โค้งท้าย เศรษฐกิจ เทกระจาด สิ้นปี งานวัดมือ รัฐบาล

22 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้ที่มีรายได้น้อย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอว่า

ขอร้องว่ามาตรการดังกล่าวอย่าใช้คำว่ารัฐบาลแจกเงิน ถือเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

วัตถุประสงค์เพื่อต้องการดูแลประชาชนที่มีอาชีพอื่นๆ นอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งได้ทำมาแล้วหลายครั้ง

จึงดำเนินการต่อเนื่องสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และมีมาตรการอื่นออกมาอีก เช่น การดูแลค่าใช้จ่ายการเดินทาง การใช้ตั๋วร่วม รวมทั้งการเชื่อมโยงการขึ้นรถเมล์ และรถไฟฟรี เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกคน

Advertisement

ทั้งหมดมี 8 ล้านคน มีเกษตรกรรวมอยู่ด้วยและได้รับการช่วยเหลือไปแล้วประมาณ 3 ล้านคน

เมื่อมีเงินลงไปก็จะมีการใช้เงินกันมากขึ้น จะเกิดกระบวนการตั้งแต่ผู้บริโภคถึงผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายก็จะเกิดการใช้จ่ายเงินในระบบมากขึ้น

ในส่วนของวันขึ้นปีใหม่นั้น จะมีการกำหนดหลายๆ มาตรการ

Advertisement

ซึ่งต้องรอฟังอีกครั้ง

พ.ต.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในมาตรการการช่วยเหลือ คือ

1.สำหรับผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี รัฐบาลมอบเงินช่วยเหลือให้ 3,000 บาท โดยมีผู้ที่ลงทะเบียนจำนวน 3.1 ล้านคน

2.ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,001 บาทขึ้นไปแต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี รัฐบาลมอบเงินช่วยเหลือให้ 1,500 บาท จำนวน 2.3 ล้านคน

ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 12,750 ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 1-30 ธันวาคม 2559 ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้

สำหรับผู้ที่มีบัญชีมากกว่า 1 บัญชีจะโอนเข้าบัญชีที่มีความเคลื่อนไหวล่าสุด

และสำหรับผู้ที่ไม่มีบัญชีให้ไปเปิดบัญชีในสาขาที่ลงทะเบียนเพื่อรับเงิน

 

ก่อนหน้าจะถึง “มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย” หรือการแจกเงินให้กับประชาชนเพื่อการจับจ่ายใช้สอยในช่วงสิ้นปี

รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน โดยเปิดการรับจำนำข้าวในยุ้งฉาง

ที่นายกรัฐมนตรีขอร้องว่าอย่าเรียก “มาตรการจำนำยุ้งฉาง” แต่ขอให้เรียกว่า “มาตรการชะลอการขายข้าว”

โดยแยกเป็นสองส่วนคือการรับจำนำข้าวหอมมะลิ ในอัตราตันละตั้งแต่ 8,700-14,000 บาท ตั้งเป้ารับจำนำทั้งสิ้น 2 ล้านตัน

อันหมายถึงจะใช้งบประมาณสูงสุดประมาณ 28,000 ล้านบาท

และการรับจำนำข้าวขาวในอัตราตันละตั้งแต่ 7,800-13,000 บาท โดยกำหนดวงเงินเอาไว้ที่ 18,000 ล้านบาท

รวมสองโครงการแล้วเป็นเงินงบประมาณ 46,000 ล้านบาท

 

ในการประชุม ครม.วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ครม.รับทราบตามข้อเสนอของกระทรวงแรงงานในการเสนอ

ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 69 จังหวัดทั่วประเทศ 5-10 บาท

ถึงแม้ว่าจะไม่มาก แต่ถือเป็นกำลังใจก่อน

เพราะการจะปรับขึ้นต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการด้วย ต้องคำนึงถึงความสมดุลด้วย

เมื่อไปอีกสักระยะเวลาหนึ่งก็อาจจะได้เพิ่มมากขึ้นกว่านี้

แต่สิ่งที่จะได้คือ มาตรการการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ออกมาพร้อมกัน

นอกจากนี้ ในช่วงปีใหม่ขอให้ทุกหน่วยงานทุกกระทรวงมีเรื่องการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

การจัดสัมมนาถ้าเป็นไปได้ขอให้จัดในประเทศ

และขออย่าไปพูดเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ วันนี้ต้องพูดถึงทัวร์ที่ผิดกฎหมายกับถูกกฎหมาย

ใครทำถูกเราจะเข้าไปช่วยเหลือ

 

หากมาตรการ “ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย” เหล่านี้ สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจในช่วยปลายปีให้ “ผงกหัว” ขึ้นมา ตามความประสงค์ของรัฐบาล

คำค่อนขอดครหาว่าสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องเลือกหนทาง “ประชานิยม” ในการประคองเศรษฐกิจก็จะลดหรือหมดไป

เว้นเสียแต่ความเป็นจริงจะเป็นอื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image