คนดี นพ.วิชัย บทความหน้า 16

13 ตุลาคม พ.ศ.2559 เวลา 15.52 น. เป็นวันที่ประชาชนชาวไทย ได้สูญเสียพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งคนไทยพร้อมใจเรียก “พ่อหลวง” นับถึงวันนี้เป็นเวลาหนึ่งเดือนเศษ ความโศกเศร้าสุดอาลัยยังคงอยู่ในจิตใจทุกคน คำๆ หนึ่ง คำกล่าวที่บอกถึงจิตใจอันตั้งมั่นคือ เราจะกตเวทีต่อพระองค์ท่านด้วยการทำความดีเพื่อเป็น “คนดี” ของชาติแผ่นดินไทย จะรู้รัก สามัคคี เพื่อจรรโลง เฝ้าดูแลประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป

รูปธรรมแห่ง “ดี” หรือภาษาอังกฤษว่า “Good” นั้น มนุษย์ต้องมี “หน้าที่” หรือที่เรียกว่ามีและปฏิบัติ “หน้าที่” หรือมี “ธรรมะ” แสดงให้เห็นเชิงประจักษ์ว่าเรา “ดี” จริงและถูกต้อง ในการ คิดดี พูดดี ทำดี รู้การเป็น “คนดี” เมื่อมีหน้าที่แล้วต้องมีวินัย และรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น รวมถึงสังคมมวลมนุษยชาติ ให้คนไทยจนถึงให้โลกได้พบกับความสงบสุข แนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย “5 ดี” สู่ความเป็นมนุษย์ ของหลวงพ่อหลายองค์ที่ทัศนคติแตกต่างกัน หลวงพ่อ 3 องค์ ที่ให้ข้อคิดละม้ายกับตัวนี้คือ

หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ : ในหลักสูตร “หน้าที่ของมนุษย์” ได้ระบุว่า: 1.เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ 2.เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ 3.เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน 4.เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ 5.เป็นสาวกที่ดีของพระศาสนา หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ : ในหลักสูตร “คนดี” ระบุว่า: 1.คิดดี 2.พูดดี 3.ทำดี 4.คบคนดี 5.ไปสู่สถานที่ดี ท่านเจ้าคุณพระสุธรรมเมธี ในหลักสูตร “สร้างตน” ระบุว่า: 1.คบคนดี 2.ซื่อสัตย์ 3.มัธยัสถ์ดี 4.ขยันดี 5.ถ่อมตนและเป็นคนกตัญญูดี
ประเด็นสำคัญตัวตนเชิงประจักษ์ว่าใครคือคนดี? : “คน” : เป็นคำภาษาไทย คนก็หมายถึงผู้ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่พรหม มาจากภาษาบาลีว่า นร (นะระ) แปลว่า คน ที่เป็นคำสามัญทั่วไป แต่มีหลายคำที่ใช้แทนความหมายของคน เช่น ชน ประชาชน ราษฎร ประชาชาติ พลเมือง พสกนิกร ภาษาอังกฤษ เช่น People person เป็นต้น ส่วนคำว่า “มนุษย์” ท่านว่าต้องมี 3 อย่างในตัวตน คือ : 1.ต้องมีศีล 2.ต้องมีหิริโอตตัปปะ 3.ต้องมีพรหมวิหารธรรม ซึ่งเหนือกว่าคนธรรมดา ปุถุชน ขึ้นไปอีกระดับจึงจะเรียกว่ามนุษย์

ลักษณะของคนดี : คนดี คือ ผู้มีวิชาความรู้ มีความประพฤติดีและมีลักษณะอื่นๆ บ่งบอกถึงให้เห็นลักษณะของ “คนดี” มีดังนี้

Advertisement

1.คนดีมีความรู้ดี มีความรู้ทางวิชาการ เช่น เก่งภาษาไทย เก่งภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ผู้ที่มีความรู้ดีนี้จักเป็น “คนดี” ได้ ก็ต่อเมื่อใช้ความรู้ไปในทางที่ถูกต้อง ใช้ความรู้ในทางช่วยเหลือสังคม ใช้ความรู้ในการทำตนให้พ้นทุกข์ และแนะนำผู้อื่นให้พ้นทุกข์ด้วย
2.คนดีมีมารยาททั้งกายและวาจา มารยาททางกาย เช่น รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักยกมือไหว้ผู้ใหญ่ ให้ความเคารพยำเกรงผู้ใหญ่ รู้จักที่สูงที่ต่ำ รู้จักก้มกราบ หมอบ คลาน โค้งคำนับ ยืนตรง หลีกทางให้ผู้ใหญ่, มารยาทงามทางวาจา : พูดดีไพเราะ และอ่อนหวาน มีค่ะ มีขา มีครับ ขอรับ ครับผม จึงเรียกว่าผู้มีมารยาทสง่างาม
3.คนดีมีความซื่อสัตย์ทั้งทางใจและวาจา ซื่อสัตย์ทางใจ : มีความคิดเที่ยงตรง ไม่คิดโลภ ไม่คิดโกรธ อิจฉาริษยา ไม่คิดเอาเปรียบ ไม่คิดโกง ไม่คิดอาฆาตพยาบาท, ซื่อสัตย์ทางวาจา : ไม่พูดปลดมดเท็จ พูดตรงไปตรงมา ตามที่เป็นจริง ไม่ปั้นน้ำเป็นตัว ไม่พูดเรื่องเท็จให้เป็นเรื่องจริง ไม่พูดเรื่องจริงให้เป็นเรื่องเท็จ ความซื่อสัตย์เช่นนี้
จักต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองและต่อผู้อื่นด้วย
4.คนดีมีสุจริตต่อตนเองและผู้อื่นทางกาย วาจา ใจ ประพฤติดีทางกาย เช่น ไม่ฆ่าตนเอง ไม่ฆ่าผู้อื่นและสัตว์อื่น ไม่ขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ข่มขืนใจคนอื่นเขาในทางเพศ ไม่เป็นชู้ภรรยาและสามีผู้อื่น ไม่ดื่มเหล้าเบียร์ ของมึนเมา ไม่เสพยาเสพติด เช่น ยาบ้า ยาอี และยาเสพติดทุกชนิด, ประพฤติดีทางวาจา : ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดยุยงให้เขาแตกแยก หรือร้าวฉานกัน ไม่พูดพร่ำเพรื่อไร้เหตุผล, ประพฤติดีทางใจ : ไม่คิดโลภอยากได้ของคนอื่น ไม่คิดพยาบาทอาฆาต ไม่ริษยา จองเวร ไม่เห็นผิดจากทำนองครองธรรม
5.คนดีมีน้ำใจดี คือมีความรักใคร่ ปรารถนาให้ผู้อื่นมีแต่ความสุข ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก เช่น ให้ข้าวปลาอาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย มีความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นเขาได้ดี ไม่คิดอิจฉาริษยาตาร้อนเขา มีแต่ความเอื้ออาทร เช่นนี้เขาเรียกว่า “คนมีน้ำใจ”
6.คนดีมีน้ำใจงาม มีแต่คิดเมตตา ปรารถนาดี มีความสงสารผู้ตกทุกข์ได้ยาก ไม่โลภเอาของผู้อื่น แม้เก็บของตกหรือพบของที่คนอื่นเขาลืมไว้ที่ไหนก็ตาม ถ้าเราเก็บได้หรือพบเห็นเข้าต้องคืนเจ้าของ เรียกว่า… “คนดีใจงาม”
7.คนดีพูดจาไพเราะ สุภาพ นุ่มนวล คือ พูดแต่คำไพเราะ เสนาะหู พูดนุ่มนวลชวนฟัง พูดแต่คำที่สมัครสมานสามัคคี ฟังแล้วปลื้มใจ ฟังแล้วอยากฟังอีก พูดแล้วสร้างสรรค์ พูดแล้วสร้างประโยชน์ทั้งตนเอง และผู้อื่น
8.คนดีพูดแต่เพียงพอดี พูดให้พอเหมาะ กับสถานะคน เหมาะกับกาลเวลา เหมาะกับกาลเทศะ ที่ควรเป็นไปตามที่กำหนดไว้ แล้วหากไม่เหมาะแล้วจะเกิดการเสียหายกับตนเอง พูดพอเหมาะกับสถานที่ คือ ไม่เบาเกินไป และไม่เสียงดังเกินไป คนรู้จักพอดี ทำให้สำเร็จประโยชน์ได้
9.คนดีพูดแต่คำจริง เราเห็นมาอย่างไรก็พูดอย่างนี้ เราฟังมาอย่างไรก็พูดต่ออย่างนั้น พูดตามที่ทำไว้ ไม่พูดให้ผิดไปจากความจริง
10.คนดีพูดแต่คำสามัคคี คือพูดเชิงแนะนำ บอกทางที่ดีให้เขาทราบ บอกวิธีการให้ว่าควรทำอย่างนี้จะดีกว่า ถ้าทำอย่างนี้จะมีอันตรายอย่างนั้นๆ ลักษณะติเพื่อก่อ มิใช่เพื่อทำลาย เช่นนี้เรียกว่าคนดี
11.คนดีเป็นคนขยัน คนดีต้องขยันอดทน ไม่คำนึงร้อนหนาว เย็น ฝนตก หิวหรืออิ่ม ไม่ย่อท้อ ไม่มีลังเล ตั้งใจมุ่งทำงานอย่างเต็มที่และเป็นงานที่ถูกต้องตามศีลธรรมและตัวบทกฎหมาย
12.คนดีเป็นคนประหยัด คือรู้จักใช้พอดี ไม่น้อย
หรือมากเกินความจำเป็น ก่อนซื้อต้องคิดเสียก่อนว่าจำเป็นหรือยังซื้อได้ประโยชน์ ได้ใช้จริงไหม ไม่ใช้สุรุ่ยสุร่ายเกินความจำเป็น ต้องรู้จักประมาณในการกิน การใช้ ย่อมทำประโยชน์ให้สำเร็จ
13.คนดีรู้จักรักษาเกียรติยศ “เกียรติ” คือ ความดีความชอบ ความยกย่องนับถือ ความเคารพยำเกรงที่คนอื่นเขาศรัทธายอมรับในตัวเรา คนดีต้องรักษาความดีความชอบของตนเองไว้ เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ทำสิ่งเสียหายที่จะทำลายเกียรติยศของตน
14.คนดีช่วยรักษาเกียรติยศของญาติและมิตรสหาย คนดีต้องรู้จักรักษาและสงวนความดีความชอบ และระดับชั้นของความดีความชอบของหมู่ญาติและมิตรสหาย คือไม่ทำผิดระเบียบกฎหมายอันนำความเสียหายมาสู่ญาติสนิทมิตรสหาย หรือช่วยห้ามปรามไม่ให้ญาติมิตรสหายกระทำผิด อันจะนำความเสียหายมาให้
15.คนดีช่วยรักษาเกียรติของสถานที่ คนดีอยู่ที่ไหนหรือทำงานอยู่สถานที่ใด ต้องพยายามรักษาความดี และความดีความชอบของสถานที่แห่งนั้นไว้ แม้แต่สถานที่ทำงานของเพื่อนร่วมงาน ก็ต้องคำนึงถึงด้วย จะต้องไม่สร้างความเสียหาย
16.คนดีต้องเป็นผู้รักษาความสงบ คนดีไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ต้องพยายามรักษาความสงบ คือไม่ก่อความเดือดร้อนเสียหาย ไม่ยุยงให้คนอื่นก่อความเดือดร้อน ถ้าคนอื่นก่อความเดือดร้อนนั้นต้องพยายามไกล่เกลี่ย ห้ามประณามและป้องไม่ให้เกิดความไม่สงบเกิดขึ้น
17.คนดีสามารถสร้างตนเองให้มีหลักฐานโดยชอบ คนดีต้องพยายามสร้างฐานะ หลักฐานให้แก่ตนเอง โดยความเพียรพยายาม ขยันขันแข็ง ถูกต้องตามหลักศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงาม
18.คนดี…รู้จักปกครองตนเอง คนดีต้องรู้จักตนเองว่าอยู่ในฐานะใด อยู่เพศใด ต้องรู้ว่าทำอย่างไรเกิดความเสื่อม เกิดความเจริญ ต้องรู้จักปกครองตนเอง ตั้งอยู่ในกรอบความเจริญหลีกเลี่ยง เว้นประพฤติที่จะนำความเสื่อมเสียมาให้
19.คนดีต้องรู้จักปกครองคนอื่นโดยชอบธรรม คนดีนอกจากปกครองตนเองดีแล้ว ต้องรู้จักปกครองคนอื่นโดยชอบธรรม คือ ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ยึดความถูกต้อง ความเหมาะสมกับเพศวัย วิชาความรู้ ความสามารถของลูกน้อง รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา
20.คนดีตั้งมั่นอยู่ในความยุติธรรม คือ ยึดถือความเสมอภาคกันทางกฎหมายและศีลธรรมอันดีงาม จะตัดสินอะไรต้องนึกถึงเสมอว่า ชอบธรรมหรือไม่ ชอบพอใจกันทั้งสองฝ่ายหรือไม่ เหมาะสมกับเพศวัย วิชาความรู้ และความสามารถหรือไม่ นึกถึงใจเขาใจเราเสมอ
21.คนดีไม่ดูหมิ่น และเหยียดหยามผู้อื่น คนดีต้องเข้าใจว่าทุกคนมีชาติตระกูลต่างกัน ได้รับการอบรมสั่งสอนมาไม่เหมือนกัน ศึกษาเล่าเรียนไม่เท่ากัน มีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน ความประพฤติย่อมต่างกัน ควรนึกเสมอว่าเราควรแนะนำ อบรมเขาให้ปฏิบัติตนตามประสงค์ของเราให้ได้
22.คนดีไม่ประทุษร้ายต่อญาติและมิตรสหาย คนดีต้องมีจิตเมตตา กรุณา เสียสละ สงสารญาติและมิตรสหายเสมอ ไม่ควรประพฤติประทุษร้ายด้วยกาย วาจา ต้องนึกเสมอว่า เราชอบสุข เกลียดทุกข์ เราไม่ชอบให้ใครมาเบียดเบียนด้วยกาย วาจา ฉันใด คนอื่นก็เหมือนเรา
23.คนดีเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีอย่างมั่นคง คนดีต้องมีกตัญญูรู้คุณที่ผู้อื่นทำแก่ตน คนดีรู้จักบุญคุณของคนอื่น และรู้จักตอบแทนนี้ เป็นเครื่องหมายของคนดีแน่นอน คนดีต้องยึดในกตัญญูตลอดไป
24.คนดีประพฤติตนเป็นพลเมืองดีของชาติตนเอง และชาติอื่นที่เราอาศัยอยู่ ต้องเคารพตัวบทกฎหมายของชาติ มีความเคารพจงรักภักดีต่อประมุขชาติและเพื่อนบ้านใกล้เดียวกัน ไม่ประพฤติในทางที่นำความเสื่อมเสียมาสู่ชาติของตน
25.คนดี ยึดมั่นในคำสั่งสอนของพระศาสนา ยินดีปฏิบัติตนตามคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือ ช่วยปกป้องสิ่งที่จะเป็นอันตรายแก่ศาสนา ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอน ปฏิบัติตนดีเป็นเยี่ยงอย่าง
26.คนดีใช้วิชาความรู้ในทางที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและศีลธรรมอันดีงามตลอดไป ไม่เห็นดีเป็นชั่ว ไม่เห็นชั่วเป็นดี มีความเห็นเที่ยงตรงตามหลักวิชาการที่เรียนมา ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
27.คนดี…ไม่ลืมตนเอง คือต้องนึกเสมอ แต่ก่อนเราอยู่สถานะใด ยากดีมีจน ร่ำรวยอย่างไร เคยประพฤติตนดีอย่างไร เคยประพฤติตนอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างไร เคยเคารพนับถือผู้ใหญ่อย่างไรมาก็ประพฤติตนดีเหมือนเดิม เสมอต้นเสมอปลาย ไม่เย่อหยิ่ง จองหอง ไม่ชื่อว่าไม่เป็นวัวลืมตีน
28.คนดีไม่ขายตัวแก่ผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม หมายถึง การไม่ยอมเป็นลูกน้อง ไม่ยอมตนเป็นคนรับใช้ ได้ยอมตนอยู่ ได้อำนาจอยู่ ได้อำนาจของเรา ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของเขา แม้เขาจะให้เงินก้อนใหญ่ เพื่อกระทำความเสียหายแก่ตนและคนอื่นก็ไม่ยอม
29.คนดีเป็นคนคงที่ : คือ เป็นคนหนักแน่น เป็นคนมีเหตุมีผล เป็นตัวของตัวเองไม่หวั่นไหว ตามคำเยินยอหรือคำติฉินนินทาของคนอื่น ไม่แสดงอาการโกรธเคืองหงุดหงิดไป เมื่อมีอารมณ์ร้ายมากระทบ ทำตัวเป็นน้ำขุ่นไว้ในน้ำใสไว้นอก ไม่แสดงอารมณ์นี้หงุดหงิดง่ายขึ้นๆ ลงๆ ทุกสถานการณ์
30.คนดีเป็นคนไม่ใฝ่ต่ำ : คือมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของความละโมบโลภมาก ไม่เห็นชั่วเป็นดี รู้จักอะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นโทษ รู้จักอะไรเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ ยึดเอาแต่สิ่งดี ละทิ้งสิ่งชั่วเอาไว้ ยึดคติว่าเกิดมาทั้งที ต้องทำดีให้ได้เสมอไป

ท้ายสุด ผู้เขียนเชื่อว่ายามใดที่เราตกทุกข์ได้ยาก ลำบากเกิดวิกฤตชีวิตด้วยเหตุใด ขอให้ตั้งสติและมีสมาธิ กำหนดจิตใจให้มั่นคงไว้ ใช้วิจารณญาณไตร่ตรอง อย่าหลง มัวเมา “อย่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว” และ “ให้รักษาความดีเหมือนเกลือรักษาความเค็ม” นึกเสมอว่า “ช่วงเวลาแห่งความลำบากย่อมสร้างคนดี Bad time make a good man” และขอให้ “คนดี” ตามที่กล่าวไว้และนึกถึงเสมอว่า “คน” มีหลายรูปแบบตามคำกลอนที่ว่า : คนดี ชอบแก้ไข คนจัญไร ชอบแก้ตัว คนชั่ว ชอบทำลาย คนมักง่าย ชอบทิ้ง คนจริง ชอบทำ คนระยำ ชอบติ และแน่นอนที่สุดคือ “ตนเตือนตน นั้นวิเศษที่สุด” เพื่อให้คงอยู่อย่างมั่นคง ตามที่พวกเรา บอกว่าเราจะทำความดีเพื่อเป็น “คนดี” ของ “พ่อหลวงเรา” ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image