คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘ความสมเหตุสมผล’ ของกฎหมายที่ดูเหมือนจะ ‘ไม่สมเหตุสมผล’

ที่คอลัมน์นี้ก็จะชอบเอาปัญหาประเด็นดราม่าของชาวบ้านที่ไปพบเจอในโลกโซเชียลมาเล่าให้ฟัง ก็เพราะปัญหาดราม่าชาวบ้านเหล่านี้ บางทีมันก็เป็นภาพสะท้อนของปัญหาทางวัฒนธรรม สังคม การเมือง และที่สำคัญคือกฎหมายและกลไกของมันที่อยู่เบื้องหลังการพิพาทตบตีหรือลำเลิกเบิกประจานนั้นๆ 

เช่นเดียวกับเรื่องที่จะมาเล่าในวันนี้ ก็เป็นดราม่าเกี่ยวกับเรื่องของผู้เช่ามหาภัยรายหนึ่ง ที่พฤติกรรมในข่าวนั้นเริ่มต้นที่ มีหญิงคนหนึ่งมาเช่าบ้านหลังหนึ่งจากเจ้าของบ้านโดยวางเงินค่าเช่าล่วงหน้าไว้สองเดือน แต่ต่อมาก็ปรากฏว่าเกิดปัญหาก่อความเดือดร้อนให้เพื่อนบ้านเพราะผู้เช่านั้นเลี้ยงสุนัขจำนวนมาก ส่งเสียงและส่งกลิ่นรบกวน เจ้าของบ้านเลยตัดสินใจจะยกเลิกสัญญาเช่าหลังจากที่เช่ากันไปแล้ว 2 เดือน 

ปัญหาอันเป็นมหากาพย์ก็เปิดเรื่องขึ้นจากตรงนี้ คือฝ่ายผู้เช่านั้นไม่ยอมย้ายออกไป และก็ไม่จ่ายค่าเช่าอีกเลยเป็นเวลากว่าหนึ่งปี และถึงขนาดว่า เจ้าของบ้านเสนอจะให้เงินแลกกับการยอมย้ายออกไปก็ไม่ยอมรับ และเมื่อเจ้าของบ้านพยายามเข้าไปทวงถามหนักเข้า ผู้เช่าก็ไปแจ้งความว่าเจ้าของบ้านกระทำความผิดอาญาฐานบุกรุกเสียอย่างนั้น

แต่แม้จะเป็นดราม่ากันในโลกโซเชียลขนาดนี้ ก็ยังไม่สามารถดำเนินการใดให้ผู้เช่าคนนี้ออกจากบ้านได้ และมาตรการทางกฎหมายอื่นใดที่อาจพอเยียวยาเจ้าของบ้านได้นั้นก็ไม่มี 

Advertisement

ก็เลยสร้างความอิหยังวะให้แก่วิญญูชนคนทั่วไปว่า ทำไมบ้านของตัวเองที่ปล่อยให้คนเช่า แล้วเมื่อผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า ทวงถามอย่างไรก็ไม่ได้ ทำไมเจ้าของบ้านจะเข้าไปไล่ออกมาหรือเข้าไปทวงถามค่าเช่าที่ค้าง ก็กลับกลายเป็นบุกรุกบ้านของตัวเองที่ให้เช่านั้นไปได้ แจ้งตำรวจให้มาจับออกไปก็ไม่ได้ ต้องไปฟ้องศาลอย่างเดียว ซึ่งมีทั้งภาระและค่าใช้จ่าย 

เรื่องนี้ถ้าตอบด้วยหลักกฎหมายว่าทำไมในที่สุดจึงเกิดเรื่องอิหยังวะอันชอบด้วยกฎหมายนี้ขึ้นมาได้ นั่นก็คือ เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาผิดสัญญาทางแพ่งกันล้วนๆ ที่อำนาจรัฐจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆ ไม่ได้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาและคำสั่งบังคับคดีจากศาล เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ ที่ตามหลักกฎหมายของสัญญาเช่า เมื่อทำสัญญากันแล้ว ผู้เช่าก็จะเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์ที่เช่า ก็คือบ้านที่พิพาทกันนั่นแหละ 

ตรงนี้ต้องแยกก่อนว่า เจ้าของบ้านเป็นเจ้ากรรมสิทธิ์คือเป็นเจ้าของบ้าน มีกรรมสิทธิ์ แต่ไม่มีสิทธิครอบครองอยู่ในขณะนั้นด้วยผลของสัญญาเช่า ส่วนผู้เช่านั้นกลับกัน คือ ไม่มีกรรมสิทธิ์ แต่มีสิทธิครอบครอง

Advertisement

เหตุนี้เองทำให้ผู้เช่าสามารถแจ้งความดำเนินคดีหรือฟ้องร้องเจ้าของบ้านในข้อหาบุกรุกบ้านที่ให้เช่าได้ตามประมวลกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยความผิดฐานบุกรุก ซึ่งมาตรา 362 นั้นบัญญัติว่าผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขซึ่งกรณีของการเข้าไปในทรัพย์ของตัวเองแต่ผู้อื่นนั้นมีสิทธิครอบครองอยู่ ก็จะเป็นกรณีหลัง

ถ้ามีคนสงสัยว่า แล้วอย่างนี้การที่ผู้เช่าไม่ออกจากบ้านที่เช่าทั้งๆ ที่ไม่จ่ายค่าเช่า และเจ้าของบ้านก็บอกเลิกสัญญาเช่าแล้วอย่างนี้ไม่ผิดบุกรุกหรือ ก็ตอบได้ว่า แม้เรื่องนี้ผู้เช่าจะเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นอันเป็นองค์ประกอบแรกของความผิดฐานบุกรุก แต่เพราะการอยู่ของผู้เช่านั้น เป็นการอยู่โดยมีสิทธิครอบครองตามสัญญาเช่ามาตั้งแต่ต้น จึงเข้าองค์ประกอบที่เหลือของความผิดฐานบุกรุก 

เรื่องพิพาทเกี่ยวกับการเช่าบ้านจนเจ้าของบ้านพยายามใช้อำนาจเข้าไปไล่ให้ผู้เช่าออกจากบ้าน ล็อกบ้านไม่ให้เข้าหรือตัดน้ำตัดไฟไม่ให้ผู้เช่าเข้าอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุขนั้นมีมานานแล้ว และมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมายอมรับสิทธิการอยู่โดยปกติสุขของผู้เช่าที่ยังมีข้อพิพาทเรื่องสัญญาเช่าอยู่ว่าเจ้าของบ้านจะใช้อำนาจเข้าไปบุกรุกหรือปิดกั้นการเข้าอยู่เข้าใช้บ้านที่เช่าไม่ได้มาตั้งแต่ในคำพิพากษาฎีกาที่ 1/2512 โดยในปี 2535 เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 3921/2535 ออกมาวางหลักว่า หากเจ้าของบ้านบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว ถือว่าผู้เช่าไม่มีสิทธิในการครอบครองการใช้ประโยชน์ภายในบ้านที่เช่า การที่ผู้ให้เช่าตัดน้ำตัดไฟใส่กุญแจไม่ให้ผู้เช่าเข้าไปในบ้านที่เช่าเป็นไปภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ถ้าได้กำหนดเวลาให้ผู้เช่าตามสมควรแล้วก็ไม่ถือเป็นละเมิดผู้เช่า 

อย่างไรก็ตาม ต่อมาก็ได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 4207/2551 ออกมากลับหลักฎีกาปี 2535 ดังกล่าว โดยศาลฎีกาได้วางหลักการใหม่ว่า เมื่อสัญญาเช่าเลิกต่อกันแล้วผู้เช่าไม่ยอมออกไปจากที่เช่า ผู้ให้เช่าชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 สิทธิของผู้ให้เช่าที่จะขับไล่ให้ผู้เช่าออกจากที่เช่าต้องกระทำโดยทางศาลให้ศาลเป็นผู้บังคับ ผู้ให้เช่าหามีสิทธิที่จะทำการบุกรุกเข้าไปปิดประตูใส่กุญแจห้ามมิให้ผู้เช่าเข้าไปภายในอาคารไม่ 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่กล่าวถึงหลักการเดียวกัน คือหลักว่าเอกชนไม่มีสิทธิบังคับทางแพ่งต่อกันเองไม่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะผิดสัญญาหรือไม่ (กรณีอื่น เช่นไปยึดรถที่ไม่ผ่อนจ่ายมาเอง ถือเป็นลักทรัพย์ (ฎีกาที่ 9603/2553) บุกเข้าไปยึดทรัพย์ลูกหนี้ในบ้านก็เป็นลักทรัพย์ในเคหสถาน (ฎีกาที่ 3121/2552) และอีกหลายเรื่อง) เช่นนี้การที่เจ้าของบ้านหรือเจ้าหนี้ในทางแพ่ง จะไปใช้อำนาจอื่นใดเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้หรือแม้แต่บังคับตามสัญญาก็เป็นความเสี่ยงในทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญา

ถ้าพิจารณากันตามหลักการแห่งกฎหมายแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาในระยะหลังๆ ที่พยายามยืนยันหลักว่าเอกชนไม่มีสิทธิบังคับคดีกันเองถ้าไม่ได้รับอำนาจตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลก็เป็นการวางหลักกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการสำคัญอย่างยิ่งในระดับปรัชญาและวัตถุประสงค์ของการมีรัฐและระเบียบแห่งรัฐรวมถึงผู้ใช้อำนาจรัฐนั้นก็เป็นไปเพื่อไม่ให้ปัจเจกชนแต่ละคนจะต้องมาตัดสินความและใช้อำนาจบังคับกันเองแบบของใครของมัน

ถ้าใครอ่านแล้วยังรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผล ก็อาจจะต้องลองคิดเรื่องหลักการนี้กับเรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะการที่เราไปเช่าบ้านใครสักคน แม้เราจะเป็นผู้เช่าแต่ก็จ่ายค่าเช่าและมีสิทธิครอบครอง เจ้าของบ้านเดิมแม้มีกรรมสิทธิ์ แต่ก็จะต้องเคารพในสิทธิครอบครองของผู้เช่านั้นในอันที่จะไม่เข้าไปรบกวนวุ่นวาย 

ลองนึกถึงกรณีที่เด็กสาวคนหนึ่งไปเช่าหอพัก แล้วเจ้าของหอพักถือว่าเป็นสถานที่ของตัวเองเลยเข้าไปทำอะไรในห้องที่เช่านั้นได้ตามชอบใจดูสิครับ นี่มันพล็อตเรื่องลามกตามเว็บหรือหนังผู้ใหญ่ชัดๆ

ดังนั้น ปัญหาที่เกิดกับผู้ให้เช่าบ้านในดราม่านั้น แม้จะน่าเห็นใจ แต่ก็คงต้องเป็นไปตามนั้น คือเจ้าของบ้านก็จะต้องไปฟ้องผิดสัญญาเรียกค่าเสียหายและขอให้ศาลมีคำพิพากษาและออกคำสั่งให้ขับไล่ จึงจะดำเนินการอันใดต่อไปได้ตามคำสั่งศาล

เรื่องนี้ ทำให้นึกไปถึงดราม่าทางกฎหมายอีกเรื่องที่วิญญูชนผู้คนทั่วไปรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผลสิ้นดี คืออำนาจของเจ้าของบ้านหรือทรัพย์สิน ที่จะปกป้องทรัพย์สินหรือบ้านเรือนตัวเองซึ่งเรื่องมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์กัน หากช่วงนั้นมีข่าวว่ามีโจรบุกปล้นร้านค้าหรือขึ้นบ้านเรือน แล้วเจ้าทรัพย์นั้นยิงสวนเข้าให้ตายคาที่หรือโชคดีก็บาดเจ็บสาหัส ผลคือโจรนั้นโดนข้อหาลักทรัพย์หรือลักทรัพย์ในเคหสถาน ส่วนเจ้าของนั้นโดนข้อหาฆ่าหรือพยายามฆ่า ซึ่งโทษหนักกว่าเสียอีก

เอาจริงเรื่องนี้ผู้คนทั่วไปก็พอจะรู้แหละว่า ในทางอาญานั้นมีหลักกฎหมายว่าด้วยการป้องกันพอสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 อยู่ว่าผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของ ผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด 

แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ที่ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ก็ยังมีธุระไปพบตำรวจ หรืออาจถูกดำเนินคดีต่อศาลก็ได้ เพราะว่ามันก็มีมาตรา 69 ตามต่อมาว่า มาตรา 69 ซึ่งวางหลักว่า ถ้าการป้องกันนั้นเป็นการกระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ ผู้ป้องกันก็ยังถือว่ามีความผิด แต่ศาลอาจจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเท่าไรก็ได้ หรือถ้าศาลเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นเพราะตื่นเต้นตกใจหรือหวาดกลัว ศาลก็จะไม่ลงโทษเลยก็ได้

ซึ่งเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกับเรื่องการบังคับคดีกันเองทางแพ่ง ที่แนวคำพิพากษาฎีกาในระยะหลังๆ จะเป็นไปในทางที่ป้องกันไม่ให้คนตัดสินความกันเอง เดิมทีก่อนหน้านี้เคยมีบางฎีกาที่ชั่งน้ำหนักราคาทรัพย์สินที่จะถูกลักอยู่ว่าถ้าทรัพย์สินนั้นราคาสูงแม้จะลงมือถึงแก่ชีวิตก็เป็นการป้องกันที่สมควรแก่เหตุ แต่แนวทางนี้ก็ถูกกลับและไม่ได้รับการยอมรับแล้วในระยะหลังๆ คือศาลจะพิจารณาว่าการป้องกันนั้นถ้าเป็นการป้องกันทรัพย์สินแต่ส่งผลถึงชีวิตของอีกฝ่าย ศาลก็มักจะมองว่าเป็นกรณีการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุที่ยังไงก็ต้องถือว่าเป็นความผิดอยู่ดี แต่จะลงโทษแค่ไหนเพียงใดก็อีกเรื่องหนึ่ง

ซึ่งไม่ว่าทางใด วิญญูชนผู้คนก็ยังมองว่าเป็นเรื่องอิหยังวะอันเข้าใจยากอยู่ดี 

แต่ถ้าเราย้อนกลับไปที่หลักข้างต้นอีกครั้ง ของการมีรัฐกับอำนาจรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ นั้น ก็เป็นไปเพื่อไม่ให้ผู้คนต้องพิพาทกันแบบปืนใครใหญ่กว่า ชักปืนเร็วยิงปืนแม่นกว่าก็ชนะกันไป ในมุมกลับของเรื่องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนี้มันก็มีอยู่เหมือนกันว่าจะเปิดช่องให้ใครที่เป็นฝ่ายมีอาวุธ สามารถเปิดฉากโจมตีก่อนแล้วหาเหตุให้เป็นเรื่องป้องกันในภายหลังก็ได้เช่นกัน

ถึงกระนั้นก็ตาม ถ้าในที่สุดแล้วรัฐมีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้คนตัดสินความกันเองแล้ว แต่ถ้ากรณีก็ปรากฏว่ามีเหตุอิหยังวะโดยชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้นบ่อยๆ ในสังคม กลไกและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องเองก็ควรพิจารณาด้วย ว่าที่ผ่านมากลไกของรัฐที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนนั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ 

เช่นในทางแพ่ง แม้เอกชนจะบังคับคดีกันเองไม่ได้ แต่กลไกการฟ้องศาลและการบังคับคดีนั้น ถ้าเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็วเยียวยาแก้ปัญหาได้แล้ว โอกาสที่ประชาชนจะอึดอัดฮึดฮัด ถึงขนาดต้องพยายามใช้มาตรการบังคับกันเองก็น่าจะลดลงไปได้ และความอิหยังวะแบบนี้ก็น่าจะไม่เกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image