หายนะเศรษฐกิจพม่าหลังรัฐประหาร โดย ลลิตา หาญวงษ์

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า เมื่อใดที่เกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างรัฐประหาร เรามักได้ยินบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับผลกระทบที่รัฐประหารจะมีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนใหญ่รัฐประหารมีผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ด้วยคณะผู้ก่อการรัฐประหารเกือบทั้งหมดคือคนในกองทัพ ทั้งที่เป็นทหารอาชีพ หรือทหารการเมือง มีน้อยครั้งมากที่นักวิเคราะห์จะมองว่ารัฐประหาร (หรือความพยายามรัฐประหาร) แทบไม่มีผลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ตัวอย่างที่เด่นที่สุด คือ กรณีของตุรกี ภายหลังนายทหารกลุ่มหนึ่งพยายามรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป เออร์โดกัน ที่แทบไม่ส่งผลใดๆ ต่อเศรษฐกิจของตุรกี เพราะเออร์โดกันเป็นผู้นำที่ไม่ได้เป็นที่นิยมของประชาชน และภาคธุรกิจทั้งในและนอกตุรกีพยายามลุ้นเอาใจช่วยนายทหารที่พยายามรัฐประหารโค่นล้มเออร์โดกันด้วยซ้ำ

จากการศึกษาของเอริค เมเยอร์สสัน (Erik Meyersson) จาก Stockholm Institute for Transition Economics รวบรวมข้อมูลจากรัฐประหารหลายประเภทจากหลายประเทศระหว่างปี 1955-2001 ข้อค้นพบของเมเยอร์สสัน คือ รัฐประหารที่ล้มล้างรัฐบาลเผด็จการมักส่งผลบวกกับเศรษฐกิจ เพราะเป็นการสลับขั้วทางการเมืองและกำจัดผู้นำที่ไม่มีความสามารถออกไป แต่สำหรับรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตย มักก่อให้เกิดผลเชิงลบกับเศรษฐกิจในประเทศ และโดยมากจะทำให้อัตราการเติบโตรายได้ต่อตัว (per capita growth rate) ต่ำลงโดยเฉลี่ย 1-1.3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

รัฐประหารในแบบหลังนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อล้มล้างรัฐบาลพลเรือนและระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังมุ่งทำลายการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการเงินด้วย เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น คนที่เข้ามารับตำแหน่งผู้นำในรัฐบาลชุดใหม่มักเป็นผู้นำกองทัพ คนเหล่านี้ไม่มีประสบการณ์การบริหารประเทศ แต่มักจะคิดว่าการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเพียงพอแล้วที่จะขับเคลื่อนประเทศให้เดินต่อไป แน่นอนเมื่อเกิดรัฐประหารแล้ว ผู้นำในหลายประเทศพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และแสดงออกว่าตนมุ่งมั่นจะขับเคลื่อนประเทศให้ดียิ่งขึ้น แต่ในเมื่อผู้นำเหล่านี้ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริง จึงจำเป็นต้องหากูรูทางเศรษฐกิจเข้ามาเป็นแขนขา และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร

เมื่อนายพล เน วิน ทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของ อู นุ ในปี 1962 เขารู้ดีว่าเขาเพิ่งใช้กำลังล้มกระดานนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนให้ความรักเคารพอย่างมาก แม้ที่ผ่านมารัฐบาลอู นุจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ ของประเทศได้ แต่ด้วยภาพลักษณ์การเป็นพุทธมามกะที่ดี และภาพความเป็นนักการเมืองผู้รักชาติที่ยังเป็นจุดขายของอู นุ ทำให้เน วินยิ่งต้องทำคะแนน และสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหาร เขาจึงตัดสินใจเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ให้เข้าไปช่วยงาน เช่น หละ มยิ้น (Hla Myint) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาจาก London School of Economics (LSE) ที่เคยเข้าไปช่วยรัฐบาลอู นุร่างนโยบายเศรษฐกิจมาก่อน แต่ในท้ายสุดก็ทำงานร่วมกับเน วินได้ไม่นาน หรือการสร้างภาพว่ารัฐบาลคณะรัฐประหารใจกว้างและมีความจริงใจจะแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนจริง ผ่านนโยบายสังคมนิยมวิถีพม่า (Burmese Way to Socialism) ที่ต่อมาพิสูจน์ให้เห็นความล้มเหลวของการวางนโยบายเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ภายใต้ผู้นำกองทัพว่าแทบไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จเลย

Advertisement

หลังรัฐประหารเมื่อต้นปี 2021 คำถามที่ว่าเศรษฐกิจพม่าจะดำเนินต่อไปอย่างไรภายใต้คณะรัฐประหาร หรือ SAC (State Administration Council) ที่นำโดยนายพล มิน อ่อง ลาย ที่แม้จะเคยเป็นผู้นำในรัฐบาลทหารภายใต้ SPDC (State Peace and Development Council) มาแล้ว แต่เป็นที่รู้กันว่าผู้นำกองทัพพม่าไม่เคยให้ความสนใจกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ รัฐประหารจึงเกิดขึ้นเพื่อรักษาอำนาจของกองทัพ และการตัดไฟแต่ต้นลม ป้องกันไม่ให้รัฐบาลพลเรือนมีอิทธิพลไปมากกว่านี้

รัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการระบาดของโควิด-19 พม่าจึงได้รับผลกระทบสองเด้ง เศรษฐกิจพม่าจึงตกต่ำลงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประเมินไว้ตั้งแต่กลางปีนี้ว่าพม่ามีตำแหน่งงานน้อยลงถึง 1.1 ล้านตำแหน่ง รัฐประหารและโควิด-19 เป็นเหมือน “เรื่องสยองสองเด้ง” ที่ยิ่งทำให้ชีวิตของประชาชนในพม่ายากลำบากยากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ประชาชนที่ยังมีงานทำอยู่ก็ต้องพบกับคุณภาพงานที่ลดต่ำลง แรงงานในโรงงานต้องทำงานนานขึ้นเพื่อแลกกับค่าจ้างที่ลดลง ท่ามกลางกระแสที่บริษัทต่างชาติหลายแห่งถอนการลงทุนจากพม่าด้วยความไม่แน่นอนทางการเมือง ในปี 2021 เพียงปีเดียว มีตำแหน่งงานหายไป 1.6 ล้านตำแหน่ง และตัวเลขความเจริญทางเศรษฐกิจลดลงไปถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ในปัจจุบัน เศรษฐกิจพม่าที่ตกต่ำอันเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐประหารมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งกับชีวิตของประชาชนทั่วไป ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ขึ้นไปแตะเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมิถุนายน ราคาสินค้าที่แพงขึ้นแบบก้าวกระโดด และความผันผวนของค่าเงินจ๊าต ยิ่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนธรรมดาในพม่าตกต่ำสุดในรอบหลายปี ก่อนเกิดรัฐประหาร 1 ดอลลาร์มีมูลค่าสูงถึง 1,300 จ๊าต แต่หลังรัฐประหาร

คณะรัฐประหารสั่งให้ลดค่าเงินจ๊าตและควบคุมตลาดเงินอย่างเข้มงวด เป็นเหตุให้เงินจ๊าตมีมูลค่าลดลงไปประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และอัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินก็ผันผวนจนไม่สามารถควบคุมได้ ในเดือนสิงหาคม ธนาคารกลางพม่าลดค่าเงินจ๊าตไปจนแตะ 2,100 จ๊าตต่อ 1 ดอลลาร์ อีกไม่ถึงเดือนต่อมา อัตราแลกเปลี่ยนแบบไม่เป็นทางการอยู่ที่ 4,500 จ๊าตต่อ 1 ดอลลาร์ อัตราแลกเปลี่ยนที่ “ไม่เป็นทางการ” นี้มาจากเว็บไซต์และเพจรับแลกเงินต่างๆในเฟซบุ๊กที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจพม่า ในขณะนี้มีอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 3 แบบในพม่า ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนกลางที่ออกโดยธนาคารกลาง อัตราแลกเปลี่ยนของตลาด และอัตราแลกเปลี่ยนบนเฟซบุ๊ก

Advertisement

สำหรับประชาชนหาเช้ากินค่ำธรรมดาทั่วไป อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอาจเป็นสิ่งที่เข้าใจยากและไกลตัวไปสักหน่อย แต่เงินเฟ้อและความผันผวนของค่าเงินนี้มีผลกระทบกับชีวิตของพวกเขาอย่างจริงจัง ลองดูราคาของของใช้ในชีวิตประจำวันดูนะคะ ก่อนรัฐประหาร ราคาไข่ไก่ 10 ฟองอยู่ที่ประมาณ 1,100 จ๊าต แต่ในปัจจุบันราคาเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า หรือ 1,900 จ๊าตเข้าไปแล้ว เมื่อเงินของประชาชนมีมูลค่าน้อยลง การใช้ชีวิตก็ยากขึ้นด้วย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐประหารในพม่าสร้างความลำบากให้กับประชาชนตั้งแต่วันแรก ยังไม่นับรวมข้าราชการและพนักงานบริษัทอีกจำนวนมหาศาลที่ยังนัดหยุดงานประท้วงคณะรัฐประหารกันอยู่ และไม่มีงานทำมาเกือบ 2 ปีเต็มแล้ว

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของคณะรัฐประหารเป็นแบบขอไปที ในครั้งนี้ คณะรัฐประหารไม่ไว้ใจนำเทคโนแครต หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเข้าไปช่วยออกแบบนโยบายใดๆ อีกแล้ว เพราะเป้าหมายของรัฐประหารครั้งนี้มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น คือ การล้มล้างรัฐบาล NLD และกำจัดอิทธิพลของด่อ ออง ซาน ซูจี ดังนั้นการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจึงไม่เคย
อยู่ในสารบบของคณะรัฐประหาร วิกฤตครั้งนี้ยังเพิ่งเริ่ม และดำเนินไปพร้อมกับสงครามกลางเมืองที่นับวันก็ยิ่งจะรุนแรงมากขึ้น อีกไม่ช้าเราคงได้เห็นว่าวิกฤตจะกลายเป็นหายนะทางเศรษฐกิจของพม่าในอีกไม่ช้า

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image