เหมือน ใน ‘ต่าง’ จากเบส ถึง ‘เทอดศักดิ์’ ดุจดั่ง ‘ผีพุ่งไต้’

ประหนึ่งว่า กรณีของ เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา กับ กรณีของ เบส อรพิมพ์

จะเป็นเรื่องละม้ายคล้ายเหมือนกัน

“เหมือน” แต่ก็ “ต่าง”

เหมือนตรงที่ 2 คนนี้ยืนอยู่ในมุมเดียวกัน นั่นก็คือ เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เห็นด้วยกับการมาของทหาร

Advertisement

เพียงแต่ “เทอดศักดิ์” เห็นด้วยตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2549

เพียงแต่ “เบส” ไม่แจ่มชัดในกรณีเดือนกันยายน 2549 แต่แจ่มชัดอย่างยิ่งกับกรณีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

หากไม่เห็นด้วยคงไม่รับเชิญจาก “ประชารัฐ”

Advertisement

กระนั้น ภายในความเหมือนนั้นก็มี “รายละเอียด” หลายอย่างที่มีความแตกต่างอย่างเด่นชัดมองเห็นเป็นรูปธรรม

เรื่องของเบส เป็นเรื่องของ “ทัศนคติ”

เรื่องของเทอดศักดิ์มีความสลับซับซ้อนมากกว่า เพราะเป็นเรื่องของ “ข้อมูล” เป็นเรื่องของความเข้าใจ และเป็นเรื่องของการเลือกที่จะซื้อ

ปลายทางคือ “ทัศนคติ” นั่นแหละคือ “จุดร่วม”

 

หากเลือกเฉพาะกรณีของความเห็นต่อ “ไทอีสาน” อันเป็นตัวอย่างซึ่งเด่นชัดมากในรายของ เบส อรพิมพ์ ต้องยอมรับว่าเรื่องของเธอเป็นประเด็นในทาง “ความคิด”

เป็นความคิดอันมี “มูลฐาน” อัน “สัมพันธ์” กับเรื่องการเมืองของภาค

ความชมชอบต่อพรรคการเมือง 1 อย่างต่อเนื่อง ยาวนาน

จากยุค “ไทยรักไทย” เข้าสู่ “พลังประชาชน” และ “เพื่อไทย”

ไม่ว่าจะเป็น “ประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2550

ไม่ว่าจะเป็น “ประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2554

“ไทอีสาน” มีความเด่นชัด ไม่ผันแปร

การพูดของ เบส อรพิมพ์ เป้าหมายเป็นเรื่องของ “ทัศนคติ”

อันทำให้กรณีของ เบส อรพิมพ์ ต่างไปจากกรณีของ เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา เป็นอย่างมาก

อันทำให้กรณีของ เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา คดเคี้ยววกวนยิ่งกว่า

เพราะ เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา

มาจาก “ฐาน” แห่ง “ความรู้”

หลายคนเห็นตรงกันว่า ความคล่องแคล่ว ปราดเปรียว ในกระบวน การพูด เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา ใกล้เคียงกับท่วงทำนองของ สนธิ ลิ้มทองกุล

เฉียบขาด ต่อกระบวนท่า “ยืนยัน”

แต่ฐานของ สนธิ ลิ้มทองกุล มาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐ และสะสมความจัดเจนอย่างยาวนานในงานหนังสือพิมพ์ และงานบริหารธุรกิจสื่อ

สนธิ ลิ้มทองกุล ชมชอบการอ่านทั้ง “ภาษาไทย” และ “ภาษาอังกฤษ”

ไม่ว่ายุทธนิยายกำลังภายใน ไม่ว่าประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและต่างประเทศ ล้วนผ่านความรับรู้มาครบถ้วน

แม่นยำในเรื่อง “ข้อมูล” แม่นยำในเรื่อง “ข้อเท็จจริง”

สนธิ ลิ้มทองกุล รู้ว่าใครเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐ รู้เส้นสนกลในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเดือนมิถุนายน 2475

เข้าใจใน ปรีดี พนมยงค์ อ่าน สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แตก

ตรงกันข้าม เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา ละเลยและไม่ให้ความสำคัญกับ “ข้อมูล” และโดยเฉพาะความเป็นจริง

ตรงนี้แหละทำให้พลาด

 

ไม่ว่าจะเป็นกรณี เบส อรพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นกรณี เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา นี่คือรถด่วนขบวนสุดท้าย

เป็นรถด่วนขบวนสุดท้ายที่แม้จะได้รับการปกป้องอย่างอบอุ่นจากบรรดา “โฆษก”น้อยใหญ่แห่ง คสช.และกองทัพบก แต่ก็ยากที่จะยืนระยะต่อไปได้อย่างองอาจ สง่างาม

ในที่สุดก็เหมือน “ผีพุ่งไต้” วาบมาแล้วก็วูบหายไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image