Burma Bill ท่าทีของสหรัฐ และผลกระทบกับพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

Burma Bill ท่าทีของสหรัฐ และผลกระทบกับพม่า

Burma Bill ท่าทีของสหรัฐ และผลกระทบกับพม่า

หลังใช้เวลาพิจารณามาพักหนึ่ง ในที่สุดร่างกฎหมาย Burma Bill หรือชื่อเต็มๆ ว่า Burma Unified through Rigorous Military Accountability Act of 2021 (H.R.5497) ก็จะได้รับการลงนามโดยคองเกรสและบังคับใช้เป็นกฎหมาย แต่แทนที่จะเป็นกฎหมายโดดๆ Burma Bill จะเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (National Defense Authorization Act หรือ NDAA) สำหรับปีงบประมาณ 2023 และมีการแก้ไขหลายอย่างเมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายที่ นายเกรกอรี่ มีคส์ (Gregory Meeks) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเดโมแครตจากนิวยอร์ก กฎหมายที่เรียกว่ากำหนดทิศทางนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐที่มีต่อพม่าในยุคหลังเกิดรัฐประหารปี 2020 ใจความหลักของกฎหมายฉบับนี้เป็นแนวทางที่รัฐบาลสหรัฐจะใช้เพื่อส่งเสริมให้พม่ากลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง ในขณะเดียวกันก็เป็น “raison d’être” หรือเหตุผลที่สร้างความชอบธรรมให้มาตรการคว่ำบาตรของรัฐบาลสหรัฐ

การออกกฎหมาย Burma Bill เป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ของสหรัฐ เพื่อชี้ให้เห็นว่าสหรัฐยังคงเชื่อในหลักการอันเป็นหัวใจหลักของประเทศ นั่นคือการปกป้องประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ดังนั้น แม้พม่าจะไม่ใช่ประเทศยุทธศาสตร์ที่สหรัฐให้ความสนใจมากนัก แต่การชิงจังหวะนี้เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นผู้นำประเทศประชาธิปไตยของสหรัฐเหมือนกับยิงปืนครั้งเดียวได้นกสองตัว นอกจากสหรัฐจะได้รับคำชมจากประเทศพันธมิตรด้วยกันแล้ว ยังขับเน้นให้ประเทศที่ยังสนับสนุนคณะรัฐประหารพม่า (รวมทั้งประเทศที่ยังเหยียบเรือสองแคมอย่างไทย) ดูเป็นเหมือนตัวร้ายในภาพยนตร์ของจักรวาลมาร์เวล ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียที่ปัจจุบันกลายเป็นผู้ร้ายเบอร์หนึ่ง และยังเป็นประเทศที่ขายอาวุธให้กองทัพพม่าเป็นอันดับต้นๆ หรือจีนที่แม้ไม่ได้สนับสนุนคณะรัฐประหารพม่าแบบออกนอกหน้า แต่ก็ยังให้การสนับสนุนกลุ่มทุนที่ยึดโยงกับคณะรัฐประหารและกองทัพพม่าอย่างแนบแน่น รวมทั้งอุปถัมภ์กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม โดยเฉพาะว้าแดง ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพพม่า

สาระหลักของ Burma Bill มีอยู่ 6 ข้อ แต่ผู้เขียนมองว่าที่สำคัญๆ มี 3 ข้อ คือการคว่ำบาตรบุคคล บริษัท หรือองค์กรใดๆ ที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหารปี 2020 ซึ่งหมายรวมถึงการไม่สนับสนุนให้บริษัทจากสหรัฐเข้าไปทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือองค์กรเหล่านี้ด้วย นี่เป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ที่ในที่สุดบีบให้บริษัทเชฟรอน บริษัทพลังงานขนาดใหญ่จากสหรัฐ ต้องถอนตัวออกจากพม่า เช่นเดียวกับบริษัทโททาล ที่เป็นบริษัทพลังงานสัญชาติฝรั่งเศส ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐและสหภาพยุโรป ที่ไม่ต้องการให้บริษัทพลังงานจากโลกตะวันตกเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้คณะรัฐประหารและกองทัพพม่า สาระสำคัญข้อต่อมาคือรัฐบาลสหรัฐจะผลักดันให้ USAID หรือหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ เข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือองค์กรที่เคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนในพม่า รวมถึงภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวในไทย บังกลาเทศและประเทศอื่นๆ ด้วย ข้อสุดท้ายคือการกดดันให้สหประชาชาติ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ มีนโยบายต่อพม่าไปในลักษณะเดียวกันกับสหรัฐ

Advertisement

นโยบายการคว่ำบาตรของสหรัฐ ภายใต้กรอบ Burma Bill แตกต่างจากนโยบายของสหภาพยุโรปบางส่วน เช่น รัฐบาลสหรัฐยังไม่ประกาศคว่ำบาตร MOGE (Myanma Oil and Gas Enterprise) บริษัทร่วมทุนขนาดใหญ่ของกองทัพกับกลุ่มธุรกิจที่สนับสนุนรัฐประหาร ที่น่าแปลกอีกอย่างหนึ่งคือ ใน Burma Bill ให้ระบุความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจาว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (genocide) และกล่าวถึงชาวโรฮีนจาหลายครั้ง แต่ในกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่กลับไม่มีพูดถึงคำว่า “โรฮีนจา” แม้ว่ากระทรวงต่างประเทศสหรัฐตัดสนใจใช้คำว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ในกรณีชาวโรฮีนจามาตั้งแต่เดือนมีนาคม นอกจากนี้ Burma Bill ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ภายในเพื่อเข้ารับตำแหน่งผู้ประสานงานพิเศษสำหรับการสร้างประชาธิปไตยในพม่า (United States Special Coordinator for Burmese Democracy) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์โดยใช้ขีดความสามารถที่สหรัฐมี รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และการนำรัฐบาลพลเรือนกลับเข้าสู่ตำแหน่ง แต่กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติล่าสุดกลับไม่ปรากฏข้อเสนอนี้ด้วย

Burma Bill ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ แม้จะดู “งงๆ” ไปบ้าง แต่สำหรับรัฐบาลคู่ขนาน NUG และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่ต่อต้านกองทัพ/คณะรัฐประหาร ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ความช่วยเหลือในลักษณะอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ด้านการทหาร) จะถูกส่งไปช่วยเหลือทั้งประชาชนและขบวนการภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่ประสบภาวะทางการเงินอย่างหนัก ตั้งแต่คณะรัฐประหารมีมาตรการเข้มงวดกับการทำธุรกรรมทุกประเภท และยังมีข้าราชการนับพันนับหมื่นที่ยังหยุดงานประท้วงมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากการเน้นหนักที่การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรและภาคประชาสังคมแล้ว สหรัฐยังจะเข้าไปช่วยกองกำลังฝ่ายประชาชนในหลายๆ ด้าน ซึ่งอาจรวมการฝึกฝนด้านการทหารด้วย

สงครามกลางเมืองที่ปะทุขึ้นหลังรัฐประหารยังสร้างความปั่นป่วนในรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ นโยบายรัฐบาลสหรัฐไม่ได้มีเป้าหมายเพียงให้ความช่วยเหลือรัฐบาล NUG หรือกองกำลังของคนพม่าเท่านั้น ที่ผ่านมาทั้ง NUG และ PDF ได้รับความสนับสนุนจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ได้แก่ กะเหรี่ยง คะยาห์ และคะฉิ่น ตัวแทนพรรคจากรัฐคะยาห์ พรรค KNPP (Karenni National Progressive Party) ก็มองว่าปัญหาที่สำคัญมากในปัจจุบันคือมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองจำนวนมาก KNPP ยังกล่าวด้วยว่าสหรัฐยังจำเป็นต้องกดดันพันธมิตรของคณะรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียและจีน เพราะตราบใดที่สองประเทศใหญ่นี้ยังให้ความช่วยเหลือกองทัพพม่า โอกาสที่สงครามกลางเมืองจะจบลงในเร็ววันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

Advertisement

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของนักวิชาการด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงอย่างแซคคารี อาบูซา (Zachary Abuza) กลับมองว่าการออกกฎหมายไม่สำคัญเท่ากับการนำกฎหมายไปใช้ปฏิบัติจริง กฎหมายเขียนไว้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะให้ความช่วยเหลือรัฐบาล NUG กองกำลัง PDF และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้กล่าวว่าสหรัฐจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร ดังนั้น อาบูซาจึงมองว่า Burma Bill จะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อนำพม่ากลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ เพราะรัฐบาลสหรัฐยังกดดันคณะรัฐประหารและกองทัพพม่าได้ไม่เข้มข้นพอ การคว่ำบาตรเองก็ยังไม่พอ ตราบใดที่สงครามกลางเมืองนี้ดำเนินต่อไป คนที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คือคณะรัฐประหาร และในที่สุดกฎหมายที่สหรัฐออกมาเพื่อกดดันคณะรัฐประหารพม่าก็จะสูญเปล่า เพราะไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image