความชัดเจนในเรื่องของกติกาการเลือกตั้งแบบวันนี้จะเกิดขึ้น ประเทศไทยยังอยู่ในกติกาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นกติกาที่มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว และมีระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่ซับซ้อนจากการคำนวณคะแนนเฉพาะคนที่ไม่ชนะในเขต ซึ่งทำให้โอกาสพรรคเล็กจะมีมากกว่าพรรคใหญ่

ทั้งนี้และทั้งนั้น แม้ว่ากติกาจะเปลี่ยนแล้ว ผมก็ยังสองจิตสองใจว่าพรรคเล็กๆ และพรรคใหม่ที่ดูแล้วก็ไม่น่าจะใหญ่มากจะอยู่อย่างไร

คำตอบของผมก็คือ ในช่วงนี้พรรคเล็กมากคงจะไม่รอด เพราะรอบที่แล้วก็หลุดเข้ามาได้เพราะกติกาคนไม่เต็มคน คือเสียงยังไม่ถึงจะได้สักคนแต่ได้ปัดเศษ

ส่วนพรรคใหม่ก็ยังคงสงวนท่าทีไว้ก่อน

นัยสำคัญจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องของการสะท้อนถึงความพยายามในการสร้างอำนาจต่อรองของชนชั้นนำหลากหลายกลุ่ม ที่ไม่ต้องอยู่ในพรรคเดียวกัน

แต่พยายามแตกขั้ว สร้างกลุ่มย่อย เพราะต้องการอำนาจต่อรอง

สิ่งนี้น่าสนใจว่าการครองอำนาจในแบบเดิมน่าจะหมดไปแล้วสำหรับคณะปกครองที่ขึ้นสู่อำนาจหลังรัฐประหาร

สิ่งที่เห็นอยู่ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงในแง่ของความเข้มข้นของอำนาจปกครองและอำนาจครอบงำในแบบเดิมที่ทุกคนต้องวิ่งตรงเข้าสู่นายพลคนสองคนอย่างไม่มีเงื่อนไข

มาเป็นเรื่องของการสร้างกลุ่มและต่อรองกับกลุ่มอำนาจหลักในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ได้ประกาศตนว่ายืนตรงข้ามกันสักทีเดียว

เอาเข้าจริงเราปฏิเสธได้ยากอยู่ว่า การรักษาอำนาจเผด็จการที่ยาวนานในสังคมไทยที่ผ่านมาในอดีตนั้นอยู่ได้จากการที่มีนักการเมืองจำนวนมากพร้อมจะสมยอม และพร้อมจะแอบอิงอำนาจเหล่านี้ และพยายามหาหนทางเจรจาต่อรองเมื่อเข้าไปเป็นหุ้นส่วนอำนาจ

มากกว่าการออกมายืนปะทะและต่อต้านอย่างเต็มตัว

ส่วนการแยกพรรคระหว่างสองพี่น้อง สำหรับผมไม่ได้คิดว่ามีความเป็นไปได้ทั้งสองด้าน

ด้านแรก คือ พรรคใหม่ที่เหมือนจะสนับสนุนคุณประยุทธ์ และได้รับอนุญาตให้ใกล้ชิดคุณประยุทธ์มากกว่าพรรคอื่นนั้นไม่น่าจะได้คะแนนถล่มทลาย เพราะ “ตัวตึง”ในพื้นที่นั้นมีน้อย แต่ปาร์ตี้ลิสต์จากความนิยมของคุณประยุทธ์น่าจะพอมี

ที่น่ากลัวไม่ใช่จำนวนนักการเมืองที่เข้าไปในพรรค และคะแนนเสียงการเลือกตั้ง

แต่อยู่ที่สัญญาณที่ไม่ค่อยจะดีนักว่าคุณประยุทธ์ติดใจกับการอยู่ในอำนาจทางการเมือง ทั้งที่ ส.ว.ที่ตนเลือกมาเป็นนั่งร้านจะหมดอายุในปีหน้า และตัวคุณประยุทธ์เองก็มีอำนาจเหลืออยู่เพียงสองปีตามการตีความของกลไกอำนาจทางกฎหมายที่ตั้งมากับมือ หรือจะเรียกว่าโกงความตายมาให้เต็มที่ได้อีกสองปี

เรียกว่าอีกสองปีก็จะต้องสิ้นอายุขัยทางการเมือง แต่ความพยายามดิ้นรนที่จะอยู่ต่อผ่านกลไกการเลือกตั้งนี้มันทำให้หวาดเสียวว่ามีแผนในการจะสืบทอดอำนาจต่อไปอีกแค่ไหน

และจะต้องแลกกับความสูญเสียอีกเท่าไหร่สำหรับบ้านเมืองนี้

ด้านที่สอง คือ ด้านคุณประวิตร ผมคิดว่ามีแต่ได้กับได้ เมื่อคุณประยุทธ์ออกไปจากบ่า เพราะคุณประวิตรนั้นยังสามารถเป็นนายกฯได้เอง หรือถ้าไม่ได้เป็นนายกฯ ก็ยังมีความเป็นไปได้ในการร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองอื่นๆ ได้มากกว่าคุณประยุทธ์

เรื่องราวที่อาจจะเป็นตลกร้ายที่สุดในรอบหน้า คือมีรัฐบาลที่มาจากเพื่อไทย พลังประชารัฐ และพรรคอื่นๆ ทุกพรรค โดยมีรวมไทยสร้างชาติและประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน

และถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคสักพรรค และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ใช่สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติก็เป็นไปได้ที่ว่า ในรอบหน้านี้จะมีแต่ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้นที่ต้องออกจากเกมที่ตัวเองอยากจะเล่นมาอย่างยาวนาน โดยไม่แบ่งคนอื่น และไม่คำนึงถึงกรอบกติกาใดๆเพราะที่ผ่านมานั้นรอดจนเป็นที่กังขามาตลอด

ส่วนคำถามที่ว่าพรรคจิ๋วๆ ทั้งหลายนั้นจะยังอยู่ต่อไหม ผมว่าน่าจะไม่รอด แต่พรรคจิ๋วใหม่บางพรรคอาจจะเกิดขึ้นเพื่อเป็นอะไหล่เอาไว้ ในกรณีที่พรรคใหญ่โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐนั้นเจออุบัติเหตุทางการเมือง

ซึ่งในกรณีนี้อาจไม่จำเป็นต้องมีอยู่ในสภาก็ได้ ขอให้มีชื่อจดจัดตั้งเอาไว้ก่อน

แต่ถ้าจะมีชื่อในสภาอาจจะมีไว้เพื่อเสนอกฎหมายบางอย่าง เป็นเหมือนพรรคแนวหน้าเพื่อไม่ให้พรรคใหญ่ต้องเข้ามาพัวพันกับเรื่องเหล่านี้โดยตรง และไม่ได้รับแรงกดดันทางการเมือง หากการนำเสนอกฎหมายบางอย่างนั้นทำไม่สำเร็จ

สาม ในส่วนของพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบัน ผมคิดว่าทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลจะมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น แต่ยังทำนายยากว่าได้สักเท่าไหร่ และจะได้จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

พรรคก้าวไกลเองนั้นผมคิดว่าจะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์แบบมีนัยสำคัญ และไม่เป็นสัดส่วนเดียวกับชัยชนะในระดับเขต เพราะรอบนี้ในระดับเขตนั้นเสียงที่แพ้จะไม่ถูกนับ

ในอีกด้านหนึ่งการดำรงอยู่ของก้าวไกลเองก็มีผลทำให้เกิดกระแสต่อต้านพรรคก้าวไกลได้มาก แม้ว่ากระแสต่อต้านนั้นอาจไม่มีนัยสำคัญทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งเท่ากับการเมืองในระดับวัฒนธรรมและรูปการณ์จิตสำนึก

หมายความว่า คนที่ไม่ชอบก้าวไกล คงไม่ได้ตัดสินในวันเลือกตั้งที่จะเลือกพรรคที่มีนโยบาย “ตรงข้าม” หรือ “ไม่เอา” พรรคก้าวไกล และความคิดแบบก้าวไกล

แต่ในระดับที่กว้างกว่านั้น คือระดับโลกออนไลน์ ออฟไลน์ และการพูดคุยทั่วไปก็มีความเป็นไปได้ที่ข้อเสนอหลายเรื่องของก้าวไกลจะไม่ถูกยอมรับ

สิ่งที่ท้าทายก้าวไกลในเกมเลือกตั้งจึงไม่ได้อยู่ที่การมีพรรคอื่นที่เก็บแต้มจากการโหวตเพื่อไม่เอาก้าวไกล

แต่เงื่อนไขทางกฎหมาย และการเล่นเกมเดิมๆ ในการจัดการกับคุณสมบัติของพรรค และสมาชิกพรรคก็อาจเกิดขึ้นได้

ส่วนเพื่อไทยนั้น ผมไม่มีข้อกังขาในเรื่องของแลนด์สไลด์ในระดับการเลือกตั้งแบบเขต แต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น

แต่ในระดับบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์นั้นผมก็ยังไม่แน่ใจว่าคะแนนของเพื่อไทยจะมีนัยสำคัญแค่ไหน และบอกได้ว่าต้องวัดกันจนนาทีสุดท้าย ตราบใดที่ตัวแคนดิเดตนายกฯของพรรคนั้นยังไม่ชัดเจน

และก็มีประเด็นท้าทายว่า การมีแคนดิเดตนายกฯของเพื่อไทยมากกว่าหนึ่งคนนั้นจะเป็นผลบวกหรือลบต่อคะแนนเสียงของพรรค ถ้าพรรคอื่นเล่นเกมมีแคนดิเดตคนเดียว

พอๆ กับประเด็นที่ว่าเมื่อในช่วงนี้เพื่อไทยสนใจจะใช้ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ คำถามก็คือ ถ้าแลนด์สไลด์ไม่หนักพอ เพื่อไทยมีแผนสองจะสร้างพันธมิตรกับใครเอาไว้บ้างหรือยัง

อย่าลืมว่าในรอบที่ผ่านมา เพื่อไทยก็มีโอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่ทำไม่สำเร็จในตอนสุดท้าย

เรื่องเหล่านี้คือความท้าทายของเพื่อไทย เพราะถ้าไม่เน้นยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ก็จะไม่มีกระแสพอที่จะได้คะแนนท่วมท้น

แต่ถ้าแลนด์สไลด์ไม่พอก็จะต้องไม่ปิดหนทางที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่น ภายใต้หลักการบางอย่างร่วมกัน และเป็นหลักการที่มวลชนของพรรครับได้

นี่คงเป็นภาพบางส่วนในห้วงขณะแรกของการเมืองหลังจากที่กติกาเลือกตั้งลงตัว (อย่างน้อยไม่ต้องกลับไปใช้กติกาเก่าอันงงแสนงง)

แต่การเมืองย่อมมีพลวัตของมันเอง ทุกสิ่งทุกอย่างอาจมีความเปลี่ยนแปลงไปได้อีกจากช่วงเวลานี้

ที่สำคัญต้องคิดว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นประชาชนหรือชนชั้นนำได้ประโยชน์มากกว่ากัน ต้นทุนและรายจ่ายที่ประชาชนและประเทศชาติจะต้องเสียไปอีกนั้นมีแค่ไหนกัน

หรือจะยังมีอีกเท่าไหร่…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image