ไทยพบพม่า : การจลาจลในคุกพม่าภาพสะท้อนจากยุคอาณานิคมถึงปัจจุบัน

เรามักได้ยินกิตติศัพท์ของคุก หรือเรือนจำในพม่าว่าเป็นคุกที่ “เถื่อน” ที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะคุกอินเส่ง (Insein Prison) ทางตอนเหนือของย่างกุ้ง ซึ่งเป็นที่คุมขังนักโทษการเมืองคนสำคัญๆ มาตลอดนับตั้งแต่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1871 ในยุคที่อังกฤษยังปกครองพม่าเป็นอาณานิคม ในความเป็นจริง เรือนจำทั่วพม่าที่มีอยู่เกือบ 50 แห่ง และค่ายกักกันที่ใช้นักโทษทำงานอย่างหนัก (labour camp) อีกหลายสิบแห่งทั่วประเทศ ล้วนมีชื่อเสีย(ง)ไม่ต่างกัน ด้วยสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษที่แออัด การขาดการดูแลจนเรือนจำมีสภาพทรุดโทรม สกปรกและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค

บทความของริชาร์ด ซี. แพดด็อก (Richard C. Paddock) ชี้ให้เห็นสภาพของเรือนจำอินเส่ง ที่รับนักโทษได้ 5,000 คน แต่หลังรัฐประหาร คาดกันว่ามีนักโทษที่อินเส่งเกือบ 10,000 คน อินเส่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ตั้งแต่ในยุคอาณานิคม มาถึงยุคเผด็จการทหาร แม้ในช่วงไม่กี่ปีที่พม่ามีรัฐบาลพลเรือนเข้ามาปกครอง สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำอินเส่งก็ยังคงย่ำแย่ ไม่มีความพยายามปฏิรูปโครงสร้าง หรือสภาพความเป็นอยู่ภายในเรือนจำทั่วพม่าแต่อย่างใด

ในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งเริ่มจากรัฐประหารของนายพล เน วินในปี 1962 มาจนถึงรัฐบาล SPDC เรือนจำอินเส่งเป็นที่ควบคุมตัวนักโทษการเมืองหลายพันคน ชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษลำบากแสนเข็น เพราะระบบราชทัณฑ์แบบพม่าให้ความสำคัญกับการลงโทษ มากกว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน และเนื่องจากอินเส่งเป็นแหล่งรวมนักโทษการเมืองคนสำคัญๆ หลักการของการลงโทษเพื่อให้เข็ดหลาบ และเพื่อข่มขู่ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร จึงถูกพัฒนาเป็นการทรมานแบบพิสดารหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการซ้อม การทุบตีอย่างหนัก การใช้ไฟฟ้าชอร์ต หรือการขังเดี่ยวนักโทษการเมืองคนสำคัญๆ ในสภาพความเป็นอยู่ที่มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถรับได้ นักโทษการเมืองที่พ้นโทษออกมาจึงมีความพิการติดตัวมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งทางกายและทางใจ

ก่อนที่ด่อ ออง ซาน ซูจีจะถูกปล่อยตัวออกมาและถูกควบคุมตัวในบ้านพัก เธอก็ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำอินเส่งยาวนาน 6 ปี หรืออู วิน ติน (U Win Tin) หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค NLD ผู้ล่วงลับ ก็เคยใช้ชีวิตถึง 19 ปีที่อินเส่งมาแล้ว ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ จึงไม่น่าแปลกใจว่าจะเกิดการลุกฮือในเรือนจำทั่วพม่าบ่อยครั้ง เฉพาะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการจลาจลและความวุ่นวายเฉพาะที่เรือนจำอินเส่งมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดเหตุระเบิดขึ้นในเรือนจำไปเมื่อปีก่อน เป็นเหตุให้มีนักโทษและผู้คุมเสียชีวิตหลายคน แม้จะมีการสืบสวนแต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุแน่ชัดได้ว่าเกิดเหตุระเบิดขึ้นเพราะอะไร

Advertisement

ในปัจจุบัน มีนักโทษอยู่ในเรือนจำทั่วพม่าหลายหมื่นคน หลังรัฐบาลคณะรัฐประหารเพิ่งประกาศปล่อยนักโทษครั้งหลังสุดไปเมื่อปลายปี 2022 และจะปล่อยนักโทษเพิ่มอีกราว 7,000 คนในสัปดาห์นี้ แต่ก่อนที่จะมีการอภัยโทษนักโทษครั้งใหญ่อีกครั้ง ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นที่เรือนจำในเมืองพะสิม หรือปะเตง (Pathen) ในมณฑลอิรวดี เมื่อผู้คุมเรือนจำถูกกล่าวหาว่าสังหารนักโทษการเมือง 2 คน และซ้อมทรมานนักโทษอีกหลายคน ระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรง

หลังมีนักโทษถูกทารุณกรรมและเสียชีวิตภายในเรือนจำ นักโทษจำนวนหนึ่งก็ลุกฮือขึ้นประท้วงหลังได้ยินข่าวลือว่าเรือนจำกำลังสร้างห้องแยกเพื่อประหารนักโทษคนหนึ่งที่ต้องโทษประหารชีวิต นักโทษที่ประท้วงถูกนำออกไปและถูกซ้อมอย่างหนัก ส่วนหนึ่งเพราะผู้คุมพบว่านักโทษซุกซ่อนนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในเรือนจำ ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้ผู้คุม การซ้อมทรมานภายในเรือนจำทั่วพม่าเป็นภาพสะท้อนระบบราชทัณฑ์พม่าที่มีมาตั้งแต่ยุคอังกฤษปกครอง แต่ผ่านไปหลายสิบปี ระบบนี้ยังไม่ถูกยกเครื่องปฏิรูปใดๆ นักโทษยังถูกมองว่าเป็นอมนุษย์ที่ต้องถูก “ลงโทษ” (punishment) มากกว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น (correction) และการส่งนักโทษกลับคืนสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี ในยุคอาณานิคม เรือนจำที่ตั้งขึ้นทั่วประเทศมีขึ้นเพื่อลงโทษนักโทษคดีร้ายแรง ในขณะที่นักโทษคดีเล็กๆ หรือลหุโทษ (petty offences) จะถูกไต่สวนในหมู่บ้าน หรือตำบลของตนเอง และมักถูกควบคุมตัวในสถานีตำรวจของแต่ละท้องที่

Advertisement

เมื่อพม่าได้รับเอกราช แนวคิดการลงโทษแบบรัฐบาลอาณานิคมถูกนำมาใช้โดยรัฐบาลเผด็จการทหารเพื่อลงโทษฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งไม่ได้เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากเป็นการลงโทษในสถานที่หนักที่สุด และให้ฝ่ายตรงข้ามเหล่านั้นกลับสู่สังคมแบบไม่ปกติ คือพิการบ้าง หรือมีตราบาปในจิตใจบ้าง อย่างน้อยชนชั้นนำพม่าก็ได้นำระบบที่ระบอบอาณานิคมได้วางรากฐานไว้ให้มาใช้เพื่อลงโทษคนของตนเอง แม้ระบอบอาณานิคมจะล้มหายตายจากไปแล้ว แต่มาตรการลงโทษแบบป่าเถื่อนนี้ก็ยังเป็นไม้เด็ดของรัฐบาลทหารพม่าเสมอมา แม้พวกเขาจะพร่ำบอกว่าเกลียดชังระบอบอาณานิคมมากแค่ไหนก็ตาม

ในเหตุการณ์ชุลมุนที่เรือนจำพะสิม รายงานที่ออกมามีลักษณะขัดกันชัดเจน แต่ไม่ว่ารายงานที่ออกมาจะเป็นแบบใด ในเวลานี้นักโทษภายในเรือนจำต่างโกรธแค้นผู้คุมที่ลงมือทรมานเพื่อนนักโทษจนเสียชีวิต รายงานบางฉบับอ้างว่านักโทษที่เสียชีวิตคนหนึ่งเสียชีวิตจากแผลถูกยิง ไม่ใช่จากการซ้อมทรมาน แน่นอนข่าวจากสื่อฝั่งที่สนับสนุนคณะรัฐประหารอ้างว่านักโทษเป็นคนเริ่มก่อจลาจลและคุกคามผู้คุมก่อน ระหว่างที่นักโทษพยายามหลบหนีจากเรือนจำ กระบอกเสียงของกองทัพอย่างหนังสือพิมพ์เมียวดี (Myawaddy) ยังกล่าวต่ออีกว่า นักโทษทำร้ายผู้คุมและตำรวจจนมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

ภาพสะท้อนจากเรือนจำทั่วพม่าชี้ให้เราเห็นการใช้อำนาจและการใช้ความรุนแรงที่ผูกโยงอยู่ในทุกระดับของสังคมที่ผ่านระบอบอำนาจนิยมและเผด็จการที่ให้คุณค่ากับกองทัพมายาวนาน แม้ในระบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่กองทัพ เราก็มักเห็นการใช้อำนาจในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรือนจำ ระบบราชการ ระบบการศึกษา ที่ขับเน้นให้เห็นวัฒนธรรมแบบพม่าที่ว่าผู้อาวุโส ผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีอำนาจมากกว่าย่อมมีเหตุผลและถูกที่สุดเสมอ แน่นอน วัฒนธรรมเหล่านี้ฝังรากในสังคมพม่ามายาวนาน และทำลายโอกาสการเติบโตของคนเก่งๆ ที่มีศักยภาพ และเป็นอุปสรรคของการพัฒนาในพม่าพอๆ กับตัวของกองทัพเอง หากเราจะพูดถึงการขับเคลื่อนสังคมพม่าให้มีความวัฒนาสถาพรในอนาคต การปฏิรูปเชิงสถาบันอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนคุณค่าเชิงวัฒนธรรมและคำนิยามอำนาจอย่างที่เป็นอยู่อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image