ผ่านประชามติแล้ว โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

ไม่ว่าจะเรียกว่า “สวัสดิการ” อย่างที่รัฐบาลอยากจะให้ประชาชนเรียก หรือเรียกว่า “ประชานิยม” อย่างที่รัฐบาลตั้งข้อรังเกียจไม่อยากให้ประชาชนใช้เรียก แต่โครงการแจกเงินประชาชนรายได้น้อยคนละ 1,500-3,000 บาท แม้ไม่มีชื่อเฉพาะก็คือใช้งบประมาณของรัฐมาแจกให้ประชาชนเพื่อหวังว่าจะเกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนสร้างกำลังซื้อในตลาดมาผลักดันระบบเศรษฐกิจ

ตามสูตร เมื่อมีการซื้อ ก็ต้องมีการขาย มีการผลิต มีการจ้างงาน มีการจ่ายค่าแรง คนมีเงินในกระเป๋าก็จะมาซื้ออีก ก่อระบบที่หนุมเวียนขึ้น จนกว่าเงินที่หมุนอยู่นั้นจะเข้าไปอยู่ในกระเป๋าเศรษฐีแล้วเงินนั้นถูกเก็บออกไปจากระบบ เพราะเศรษฐีก็ใช้เงินเท่าเดิมไม่ว่าได้เพิ่มหรือไม่ได้เพิ่มก็จะใช้ปริมาณขนาดนั้น ได้มามากก็เก็บมากเอาไว้เป็นสมบัติให้ลูกหลาน

เป็นที่รู้กันว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้จะเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลประเมินแล้วว่า ระบบเศรษฐกิจมีปัญหากำลังซื้อชะลอตัว หรือหยุดชะงักเพราะประชาชนระดับล่างไม่มีเงินที่จะมาจับจ่ายใช้สอย หากปล่อยไว้จะเสี่ยงต่อการทำให้พังทั้งระบบ เพราะเมื่อขาดการซื้อการขาย การผลิตจะลดลง การจ้างงานจะหายไป ทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดทำงาน ซึ่งจะเกิดความยุ่งยากในการแก้ไขเนื่องจากปัญหาอื่นๆ จะตามมาอีกมากมาย เพราะความยากจนของคนที่จำเป็นต้องหาทางเอาชีวิตรอด

การแก้ปัญหาสังคมมักจะต้นทุนสูงและต่อเนื่องไม่รู้จบ ไม่รู้พอ ไม่เหมือนกับการสร้างกำลังซื้อให้ตลาดหล่อเลี้ยงให้ระบบเศรษฐกิจหมุนได้ ระบบจะทำงานเยียวยาปัญหาด้วยตัวเอง

Advertisement

ว่าไปที่เรียก “ประชานิยม” นั้น ความจริงความหมายน่าจะเป็น “รัฐบาลหมดท่า” มากกว่า

เป็นเรื่องของความหมดท่าที่จะสร้างรายได้ให้ประชาชนด้วยวิธีปกติ เช่นสร้างการลงทุนภาคเอกชนที่จะทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างธุรกิจบริการอย่างเช่นเรื่องท่องเที่ยวให้เกิด หรือเจริญรุ่งเรือง

เมื่อทำไม่ได้ หรือได้แต่ไม่พอที่จะสร้างกำลังซื้อที่แท้จริง หรือสร้างขึ้นมาพอแต่รายได้ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไปตกอยู่กับทุนผูกขาดที่ไม่ส่งผลต่อการจ่ายเพื่อกระตุ้นตลาด

Advertisement

รัฐบาลจึงต้องลงทุนสร้างกำลังซื้อเองโดยใช้เงินงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภาครัฐ หรือแจกกันให้มาจับจ่ายใช้สอยกันโต้งๆ

ส่วนจะเรียกชื่อโครงการแบบนี้ว่าอะไร เป็นเรื่องแล้วแต่ “จริต” ว่าอยากให้ถูกมองแบบไหน

มันก็คล้ายๆ กับ “ประชาธิปไตย” ที่ประกาศกันว่าจะคืนให้ตามโรดแม็บที่วางไว้

เป็น “ประชาธิปไตยวาทกรรมประดิษฐ์” ไม่ต่างกัน

เป็นที่รู้กันว่า “ประชาธิปไตย” ตามความหมายสากลนั้น หมายถึงการให้อำนาจประชาชนเท่าเทียมกันเป็นหลัก โดยถือว่าคนทุกคนที่เป็นสมาชิกอย่างถูกต้องตามกฎหมายของชาติเป็นประชาชนที่เท่าเทียม ไม่มีคนกลุ่มไหน เหล่าไหน หรืออาชีพอะไรมีสิทธิในอำนาจการปกครองประเทศมากกว่าคนอื่น

กติกาการปกครอบประเทศที่สร้างขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นกฎหมายระดับไหนต้องรองรับหลักการสำคัญนี้ จึงจะได้ชื่อว่า “ประเทศประชาธิปไตย” ตามความหมายสากล

แต่ที่ประเทศไทยเรากำลังดำเนินไปนี้ ชัดเจนว่าเป็น “ประชาธิปไตยรูปแบบพิเศษเฉพาะ” ที่ไม่เกี่ยวกับหลักการสำคัญข้างต้น

คนกลุ่มหนึ่ง พวกหนึ่ง มีสิทธิในอำนาจเหนือกว่าประชาชนกลุ่มอื่นส่วนอื่น

มี “ตามวัฒนธรรมแบบไทยๆ” เข้ามาเป็นเหตุผลที่ต้องเป็นเช่นนั้น

มีประชาชนกลุ่มคนดี คนฉลาดกว่าที่จะต้องให้สิทธิในอำนาจการปกครองมากกว่า

มีกลุ่มคนเลว คนโง่ที่จะต้องกดไว้มาให้มีอำนาจ

แต่ก็ยังอยากประกาศว่าในการปกครองด้วยหลักการเช่นนี้คือ “ประชาธิปไตย”

เป็นการใส่เสื้อประชาธิปไตยเพื่อให้นานาชาติใช้เป็นข้ออ้างที่จะยอมรับ ด้วยความเชื่อว่าที่สุดแล้วทุกประเทศในโลกนี้สัมพันธ์กันด้วยประโยชน์ทางธุรกิจ เพียงแค่ใส่เสื้อให้เป็นพวกเดียวกันก็เพียงพอแล้ว

ไม่จำเป็นต้องมีหัวใจ และเนื้อตัวเป็นอย่างป้ายประกาศบนเสื้อ

เป็นเหตุผลที่คิดกันขึ้นมาเพื่อใช้เป็นข้ออ้างให้การกระทำของตัวเอง

การกระทำเพื่อให้อำนาจยังอยู่ในมือ

ความน่าสนใจอยู่ที่เป็นเหตุผลที่ใช้ได้จริง หรือจะเป็นเหตุผลที่สร้างปัญหาตามมาไม่รู้จบ

มีแต่ต้องใช้เวลาเป็นผู้ให้คำตอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image