คอลัมน์ภาพเก่าเล่าตำนาน โกโบริและอังศุมาลินของจริงที่ อ.บ้านโป่ง : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ลุงดำ

“คู่กรรม” เป็นบทประพันธ์ที่ร้อยเรียงความรักระหว่างรบในสยามประเทศ เป็นนวนิยายแนวโศกนาฏกรรมและวีรคติ ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว 4 ครั้ง ประทับแน่นในใจคนไทยมากที่สุด เรื่องราวของทหารเรือญี่ปุ่นชื่อ เรือเอกโกโบริ ที่มาจากแดนอาทิตย์อุทัย มาสยบรักต่อสาวไทยที่ชื่อ อังศุมาลิน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เรื่องนี้เป็นบทประพันธ์ของ “ทมยันตี” ที่เธอประพันธ์ไว้ในปี พ.ศ.2508 ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกสมัยช่อง 4 บางขุนพรมในปี พ.ศ.2513 และสร้างเป็นละครโทรทัศน์ซ้ำอีก 3 ครั้ง พระเอกนางเอกดังทะลุฟ้าออกไปนอกโลก

ทุกครั้งคราที่มีการแจกรางวัล ภาพยนตร์เรื่อง “คู่กรรม” จะใจดำกวาดรางวัลจนเกลี้ยงไม่เหลือแบ่งให้ใคร นายทหารเรือญี่ปุ่น เรือเอกโกโบริ เข้มงวด ดุดัน ผสมอ่อนโยน และรูปหล่อ ที่กองทัพเรือญี่ปุ่นส่งมาประจำอู่ต่อเรือแถวบางกอกน้อย ส่วนอังศุมาลิน เป็นเด็กสาวชาวบ้านแถวริมคลองบางกอกน้อยที่งามพร้อม มีเมตตา อ่อนหวาน มีคุณธรรม เข้มแข็ง รักแผ่นดินเกิดยิ่งชีพ

ภาพยนตร์และละครเรื่อง “คู่กรรม” ที่ผ่านมาทุกชั่วอายุคนไทย ได้สร้างอิทธิพลความรู้สึกนึกคิดแบบตอกหมุดฝังแน่นในการรับรู้ของคนไทย ส่งผลให้ประวัติศาสตร์การสู้รบที่ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยมีคนตายเพราะทหารและยุวชนสยามที่ยิงต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นซึ่งมายกพลขึ้นบกเมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 กลายเป็นภาพขมุกขมัวประดุจว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เรื่องจริงกลายเป็นนิยาย และนิยายถูกยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง

คนที่ดูหนัง ดูละครเรื่องนี้แล้ว ส่วนใหญ่จะมีทัศนคติเชิงบวก รัก ชื่นชม เมตตาอาทรต่อความรักแบบเสียสละระหว่างทหารญี่ปุ่นกับสาวไทย ดังนั้น ถึงแม้ทหารญี่ปุ่นจะบุกรุกรานไทยในอดีต ทหารญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ผู้ร้าย

Advertisement

เรื่องจริงในประวัติศาสตร์ ที่ขอนำมาแบ่งปันโดยย่อครับ

ราวตี 4 ของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพเรือญี่ปุ่นนำกองทัพลูกพระอาทิตย์จำนวนมหึมาบุกมาเต็มทะเลอ่าวไทย เพื่อยกพลขึ้นบกใน 7 พื้นที่ชายฝั่งทะเลของสยาม คือ บางปู (สมุทรปราการ) ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ทหารและประชาชนไทยจับอาวุธต่อสู้ยิงกับญี่ปุ่นที่ชายฝั่ง รบกันดุเดือดที่สุดคือบริเวณอ่าวมะนาว จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทหารอากาศของกองบินน้อยที่ 5 พลีชีพเพื่อชาติไป 42 นาย และที่ปัตตานี พันตรีขุนอิงคยุทธบริหาร นำทหาร ร.พัน.42 ยิงกับทหารญี่ปุ่นผู้รุกราน จนตัวเองเสียชีวิตในสนามรบพร้อมกับทหารอีก 24 นาย การต่อสู้ในวันนั้นกองทัพญี่ปุ่นประสงค์ที่จะขึ้นบกและใช้แผ่นดินสยามเป็นทางผ่าน เพื่อนำกองทัพรุกไปสู่พม่าและมลายู อีกทั้งต้องการมาตั้งฐานทัพในไทยเพื่อสร้างทางรถไฟแยกจากสถานีหนองปลาดุกเจาะทะลุเขาไปบุกพม่า

การสู้รบอย่างห้าวหาญของทหาร ตำรวจและประชาชนไทยในเช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เป็นสงครามย่อยๆ ที่สร้างความสูญเสียแก่ประชาชนสยามไม่น้อย เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นไปก่อสงครามในจีน เกาหลี ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย

Advertisement

ภาพยนตร์และละครเรื่องคู่กรรม เป็นเวทมนตร์ที่สะกดให้คนไทยไม่เคยนึกรังเกียจกองทัพลูกซามูไรที่บุกเข้ามาในสยามตลอดสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนั้นกองทัพญี่ปุ่นที่มาตั้งค่ายในสยามยังเป็นการเชิญฝรั่ง (เชิญแขก) ให้มาทิ้งระเบิดใส่กรุงเทพฯ ชุมพร ระนอง และอีกหลายจังหวัด

ที่เล่ามานี้ ผู้เขียนไม่ประสงค์จะรื้อฟื้นให้ต้องพากันเกลียดย้อนหลังหรือต้องให้ชิงชังกันในภายหน้าแต่อย่างใด ลองมาดูเรื่องจริง 1 เรื่องที่ทหารญี่ปุ่นมารักกับสาวไทยครับ

ราวกลางเดือนพฤศจิกายน 2559 ผู้เขียนโชคดีที่มีโอกาสได้พบกับนักข่าวของอาซาฮี ชิมบุน ชาวญี่ปุ่นที่มาประจำในประเทศไทย ชื่อ เรียวซุเกะ โอโนะ ท่านทำข่าวและใช้เวลาสืบค้นเรื่องราวของความสัมพันธ์ของคนญี่ปุ่นในสังคมไทยในอดีต จนค้นพบเรื่องนี้ ในเดือนสิงหาคม 2558 คุณโอโนะได้เดินทางไปพบชาวบ้านที่บ้านโคกหม้อพัฒนา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ชาวบ้านที่นั่นเล่าให้ฟังว่า หลังจากสิ้นสุดสงครามได้ไม่นาน ชาวบ้านสังเกตเห็นชายแปลกหน้าคนหนึ่งเดินทางเข้ามาที่บ้านโคกหม้อพัฒนา อ.บ้านโป่ง เขาบอกว่าเขาเป็นคนจีน ชื่อ นายจง แซ่ลิ้ม หลังจากนั้นแกก็ไปอาศัยอยู่ที่บ้านพักคนงานโรงงานทำอิฐกับหญิงชาวไทย แกขอทำงานที่โรงงานทำอิฐ

แม้ว่าแกจะมีผิวขาวแตกต่างจากคนในหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านชอบเรียกแกว่า “ลุงดำ”

ต่อมาภายหลังชาวบ้านจึงได้ทราบความจริงว่า เมื่อก่อนตอนที่ลุงดำอยู่ในค่ายทหารญี่ปุ่นใกล้ๆ หมู่บ้าน ลุงดำได้ตกหลุมรักกับหญิงสาวชาวไทยที่เร่ขายของ ต่อมาลุงดำหนีออกจากค่ายทหาร ลุงดำได้ล่องเรือไปกับหญิงสาวชาวไทย โดยเรือลำน้อยได้มุ่งหน้าไปทางจังหวัดสมุทรสงคราม

เมื่อสงครามเลิก ลุงดำและภรรยาคนไทยก็กลับมาที่หมู่บ้านอีกครั้ง มีทะเบียนราษฎร์ระบุว่าอาศัยอยู่ที่บ้านโคกหม้อพัฒนา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ใช้ชื่อว่า นายจง แซ่ลิ้ม สัญชาติจีน เกิดปี พ.ศ.2455 มิได้ระบุวันและเดือนที่เกิด ลุงดำจึงได้รับสิทธิในการอยู่ในประเทศไทยในฐานะชาวจีน มีภรรยาชื่อ นางชื้น แซ่ลิ้ม

อันที่จริงคนไทยในหมู่บ้านทราบตั้งแต่แรกแล้วว่าลุงดำแกเป็นทหารญี่ปุ่นที่หนีทัพมา คุณสมทรง ใจสว่าง อายุ 88 ปี คนในหมู่บ้าน เล่าให้ฟังต่อว่า ในตอนนั้นมีกองทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งค่ายภายในวัดและในหมู่บ้าน เพื่อสร้างสะพานเหล็กไทย-พม่า ลุงดำเป็นทหาร แต่จู่ๆ ก็หายตัวไป พวกทหารญี่ปุ่นเคยเข้ามาค้นหาตัวลุงดำบริเวณนี้ด้วย

คุณสมบัติ ปุยอ๊อก อายุ 89 ปี ชาวบ้านที่เคยทำงานกับลุงดำที่โรงงานทำอิฐอยู่หลายเดือนขยายความต่อว่า ลุงดำเคยเล่าให้ฟังว่า

อแม่พี่น้องและครอบครัวที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นทุกคนเสียชีวิตไปหมดแล้วจากระเบิดปรมาณู ถึงจะกลับประเทศญี่ปุ่นก็ไม่มีประโยชน์อะไร

แล้วยังเล่าเสริมว่า พวกชาวบ้านจะขายผลไม้และเหล้าพื้นบ้านอยู่แถวๆ วัด ดูเหมือนทหารญี่ปุ่นจะไม่ค่อยมีเงิน มีบ้างที่ทหารญี่ปุ่นเอายาเพนิซิลลินและยาลดไข้มาแลกกับสิ่งของ ยาลดไข้ 4 เม็ด บ้าง 6 เม็ดบ้าง แลกกับเหล้าพื้นบ้าน 1 ไห

คุณสมหวัง เดชพูล อายุ 55 ปี เล่าว่าพ่อของเขาเคยทำงานโรงงานเดียวกันกับลุงดำ และเคยด้ยินพ่อเล่าให้ฟังว่าลุงดำมีลูกอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น 2 คน และถ้ากลับญี่ปุ่นจะต้องได้รับโทษหนัก

นี่คือเรื่องราวของลุงดำ อดีตทหารญี่ปุ่นหนีทัพ เพราะพบรักกับสาวไทยระหว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนในสังคมชนบทของไทยอย่างมีความสุขที่ อ.บ้านโป่ง โดยมีคนไทยช่วยเหลือเมตตาดูแล

หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามใน 2 กันยายน พ.ศ.2488 มีทหารจำนวนไม่น้อยที่หลบหนีออกจากกองทัพ ทั้งนี้ ในช่วงปี พ.ศ.2485 หรือ พ.ศ.2486 ที่คาดว่าเป็นช่วงที่ลุงดำหลบหนีออกจากกองทัพ เป็นช่วงเวลาที่ทหารญี่ปุ่นยังคงยึดมั่นในระเบียบวินัย ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด ด้วยเหตุนี้ในช่วงแรกสาวไทยจึงต้องพาลุงดำหนีออกไปจากพื้นที่ อ.บ้านโป่ง ไปอยู่ที่สมุทรสงครามและกลับมาสร้างบ้าน สร้างครอบครัวถาวรที่ อ.บ้านโป่ง จนมีลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีลูกสาวชื่อสายใจ แซ่ลิ้ม ที่ยังคงอยู่ในหมู่บ้านโคกหม้อพัฒนา

ในช่วงหลังสงคราม คนที่ถูกมองว่าเป็นทหารญี่ปุ่น ส่วนมากจะปฏิเสธว่าตนเองไม่ใช่คนญี่ปุ่น การมีเอกสารเพื่อยื่นยันว่าตนเองเป็นคนจีนในสมัยนั้นสามารถทำได้ไม่ยาก

คุณวรรณา กะนีจิตร ผู้ใหญ่บ้าน อายุ 47 ปี เล่าให้คุณโอโนะฟังว่า “ตอนนี้ลูกสาวของเขาก็ยังอยู่ที่หมู่บ้าน” แม้ชาวบ้านในหมู่บ้านหลายคนจะจำได้ว่าเขาเคยเป็นอดีตทหารญี่ปุ่น มีคนแก่หลายคนที่ยังจำได้ถึงตอนที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งค่ายแถวบ้าน แต่ทว่าไม่มีหลักฐานที่บันทึกว่าลุงดำเป็นอดีตทหารญี่ปุ่น ถึงกระนั้นลูกหลานของลุงดำก็ทราบดีว่าตนเองมีเลือดของชาวญี่ปุ่นไหลเวียนอยู่ในร่างกาย

ลุงดำเสียชีวิตอย่างสงบในหมู่บ้านเมื่อ 10 มีนาคม 2538 ตอนนี้ทายาทรุ่นเหลนของลุงดำได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว

ข้อมูลในปี พ.ศ.2558 ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนในไทยมากกว่าสี่พันบริษัท อีกทั้งคนญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวราว 70,000 คน (ตามจำนวนที่แจ้ง) ร้านอาหารญี่ปุ่นมีมากกว่า 2,000 ร้าน คับคั่งไปด้วยลูกค้าคนไทย คนหนุ่มสาวเติบโตมาด้วยการดูการ์ตูนแอนิเมชั่นของญี่ปุ่น อีกทั้งในปีที่ผ่านมานั้นมีนักท่องเที่ยวชาวไทยประมาณ 660,000 คนไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น ทุกอย่างผ่านไปแล้วกับกาลเวลา

“อนาตะ โอ อาอิชิ มาสุ ฉันรักคุณค่ะ โกโบริ อย่าถามนะคะว่ามันมากแค่ไหน คุณเป็นคนได้มันไปเป็นคนแรกและคนสุดท้าย การที่เรารักใครสักคน ถึงแม้จะทนทรมานเพราะคิดว่าไม่สมหวัง ก็ยังดีกว่าพยายามที่จะไม่รักคนอื่นที่เรารักเขามากเหลือเกิน ความทุกข์จากการได้รักไม่เท่าความทุกข์จากการพยายามไม่รัก…” คำหวานของอังศุมาลินที่ตรึงคนไทยไว้กับความรักระหว่างทหารญี่ปุ่นกับสาวไทย โดยทมยันตี

สำนวนรักแบบนี้ ลุงดำคงจะได้ยินจากสาวไทยจึงต้องหนีทัพเมื่อ 70 ปีที่แล้ว

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

(ขอบคุณเนื้อเรื่องบางตอนและภาพจากเรียวซุเกะ โอโนะ)

aislogo

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image