ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
“ปฏิญญาอยุธยา” โผล่ออกมาช่วงมีข่าวอยุธยามีปัญหามรดกโลก เมื่ออ่านผาดๆ หรือได้ยินเผินๆ เลยคาดเดาอัตโนมัติว่าน่าจะเกี่ยวข้องมรดกโลกอยุธยา
แต่ไม่ใช่ เพราะไม่เกี่ยวกับมรดกโลก หากเป็นเรื่องของหอการค้าทั่วประเทศสนับสนุนรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศด้านการลงทุนการค้าและบริการ เนื่องในงานสัมมนาประจำปีหอการค้าทั่วประเทศ ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ. พระนครศรีอยุธยา ระหว่าง 26-27 พฤศจิกายน 2559
[มติชน ฉบับวันอาทิตย์ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 หน้า 1]
เศรษฐกิจสร้างสรรค์
นายกลินท์ สารสิน รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มสัมมนาเชิงปฏิบัติการกลุ่มที่ 3 เรื่องการสร้างเศรษฐกิจจากวัฒนธรรม กล่าวในที่ประชุมฯ ตอนหนึ่งว่า
“เสนอให้หอการค้าแต่ละจังหวัดไปต่อยอดในการนำภูมิปัญญา หรือเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาทำเป็นเศรษฐกิจวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมร่วมกับรัฐบาล—-เพื่อนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ พร้อมสร้างแนวทางให้หอการค้าไทยสนับสนุนเศรษฐกิจวัฒนธรรม”
เรื่องนี้พูดกันแล้วหลายครั้ง และนานหลายรัฐบาล ในนามเศรษฐกิจสร้างสรรค์
เริ่มแล้วหลายหน แต่ละหนล้วนเต็มไปด้วยผักชีโรยหน้า เลยไม่ทันสร้างสรรค์สำเร็จ โดยเฉพาะในหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม
ความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์บานสะพรั่งในสังคมประชาธิปไตยสมบูรณ์ พบทั่วไปในยุโรป, อเมริกา, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เกาหลีใต้ ฯลฯ
แต่ไม่พบ หรือพบน้อย ในสังคมเผด็จการทหาร และอาจไม่พบเลยในสังคมอนุรักษนิยมสุดโต่ง เพราะความคิดสร้างสรรค์จะถูกต่อต้านคัดค้านรุนแรง เช่น กรณีทศกัณฐ์หยอดขนมครก ฯลฯ
ไม่ไทย นั่นแหละไทย
วัฒนธรรมท้องถิ่นมีพลังสร้างสรรค์สูงมาก แต่ถูกกดทับเบียดขับด้วยวัฒนธรรมราชการจากส่วนกลางเรื่องความเป็นไทย
ตัวอย่าง หมอลำซิ่ง, หมอลำลูกทุ่ง ฯลฯ ถูกราชการพิพากษาว่าไม่ไทย
แต่โลกยอมรับเป็นงานสร้างสรรค์ด้านศิลปะการแสดง ขณะเดียวกันสังคมไทยไม่ราชการยอมรับแล้วยกย่องเป็นวัฒนธรรมของมวลมหาประชาชนไทย
ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย เพราะนักวิชาการหาไม่พบคนไทย หลักฐานโบราณคดีมีแต่พวกไม่ไทย
บัดนี้สว่างแล้ว นิธิ เอียวศรีวงศ์ พบว่าความไม่ไทย นั่นแหละคนไทย
หากไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขสำนึกเหล่านี้ ผักชีจะเต็มเมืองไทย ในนามเศรษฐกิจวัฒนธรรมของราชการ