ผู้เขียน | สุชาติ ศรีสุวรรณ |
---|
ที่เห็นและเป็นไป : ‘ความหวัง’ปีใหม่
ผ่านปีใหม่เข้าสู่ความเป็นปกติของชีวิตกันแล้ว บางคนอาจจะยังเหลือความทรงจำช่วงเฉลิมฉลองมาเล่าขาน หรือบางคนยังเก็บงานเลี้ยงต้อนรับปีใหม่ของกลุ่มต่างๆ ไม่หมด แต่เชื่อว่าทุกคนได้รับรู้ถึงสภาวะที่สิ่งต่างๆ รอบตัวบงการบังคับให้ชีวิตกลับมาสู่ปกติ เป็นเหมือนที่เคยเป็นแล้ว
ความแตกต่างคงอยู่ที่ในช่วงรอยต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ ที่คำอวยพรทั้งหลายไหลทะลักเข้ามาท่วมท้นและทุกคนต่างตั้งความหวัง ความฝัน กำหนดเป้าหมายบางอย่าง บางเรื่องบางราวเอาไว้ แต่ละคนเอาจริงเอาจังกับการจัดการตัวเองเพื่อบรรลุความหวังนั้นแค่ไหน
ความสามารถที่จะตั้งเป้าหมายที่ดีงาม และกำหนดวิธีการที่จะไปถึงในยุคสมัยที่ต่างแสวงหามาใช้ได้ง่ายดาย คงไม่มีใครเหนือกว่าใครในเชิงวิชั่น และเทคนิค ที่จะไปถึง ดังนั้น เรื่องที่ทำให้เกิดความแตกต่างจึงเป็นการเอาจริงกับความตั้งใจ มีสมาธิแค่ไหนกับกำหนดทิศทางของพลังที่จะนำสู่ความสำเร็จ
ว่ากันง่ายๆ คือใครจะท้อ และออกนอกทางมาอยู่กับความเคยชินเดิมๆ ก่อนใคร
ใช้ชีวิตแบบเดิมชะตากรรมย่อมเป็นแบบเดิม หรือไหลไปตามสถานการณ์ชักนำได้ง่ายกว่า
ความหวังว่าชีวิตดีขึ้น หากสถานการณ์รอบตัวชักนำไปในทางดีก็เป็นไปได้ง่ายว่าจะได้ดังหวัง ในทางกลับกันหากสถานการณ์ชักนำมีแนวโน้มที่จะฉุดรั้ง การไหลตามไปไม่เพียงไม่เปลี่ยนแปลงไม่สำเร็จ แต่กลับจะถูกดูดให้จมลง หรือหลุดหายไปจากหนทางสู่เป้าหมายด้วยแรงเหวี่ยงของสถานการณ์รอบตัวนั้น
ดังนั้น การทำความเข้าใจกับสถานการณ์รอบตัว เพื่อใช้ให้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อประโยชน์ของการไปสู่เป้าหมาย หรือเตรียมรับรู้ไม่ให้ถูกฉุดรั้งจนสูญเสียความตั้งใจจึงเป็นเรื่องจำเป็น
หากตั้งเป้าหมายไว้ที่ความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจ การทำมาหากินที่ประสบความสำเร็จ เติบโตงอกงามยิ่งขึ้น แก้ปัญหาปากท้องได้ราบรื่น
จะจัดการความหวังนั้น พึงต้องมองเห็นแนวโน้มด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น
อย่างเช่นกูรูทั้งหลายชี้ไปในทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจโลกจะมีปัญหา บางคนเชื่อว่าจะถึงขึ้นวิกฤต นั่นหมายถึงตลาดโลกจะหดตัวจากกำลังซื้อที่หมดหายกระทบต่อประเทศต่างๆ อย่างทั่วถึง
ในประเทศการสร้างกำลังซื้อไม่น่าจะราบรื่นนัก เพราะการลงทุนภาคเอกชนน่าจะไม่ดีนัก ด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกดังกล่าว และอุตสาหกรรมย้ายฐาน หรือไปขยายการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านที่ให้เงื่อนไขในการสร้างกำไรมากกว่า
รายได้จากการท่องเที่ยวหวังจากการเปิดประเทศของจีน แต่ต้องเสี่ยงรับต้นทุนที่เกิดจากการระบาดของโควิด ที่จะมาพร้อมกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
การลงทุนภาครัฐยังเป็นความหวัง แต่ก็นั่นแหละเมื่อเป็นทุนที่มาจากการกู้ การเป็นหนี้ และลงในโครงการที่ไม่ก่อประโยชน์ผิดทิศผิดทางจากการพัฒนาประเทศ แถมงบประมาณส่วนหนึ่งถูกดูดออกจากระบบด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งรับรู้กันแล้วว่าแทรกอยู่ในการใช้อำนาจทางการเมือง และการจัดการในระบบราชการทุกระดับทุกวงการ
ก็เป็นความหวังที่น่าเศร้า เพราะเป็นภาระต่ออนาคตของประเทศที่จะต้องชดใช้ และหาทางเยียวยารักษาให้คืนสู่ระบบปกติที่โปร่งใสได้ยากเย็นจริง ด้วยเป็นกลไกที่ฝังรากความป่วยไข้ไว้โดยทั่วไปเสียแล้ว
การลงทุนภาคเอกที่เชื่อว่าจะสร้างกำลังซื้อครั้งใหญ่ในปีหน้า คือ “ลงทุนหาเสียง” ซึ่งชัดเจนแล้วว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า นักการเมืองและพรรคการเมืองจะแข่งกันทุ่มทุนครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะเชื่อว่าท่ามกลางความทุกข์ยากของผู้คนจากสภาวะเศรษฐกิจหลายปีที่ผ่านมา จะทำให้ “เงิน” มีผลต่อการตัดสินใจเลือกของประชาชนส่วนใหญ่
แต่ก็นั่นแหละ เมื่อการเมืองคือ “การลงทุน” ที่หนีไม่พ้นว่าจะต้องเกิดขึ้นคือ “การถอนทุน” และ “ทำกำไรจากการลงทุนนั้น”
ซึ่งจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวง ก่อความเน่าเฟะให้ระบบการบริหารจัดการขับเคลื่อนประเทศหนักขึ้นไปอีก
เหล่านี้คือภาพคร่าวๆ ของแนวโน้มสถานการณ์ชี้นำ ที่จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนชีวิตสู่เป้าหมายที่วางไว้
จะให้ปัจจัยอันเกิดจากสถานการณ์นี้เพื่อตัวเอง หรือหาทางเยียวยาให้เงื่อนไขการพัฒนาประเทศพ้นจากสภาวะเลวร้ายนี้
เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องคิด
โดยเฉพาะนักการเมือง และเน้นไปที่ผู้อาสามาเป็นผู้นำทางการเมือง จะต้องตั้งสติให้มั่นคงในความรู้ตัวเอง ว่าคำประกาศ “จะทำงานเพื่อประเทศ และรับใช้ประชาชน” นั้นเป็น “คำหลอกลวงเพื่อสนองตอบความเห็นแก่ตัว” หรือ “เสียสละเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาให้ประเทศได้โอกาสที่ดีงามสำหรับชีวิตผู้คนในอนาคต”
สำหรับประชาชน การเท่าทันเหลี่ยมเล่ห์นักการเมืองนั้นเรื่องที่ไม่ยากที่จะทำในโลกที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ไม่ยากเย็น
ปัญหามีอยู่แค่มีความหนักแน่นเพียงพอหรือไม่ ที่จะไม่ปล่อยใจให้หลงไปกับเหลี่ยมเล่ห์ของ “นักลงทุนทางการเมือง”
อนาคตของประเทศย่อมฝากไว้ในความหนักแน่นของทุกคน