ทรัมโปโนมิค โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ยังไม่ทันที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาก็เปิดศึกน้ำลายกับประเทศต่างๆ ว่า อเมริกาจะไม่ยอมเสียเปรียบประเทศอื่นๆ ที่เอาเปรียบอเมริกา ที่อาศัยอเมริกาเป็นแหล่งระบายสินค้าแต่ไม่ยอมซื้อสินค้าของตน ทุนของอเมริกาก็ไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศ ตนจะดึงทุนเหล่านี้กลับมาลงทุนในอเมริกา เพื่อคนอเมริกันจะได้มีงานทำ

ประเทศที่สหรัฐขาดดุลด้วยเป็นอันมากก็คือ จีนกับญี่ปุ่น ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น ยุโรปและรัสเซียก็ไม่เท่าไหร่ วาทกรรมของโดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะมุ่งไปที่จีนและญี่ปุ่น โดยทรัมป์ประกาศจะเปิดการเจรจาใหม่กับกลุ่มเขตการค้าเสรีที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ เช่น ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ North American Free Trade Agreement (NAFTA) ยกเลิกการเจรจาตั้งเขตยุทธศาสตร์หุ้นส่วนแปซิฟิก หรือ TPP หรือ Trans-Pacific Partnership ซึ่งรวมประเทศต่างๆ ทั้ง 2 ฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการถึงร้อยละ 40 ของโลก ประเทศไทยโล่งอกเพราะเขาไม่เชิญผู้นำเผด็จการทหารของเราเข้าร่วมประชุมการจัดตั้งเขตเสรีดังกล่าว ทั้งๆ ที่ประเทศสมาชิกเขตการค้าเสรีอาเซียนทุกประเทศได้รับเชิญ

ปฏิกิริยาต่อวาทะอันแข็งกร้าวจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ของจีนกับญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันอย่างหน้ามือกับหลังมือ จีนโดย นายสี จิ้น ผิง ตอบโต้อย่างมีศักดิ์ศรีที่มหาอำนาจพึงจะมี กล่าวคือ จีนตอบโต้อย่างสุภาพด้วยภาษา “ผู้ดี” ว่า ขอแสดงความยินดี การร่วมมือเป็นทางเลือกเดียวที่ถูกต้อง “Congratulation, cooperation is only correct choice”

ส่วนปฏิกิริยาของญี่ปุ่นกลับเป็นไปอย่างตรงกันข้าม นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นรีบบินไปขอพบโดนัลด์ ทรัมป์ โดยไม่มีกำหนดการเชิญจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไปถึงแล้วยังต้องนั่งรออีกเป็นเวลาถึงครึ่งชั่วโมง เป็นกิริยามารยาทที่หยาบคายในทางการทูต ทั้งๆ ที่อาเบะมีฐานะสูงกว่า เพราะนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะนี้ยังเป็นเพียงประชาชนคนอเมริกันธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ใช่ประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ยังไม่ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ไม่ทราบคนญี่ปุ่นจะคิดอย่างไร นายอาเบะกล่าวว่า เขามีความเชื่อมั่นในตัวโดนัลด์ ทรัมป์ หรือ I believe in Trump โดยมีลูกสาวทรัมป์นั่งไขว่ห้างอยู่ข้างหน้า

Advertisement

สมัยพระเจ้าเฉียน หลง แห่งราชวงศ์ซิง ราชวงศ์สุดท้ายของจีน ความขัดแย้งระหว่างจีนกับอังกฤษมหาอำนาจตะวันตกก็เคยเกิดขึ้น คล้ายๆ กับความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐในปัจจุบัน จีนเกินดุลการค้ากับยุโรป โดยเฉพาะกับอังกฤษอย่างมากมาย ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุโรปสั่งซื้อเครื่องเคลือบดินเผา ลายคราม ชามเบญจรงค์และผ้าไหม รวมทั้งใบชาเป็นจำนวนมาก ใบชาเป็นที่นิยมในหมู่คนชั้นสูงในอังกฤษและประเทศอาณานิคมของอังกฤษ จีนเกินดุลการค้ากับอังกฤษจนอังกฤษไม่มีเงิน ซึ่งขณะนั้นใช้ทองคำและโลหะเงินเป็นเงินตรา รัฐบาลอังกฤษจึงหันไปนำฝิ่นจากอินเดียเข้าไปขายในประเทศจีน เพื่อลดการขาดดุลการค้ากับจีน คนจีนติดฝิ่นกันงอมแงม ดุลการค้าระหว่างอังกฤษกับจีนจึงดีขึ้น แต่ประเทศจีนอ่อนแอลง ราชสำนักจีนจึงออกกฎหมายห้ามการนำเข้าฝิ่น ห้ามสูบฝิ่น และเผาเครื่องมือการสูบฝิ่น จากการกระทำดังกล่าวอังกฤษก็หาเรื่องประท้วง จนเกิดสงครามฝิ่นระหว่างจีนกับอังกฤษ ในที่สุดจีนเป็นฝ่ายแพ้ ต้องเปิดเมืองท่า ต้องยกดินแดนหลายแห่งให้เป็นเขตเช่าของตะวันตกดังที่ทราบกันอยู่แล้ว

มาสมัยนี้ ประวัติศาสตร์กลับมาย้อนรอย รายได้ประชาชาติหรือผลิตภัณฑ์ประชาชาติของจีนขณะนี้มีสูงกว่าร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์ประชาชาติของโลก ซึ่งมีการประมาณกันไว้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจีนสมัยพระเจ้าเฉียน หลง ก็คงประมาณ 1 ใน 4 ของโลกเช่นกัน สมัยพระเจ้าเฉียน หลง อังกฤษเป็นคู่ค้าที่ขาดดุลจำนวนมากที่สุด เศรษฐกิจจีนรุ่งเรืองมากที่สุดในยุคนั้น แต่สมัยนี้สหรัฐเป็นคู่ค้าที่ขาดดุลกับจีนมากที่สุด เศรษฐกิจของจีนก็รุ่งเรืองที่สุด เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอเมริกาและได้แซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว ขณะเดียวกันจีนก็กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของอเมริกาแซงหน้าญี่ปุ่นไปเช่นกัน

เป็นธรรมดากับการใช้จีนเป็นเป้าหมายในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ย่อมจะถูกใจคนอเมริกัน แม้ว่าความคิดความอ่านของโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นความคิดความอ่านของคนที่มีความล้าหลัง ถ่อยเถื่อน ไม่มีความเป็นอารยะ ซึ่งผู้นำของประเทศที่เจริญแล้วไม่ควรมีในเกือบทุกด้าน รวมทั้งด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี สีผิว เชื้อชาติ เป็นความคิดที่ล้าหลังไปกว่า 200 ปีก่อน แต่คนอเมริกันส่วนใหญ่ก็เลือกให้เป็นประธานาธิบดี

Advertisement

ประชาคมเศรษฐกิจอย่างเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือก็ดี สหภาพยุโรปก็ดี เขตการค้าเสรีอาเซียนก็ดี หรือเขตการค้าเสรีในกลุ่มยุโรปตะวันออกภายใต้การนำของรัสเซียก็ดี ได้พัฒนาก้าวหน้ามาไกลในนามของยุค “โลกาภิวัตน์” การผูกพันตัวเองของประเทศต่างๆ กับองค์การการค้าโลก หรือ WTO ก็ดี รวมทั้งการอนุญาตให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นเงินตราสกุลเดียวของโลกก็ดี ก็เท่ากับสหรัฐได้นำตัวเองเข้ามาผูกพันเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญของระบบการค้าและการเงินของโลกไปแล้ว การจะถอยออกจากฐานะความผูกพันดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยง่าย เป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐจะมีแต่ได้หรือไม่สูญเสียอะไรเลย

การจะถอยออกจากความผูกพันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน หรือแม้แต่การทหาร ก็จะต้องมีการเจรจาต่อรอง เช่นเดียวกับการที่ประชาชนชาวอังกฤษมีประชามติให้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าคนอังกฤษทำไปด้วยอารมณ์และรู้สึกอับอายหลังจากมีประชามติไปแล้ว คนอเมริกันออกเสียงเลือกนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็คงทำไปด้วยอารมณ์ หลังเหตุการณ์ทั้งคนอังกฤษและคนอเมริกันก็รู้สึกอับอายต่อการลงคะแนนเสียงของตน

หลายคนตั้งคำถามว่า ถ้านายโดนัล ทรัมป์ ได้เข้าสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม เป็นประธานาธิบดีแล้วเดินหน้าดำเนินการตามที่ตนได้พูดหาเสียงไว้ ดุลแห่งอำนาจทางการเมืองการทหารจะเปลี่ยนไปอย่างไร ดุลยภาพทางด้านการค้าและการเงินของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยาก

ถ้าสหรัฐถอนตัวออกจากสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันกับประเทศต่างๆ ในยุโรป ในละตินอเมริกา รวมทั้งการถอนทหารออกจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และการปิดฐานทัพที่ฟิลิปปินส์ ช่องว่างก็จะเกิดขึ้นทันที เมื่อช่องว่างเกิดขึ้นมหาอำนาจอื่นก็จะเข้ามาแทนที่ โดยความตั้งใจอยากเข้ามาเอง หรือไม่ก็ด้วยการเชื้อเชิญของประเทศเหล่านั้น

สงครามในตะวันออกกลางที่สหรัฐก่อขึ้น เพื่อแก้แค้นจากการถูกถล่มตึกการค้าโลกที่นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี ค.ศ.2000 และยืดเยื้อมาถึงปัจจุบันจนสหรัฐถอนตัวไม่ขึ้น ปัญหาคนอพยพลี้ภัยสงครามจากตะวันออกกลางเข้าไปในยุโรป ถ้าสหรัฐจะไม่รับผิดชอบ ปล่อยให้ยุโรปเป็นผู้รับผิดชอบ ปล่อยให้ญี่ปุ่น เกาหลีใต้เป็นผู้รับผิดชอบ ความอลเวงปั่นป่วนเพื่อหาดุลยภาพใหม่ ทั้งทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ การทหาร และการค้าการเงินของโลกก็คงจะเกิดขึ้นทันที

ขณะนี้เศรษฐกิจการค้าของโลกก็มีปัญหาการขยายตัวในอัตราที่ลดลง หรืออาจจะหดตัวอยู่แล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะขยายตัวเกินกว่าเป้าหมาย อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย แต่เศรษฐกิจการเงินของสหรัฐเองก็ยังเปราะบาง การคาดหวังว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในอเมริกาจะยั่งยืนก็คงจะเป็นไปได้ยาก

หากเศรษฐกิจของสหรัฐ ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของอเมริกาไม่สามารถแก้ไขได้ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐก็คงต้องถูกแรงกดดันให้ใช้นโยบายตอบโต้ทางการค้า โดยใช้เหตุผลว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในระบบการค้าและการเงินของโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จีนและชาวโลกเอาเปรียบอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธมิตรของอเมริกา เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย

ข้างหน้า สหรัฐก็คงกดดันให้มีการเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้า ในเรื่องการค้าการลงทุนกันใหม่ คงจะเป็นการเจรจาแบบทวิภาคี ประเทศต่างๆ ที่รวมกันในเวทีการค้าโลก เช่น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในการเจรจาในเรื่องการค้าและการลงทุนกับสหรัฐ

บางทีการเป็นพันธมิตรที่ดี ปฏิบัติตัวอยู่ในกรอบ อาจจะทำให้สหรัฐไม่เห็นความสำคัญของเราเท่าที่ควรก็ได้ ฉะนั้นจึงต้องมีการประเมินผลดีผลเสียอยู่เป็นระยะเสมอสำหรับการปฏิบัติต่ออเมริกาในกรอบของอาเซียน

โลกเราไม่มีอะไรหยุดนิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image