องค์กร 4.0 : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

วันนี้หน่วยงานต่างๆ ต่างขานรับเรื่อง “Thailand 4.0” กันอย่างคึกคัก ด้วยความพยายามพัฒนาปรับปรุงองค์กรด้วยการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น
เมื่อวันจันทร์ (21 พ.ย.59) ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมพิธีเปิดห้องปฏิบัติการ “สมาร์ท
แล็บอัจฉริยะ” (Smart IA Lab) แห่งแรกของไทย ซึ่งก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยี Industrial Automation เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน ด้วยเป้าหมายที่จะช่วยกันขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ “Thailand 4.0” เพราะตระหนักว่าบุคลากรและธุรกิจอุตสาหกรรมในยุค 4.0 นั้นต้องทำงานร่วมกับระบบ Industrial Automation ซึ่งประกอบด้วย 1.เครื่องจักรอัตโนมัติ (Machine Automation) 2.โรงงานอัตโนมัติ (Factory Automation) และ 3.กระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Process Automation)

โครงการ Smart IA Lab ที่ว่านี้ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์ที่ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีล่าสุด โดยเปิดเป็นแห่งแรกในไทย ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี Industrial Automation แก่คนรุ่นใหม่ เป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไทย เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดนวัตกรรมในสินค้าและบริการ ส่งเสริมให้เกิดกิจการประเภทสตาร์ตอัพหรือผู้ประกอบการใหม่ที่ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีให้สอดรับกับการพัฒนาประเทศสู่ “Thailand 4.0”

กรณีของ Smart Machine ข้อมูลต่างๆ จะเชื่อมต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่าน IoT (Internet of Things) และ iCloud คนทำงานจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการควบคุมและบริหารจัดการการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงต้องพัฒนา “คน” ให้มีทักษะในเทคโนโลยีและระบบ Cyber Production System เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ประธานบริหาร บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หนึ่งในผู้นำด้านการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมไอซีทีของโลก ได้เน้นว่า ต่อไปนี้ระบบอัตโนมัติจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น เราจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างบุคลากร 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มวิศวกรที่จะนำระบบ Industrial Automation (IA) ไปออกแบบปรับปรุงและพัฒนาโรงงานและระบบการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 2.กลุ่มที่จะบำรุงรักษา Industrial Automation (IA) และ 3.กลุ่มที่มีทักษะในการเป็นผู้ใช้ระบบ Industrial Automation (IA)

Advertisement

ดังนั้น ผู้บริหารยุค “Thailand 4.0” จึงต้องมีโลกทรรศน์ที่กว้างไกล และเข้าใจในรูปแบบของ “Industry 4.0” เทคโนโลยีออโตเมชั่น หรือ Industrial Automation ซึ่งไม่ใช่การมาแย่งงานคนทำงาน เพียงแต่ย้ายคนไปทำหน้าที่ควบคุมและบริหารข้อมูลที่ได้รับจากอุปกรณ์และเครื่องจักรที่สื่อสารเชื่อมโยงกันผ่านอินเตอร์เน็ตหรือสมาร์ทโฟน ในโลกของ IoT (Internet of Things)

ณ วันนี้ ผู้บริหารจึงควรเตรียมพร้อมสำหรับการปรับองค์กรให้เป็น “องค์กร 4.0” ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image