“การข่มขืนในสภาวะสงคราม” กับ “ความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์” ในเมียนมา

ความรุนแรงต่อบ้านเรือนชาวโรฮิงญา (ภาพจาก https://www.hrw.org/news/2013/04/22/burma-end-ethnic-cleansing-rohingya-muslims)

ในฐานะของอาชญากรรมปกติ การข่มขืนถือได้ว่าเป็นการล่วงละเมิดและการทำการที่เหยียมหยามเพศที่ถูกคุมคามเป็นอย่างยิ่ง  ยิ่งในปัจจุบันด้วยแล้ว การข่มขืนมิได้จำกัดอยู่ภายใต้คำนิยามของการกระทำของเพศชายต่อเพศหญิงเท่านั้น  หากแต่ครอบคลุมการกระทำทั้งต่อต่างเพศหรือเพศเดียวกันก็ได้  สิ่งที่น่าสนใจคือ การกระทำความรุนแรงทางเพศเช่นนี้มิได้ถือกำหนดเพื่อเป็นการกระทำระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ธรรมดาเท่านั้น  หากแต่ยังขยายตัวกลายเป็น “อาวุธสงคราม” ที่น่าสะพรึงกลัวอีกด้วย

ในความขัดแย้งทางการเมืองที่พัฒนาปรากฏออกมาด้วยการใช้ความรุนแรง ซึ่งมีมูลเหตุขับเคลื่อนมาจากหลากหลายสาเหตุ อาทิ ชาติพันธุ์ ศาสนา นั้น  เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่มีลักษณะของสงครามกลางเมืองแล้ว  การต่อสู้มิได้ส่งผลกระทบต่อทหารและกำลังพลทั้งสองฝ่าย หากแต่เป้าหมายอ่อนแอที่อยู่ในฐานะของพลเรือนนั้นมักจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเสมอ  ซึ่งการรับรู้ของปุถุชนทั่วไปนั้น มักจะเข้าใจว่าพลเรือนอาจจะได้รับผลกระทบจาก “ลูกหลง” ของกำลังทหารในคู่ขัดแย้งเท่านั้น  ซึ่งในสถานการณ์จริงนั้น  ความรุนแรงหาได้เป็นไปในลักษณะเช่นนั้นไม่  พลเรือนกลับกลายเป็นเป้าหมายหลักที่กลุ่มของกองกำลังมักโจมตีเป็นเป้าหมายในลำดับต้นๆ  ซึ่งมีปัจจัยทั้งในลักษณะของการถูกต้องสงสัยว่าเป็นกลุ่มมวลชนของคู่ขัดแย้งและอาจให้การสนับสนุนฝ่ายตรงกันข้าม

การกระทำต่อพลเรือนในสภาวะสงครามกลางเมืองจึงมีเป็นลำดับชั้นนับตั้งแต่การทุบตี  การทรมาน  การขโมยทรัพย์สิน  การเผาบ้าน การสังหารเป็นรายบุคคล จนกระทั่งพัฒนาขึ้นสูงสุดเป็นการสังหารหมู่ด้วยเช่นกัน

กล่าวได้ว่าในภาษาของสงคราม เรียกการกระทำเช่นนี้ว่า “การโจมตีเป้าหมายที่อ่อนแอ”  นั่นเอง 

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ยังมีการกระทำความรุนแรงในอีกลักษณะหนึ่งที่ไม่ได้มีเป้าประสงค์เพื่อสังหารโดยตรงหากแต่ต้องการสร้างแรงผลักดันและผลกระทบทางด้านจิตวิทยาต่อเหยื่อ ญาติมิตร และกลุ่มเชื้อชาติและชาติพันธุ์ของเหยื่อที่สังกัด  นั่นคือ  “การข่มขืนในสภาวะสงคราม”  ซึ่งบุคคลที่เป็นหมายหลักนั่นคือ “เพศหญิง”  โดยกลายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหลักและเป็นการยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถหลักเลี่ยงสภาวะความรุนแรงเช่นนี้ได้ หากตกอยู่สภาวะสงครามกลางเมืองที่คู่ขัดแย้งมิได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ยอมรับ “กฎการปะทะ” หรือ กฎหมายระหว่างประเทศใดๆที่พยายามปกป้องพลเรือน

สิ่งที่น่าสนใจคือ สงครามกลางเมืองที่มีมูลเหตุจากความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์นั้นจะมีลักษณะของการใช้การข่มขืนเป็นอาวุธสงครามที่ชัดเจนมากกว่าสงครามกลางเมืองที่เกิดจากเชื้อปะทุแบบอื่น  ซึ่งมิได้เป็นการข่มขืนโดยความต้องการของปัจเจกบุคคลเท่านั้น ทั้งนี้ในกรณีของเมียนมานั้น  พัฒนาการการใช้การข่มขืนนั้นมักจะถูกเครือข่ายภาคประชาสังคมตีแผ่ออกมาเป็นระยะๆ

ในแง่ของการศึกษาสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์  ปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้คือตัวอย่างหนึ่งของการทำ “สงครามจิตวิทยา”  ที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน หากแต่เน้นหนักการใช้มาตรการทุกรูปแบบเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์นั่นคือ การได้รับชนะในสงครามเท่านั้น

Advertisement

การออกแบบหรือรูปแบบการข่มขืนนั้นมิได้สร้างขึ้นผ่านการออกคำสั่งอย่างเป็นทางการ หากแต่เป็นการสั่งการที่ไม่เป็นทางการจนพัฒนาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อเหยื่อ คำถามที่สำคัญนั่นคือ “ผลกระทบต่อจิตวิทยาด้านใดที่ฝ่ายผู้กระทำต้องการ?”

คำตอบที่สำคัญนั่นคือ  การข่มขืนในความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์นั้นเป็นการสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์สามระดับ

ในระดับต้น  การข่มขืนเพื่อสร้างความน่าสะพรึงกลัวต่อเหยื่อโดยตรง  ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้เน้นเป้าหมายการสลายมวลชนของคู่ขัดแย้งทั้งในลักษณะการสนับสนุนด้านกองกำลังหรือยุทธภัณฑ์อื่นๆ  โดยปัจจัยสำคัญมักเกิดจากแรงผลักดันของกำลังพลเอง

ในระดับกลาง  การข่มขืนเพื่อสร้างความน่าสะพรึงกลัวเพื่อควบคุมสาธารณะ  การกระทำในลักษณะเช่นนี้พัฒนามาจากขั้นแรก  แต่เน้นการสร้างภาพลักษณ์ผู้ปกครองและการใช้อำนาจของผู้กระทำเพื่อควบคุมพลเรือนอีกชั้นหนึ่ง  หรืออาจเรียกได้ว่า “การสร้างการข่มขืนเพื่อการปกครองอย่างเป็นระบบ”

ในระดับสูง  การข่มขืนเพื่อดำรงสถานะความเหนือกว่าทางด้านชาติพันธุ์  ซึ่งการข่มขืนในลักษณะเช่นนี้จะกระทำต่อสตรีต่างชาติพันธุ์เพื่อตอกย้ำความเหนือกว่าและความต่ำต้อยของสตรีตางชาติพันธุ์  โดยการกระทำสามารถพัฒนาให้กลายเป็นการข่มขืนเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์และเพื่อให้บุตรที่เกิดขึ้นมิได้เป็น “ชาติพันธุ์แท้” ฉะนั้น  ร่างกายสตรีจึงเป็นสถานที่ผ่องถ่ายความเกลียดชังไปอย่างสิ้นเชิง

เมื่อกลับมาย้อนมองพินิจความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ในเมียนมาแล้ว  การข่มขืนในสภาวะสงครามนั้นมีรายงานและปรากฏผ่านสื่ออกมาเป็นระยะตามที่ได้กล่าวแล้วในข้างต้น  หรือแม้กระทั่งปะทะที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมในอาระกันในปัจจุบันเองก็ตาม

ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจคือ  ความสัมพันธ์ระหว่างทหารพม่ากับการข่มขืนมักจะเกี่ยวพันธ์กับยุทธศาสตร์ทางด้านทหารในส่วนที่สำคัญคือ  “การเข้าควบคุมพื้นที่”  ซึ่งการข่มขืนจึงมาพร้อมกับเพื่อบังคับอพยพโยกย้ายออกจากพื้นที่ที่เป็นทั้งลักษณะทั้งพื้นที่ยึดครองของฝั่งตรงกันข้ามและพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทางทหาร

พัฒนาการที่น่าสนใจของการข่มขืนเพื่อบังคับอพยพนั้นนั่นคือ ในอดีตการข่มขืนมักมาพร้อมกับการตัดการสนับสนุนฐานมวลชนของกลุ่มกำลังกลุ่มชาติพันธุ์  ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ในวงกว้างทั้งในกรณีของไทใหญ่และกระเหรี่ยงเองก็ตาม   และปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นกับกรณีของโรฮิงยาหรือกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในอาระกันนั่นคือ  การข่มขืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงที่มีเป้าประสงค์เพื่อเนรเทศชาติพันธุ์ที่ไม่ต้องการออกนอกประเทศ

การกล่าวเช่นนี้จึงมีนัยสำคัญที่สามารถระบุได้ว่า  ชาติพันธุ์ที่รัฐปฏิเสธให้สิทธิทางกฎหมายนั้น  การเนรเทศออกรัฐจึงเป็นอีกวิธีการอีกอันหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องและเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์และร่างกายของสตรีอย่างซับซ้อน

ในยุคที่สตรีทรงอำนาจทางการเมืองในเมียนมา การข่มขืนในสภาวะสงครามจึงกลายเป็นสิ่งที่น่าหดหู่เป็นอย่างยิ่ง  แม้ว่ามีหลากหลายปัจจัยควบคุมและมีผลต่อการตัดสินใจของผู้นำ  หากแต่การอยู่และเลือกจุดยืนที่ปิดเสียงเงียบกำลังกลับกลายเป็นอาวุธสงครามอีกชั้นหนึ่ง  กล่าวได้ว่า ความเงียบคืออุปสรรคในการแสวงหาแนวทางสันติภาพไปโดยปริยายและความร้ายแรงจึงไม่ได้ต่างไปจากการข่มขืนจากทหารในสนามรบแม้แต่น้อย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image