คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : วิชา ‘ประวัติศาสตร์’ ในยุคที่ ‘ประวัติศาสตร์เถียงได้’

ประเด็นอันเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาและการเมืองคือเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกจากกลุ่มวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มาเป็นวิชาหลักหนึ่งติ่ง กลายเป็น 8+1 กลุ่มวิชา 

นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดย น..ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่รับมาจาก พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกทีหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจ รักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอดและนำมาปรับประยุกต์ในปัจจุบัน 

กระบวนการต่อไป คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะพิจารณาให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดให้ระดับประถมและระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจะต้องมีเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ 40 ชั่วโมงต่อปี ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายกำหนดให้ 80 ชั่วโมง ตลอดหลักสูตร 3 ปี 

ผู้ที่ติดตามการเมืองคงเดาทางว่า นี่เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบกระแสการลุกฮือขึ้นของเด็ก วัยรุ่นและเยาวชนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาและระดับมหาวิทยาลัยที่เริ่มตั้งแต่ช่วงปี 2562 เป็นต้นมา ทั้งการต่อสู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ที่ใกล้ชิดกับตัวเองอย่างเรื่องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา ไปจนถึงการต่อสู้เรียกร้องในระดับโครงสร้างในทางการเมืองระดับประเทศ 

Advertisement

ทางภาครัฐอาจจะมีสมมุติฐานง่ายๆ ว่าที่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่นั้นกลายเป็นนักเรียนเลวลุกขึ้นต่อต้านและตั้งคำถามกับการใช้อำนาจที่พวกเขาเห็นว่ามันไม่สมเหตุสมผลในทุกระดับนั้น เป็นเพราะไม่ภาคภูมิใจ ไม่รักความเป็นไทย ไม่หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญาอันเกิดจากการที่ได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์น้อยไป ดังนั้น ถ้าให้เรียนประวัติศาสตร์มากกว่านี้ เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่คงจะเป็นพลเมืองดีอย่างที่ผู้มีอำนาจรัฐในขณะนี้คาดหวัง

เป็นแนวคิดแบบราชการนั่นแหละที่มักจะเชื่อว่า ที่ประชาชนเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์” (หรือถ้าพูดแบบไม่เกรงใจกันคือด่า”) นั้น เป็นเพราะว่า “…ยังขาดความรู้ความเข้าใจอันดีหรือเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนในเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ (เติมชื่อหน่วยงาน) …” เช่นเดียวกับที่เราได้เห็นประจำในหนังสือแถลงข่าวแก้ตัวจากหน่วยราชการ เพราะพวกเขาเชื่อกันจริงจังว่า ถ้าประชาชนได้รู้และเชื่อตามข้อมูลทุกอย่างที่เขาได้แจ้งแถลงไขไปแล้ว ก็คงจะยอมรับและเลิกด่าไปได้ในที่สุด ซึ่งเรื่องการเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์นี้ก็คงจะมาจากฐานคิดในลักษณะเดียวกัน

แต่การที่เด็กและเยาวชนรุ่นนี้เป็นเด็กดื้อหรือนักเรียนเลวนั้นจะเกิดจากการไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์เป็นวิชาแยกจริงหรือ เพราะในเมื่อคนในรุ่นที่เรียกว่า Generation X คือคนกลุ่มที่เกิดตั้งแต่ปี 1965-1980 (..2508-2523) ซึ่งทั้งตัวผมผู้เขียน และคุณตรีนุชก็เกิดและเติบโตมาในรุ่นนี้ ก็โตมากับการที่วิชาประวัติศาสตร์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (...) ในชั้นประถม และในวิชาสังคมศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ได้ปรากฏว่าคนในรุ่นนี้โดยส่วนใหญ่ จะมีแนวคิดหรือทัศนคติอะไรที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกระแสหลักที่เกื้อกูลอำนาจรัฐในปัจจุบันอยู่สักเท่าไร 

Advertisement

ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่แท้จริงของการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของเราๆ ท่านๆ ให้กลายเป็นพลเมืองดีของรัฐไทย อยู่ที่การเรียนการสอนในสมัยนั้นมีลักษณะเป็นการป้อนข้อมูลด้านเดียว โดยหลักสูตรที่ถูกควบคุมโดยกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีความเป็นประวัติศาสตร์อันเถียงไม่ได้เสียมากกว่า

จริงอยู่ที่งานวิจัยหรือหนังสือหนังหาที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก อย่างเรื่องจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นของสมัยสุโขทัยจริงหรือไม่ วีรกรรมของท้าวสุรนารีเป็นเรื่องจริงแค่ไหน หรือปัจจัยใดกันแน่ที่ทำให้เสียกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้นก็มีอยู่ แต่การเถียงประวัติศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์กระแสรองที่กล่าวไปนั้น ก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้เข้าถึงได้ง่ายสักเท่าไรสำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมหรือมัธยม เว้นแต่จะเป็นผู้สนใจในเรื่องนี้จริงๆ ได้ผ่านหูผ่านตาไปเห็นหนังสือหรือนิตยสารที่กล่าวถึงพูดถึงในเรื่องนี้ หรือมีโอกาสได้ไปฟังอภิปรายเรื่องนี้ในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเด็กประถมมัธยมที่ไหนจะแสวงหาโอกาสเช่นนี้

กับอีกปัจจัยแวดล้อมหนึ่งที่น่าจะมีส่วนด้วย คือสื่อบันเทิงสมัยก่อน อันได้แก่ภาพยนตร์ ละคร หรือแม้แต่การ์ตูนหรือนิยายที่เป็นที่นิยมของเด็กและวัยรุ่นรวมถึงคนหนุ่มสาวนั้นมีลักษณะเป็นเรื่องราวที่แบ่งฝั่งแบ่งฝ่ายเป็นฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม แบบขาวดำชัดเจนสิ้นสงสัย อย่างที่ว่าฝ่ายธรรมะนั้นก็เป็นคนดีอย่างที่แทบไม่มีแง่มุมที่ชั่วร้ายใดเลย (อย่างมากก็อาจจะแค่ประวัติในอดีตอันขื่นขม) ส่วนฝ่ายอธรรมหรือผู้ร้ายนั้นก็ร้ายสุดขั้วชั่วสุดใจ ตายไปก็ไม่มีใครอาลัยไห้หวล 

ตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้ คือภาพยนตร์ชุด Star Wars ไตรภาคดั้งเดิม (Episode 4-6) ที่เป็นเรื่องการต่อสู้ของลุค สกายวอล์กเกอร์ และพันธมิตรกบฏของพวกเขาที่ต่อสู้กับวายร้ายจักรวรรดิเอ็มไพร์ที่ใน Star Wars ไตรภาคนั้น เราจะได้เห็นแง่มุมเฉพาะด้านที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของจักรวาลของเหล่าพันธมิตรกบฏ และความชั่วร้ายของฝ่ายจักรวรรดิบ้าอำนาจที่เป็นขั้วตรงข้ามกัน หรือจะลองเอาภาพยนตร์เรื่องอื่น เช่น ซุปเปอร์แมน การ์ตูนขบวนการห้าสี (เซนไต) ซีรีส์อะไรในยุคนั้นมาเล่าก็จะมีโครงสร้างไม่ต่างกัน ไม่พ้นฝ่ายธรรมะที่แสนดี มาปราบเหล่าอธรรมผู้ชั่วร้าย

ประกอบกับในยุคนั้นเองก็มีละครอิงประวัติ ศาสตร์ที่ช่วยในการปลุกเร้าอารมณ์ความเชื่อ ความรู้สึกในทางประวัติศาสตร์ชาตินิยมเข้ามาอีก อย่างเรื่องทหารเสือพระเจ้าตากที่ตัดจบไปดื้อๆ แค่ตอนที่พระเจ้าตากประกาศเอกราชตั้งกรุงธนบุรีได้ ก็ยิ่งขับเน้นความเชื่อในเรื่องวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบขาวดำให้เด็กและเยาวชนร่วมสมัยนั้นเข้าไปอีก

เด็กและเยาวชนที่เติบโตมากับประวัติศาสตร์บอกเล่าทางเดียวที่เถียงไม่ได้ ถูกกล่อมเกลาด้วยสื่อบันเทิงแบบแยกขาวแยกดำชัดเจนเช่นนั้น ก็กลายเป็นพลเมืองผู้เชื่องเชื่อในประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมกระแสหลักอย่างที่รัฐไทยอยากให้เป็น ผลของการกล่อมเกลาเช่นนั้นยังคงเหลือร่องรอย คือแม้กระทั่งจนถึงทุกวันนี้ คนรุ่นดังกล่าวนั้นบางส่วนก็ยังมีความรู้สึกว่าพม่าทั้งในมิติของรัฐประเทศและชนชาติเชื้อชาตินั้นยังเป็นอริราชศัตรูที่ไม่น่าไว้วางใจอยู่เลย

หากในยุคสมัยปัจจุบันที่ประวัติศาสตร์ทั้งหลายในบทเรียนนั้นเถียงได้และช่องทางไปสู่ข้อมูลข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์นั้นก็ไม่ได้ยากเย็นด้วยเครือข่ายสังคมออนไลน์และการเข้าถึงสื่อต่างๆ ในทางวิชาการได้ง่ายดายขึ้น รวมถึงการที่หนังสือสาระความรู้เชิงประวัติศาสตร์ได้รับความนิยมมากในช่วง 2-3 ปีนี้ ด้วยช่องทางที่ว่านี้แม้แต่เด็กประถมผู้มีความกังขา ก็ยังอาจเข้าไปฟังบรรยายหรือสนทนากับนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ นักคิด นักเขียนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก พร้อมกับเรื่องราวของคณะราษฎรเองก็ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา ที่น่าแปลกใจคือเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่นั้นรู้สึกเชื่อมโยงและเข้าไปต่อตรงเข้ากับประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรกันมากขึ้น ทั้งยังเผื่อแผ่ไปถึงประวัติศาสตร์ช่วงกลางของยุครัตนโกสินทร์และเรื่องราวหลังการอภิวัฒน์สยามไปจนการสิ้นสุดของประชาธิปไตยด้วย

การสอนประวัติศาสตร์ว่าในสมัยช่วงที่สยามประเทศพยายามก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ มีการปฏิรูปประเทศ มีความเจริญก้าวหน้าเช่นเดียวกับชาติตะวันตก และเผลอๆ ก้าวหน้าก้าวไกลไปกว่าญี่ปุ่นในยุคเดียวกันนั้นจะทำให้เชื่อได้เต็มที่หรือไม่ ในเมื่อมีหนังสือขายดีอย่างรัฐสยดสยองที่บอกเล่าเรื่องราวอันไม่ศิวิไลซ์ทั้งในเรื่องการลงโทษและระบบการสุขอนามัยของประเทศไทยอยู่ ประวัติศาสตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่พยายามชี้นำว่าคณะราษฎรนั้นชิงสุกก่อนห่าม ไปพร้อมกับการกล่อมเชื่อว่ามีความพยายามในการปลูกฝังความคิดและทดลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในสยามแบบค่อยเป็นค่อยไปมาก่อนแล้ว ทั้งดุสิตธานีหรือการตระเตรียมรัฐธรรมนูญรอไว้ถึงวันเมื่อไรที่ห่ามพร้อมค่อยเปลี่ยนแปลงอย่างมั่นคงยั่งยืนนั้น แต่ยุคที่การเข้าไป Google ดูได้ว่าดุสิตธานีนั้นที่แท้เป็นเพียงบ้านเรือนตุ๊กตา และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับว่าที่แท้แล้วเป็นรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยจริงหรือไม่นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่เข้าถึงได้ยาก ที่ตัดจบไม่เล่าต่อไม่ได้ง่ายๆ เหมือนละครทหารเสือพระเจ้าตากยุคปี 1984 ได้อีกแล้ว 

เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงที่สื่อบันเทิงในปัจจุบันมีลักษณะการวางพล็อตผูกเรื่องที่มีความซับซ้อน วางน้ำหนักให้แต่ละฝ่ายนั้นมีด้านดีด้านร้ายผสมกันไปเป็นเรื่องธรรมดา หรือบางครั้งก็สุดแต่ว่าใครจะมองในแง่มุมไหนด้วย แม้แต่เรื่องแนวฮีโร่ที่สร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงโดยแท้ ก็ยังมีลักษณะที่คลุมเครือไม่ขาวไม่ดำชัดเจนเหมือนก่อน ถ้ายกตัวอย่างเดิมคือภาพยนตร์ชุด Star Wars ของปีล่าสุดที่มาในรูปแบบซีรีส์อย่าง Kenobi และ Andor ก็ทำให้เราได้รู้ว่าพวกจักรวรรดิเอ็มไพร์ที่ถูกมองว่าชั่วร้ายก็มีแง่มุมความเป็นมนุษย์ที่ทำในเรื่องที่เขาเชื่อ ยังมีประชาชนบางส่วนที่ก็ไม่ได้เดือดร้อนหรือรู้สึกว่าฝ่ายจักรวรรดินั้นกดขี่ และฝ่ายกบฏเองบางครั้งก็ใช้วิธีที่ไม่ได้ขาวสะอาดหมดจดนัก เรื่องเล่าจากจักรวาลเดียวกันแต่เป็นแง่มุมโทนเทาไม่ขาวดำชัดเจนนี้คือวิถีทางของสื่อบันเทิงในยุคปัจจุบัน ที่แตกต่างจากช่วงยุคสมัยที่กล่าวถึงไปแล้วและเรื่องเล่าแบบนี้จึงสอดคล้องกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์จริงไม่ว่าจะของชาติไหนภาษาใดมากกว่า 

เด็กและเยาวชนผู้คนที่เติบโตมากับเรื่องราวสื่อบันเทิงเหล่านี้ไม่ได้มองโลกและเชื่อตามไปโดยง่ายว่าจะมีวีรบุรุษที่ทำเพื่อชาติหรือเพื่อเสรีภาพของประชาชนโดยบริสุทธิ์ผุดผ่องหาตำหนิใดไม่อีกต่อไป

ประวัติศาสตร์ที่ศึกษาและยอมรับทั้งมิติแง่ดีและแง่ร้ายตามความเป็นจริงนี้เอง ทำให้การชี้นิ้วกล่าวหาคณะราษฎรด้วยจุดอ่อนบางอย่างดังที่เคยนั้นอาจจะไม่มีประโยชน์อะไรแล้วก็ได้ เพราะคนรุ่นใหม่ที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์นั้นได้เห็นทั้งในแง่มุมความเด็ดขาดและพยายามสร้างความศิวิไลซ์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมกับยอมรับว่ามีแง่มุมความเป็นชาตินิยมรัฐนิยมฟาสซิสต์อยู่ด้วย เช่นเดียวกับคุณูปการของ นายปรีดี พนมยงค์ ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองและกฎหมายมหาชนไทย พร้อมกับที่ยอมรับว่าตัวท่านอาจจะเคยมีทัศนคติที่ไม่ดีนักกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมและบริบทเช่นที่กล่าวไปนี้ หากการแยกวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาแล้วสามารถบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจ รักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอด ฯลฯ ได้สำเร็จตามประสงค์ ก็ต้องขอปรบมือให้

แต่ถ้าวิชาประวัติศาสตร์ที่พวกท่านหมายใจไว้ กลับชี้นำให้คนรุ่นใหม่ที่ได้ทบทวนทั้งข้อดี ข้อเสีย ความผิดพลาดของอดีต บทเรียนต่างๆ ที่บรรพชนทำไว้ทั้งเรื่องชอบและเรื่องผิด เพื่อที่จะเลือกว่าจะรักษา สืบสาน และต่อยอดอะไร และเลือกสิ่งใดที่จะละทิ้ง ปล่อยตาย ตัดตอน ความผิดพลาดของบรรพชนที่เป็นบาปเคราะห์ให้คนรุ่นหลังต้องมารับกรรมลำบาก อย่างนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องดีไปอีกทางหนึ่งได้เช่นกัน

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image