ยุบสภา เสียของ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แย้มว่าจะเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว พอถูกท้วงว่าระวังจะเกิดปัญหาข้อกฎหมาย เลยเล่นลีลาเปลี่ยนทีท่าว่าเป็นแค่ประกาศเจตนารมณ์ พิธีการ พิธีกรรมยังต้องมีอีกหลายขั้นตอน

อย่างไรก็ตามความชัดเจนทำให้บรรยากาศการเมืองลดความอึมครึมลงระดับหนึ่ง แถมเป็นข่าวดีสำหรับ ส.ส. อดีต ส.ส. และว่าที่ ส.ส.ที่กำลังวิ่งหารังใหม่กันควั่ก

ที่แน่ๆ ข่าวดียิ่งกว่า ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์บอกยังไม่ยุบสภา แต่จะอยู่ทำงานต่อไปอีกสองเดือน จนใกล้สภาผู้แทนครบวาระ 26 มีนาคม 2566

เมื่อรัฐบาลจะอยู่ให้นานที่สุด เวลาที่เหลืออยู่ทั้งรัฐบาลและรัฐสภาจึงควรทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการบัญญัติกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยในทุกด้าน

Advertisement

แต่ข่าวดียิ่งกว่าข่าวดีๆ ที่ว่ามา น่าจะเป็นมติร่วมของฝ่ายสภา เรื่องการลดหรือขจัดอุปสรรคที่จะทำให้กฎหมายดีๆ ต้องมีอันเป็นไป ด้วยเหตุมาจากการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา ซึ่งยืดเยื้อ ถกกันไปได้ไม่กี่มาตรา ต้องใช้เวลาอีกนาน

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงประชุมร่วมกับวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านมีมติว่า ให้มีการประชุมสภาวาระพิเศษ วันที่ 28 ธันวาคมนี้ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่วุฒิสภา แก้ไขเพิ่มเติมเสร็จแล้ว 5 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อน หนึ่งในนั้นคือร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 10-11 มกราคม 2566 เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเติม มาตรา 159 และมาตรา 272

Advertisement

การจัดการเวลาที่เหลืออยู่ของสภาเพื่อบัญญัติกฎหมายสำคัญจำเป็นออกมาใช้ แทนที่จะถูกเกมการเมืองทำให้เป็นหมัน ถูกแช่แข็งต่อไปไม่มีกำหนด นี่แหละครับ เป็นข่าวดียิ่งกว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเข้าพรรคไหน ส.ส. รัฐมนตรี จะโยกย้ายเข้ามุ้งใคร เมื่อไหร่

เพราะเป็นเรื่องของเนื้องาน ผลงานล้วนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกฎหมายที่สังคมคาดหวังเป็นพิเศษ คือ กฎหมายการศึกษาของชาติ

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นบทบังคับตามรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก่อนครบวาระการทำงาน 2 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 รวมเวลาการทำคลอด 2 ปี

รัฐบาลรับมาพิจารณาต่อจนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาผ่านวาระ 1 วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 49 คน จะนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาวาระสองสาม วันที่ 10-11 มกราคม 2566 รวมเวลานับแต่เริ่มยกร่างจนทำคลอด 2560 ถึง 2566 รวม 6 ปีเต็ม

คิดคำนวณดูนะครับว่า เวลาและงบประมาณที่เสียไปกับการยกร่างกฎหมายนี้ มากมายแค่ไหน หากมีอันเป็นไปไม่สามารถเข็นออกมาใช้ได้ เท่ากับสังคมสูญเสียทรัพยากรไปเป็นจำนวนมหาศาล ต้องรอต่อไปอีก จนกว่ารัฐบาลและรัฐสภาใหม่จะยกขึ้นมาพิจารณาหรือไม่

โดยเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ทั้งหมด 110 มาตรา ถึงแม้ยังมีจุดอ่อน ไม่สมบูรณ์ 100% ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการการศึกษาบางกลุ่ม ได้รับผลกระทบยังไม่พึงพอใจ แต่เมื่อเพิจารณาถึงสาระในอีกหลายส่วน เป็นผลดีต่อการปฏิรูปการศึกษามากกว่า

โดยเฉพาะประเด็นส่งเสริมให้สถานศึกษามีความอิสระคล่องตัว การบริหารและการจัดการศึกษาเปิดให้มีส่วนร่วมมากขึ้น ต้องรับฟังความเห็นของครู นักเรียน ผู้ปกครองและบุคลากรในสถานศึกษาและคณะกรรมการสถานศึกษาด้วย

ประชาชนอาจรวมตัวกันเป็นคณะบุคคล เป็นสมัชชา สภา กลุ่มเพื่อให้การส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ เสนอแนะ อุดหนุน หรือให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษาของโรงเรียนในจังหวัดนั้นหรือจังหวัดใกล้เคียงได้

ที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเราเชื่อว่าคุณภาพการศึกษาอยู่ที่คุณภาพครู ร่างกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่กำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู อาจารย์ของสถาบันผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา

กลไกและกระบวนการนี้ จะทำให้การปฏิรูปครู เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

สิ่งดีๆ ในร่างกฎหมายที่ยกมาเป็นตัวอย่างเพียงบางส่วนเหล่านี้แหละครับ เป็นตัวบ่งชี้ ยืนยันว่า ร่างกฎหมายนี้มีข้อดีมากกว่าข้อด้อย

ฉะนั้น ขอเรียกร้องสมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบออกมาใช้ให้ทันสมัยประชุมสภานี้ก่อนที่จะปิดลง หรือเกิดอุบัติเหตุยุบสภาเสียก่อน

นอกจากฉบับของรัฐบาลแล้ว นักการศึกษาและเครือข่ายติดตามปัญหาการศึกษา ในนามสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) ได้ยกร่างขึ้นอีกฉบับหนึ่ง

เขียนหลัก กระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมทางการศึกษาไปถึงขั้นให้มีสภาการศึกษาจังหวัดทั่วประเทศเป็นภาคบังคับ ขณะที่ฉบับรัฐบาล ประชาชนจะรวมตัวกันเป็นสมัชชาหรือไม่ ให้เป็นเรื่องของความสมัครใจ

อีกประเด็นหนึ่งที่โดดเด่นในฉบับภาคประชาชน ได้แก่ ให้ผู้บริหารระดับสูง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ผอ.สถานศึกษา กรรมการ อนุกรรมการฯ แสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน

น่าเสียดาย กฎหมายของภาคประชาชนประสบชะตากรรม รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติไม่รับหลักการ ปล่อยให้เป็นหมันไปเสียเฉยๆ โดยไม่มีคำตอบใดๆ ทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image