ประชานิยมในระบอบใด : นิธิ เอียวศรีวงศ์

นโยบายแจกเงินคนจนของ คสช.กำลังถูกล้อเลียนอีกแล้วว่า ก็เป็นประชานิยมอย่างที่ตัวเคยตั้งข้อรังเกียจ

หลักการง่ายๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็คือ ทำให้มีเงินไหลเวียนในตลาดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จุดมุ่งหมายเช่นนี้บังคับให้ต้องทำให้เงินตกไปถึงมือของคนจน เพราะคนจนเท่านั้นที่เมื่อมีเงินแล้วก็ใช้ ในขณะที่คนไม่จนถึงมีเงินเพิ่มขึ้นก็ยังใช้เท่าเดิม นอกจากนี้คนจนยังมักใช้เงินกับคนจนด้วยกันเอง เช่นให้เงินลูกไปซื้อขนมที่แผงลอย จึงทำให้เงินจำนวนนั้นได้หมุนเวียนหลายรอบขึ้น กว่าจะกลับมากระจุกอยู่ในกระเป๋าเจ้าสัว

แน่นอน รัฐบาลไทยรักไทยก็ทำอย่างเดียวกัน ซ้ำทำในสัดส่วนที่ใหญ่กว่านี้หลายเท่าตัวด้วย แต่แทนที่จะ “แจก” เงินเฉยๆ รัฐบาล ทรท.กระจายเงินลงไปให้ถึงมือคนในชนบทผ่านโครงการ ที่ ทรท.โฆษณาว่าจะเป็นผลให้คนชนบทเงยหน้าอ้าปากทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น เช่น หมู่บ้านละล้าน, ชะลอหนี้สิน, ธนาคารคนจน, โอท็อป, แปลงสินทรัพย์เป็นทุน, ฯลฯ เงินถูกผลักให้ไปถึงมือของคนที่จะใช้โดยเร็ว ถึงไม่บรรลุจุดประสงค์อย่างที่โฆษณา ก็ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งเศรษฐกิจที่ซบเซาหลังวิกฤตเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

วิธีของทักษิณมี “จุดแข็ง” มากกว่าของ คสช. แต่ก็มี “จุดอ่อน” กว่าของ คสช.ด้วย นั่นคือเงินมักไม่ไหลไปสู่มือของคนจนสุด ซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก “ทุน” ที่รัฐยื่นมาให้ แม้แต่โครงการที่มุ่งไปยังคนทั้งหมดในลักษณะ “สากล” (universal) เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค คนจนสุดก็ยังเข้าถึงได้ยากกว่าคนทั่วไป (เช่น ไม่มีเงินค่าเดินทางไปโรงพยาบาล) วิธี “แจกเงิน” ของคสช.ใช้เกณฑ์รายได้ต่ำสุดเป็นผู้ได้รับเงินก่อนและสูงสุด เงินจึงจะไหลไปถึงมือคนจนสุดอย่างแน่นอน

Advertisement

แต่จำนวนก็น้อยเกินกว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก ไม่พึงหวังอะไรจากโครงการแจกเงินของ คสช.มากไปกว่าคนจนๆ พอจะคล่องตัวขึ้นชั่วคราว (แต่คนสัปดนอย่างผมก็อดคิดถึงคำกล่าวของมาร์กซ์ไม่ได้ว่า นายทุนต้องทำให้กรรมาชีพกินอยู่ได้พอจะสืบพันธุ์ ไม่อย่างนั้นจะไปหาแรงงานในระยะยาวได้ที่ไหนเล่า)

ครงการแจกเงินคนจนของ คสช.ไม่ใช่เป็นโครงการแรกที่ถูกล้อเลียนเสียดสีว่าลอกมาจากทักษิณ อันที่จริงหลังจากไม่ทำอะไรเลยหลังยึดอำนาจได้ใน พ.ศ.2557 เช่น ขายยางที่ดาวอังคาร, ปลูกหมามุ่ย, ฯลฯ ในที่สุด คสช.ก็เรียนรู้ว่ามีประชาชนจำนวนมากในประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในชนบทและส่วนใหญ่ทำเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีพ ต้องอาศัยการเกื้อหนุนจากรัฐในรูปต่างๆ ที่ยากจนข้นแค้นเลย ก็พอหางานทำในหมู่บ้านได้บ้าง จากการที่รัฐได้ส่งเสริมและลงทุนให้เกษตรเชิงพานิชย์ขยายตัว จนเกิดการจ้างงานในภาคการเกษตร ที่พอเงยหน้าอ้าปากได้แล้วซึ่งคงเป็นส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้ ก็สามารถเอาประโยชน์จากโครงการของรัฐได้มากขึ้น รัฐเป็นทางมาของรายได้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมที่สำคัญ และยังมีความสำคัญสืบมาจนถึงวันที่ คสช.ยึดอำนาจบ้านเมืองอยู่ขณะนี้

อย่างไรเสีย รัฐก็ต้องกระจายงบประมาณก้อนหนึ่ง ซึ่งใหญ่พอสมควรลงไปสร้างประโยชน์ให้แก่พวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เกิดความสงบขึ้นในสังคม อันเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ หากต้องการการลงทุนในประเทศทั้งจากนายทุนภายในและภายนอก รวมถึงทำให้ไม่ต้องเสียต้นทุนในการผลิตและการตลาดให้แก่การรักษาความสงบภายใน คสช.เรียนรู้หลังจากยึดอำนาจไปสักพักหนึ่งว่า มาตรการเด็ดขาดทางการทหารอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะรักษาความสงบแห่งชาติได้

Advertisement

นโยบายที่ถูกเรียกว่า “ประชานิยม” ของทักษิณนั้น แม้มีจุดมุ่งหมายที่การสร้างฐานคะแนนเสียงในการเลือกตั้งอยู่ด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่เป็นนโยบายที่ไม่ทำก็ไม่ได้ แท้ที่จริงแล้วทักษิณไม่ใช่คนแรกที่ทำเสียด้วย

นโยบาย “พัฒนาชนบท” เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของนโยบาย “พัฒนา” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษ 2500 จุดมุ่งหมายหลักในช่วงนั้นคือจะดึงส่วนเกิน, ทรัพยากร, และแรงงานจากชนบท เข้ามาสร้างอุตสาหกรรมในเขตเมืองได้อย่างไร หากไม่สร้างถนนหนทางเพื่อขนส่งพืชผลการเกษตร ไม่สร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้า ไม่ขยายระบบราชการไปกำกับควบคุม และให้บริการบางส่วนแก่ผู้คนในชนบท พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นโยบาย “พัฒนาชนบท” ในระยะแรก คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับดูดดึงทรัพย์จากชนบทเข้ามาให้แก่อุตสาหกรรมในเมือง

คนชนบทอาจจนลงเพราะการ “พัฒนาชนบท” แบบนี้จริง อย่างที่เอ็นจีโอพูดถึงก็ได้ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ คนชนบทเปลี่ยนไป เพราะต้องเข้าสู่การผลิตในตลาดมากขึ้น ในกระบวนการเข้าสู่ตลาดนี้ บางคนก็รวยขึ้น โดยเฉพาะคนที่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐสร้างขึ้น คนเหล่านี้กลายเป็นเอเย่นต์ของรัฐในการดึงคนชนบทอื่นๆ ให้เข้าสู่ตลาด

อย่างไรก็ตาม หลังทศวรรษ 2510 โดยเฉพาะในช่วงหลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา นโยบาย “พัฒนาชนบท” เริ่มเปลี่ยนไปสู่ลักษณะที่ถูกคนในปัจจุบันเรียกว่า “ประชานิยม” มากขึ้น นั่นคือกระจายเงินไปถึงมือชาวบ้านในชนบทโดยตรง อย่างน้อยส่วนที่เป็น “ประชานิยม” ก็เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของการ “พัฒนาชนบท” เช่นนโยบายเงินผันของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้น จะแปลกอะไรที่พรรคการเมืองซึ่งหวังคะแนนเสียงจากคนชนบทซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ ต้องหาทางทำอะไรที่ประชาในชนบทจะนิยม บางครั้งก็ทำเสียสุดโต่งจนไม่ได้ประโยชน์อะไรแก่ส่วนรวม หรือแม้แต่แก่คนชนบทเอง ดังนั้น “ประชานิยม” จึงไม่ใช่ความเลวร้ายในตัวมันเอง ต้องว่ากันไปเป็นเรื่องๆ ที่จริงแล้ว คำว่า “ประชานิยม” ก็ถูกนักวิชาการอีกบางกลุ่มให้ความหมายอื่นที่ต่างจากคำนิยามของทีดีอาร์ไอด้วย

จะบ้าหรือ ให้เป็นประชาธิปไตยโดยไม่ให้ “ประชานิยม” ก็จะเหลือแต่คุณพ่อนิยม คุณลุงนิยม ทหารนิยม เจ้าสัวนิยม นักเศรษฐศาสตร์ล้าสมัยนิยม แล้วจะเหลือประชาธิปไตยที่ตรงไหนล่ะครับ

ดูเฉพาะ “โครงการ” ต่างๆ ของรัฐที่ลงไปทำในหมู่บ้าน ก่อให้เกิดการจ้างงาน การใช้จ่าย หรือแม้แต่เงินลงทุน (เช่นร้านค้าสหกรณ์หมู่บ้าน) ธกส. ฯลฯ ล้วนทำให้เงินกระจายไปถึงมือคนในหมู่บ้านทั้งสิ้น

ทั้งหมดนี้ ทำกันมาก่อนทักษิณเป็นเวลานาน แม้ภายใต้นายกฯที่กองทัพบกส่งมาให้โดยไม่ให้เลือก เช่น รัฐบาลเปรม โครงการ “ประชานิยม” เหล่านี้ก็ไม่ได้หยุดลง อย่างน้อยหน้าฉากนายกฯ ก็ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากนักการเมือง จึงต้องปล่อยให้นักการเมืองทำโครงการ “ประชานิยม” ในเขตเลือกตั้งของตน และตัวนายกฯเองก็อ้างเสมอว่า รัฐต้องให้บริการไปให้ถึงชาวบ้านในชนบทอย่างทั่วถึง โครงการเช่นขยายไฟฟ้าให้ถึงทุกครัวเรือนของพลเอกเปรมก็เป็น “ประชานิยม” อย่างหนึ่ง และเพิ่มผลิตภาพของคนชนบทขึ้นไม่น้อย

ประชานิยมของทักษิณแตกต่างจาก “ประชานิยม” ที่ทำกันมาก่อนเป็นเวลานานอยู่สองอย่าง นั่นคือไม่แต่เพียงการผลักดันงบประมาณคืนกลับไปสู่ชนบทในปริมาณที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีจุดมุ่งหมายที่มากกว่าการรักษาความสงบแห่งชาติด้วย นั่นคือหวัง (อย่างลมๆ แล้งๆ หรือไม่ก็ตาม) ว่าความช่วยเหลือเหล่านี้จะให้พลังแก่คนชนบทที่จะเขยิบฐานะทางเศรษฐกิจของตนขึ้นมา จนพ้นจากภาคเกษตรกรรม กลายเป็นเถ้าแก่น้อย หรือส่งลูกหลานให้ได้เล่าเรียนจนเข้าสู่วิชาชีพขั้นสูง

จะว่าไปนโยบาย “ประชานิยม” ที่ดูก้าวหน้ากว่าที่ผ่านมาเช่นนี้ เกิดขึ้นได้ก็เพราะทักษิณและพรรคพวกที่เป็นแกนกลางของพรรค ทรท.ต่างอยู่ในธุรกิจที่ต้องพึ่งตลาดภายในเป็นหลัก จึงอยากเห็นการเพิ่มกำลังซื้อของตลาดภายในเป็นธรรมดา ข้อนี้ผมไม่ทราบ และไม่เห็นเป็นประเด็นที่จะต้องเถียงกัน ประเด็นน่าจะอยู่ที่ว่า “ประชานิยม” แบบนี้เหมาะสมกว่าหรือไม่ ทั้งในแง่เป้าหมาย และความรั่วไหลในการดำเนินงาน ฯลฯ

ไม่ว่าจะ “ประชานิยม” แบบไหน และอย่างไร รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายนี้สืบเนื่องกันมานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่ทักษิณและ ทรท.สร้างขึ้นเอง และไม่ใช่นโยบายที่ใช้เฉพาะในประเทศไทย อาจารย์ผาสุก พงศ์ไพจิตร และอาจารย์คริส เบเคอร์กล่าวว่า ในหลายประเทศ ชนชั้นนำชาติหรือเหล่าคณาธิปัตย์รู้สึกว่าตัวถูกบีบอยู่ระหว่างหลักแฝดของโลกาภิวัตน์ และการขยายประชาธิปไตย จึงพากันตอบโต้ด้วยการตั้งกลุ่มพันธมิตรข้ามชนชั้นเพื่อยึดอำนาจรัฐ แล้วก็ใช้นโยบายกระจายคืนทรัพย์ด้วยนโยบาย “ประชานิยม” เพื่อรักษาอำนาจไว้ พวกเขาใช้ยุทธศาสตร์คู่ขนานทางเศรษฐกิจ ซึ่งพยายามทำกำไรจากโลกาภิวัตน์ ในขณะเดียวกันก็ปกป้องผลประโยชน์ภายใน [ของตนเอง] ต่างสมาทานอุดมการณ์สากล ซึ่งทำให้เกิดจินตนาการที่ขจัดความขัดแย้งทางชนชั้นออกไป [เช่นเสรีประชาธิปไตย] (Thaksin, The Business of Politics in Thailand, นน.229-30)

ไม่ว่า คสช.จะบริหารบ้านเมืองต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ประชาธิปไตยที่เตรียมไว้แล้ว หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่บริหารภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย “ประชานิยม” ก็ยังคงอยู่ในเมืองไทยต่อไปอีกนาน และอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียด้วย

ปัญหาที่คนไทยควรคิดในตอนนี้ จึงไม่ใช่เอาหรือไม่เอา “ประชานิยม” แต่เราควรเอา “ประชานิยม” ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยหรือภายใต้ระบอบทหารต่างหาก เท่าที่ผ่านมาในสองสามปี “ประชานิยม” ถูกใช้เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ทุนขนาดใหญ่ ภายใต้ชื่อผิดๆ ว่าประชารัฐ และภายใต้สายตาปัญญาชนคนดีของแผ่นดิน หรือมิฉะนั้นก็ถูกนำงบไปใช้ในการทำบุญสร้างภาพ เช่นทำฝายหรือเกี่ยวข้าวช่วยชาวนา โดยไม่มีฝ่ายใดสามารถท้วงติงหรือต่อรองอะไรได้

ภายหลังทักษิณและยิ่งลักษณ์ งบ “ประชานิยม” มีแต่จะสูงใกล้ๆ กันกับที่นายกฯทั้งสองท่านได้ใช้ไปแล้ว เช่น ราคาที่รัฐจ่ายในการจำนำยุ้งฉาง ก็เกือบจะเท่ากับราคาจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำกับข้าวทุกเมล็ดเท่านั้น

ไม่แต่จำนวนของงบที่ขึ้นสูง ผลกระทบของ “ประชานิยม” ที่มีต่อประเทศโดยรวมก็ย่อมเพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา คนไทยจะปล่อยให้การริเริ่ม, และการกำกับดูแล อยู่ในมือของอำนาจทางทหารที่ไม่อนุญาตให้ท้วงติงต่อรอง หรือในมือของนักการเมือง ซึ่งก็ไม่ได้บริสุทธิ์สะอาดไปกว่าทหารแต่อย่างไร เพียงแต่ว่าเราสามารถท้วงติงต่อรองได้อย่างเสรี
อย่าคิดหนีประชานิยม เพราะถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้น แต่ต้องคิดว่าจะกำกับควบคุมอย่างไร จึงจะสามารถทำให้ประชานิยมมีผลปรับปรุงชีวิตของคนส่วนใหญ่ได้จริง โดยรั่วไหลน้อยที่สุด

นิธิ เอียวศรีวงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image